การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  นายเอกซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ  เป็นเจ้าหนี้เงินกู้นายโทซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่  จำนวน  100,000  บาท  ต่อมานายเอกได้สั่งซื้อสินค้าจากนายตรีซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ในราคา  100,000  บาท  เมื่อหนี้ทั้งสองจำนวนถึงกำหนดชำระแล้ว  นายเอกกับนายตรีได้พบกันและตกลงกันว่านายเอกจะโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ที่นายเอกเป็นเจ้าหนี้นายโทจำนวน  100,000  บาท  ให้แก่นายตรี  เพื่อชำระค่าสินค้าจำนวน  100,000  บาท  ที่นายเอกเป็นหนี้นายตรีอยู่  ทั้งสองฝ่ายได้ทำสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหนังสือ

โดยนายเอกคนเดียวลงชื่อในสัญญาดังกล่าว  จากนั้นนายเอกได้มีจดหมายบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปให้นายโททราบแล้ว  ต่อมานายโทไม่ยอมชำระเงินจำนวน  100,000  บาท  แก่นายตรี  นายตรีจึงฟ้องคดีต่อศาลเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าว  นายโทต่อสู้ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นโมฆะ  เพราะไม่ได้ลงลายมือชื่อนายตรีผู้รับโอนด้วย  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่าการโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ใช้บังคับได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  306  วรรคแรก  การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ  ท่านว่าไม่สมบูรณ์  อนึ่งการโอนหนี้นั้น  ท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้  หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น  คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้  ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ

วินิจฉัย

การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจงตามมาตรา  306  วรรคแรกนั้น  กฎหมายได้บัญญัติแต่เพียงว่าจะต้องทำเป็นหนังสือ  การโอนนั้นจึงจะสมบูรณ์  หาได้บัญญัติว่าการโอนนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือ  และลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอนด้วยไม่  ดังนั้นการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้โอนแต่ฝ่ายเดียว  ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  (ฎ. 6816/2537)  และการโอนหนี้หรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าวนั้นจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้  หรือบุคคลภายนอกได้  ก็ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้แล้ว  หรือลูกหนี้ได้มีหนังสือให้ความยินยอมด้วยกับการโอนนั้น 

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายเอกได้โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ที่นายเอกเป็นเจ้าหนี้นายโทให้แก่นายตรี  เมื่อนายเอกและนายตรีได้ทำสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหนังสือ  โดยนายเอกเพียงคนเดียวลงชื่อในสัญญาดังกล่าว  การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างนายเอกและนายตรีก็มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้  และเมื่อนายเอกได้มีหนังสือ (จดหมาย)  บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นไปให้นายโททราบแล้ว  นายโทจึงต้องชำระหนี้ให้แก่นายตรีเจ้าหนี้ที่รับโอนสิทธิเรียกร้องจากนายเอก  และถ้านายโทไม่ยอมชำระหนี้แก่นายตรี  นายตรีย่อมสามารถฟ้องนายโทให้ปฏิบัติตามสัญญากู้ยืมเงินได้  นายโทจะต่อสู้ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นโมฆะหาได้ไม่

สรุป  การโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้สมบูรณ์ใช้บังคับได้  นายโทต้องชำระหนี้ให้แก่นายตรีจะต่อสู้ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นโมฆะไม่ได้

 

 

ข้อ  2  นายดำกู้เงินจากนายขาวไป  10,000  บาท  กำหนดชำระคืนในวันที่  31  ธันวาคม  2553  โดยให้คิดดอกเบี้ยตามสัญญาในอัตราร้อยละ  15  ต่อปี  ในการนี้นายเหลืองได้เข้าเป็นผู้ค้ำประกันการกู้โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันกับนายดำ  ต่อมาในวันที่  31  ธันวาคม  2553

นายดำไม่ชำระหนี้แก่นายขาวตามสัญญา  นายเหลืองทราบเรื่อง  ในวันรุ่งขึ้นจึงได้นำเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยครบตามสัญญาไปชำระให้นายขาวที่บ้าน  พบนายขาวกำลังรับประทานอาหารเย็น  แต่นายขาวปฏิเสธไม่ยอมรับชำระและไล่ให้นายเหลืองกลับไป  ต่อมานายขาวได้นำคดีไปฟ้องศาลเรียกเงินกู้และดอกเบี้ยตามสัญญาจนถึงวันฟ้อง  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  นายดำกับนายเหลืองต้องรับผิดต่อนายขาวหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  207  ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้  และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

มาตรา  221  หนี้เงินอันต้องเสียดอกเบี้ยนั้น  ท่านว่าจะคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่เจ้าหนี้ผิดนัดหาได้ไม่

