การสอบไล่ภาค 1  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ 1 นาย ม เป็นคนยากจนมีทรัพย์สินเป็นที่ดิน นส.3 ก ที่เป็นเจ้าของอยู่เพียงแปลงเดียว มีความจำเป็นต้องใช้เงินในการรักษาตัว ได้ขอกู้เงินจากนาย ส ไป 100,000 บาท โดยเขียนไว้ในสัญญากู้เงินว่า นาย ม ขอใช้ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นประกันการชำระหนี้ กำหนดชำระหนี้ในเวลา 6 เดือนนี้ โดยไม่ได้ทำสัญญาและจดทะเบียนจำนอง วันรุ่งขึ้นนาย ม ได้ทำสัญญาและจดทะเบียนยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นาง บ ที่ได้ดูแลตนมาตลอดเวลาที่ป่วย เมื่อหนี้ครบกำหนดนาย ม ไม่ชำระ จากนั้นอีก 1 เดือน นาย ส ได้ฟ้องคดีแพ่งเรียกเงินตามสัญญากู้จากนาย ม และชนะคดี ศาลพิพากษาให้นาย ม ชำระหนี้แก่นาย ส จากนั้นนาย ส จึงได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินแปลงดังกล่าว

แต่ถูกนาง บ ร้องคัดค้านอ้างว่าเป็นของตน เพราะนาย ม ยกให้แล้ว นาย ส จึงได้ทราบเรื่องการยกที่ดินให้กันดังกล่าว และได้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนการยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่กันเสีย ถ้านักศึกษาเป็นศาลจะวินิจฉัยอย่างไร โดยอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะหนี้ที่ได้ศึกษามา

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 214 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 733 เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่นๆซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย

มาตรา 237 เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน

วินิจฉัย

หลักเกณฑ์ที่เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลตามมาตรา 237 ประกอบด้วย

1 ลูกหนี้ได้ทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล หมายถึง นิติกรรมที่ลูกหนี้ทำขึ้นโดยที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ซึ่งก็คือ นิติกรรมนั้นพอทำแล้วลูกหนี้จะไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้นั่นเอง

2 ลูกหนี้จะต้องรู้ว่าเมื่อทำนิติกรรมแล้วเจ้าหนี้จะเสียเปรียบ

3 นิติกรรมที่จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ ถ้ามิใช่เป็นการทำให้โดยเสน่หาแล้ว เจ้าหนี้จะขอให้ศาลเพิกถอนได้ต่อเมื่อ ในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้น (หมายถึงผู้ที่ทำนิติกรรมกับลูกหนี้) ได้รู้ถึงความเสียเปรียบของเจ้าหนี้ (คือต้องรู้ในขณะที่ทำนิติกรรม ถ้ามารู้ภายหลังก็ย่อมเพิกถอนไม่ได้)

4 หากลูกหนี้ทำนิติกรรมให้โดยเสน่หา เพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวก็พอแล้วที่จะขอให้เพิกถอนได้ (ดังนั้นผู้ได้ลาภงอกจะอ้างว่าตนสุจริตก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ)

5 การเพิกถอนการฉ้อฉลใช้ได้กับนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สินเท่านั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย ม ลูกหนี้ได้ทำสัญญาและจดทะเบียนยกที่ดินแปลงดังกล่าว ซึ่งเป็นทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวที่มีอยู่ให้แก่นาง บ นั้น ถือเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้นาย ส เจ้าหนี้เสียเปรียบ จึงเป็นนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้

และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นาย ม ลูกหนี้ได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นาง บ โดยเสน่หา ดังนั้น ถึงแม้ว่านาง บ ผู้ได้ลาภงอกจะได้รู้ข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบนั้นด้วยหรือไม่ก็ตาม นาย ส เจ้าหนี้ก็สามารถร้องขอให้ศาลเพิกถอนการยกที่ดินแปลงดังกล่าวได้ตามมาตรา 237 ทั้งนี้โดยไม่ต้องพิจารณาว่าที่ดินแปลงพิพาทนี้ นาย ม กับนาย ส ได้จดทะเบียนจำนองกันโดยชอบหรือไม่ เพราะเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจะให้ชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงอยู่แล้วตามมาตรา 214 (ฎ.47/2524)

สรุป นิติกรรมการยกที่ดินให้แก่กันระหว่างนาย ม กับนาง บ เป็นนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้ และนาย ส เจ้าหนี้สามารถร้องขอให้ศาลเพิกถอนการยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่กันได้

