การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ 1.   สินทำสัญญาขายที่ดินแปลงหนึ่งของตนให้แก่ทรัพย์ โดยตกลงกันว่าจะจดทะเบียนโอนในวันที่ 30 กันยายน 2551  แต่เนื่องจากบนที่ดินแปลงนี้มีบุคคลอื่นเข้ามาปลูกเพิงพักอาศัยอยู่ 5 ครอบรัว สินกับทรัพย์จึงตกลงกันว่า สินจะต้องจัดการให้ครอบครัวดังกล่าวย้ายออกไปจากที่ดินภายในวันที่ 29 กันยายน 2551  ปรากฏว่า สินได้จัดการให้ครอบครัวดังกล่าวย้ายออกไปตามกำหนดแล้ว โดยต้องจ่ายค่าขนย้ายและค่ารื้อถอนให้รวม 120,000 บาท เงินจำนวนนี้ สินต้องกู้มาจากธนาคาร เสียดอกเบี้ยร้อยละ 11 ต่อปี ครั้นวันที่ 30 กันยายน 2551  ทรัพย์กลับผิดสัญญาไม่ยอมจดทะเบียนรับโอนที่ดินแปลงนี้จากสินเพราะเห็นว่าราคาแพงเกินไป สินจึงมาปรึกษานักศึกษาว่าจะฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายจำนวน 120,000 บาทที่เสียไปเป็นค่าขนย้ายและรื้อถอนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11 ต่อปี และเรียกค่าเสียหายจากการที่ทรัพย์ประพฤติผิดสัญญาไม่ยอมรับโอนที่ดินด้วยอีก 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นักศึกษาจะให้คำปรึกษาแก่สินว่า สินจะสามารถเรียกค่าเสียหายกับดอกเบี้ยดังกล่าวได้หรือไม่ และด้วยเหตุผลอย่างไร

แนวคำตอบ

ค่าเสียหาย 120,000 บาทนั้นเรียกได้เพราะเป็นค่าเสียหายที่ตามปกติย่อมเกิดจากการไม่ชำระหนี้ ตาม         ป.พ.พ.มาตรา 222 วรรคหนึ่ง ส่วน

ดอกเบี้ยร้อยละ 11 ต่อปีนั้นเรียกไม่ได้ เพราะไม่ใช่ค่าเสียหายที่ตามปกติย่อมเกิดจากการไม่ชำระหนี้ แต่ถือว่าเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าทรัพย์ได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้า ตามมาตรา 222 วรรคสอง สินจึงเรียกดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวไม่ได้ อย่างไรก็ตามถือว่าเป็นหนี้เงิน สินยังสามารถเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ส่วนค่าเสียหายที่ทรัพย์ผิดสัญญา 50,000 บาทนั้น สินเรียกได้พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 222 วรรคหนึ่ง, 224 วรรคหนึ่ง (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 12523/2547 และที่ 1336/2545)

 

 

ข้อ 2.       ดวงเช่าปั๊มน้ำมันของดาว เพื่อดำเนินกิจการขายน้ำมันเชื้อเพลิง มีกำหนดเวลา 10 ปี แต่มีข้อตกลงว่า ดวงจะต้องเป็นผู้ออกใช้ซ่อมแซมการชำรุดเสียหายทุกชนิดที่เกิดขึ้นแก่ปั๊มน้ำมันตลอดเวลาที่เช่า ต่อมาในระหว่างการเช่า จันทน์ขับรถบรรทุกด้วยความประมาทเลินเล่อชนเสาค้ำหลังคาปั๊มน้ำมัน เป็นเหตุให้เสาและหลังคาได้รับความเสียหายจนดาวต้องซ่อมแซมเสียค่าใช้จ่ายไป 200,000 บาท และต่อมาดวงได้ชดใช้ค่าซ่อมแซมดังกล่าวแก่ดาวแล้ว ดวงจึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวจากจันทน์  จันทน์ต่อสู้ว่า ดวงเป็นเพียงผู้เช่า ไม่ใช่เจ้าของปั๊มน้ำมันผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของตน ดวงจึงไม่มีอำนาจฟ้อง  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของจันทน์รับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ

แม้ว่าปั๊มน้ำมันที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจันทน์จะเป็นของดาว แต่เนื่องจากตามสัญญาเช่าที่ตกลงกันให้เป็นหน้าที่ของดวงที่จะต้องเป็นผู้ออกใช้ค่าซ่อมแซมการชำรุดเสียหายที่เกิดขึ้นทุกชนิด เมื่อดวงได้ชดใช้ค่าซ่อมแซมดังกล่าวแก่ดาวไปแล้ว จึงถือได้ว่าดาวได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ดวงในฐานะลูกหนี้จึงได้เข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของดาวเจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 227 ดวงจึงมีอำนาจฟ้องจันทน์ได้ (เทียบตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 188/2522)

 

 

ข้อ 3.     จันทร์ (ผู้จะซื้อ)  ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินหนึ่งแปลงกับอังคาร (ผู้จะขาย)  ในราคาหนึ่งล้านบาท เพื่อใช้ปลูกสร้างบ้านพักอาศัย  หลังทำสัญญาเสร็จปรากฏว่าอังคารกลับเอาที่ดินแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่พุธเสีย  ในราคาสองล้านบาท โดยพุธรู้อยู่แล้วว่าอังคารได้ทำสัญญาจะขายที่ดินแปลงดังกล่าวไว้แก่จันทร์  ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าอังคารมีทรัพย์อื่นอีกมากมายประมาณห้าล้านบาท  ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า จันทร์จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าวแก่พุธได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ

หลักกฎหมาย   ป.พ.พ.มาตรา 237 วรรคแรก

กรณีตามปัญหา  เป็นเรื่องการทำสัญญาจะซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะไม่อาจใช้ทรัพย์อื่นมาโอนแทนได้ เมื่ออังคารนำที่ดินไปโอนให้พุธ ถือว่าจันทร์เสียเปรียบทันที  โดยไม่ต้องพิจารณาว่าอังคารจะมีทรัพย์สินอื่นพอชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ เมื่อครบองค์ประกอบอื่น ๆ ของมาตรา 237 วรรคแรก จันทร์จึงร้องขอให้ศาลเพิกถอนได้

 

 

ข้อ 4.   ก. และ ข.เป็นเจ้าหนี้ร่วม  ให้ ค. กู้เงินไป สองแสนบาท เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ ค. ได้นำเงิน        สองแสนบาท  ไปขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อ ก.เพียงผู้เดียว โดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่ ก.ปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้ โดยอ้างว่า ก.ต้องการได้รับดอกเบี้ยต่อไป ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ใครตกเป็นผู้ผิดนัด  เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ

หลักกฎหมาย   ป.พ.พ.มาตรา 207, มาตรา 299 วรรคแรก

กรณีตามปัญหา   ก. ตกเป็นเจ้าหนี้ผิดนัดตามมาตรา 207 และมีผลทำให้ ข. เจ้าหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งตกเป็นเจ้าหนี้ผิดนัดด้วย ตามมาตรา 299 วรรคแรค

Advertisement