มาตรา  294  การที่เจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น  ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย

มาตรา  315  อันการชำระหนี้นั้น  ต้องทำให้แก่ตัวเจ้าหนี้หรือแก่บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้  การชำระหนี้ทำให้แก่บุคคลผู้ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้นั้น  ถ้าเจ้าหนี้ให้สัตยาบันก็นับว่าสมบูรณ์

มาตรา  324  เมื่อมิได้มีแสดงเจตนาไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าจะพึงชำระหนี้  ณ  สถานที่ใดไซร้  หากจะต้องส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง  ท่านว่าต้องส่งมอบกัน  ณ  สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้น  ส่วนการชำระหนี้โดยประการอื่น  ท่านว่าต้องชำระ  ณ  สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาปัจจุบันของเจ้าหนี้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายเหลืองได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้เงินกู้ยืม  10,000  บาท  ที่มีนายดำเป็นลูกหนี้นายขาวนั้น  เมื่อนายเหลืองยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม  จึงถือว่านายเหลืองเป็นลูกหนี้ร่วมกับนายดำ

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระนายดำไม่ชำระหนี้ให้แก่ขาวตามสัญญา  นายเหลืองทราบเรื่อง  จึงได้นำเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยไปชำระให้นายขาวที่บ้าน  แต่นายขาวปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้  ดังนี้ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่ลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้วตามมาตรา  315  ประกอบมาตรา  324  แต่เจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้  เพราะแม้ขณะนั้นเป็นเวลารับประทานอาหารเย็นก็ไม่ใช่เหตุอันจะอ้างเพื่อปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ได้แต่อย่างใด  ดังนั้นการที่นายขาวปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้ดังกล่าว  นายขาวเจ้าหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา  207  และมีผลทำให้นายขาวไม่สามารถคิดดอกเบี้ยเงินกู้ได้ในระหว่างที่ตนผิดนัด  คือนับแต่วันที่  1  มกราคม  2554  เป็นต้นไปตามมาตรา  221  แต่อย่างไรก็ตามนายดำและนายเหลืองลูกหนี้ก็ยังไม่หลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้นแต่อย่างใด

และเมื่อนายเหลืองเป็นลูกหนี้ร่วมกับนายดำ  ซึ่งตามมาตรา  294  ได้บัญญัติเอาไว้ว่า  หากเจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง  ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย  ดังนั้นนายดำจึงได้ประโยชน์จากการผิดนัดของนายขาวเจ้าหนี้ด้วย  ทำให้นายขาวไม่อาจเรียกดอกเบี้ยตามสัญญากู้จากลูกหนี้ทั้งสองคนในระหว่างที่ตนผิดนัดเป็นต้นไป  (ฎ. 2491/2522)

สรุป  นายดำกับนายเหลืองต้องรับผิดชำระหนี้ให้กับนายขาวตามสัญญา  แต่นายขาวจะเรียกดอกเบี้ยตามสัญญากุ้จากลูกหนี้ทั้งสองคนในระหว่างที่ตนผิดนัดไม่ได้

 

 

ข้อ  3  จันทร์เป็นเจ้าหนี้  โดยมีอังคารเป็นลูกหนี้ในหนี้เงินกู้ยืม  900,000  บาท  เพื่อมิให้จันทร์ได้รับการชำระหนี้  อังคารจึงได้โอนขายที่ดินหนึ่งแปลงซึ่งเป็นทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวที่มีอยู่ให้แก่พุธ  ในราคา  900,000  บาท  พุธรับซื้อไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นการโอนขายเพื่อหนีหนี้  อันเป็นทางให้จันทร์เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ  ต่อมาในวันที่  20  มกราคม  2553  พุธได้โอนที่ดินแปลงดังกล่าวนี้ให้แก่พฤหัสอีกทอดหนึ่งโดยเสน่หา

พฤหัสรับโอนไว้โดยสุจริต  ปรากฏว่าในวันที่  30  มกราคม  2553  จันทร์ได้เป็นโจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินระหว่างอังคารกับพุธ  และขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างพุธกับพฤหัส  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าศาลจะเพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างพุธกับพฤหัสได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  237  เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น  บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย  แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา  ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

มาตรา  238  การเพิกถอนดังกล่าวมาในบทมาตราก่อนนั้น  ไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคลภายนอก  อันได้มาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอน

อนึ่งความที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้  ท่านมิให้ใช้บังคับถ้าสิทธินั้นได้มาโดยเสน่หา

