การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2553
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 จตุพรกู้เงินปฐมาสองแสนบาท มีกำหนดเวลาสองปีโดยผู้กู้ได้นำที่ดินของตนจำนองประกันหนี้เงินกู้ไว้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากกู้ไปได้เพียงแปดเดือน จตุพรถึงแก่ความตาย ปฐมาเห็นว่าสิทธิเรียกร้องยังไม่ถึงกำหนด ก็มิได้เรียกมิได้บังคับชำระหนี้ ต่อมาเมื่อครบกำหนดสองปีตามสัญญา ปฐมาดำเนินการบังคับชำระหนี้เอากับแพรวพรรณทายาทคนเดียวของจตุพร จำเลยต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความ ตนไม่ต้องชำระหนี้
ข้อต่อสู้ของแพรวพรรณจำเลยฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 193/10 สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้
มาตรา 193/27 ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้
มาตรา 193/30 อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี
มาตรา 203 ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน
ถ้าได้กำหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้
มาตรา 1754 วรรคสาม ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้หนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 1754 วรรคสาม ได้กำหนดไว้ว่า ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่า 1 ปี เจ้าหนี้จะต้องฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ของตนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แม้สิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้นั้นจะยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม มิฉะนั้นสิทธิเรียกร้องจะขาดอายุความ
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จตุพรกู้เงินปฐมาโดยมีกำหนดเวลา 2 ปี และหลังจากกู้ไปได้เพียง 8 เดือน จตุพรลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตาย ซึ่งปฐมาเจ้าหนี้ได้รู้ถึงความตายของจตุพรลูกหนี้ ดังนี้ แม้ว่าหนี้เงินกู้ระหว่างจตุพรกับปฐมาจะยังไม่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งปกติแล้วเจ้าหนี้จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดชำระไม่ได้ตามมาตรา 203 วรรคสอง แต่กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องลูกหนี้ตายก่อนกำหนด และสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีต่อเจ้ามรดกมีอายุความยาวกว่า 1 ปี (มาตรา 193/30) ดังนั้น เจ้าหนี้จึงต้องฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้รู้ว่าลูกหนี้ตาย ตามมาตรา 1754 วรรคสาม เมื่อปฐมาเจ้าหนี้ไม่ได้ฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่จตุพรลูกหนี้ตาย หนี้เงินกู้ดังกล่าวจึงขาดอายุความ ปฐมาเจ้าหนี้จะบังคับชำระหนี้เอาจากแพรวพรรณทายาทของจตุพรไม่ได้ (มาตรา 193/10) ดังนั้น ข้อต่อสู้ของแพรวพรรณที่ว่าคดีขาดอายุความแล้วจึงฟังขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม มาตรา 1754 วรรคสาม กฎหมายกำหนดให้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 193/27 ซึ่งได้บัญญัติให้ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงหรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้ส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม
และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่จตุพรกู้เงินปฐมานั้นจตุพรได้นำที่ดินของตนมาจำนองประกันหนี้ไว้ ดังนั้น แม้ว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความแล้วตามมาตรา 1754 วรรคสาม แต่บทบัญญัติมาตรา 193/27 ก็ยังให้สิทธิแก่ปฐมาผู้รับจำนองยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ตนรับจำนองไว้ได้ แต่ไม่มีสิทธิที่จะไปบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นของจตุพร ดังนั้นข้อต่อสู้ของแพรวพรรณที่ว่าตนไม่ต้องชำระหนี้จึงฟังไม่ขึ้น
สรุป ข้อต่อสู้ของแพรวพรรณจำเลยที่ว่าคดีขาดอายุความนั้นฟังขึ้น แต่ข้อต่อสู้ที่ว่าตนไม่ต้องชำระหนี้นั้นฟังไม่ขึ้น
ข้อ 2 หลังจากหย่ากับภริยาแล้ว ทวีพงศ์ผู้เป็นสามีก็จากไปไม่เคยเหลียวหลังกลับมาดูดำดูดีครอบครัวอีกเลย ปล่อยทิ้งให้ลลนาภริยาอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์สามคนอยู่ฝ่ายเดียว มิหนำซ้ำทวีพงศ์ยังไปมีคู่ควงคนใหม่อีกไม่ซ้ำหน้า แม้ตั้งใจไว้ว่าจะตั้งหน้าตั้งตาอุปการะเลี้ยงดู ให้การศึกษาอบรมอย่างดีที่สุดกับลูก ไม่หวังพึ่งอดีตสามี ความน้อยเนื้อต่ำใจกอปรด้วยความรัก