 

 

ข้อ 2 นาย ก เป็นเจ้าหนี้เงินกู้นาย ข 100,000 บาท ขณะเดียวกันนาย ก ก็เป็นหนี้ค่าซื้อสินค้าของนาย ค อยู่ 110,000 บาท นาย ก กับนาย ค ได้โทรศัพท์คุยกันตกลงกันว่านาย ก ตกลงโอนและนาย ค ตกลงรับโอนหนี้เงินกู้ทั้งจำนวนที่นาย ข เป็นหนี้นาย ก อยู่ มาเป็นการชำระหนี้ที่ นาย ก เป็นหนี้ค่าสินค้านาย ค อยู่

ส่วนที่เหลืออีก 10,000 บาท นาย ก จะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารให้แก่นาย ค ต่อไป จากนั้นนาย ก และนาย ค ต่างได้ส่งหนังสือแจ้งเรื่องการตกลงโอนหนี้กันนั้นให้นาย ข ทราบ ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า การโอนหนี้ระหว่างนาย ก กับนาย ค มีผลอย่างไรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 306 วรรคแรก การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้น ท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้ หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ

วินิจฉัย

การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้อันพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจงตามมาตรา 306 วรรคแรกนั้น กฎหมายบัญญัติว่าจะต้องทำเป็นหนังสือ การโอนนั้นจึงจะสมบูรณ์ และการโอนหนี้หรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าวนั้น จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้ หรือบุคคลภายนอกได้ก็ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้แล้ว หรือลูกหนี้ได้มีหนังสือให้ความยินยอมด้วยกับการโอนนั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย ก กับนาย ค ตกลงโอนหนี้เงินกู้ที่นาย ข เป็นหนี้นาย ก อยู่ไปให้นาย ค ซึ่งถือเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้อันพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจงนั้น เมื่อปรากฏว่าการตกลงโอนหนี้ระหว่างนาย ก ผู้โอนหนี้มิได้ทำเป็นหนังสือตามมาตรา 306 วรรคแรก เพียงแต่ตกลงกันด้วยวาจาทางโทรศัพท์เท่านั้น ซึ่งแม้ต่อมาทั้งสองฝ่ายจะได้ทำหนังสือแจ้งการโอนหนี้ไปให้นาย ข ลูกหนี้ทราบ ก็ไม่ใช่การทำสัญญาโอนหนี้เป็นหนังสือตามกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น จึงมีผลทำให้การโอนหนี้ระหว่างนาย ก กับนาย ค ไม่สมบูรณ์ (ฎ. 1802/2518)

สรุป การโอนหนี้ระหว่างนาย ก กับนาย ค ไม่สมบูรณ์

 

 

ข้อ 3 จันทร์เป็นเจ้าหนี้อังคารอยู่ห้าแสนบาท และอังคารเป็นเจ้าหนี้พุธอยู่ห้าแสนบาทเท่ากัน ปรากฏว่าจันทร์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องของอังคารตามบทบัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 233 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพุธให้ชำระหนี้ห้าแสนบาท โดยยื่นฟ้องในวันที่ 10 มกราคม 2554 แต่พุธซึ่งเป็นจำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่าในวันที่ 20 มกราคม 2554 อังคารได้ตกเป็นลูกหนี้พุธ จำนวนเงินห้าแสนบาทเช่นกัน จากมูลหนี้ค่าซื้อของเชื่อและหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว พุธจึงขอต่อสู้คดี โดยขอหักลบกลบหนี้กับหนี้ที่อังคารเป็นลูกหนี้ค่าซื้อของเชื่อพุธด้วย ดังนี้ ข้อต่อสู้ของพุธฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 233 ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้

มาตรา 236 จำเลยมีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใดๆ ท่านว่าจะยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เว้นแต่ข้อต่อสู้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อยื่นฟ้องแล้ว

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว หากลูกหนี้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตน จนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ เจ้าหนี้ก็สามารถใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นได้ตามมาตรา 233 แต่หากจำเลย (ลูกหนี้ของลูกหนี้) ที่ถูกเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้นั้นมีข้อต่อสู้ลูกหนี้เดิมอยู่อย่างใด ก็สามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ได้ เว้นแต่ข้อต่อสู้นั้นเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้ยื่นฟ้องคดีแล้วตามมาตรา 236