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่อังคารลูกหนี้ได้โอนขายที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวที่มีอยู่ให้แก่พุธนั้น  ถือเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ไกระทำลงทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  จึงเป็นนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้  และเมื่อพุธซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นการโอนขายเพื่อหนีหนี้  ดังนั้น  เมื่อจันทร์เจ้าหนี้ได้เป็นโจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินระหว่างอังคารกับพุธแล้ว  ศาลย่อมเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินดังกล่าวได้ตามมาตรา  237  วรรคแรก

และกรณีที่จันทร์ได้ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างพุธกับพฤหัสด้วยนั้น  ถึงแม้ตามมาตรา  238  วรรคแรก  จะได้กำหนดไว้ว่า  การเพิกถอนดังกล่าวตามมาตรา  237  วรรคแรกนั้น  ไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอนก็ตาม  แต่เมื่อปรากฏว่า  การโอนทอดหลังระหว่างพุธกับพฤหัสเป็นการให้โดยเสน่หา  แม้พฤหัสซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะรับโอนไว้โดยสุจริตก่อนที่จันทร์เริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอน  และผลของการเพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินระหว่างอังคารกับพุธจะกระทบกระทั่งถึงการโอนทอดหลังดังกล่าวก็ตาม  แต่เนื่องจากพฤหัสรับโอนที่ดินมาโดยเสน่หา  ศาลจึงเพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างพุธกับพฤหัสได้ตามมาตรา  238  วรรคสอง

สรุป  ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างพุธกับพฤหัสได้

 

 

ข้อ  4  หนึ่งและสองเป็นเจ้าของรวมในที่ดินหนึ่งแปลง  หนึ่งและสองเป็นลูกหนี้ร่วมตกลงกับสามเจ้าของที่ดินข้างเคียงว่าจะไม่สร้างอาคาร  3  ชั้น  ปิดบังแสงสว่างที่ดินของสาม  ต่อมาหนึ่งและสอง  แบ่งแยกที่ดินกันแล้วถือไว้คนละแปลง  ปรากฏว่าหนึ่งสร้างอาคาร  3  ชั้นในที่ดินของหนึ่ง  ผิดข้อสัญญาที่ได้เคยให้ไว้แก่สาม  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  ใครบ้างที่จะต้องรับผิดต่อสามเรื่องการรื้อถอนอาคารที่สร้างผิดข้อสัญญา  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  295  ข้อความจริงอื่นใด  นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  292  ถึง  294  นั้น  เมื่อเป็นเรื่องท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น  เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง

ความที่ว่ามานี้  เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่การให้คำบอกกล่าว  การผิดนัด  การที่หยิบยกอ้างความผิด  การชำระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง  กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลง  และการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกันไปกับหนี้สิน

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  295  วรรคแรกนั้น  ได้บัญญัติเอาไว้ว่า  การอันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ลูกหนี้ร่วมคนใด  ย่อมถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมคนนั้น  ไม่มีผลถึงลูกหนี้ร่วมคนอื่นด้วย  เว้นแต่ที่ระบุไว้ในมาตรา  292  ถึง  294  หรือปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่หนึ่งและสองซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมได้ตกลงกับสามเจ้าของที่ดินข้างเคียงว่าจะไม่สร้างอาคาร  3  ชั้น  ปิดบังแสงสว่างในที่ดินของสามนั้น  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าภายหลังจากที่หนึ่งและสองได้แบ่งแบกที่ดินกันถือไว้คนละแปลงแล้ว  หนึ่งได้สร้างอาคาร  3  ชั้นในที่ดินแปลงของหนึ่ง  ซึ่งผิดข้อสัญญาที่เคยให้ไว้กับสาม  จึงเป็นกรณีที่ลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งได้กระทำให้เกิดความเสียหายขึ้นต่อบุคคลอื่น  หนึ่งย่อมต้องรับผิดต่อสามแต่เพียงผู้เดียว  ดังนั้น  สามจึงมีสิทธิที่จะเรียกให้หนึ่งรับผิดแต่เพียงคนเดียวเท่านั้น  เพราะถือเป็นเรื่องการที่หยิบยกอ้างความผิดของลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งตามมาตรา  295  วรรคสอง  ย่อมเป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมผู้นั้น  ไม่มีผลไปถึงลูกหนี้ร่วมคนอื่นด้วย  สองจึงไม่ต้องรับผิดต่อสามตามมาตรา  295  วรรคแรก

สรุป  หนึ่งคนเดียวเท่านั้นที่จะต้องรับผิดต่อสามในเรื่องการรื้อถอนอาคารที่สร้างผิดข้อสัญญา

Advertisement