ลลนาจึงเรียกบังคับเอาค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรกับสามี ทวีพงศ์ต่อสู้ว่าสิทธิเรียกร้องเอาค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นเป็นสิทธิของบุตรไม่ใช่ของภริยา และผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาไม่ได้ ขอให้ศาลยกฟ้อง
ข้อต่อสู้ฟังขึ้นหรือไม่ ทวีพงศ์จะต้องรับผิดในค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรหรือไม่ เพียงใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 226 วรรคแรก บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันเหตุแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง
มาตรา 229 การรับช่วงสิทธิย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมาย และย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ
(3) บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น หรือเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้ มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้น และเข้าใช้หนี้นั้น
มาตรา 291 ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง
มาตรา 296 ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น ท่านว่าต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนท่าๆกัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าส่วนที่ลูกหนี้ร่วมกันคนใดคนหนึ่งจะพึงชำระนั้น เป็นอันจะเรียกเอาจากคนนั้นไม่ได้ไซร้ ยังขาดจำนวนอยู่เท่าไร ลูกหนี้คนอื่นๆ ซึ่งจำต้องออกส่วนด้วยนั้นก็ต้องรับใช้ แต่ถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใด เจ้าหนี้ได้ปลดให้หลุดพ้นจากหนี้อันร่วมกันนั้นแล้ว ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ไป
มาตรา 1490 หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้
(1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
มาตรา 1562 ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้
มาตรา 1564 วรรคแรก บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์
มาตรา 1565 การร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรหรือขอให้บุตรได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดยประการอื่น นอกจากอัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวตามมาตรา 1562 แล้ว บิดาหรือมารดาจะนำคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย ได้ให้สิทธิบุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น หรือเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้น และได้เข้าใช้หนี้นั้น สามารถเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ และใช้สิทธิที่เจ้าหนี้มีอยู่ในมูลหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง (มาตรา 226 ประกอบมาตรา 229(3))
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ทวีพงศ์ผู้เป็นสามีได้ทิ้งให้ลลนาภริยาของตนอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ 3 คนอยู่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งตามกฎหมายได้กำหนดให้บิดามารดามีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ และให้ถือว่าหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นหนี้ร่วมกันระหว่างบิดามารดาตามมาตรา 1490(1) ประกอบมาตรา 1564 วรรคแรกนั้น กรณีนี้จึงถือว่าทวีพงศ์ยังคงมีความผูกพันร่วมกับลลนาในการที่จะต้องชำระหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่บุตรโดยเป็นลูกหนี้ร่วมกัน และในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันนั้น ต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตามมาตรา 291 ประกอบมาตรา 296
และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ต่อมาลลนาภริยาได้ขอให้ศาลบังคับเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากอดีตสามีคือทวีพงศ์ แต่ทวีพงศ์ต่อสู้ว่าสิทธิเรียกร้องเอาค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นเป็นสิทธิของบุตรไม่ใช่ของภริยาและผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาไม่ได้ ขอให้ศาลยกฟ้องนั้น กรณีนี้ถึงแม้ตามกฎหมายบุตรจะฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดาไม่ได้เพราะถือเป็นคดีอุทลุม (มาตรา 1562) ก็ตาม แต่กฎหมายก็ให้สิทธิบิดามารดาที่จะนำคดีเกี่ยวกับการร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรขึ้นว่ากล่าวได้ (มาตรา 1565) และเมื่อลลนาภริยาแต่ผู้เดียวได้ชำระหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่บุตรทั้งสาม จึงเป็นกรณีที่บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น (ลูกหนี้ร่วม) มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้นและเข้าใช้หนี้นั้น ดังนั้น ลลนาภริยาย่อมได้รับช่วงสิทธิของบุตรเจ้าหนี้โดยอำนาจของกฎหมายเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากทวีพงศ์ได้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 226 229(3) และมาตรา 296 ข้อต่อสู้ของทวีพงศ์ดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น และทวีพงศ์จะต้องรับผิดในค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรกึ่งหนึ่ง
สรุป ข้อต่อสู้ของทวีพงศ์ฟังไม่ขึ้น และทวีพงศ์จะต้องรับผิดในค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรกึ่งหนึ่ง
ข้อ 3 ธีรวุฒิมีที่ดินแปลงสวยติดถนน จงมีมาชักชวนธีรวุฒิทำตึกแถวในที่ดินดังกล่าวขาย โดยให้ธีรวุฒิเป็นผู้ออกทุนเป็นที่ดิน ส่วนจงมีจะออกค่าก่อสร้าง ได้ตึกแถวจำนวนกี่ห้องก็แบ่งกันคนละครึ่ง ซึ่งหลังจากรังวัดแล้วก็จะได้สิบห้องพอดี จงมีได้นำสิทธิที่จะได้ห้าห้องของตนนั้นไปทำสัญญาจะขายให้ ก ข ค ง จ และได้รับมัดจำค่าก่อสร้างมาห้องละหนึ่งแสนบาท ในสัญญากำหนดก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2553
ซึ่งครบตามกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วจงมียังมิได้เริ่มลงมือก่อสร้าง ธีรวุฒิจึงบอกเลิกสัญญา เพราะจงมีผิดนัดสัญญาเลิกกันโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ก ข ค ง จ จะเรียกให้ธีรวุฒิในฐานะเจ้าของที่ดินตามสัญญาโอนที่ดินให้พวกตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 214 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 733 เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่นๆซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย
มาตรา 233 ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้
มาตรา 236 จำเลยมีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใดๆ ท่านว่าจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เว้นแต่ข้อต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้ว
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย เจ้าหนี้มีสิทธิที่เรียกชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่นๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย (มาตรา 214) และหากลูกหนี้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตน จนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ เจ้าหนี้ก็สามารถใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นได้ (มาตรา 233) แต่หากจำเลยที่ถูกเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้นั้นมีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างไร ก็สามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ได้ เว้นแต่ข้อต่อสู้นั้นเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้ว (มาตา 236)
กรณีตามอุทาหรณ์ ก ข ค ง จ จะเรียกให้ธีรวุฒิในฐานะเจ้าของที่ดินตามสัญญาทำตึกแถวโอนที่ดินให้พวกตนได้หรือไม่นั้น เห็นว่า การที่จงมีได้นำสิทธิที่จะได้ตึกแถวห้าห้องของตนไปทำสัญญาจะขายให้ ก ข ค ง จ และได้รับมัดจำค่าก่อสร้างมาแล้วนั้น กรณีนี้จึงถือว่าจงมีได้ตกเป็นลูกหนี้ของ ก ข ค ง จ ตามสัญญาจะขายแล้ว เมื่อปรากฏว่าจงมีขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตนในที่ดินของธีรวุฒิ กรณีที่ธีรวุฒิบอกเลิกสัญญาทำตึกแถวจนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้คือ ก ข ค ง จ ต้องเสียประโยชน์ ก ข ค ง จ จึงสามารถใช้สิทธิเรียกร้องของจงมีมูลหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นได้ตามมาตรา 233 ประกอบมาตรา 214
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อธีรวุฒิจำเลยมีข้อต่อสู้จงมีอยู่ กรณีที่จงมีผิดสัญญา และสัญญาทำตึกแถวได้เลิกกันแล้ว ซึ่งถือเป็นข้อต่อสู้ที่เกิดขึ้นก่อน ก ข ค ง จ ยื่นฟ้อง ธีรวุฒิจึงสามารถยกข้อต่อสู้ที่ตนมีอยู่กับจงมี (ลูกหนี้เดิม) ดังกล่าว ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ก ข ค ง จ (เจ้าหนี้) ได้ตามมาตรา 236 ดังนั้น ธีรวุฒิจึงไม่ต้องโอนที่ดินตามสัญญาให้กับ ก ข ค ง จ