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องของอังคารลูกหนี้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพุธตามมาตรา 233 นั้น โดยหลักถ้าพุธ (จำเลย มีข้อต่อสู้อังคาร (ลูกหนี้เดิม) อยู่อย่างใด ก็ย่อมยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จันทร์ (โจทก์) ได้ แต่ต้องเป็นข้อต่อสู้ที่เกิดขึ้นก่อนจันทร์ยื่นฟ้องคดี กล่าวคือ สิทธิและหน้าที่ทั้งหลายจะต้องถือเป็นยุติแต่ในเวลายื่นฟ้องคดีเท่านั้น ดังนั้น เมื่อข้อต่อสู้ของพุธเรื่องขอหักลบกลบหนี้กับมูลหนี้ค่าซื้อของเชื่อเกิดขึ้นภายหลังจันทร์ยื่นฟ้องคดีแล้ว กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามมาตรา 236 ข้อต่อสู้ของพุธจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้อต่อสู้ของพุธฟังไม่ขึ้น

 

 

ข้อ 4 เสาร์และอาทิตย์เป็นเจ้าหนี้ร่วมของศุกร์ในหนี้เงินสองแสนบาท ครั้นเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ ศุกร์ได้เอาแหวนเพชรหนึ่งวงตีใช้หนี้แทนเงินสองแสนบาทให้แก่เสาร์ ซึ่งเสาร์ยอมรับเอาไว้ ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า อาทิตย์จะเรียกให้ศุกร์ชำระหนี้สองแสนบาทแก่ตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 292 วรรคแรก การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชำระหนี้นั้น ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่การใดๆ อันพึงกระทำแทนชำระหนี้ วางทรัพย์สินแทนชำระหนี้และหักกลบลบหนี้ด้วย

มาตรา 298 ถ้าบุคคลหลายคนมีสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนอาจจะเรียกให้ชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าลูกหนี้จำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงแต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือ เจ้าหนี้ร่วมกัน) ก็ดี ท่านว่าลูกหนี้จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แต่คนใดคนหนึ่งก็ได้ตามแต่จะเลือก ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ แม้ทั้งนี้เจ้าหนี้คนหนึ่งจะได้ยื่นฟ้องเรียกชำระหนี้ไว้แล้ว

มาตรา 299 วรรคสาม นอกจากนี้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 292, 293 และ 295 มาใช้บังคับโดยอนุโลม กล่าวโดยเฉพาะก็คือ แม้เจ้าหนี้ร่วมกันคนหนึ่งจะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่บุคคลอื่นไปก็หากระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้คนอื่นๆด้วยไม่

มาตรา 321 วรรคแรก ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย การชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ร่วมนั้น ลูกหนี้มีสิทธิเลือกชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งก็ได้ตามแต่ลูกหนี้จะเลือก แม้ว่าเจ้าหนี้ร่วมคนหนึ่งจะได้ฟ้องคดีเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ไว้แล้วก็ตาม (มาตรา 298)

กรณีตามอุทาหรณ์ อาทิตย์จะเรียกให้ศุกร์ชำระหนี้สองแสนบาทแก่ตนได้หรือไม่ เห็นว่า การที่ศุกร์ลูกหนี้ได้เอาแหวนเพชรหนึ่งวงตีใช้หนี้แทนเงินสองแสนบาทให้แก่เสาร์เจ้าหนี้ร่วมคนหนึ่ง และเสาร์ยอมรับเอาไว้นั้น ถือเป็นกรณีที่ศุกร์ทำการอันพึงกระทำแทนการชำระหนี้ และเสาร์เจ้าหนี้ได้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ (ตามมาตรา 292 วรรคแรกประกอบมาตรา 321 วรรคแรก) ทั้งนี้เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องเจ้าหนี้ร่วมจึงต้องนำบทบัญญัติมาตรา 292 วรรคแรก มาบังคับใช้โดยอนุโลมตามมาตรา 299 วรรคสาม ดังนั้น หนี้ดังกล่าวจึงระงับ และมีผลถึงอาทิตย์เจ้าหนี้ร่วมอีกคนด้วย อาทิตย์จะเรียกให้ศุกร์ชำระหนี้สองแสนบาทให้แก่ตนไม่ได้ตามมาตรา 298 มาตรา 299 วรรคสามประกอบอนุโลมใช้มาตรา 292 วรรคแรก และมาตรา 321 วรรคแรก

สรุป อาทิตย์จะเรียกให้ศุกร์ชำระหนี้สองแสนบาทแก่ตนไม่ได้

Advertisement