สรุป ก ข ค ง จ จะเรียกให้ธีรวุฒิในฐานะเจ้าของที่ดินตามสัญญาโอนที่ดินให้พวกตนไม่ได้
ข้อ 4 จำปาอาสาวแสนสวยของเกตุแก้วอายุมากแล้ว แต่ก็ยังอยู่เป็นโสดไม่มีครอบครัว ด้วยความรักหลานที่ตนเอามาอยู่ด้วย อาสาวยกที่ดินพร้อมบ้านที่อาศัยอยู่ให้กับเกตุแก้วและอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แต่สัญญาหลานเขยซึ่งเป็นสามีของเกตุแก้ว มีความประพฤติไม่เหมาะควร กล่าวคือ ชอบนำหนังสือโป๊มาให้เด็กหญิงในบ้านดู บางครั้งก็ชวนเด็กไปดู VCD โป๊ เรื่องแดงขึ้นรู้ถึงอาก็เกิดต่อว่าต่อขานกัน สามีของหลานหนีออกจากบ้านไป หลานสาวได้มาด่าว่าอาของตนว่า “อีแก่ไม่ยุติธรรม มึงทำให้ครอบครัวกูแตกแยก กูไม่อยู่กับมึงแล้ว” พูดแล้วเกตุแก้วก็ร้อนใจกลัวว่าจะถูกอาถอนคืนการให้ จึงเอาบ้านและที่ดินที่อาให้ไปจำนองลลนชิตซึ่งรับจำนองไว้โดยสุจริต จำปามาปรึกษาท่านว่า จะเรียกร้องบังคับเอากับหลานได้อย่างไรบ้าง ให้ท่านอธิบาย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 213 ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนเจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้
เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำการอันหนึ่งอันใด เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทำการอันนั้นโดยลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้แต่ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้ ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ก็ได้
มาตรา 215 เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้ของมูลหนี้ไซร้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นก็ได้
มาตรา 237 วรรคแรก เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
มาตรา 531 อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้
(2) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
มาตรา 534 เมื่อถอนคืนการให้ ท่านให้ส่งคืนทรัพย์สินตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยลาภมิควรได้
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เกตุแก้วได้มาด่าว่าจำปาอาของตนว่า อีแก่ไม่ยุติธรรม มึงทำให้ครอบครัวกูแตกแยก กูไม่อยู่กับมึงแล้ว นั้น ถือเป็นการกล่าวหมิ่นประมาทจำปาผู้ให้อย่างร้ายแรง จำปาจึงเรียกถอนคืนการให้บ้านและที่ดินเพราะเหตุเกตุแก้วผู้รับประพฤติเนรคุณได้ (มาตรา 531(2)) ดังนั้น จำปาผู้ให้จึงอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของเกตุแก้วในการเรียกถอนคืนการให้ดังกล่าว
และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าเกตุแก้วผู้รับได้เอาบ้านและที่ดินที่จำปาให้ไปจำนองไว้กับลลนชิต การจำนองดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมอันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ และถือเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้ตามมาตรา 237 วรรคแรก จำปาเจ้าหนี้จึงชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ แต่เมื่อปรากฏว่า ลลนชิตรับจำนองไว้โดยสุจริต กล่าวคือ เป็นกรณีที่ลลนชิตบุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้น มิได้รู้เท่าถึงข้อความจริง อันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย ดังนั้น ศาลจึงเพิกถอนนิติกรรมจำนองดังกล่าวไม่ได้ตามมาตรา 237 วรรคแรก
อย่างไรก็ตาม แม้ศาลจะเพิกถอนนิติกรรมจำนองไม่ได้ แต่ผลจากการถอนคืนการให้ดังกล่าว ย่อมทำให้เกตุแก้วต้องส่งคืนทรัพย์สินที่รับไปคือ บ้านและที่ดิน ให้กับจำปาฐานมิควรได้ (มาตรา 534) และปลอดภาระจำนองตามที่ได้ให้กันมาแต่เดิม ดังนั้น จำปาจึงสามารถร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้กับเกตุแก้วได้โดยเฉพาะเจาะจง กล่าวคือ สามารถบังคับให้เกตุแก้วโอนที่ดินพร้อมบ้านคืนมาโดยปลอดจำนอง (มาตรา 213 วรรคแรก) ถ้าเกตุแก้วไม่โอนคืนให้จำปาก็สามารถขอให้ศาลสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของเกตุแก้วลูกหนี้ได้ (มาตรา 213 วรรคสาม) และหากจำปามีค่าใช้จ่ายในการไถ่จำนองหรือค่าเสียหายอย่างอื่นก็ย่อมเรียกเอากับเกตุแก้วได้ เพราะถือว่าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ (มาตรา 215)
สรุป เมื่อจำปามาปรึกษาข้าพเจ้าว่าจะเรียกร้องบังคับเอากับหลานได้อย่างไรบ้าง ข้าพเจ้าจะแนะนำแก่จำปาตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น