การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 ปัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากบริษัท ซิตี้ ลิสซิ่ง จำกัด ตามเงื่อนไขของสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าต้องชำระเบี้ยประกันภัย (ชั้นหนึ่งคุ้มครองถึงกรณีรถหาย) โดยผู้ให้เช่าเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์เต็มจำนวน และมีข้อสัญญาว่ากรณีรถสูญหาย ผู้เช่ายอมชดใช้ค่ารถยนต์เป็นเงินเท่ากับค่าเช่าซื้อที่ยังค้างชำระทั้งหมดทันที โดยผู้เช่าไม่ยกเหตุที่ผู้ให้เช่ามีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยใดๆทั้งสิ้น
เมื่อรถที่เช่าถูกลักไป และผู้ให้เช่าได้รับค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยแล้ว จะมาฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ผู้เช่ายังค้างชำระตามข้อสัญญาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 5 ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต
มาตรา 213 ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนเจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้
เมื่อสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำการอันหนึ่งอันใด เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทำการอันนั้นโดยลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้แต่ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้ ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ก็ได้
ส่วนหนี้ซึ่งมีวัตถุเป็นอันจะให้งดเว้นการอันใด เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้รื้อถอนการที่ได้กระทำลงแล้วนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายและให้จัดการอันควรเพื่อกาลภายหน้าด้วยก็ได้
อนึ่งบทบัญญัติในวรรคทั้งหลายที่กล่าวมาก่อนนี้ หากระทบกระทั่งถึงสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายไม่
วินิจฉัย
กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องการบังคับชำระหนี้ในค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาเช่าซื้อ
การที่เจ้าหนี้จะบังคับเอาค่าสินไหมทดแทนความเสียหายโดยหลักแล้ว เพื่อทดแทนความเสียหายตามที่ได้รับจากความเสียหายจริงเท่านั้น ตามมาตรา 213 วรรคท้าย
ในเมื่อรถที่เช่าถูกลักไป และผู้ให้เช่าได้รับค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยเต็มจำนวนตามกรมธรรม์แล้ว ถ้าจะมาเรียกเอาจากผู้เช่าอีก โดยอ้างข้อสัญญาที่ว่า กรณีรถสูญหาย ผู้เช่ายอมชดใช้ค่ารถยนต์เป็นเงินเท่ากับค่าเช่าซื้อที่ยังค้างชำระทั้งหมดทันที โดยผู้เช่าไม่ยกเหตุที่ผู้ให้เช่ามีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ใดๆทั้งสิ้น ย่อมเป็นการได้รับค่าสินไหมทดแทนสองทางอันเป็นการเกินกว่าความเสียหายที่ได้รับ ย่อมเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตตามมาตรา 5
สรุป ผู้ให้เช่าซื้อจะฟ้องเรียกเอาค่าเช่าซื้อที่ผู้เช่าซื้อยังค้างชำระอีกไม่ได้
ข้อ 2 ก ทำสัญญาจะซื้อบ้านพร้อมที่ดินจาก ข ในราคาสามล้านห้าแสนบาท ในวันทำสัญญา ก วางมัดจำไว้ห้าแสนบาท อีกสามล้านจะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ซึ่งกำหนดไว้แน่นอน ก่อนกำหนดโอนเกิดไฟไหม้บ้านเสียหายทั้งหลัง แต่ ข ก็ได้รับค่าสินไหมทดแทนในตัวบ้านที่ได้ทำประกันภัยไว้อยากทราบว่า ก จะบังคับตามสัญญาได้หรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
มาตรา 226 วรรคสอง ช่วงทรัพย์ได้แก่ เอาทรัพย์สินอันหนึ่งเข้าแทนที่ทรัพย์สินอีกอันหนึ่งในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกับทรัพย์สินอันก่อน
มาตรา 228 วรรคแรก ถ้าพฤติการณ์ซึ่งทำให้การชำระหนี้เป็นอันพ้นวิสัยนั้น เป็นผลให้ลูกหนี้ได้ซึ่งของแทนก็ดี หรือได้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อทรัพย์อันจะพึงได้แก่ตนนั้นก็ดี ท่านว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ส่งมอบของแทนที่ได้รับไว้ หรือจะเข้าเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเสียเองก็ได้
วินิจฉัย
จากมาตรา 226 วรรคสอง ช่วงทรัพย์ หมายถึง การเปลี่ยนตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้โดยผลของกฎหมาย เป็นการที่เอาทรัพย์สินอันหนึ่งเข้าแทนที่ทรัพย์สินอีกอันหนึ่งในฐานะอย่างเดียวกัน อันจะทำให้ทรัพย์สินที่เข้าไปแทนที่ตกอยู่ภายใต้การบังคับชำระหนี้แทนทรัพย์สินเดิม
ดังนั้นค่าสินไหมทดแทนบ้านที่ถูกไฟไหม้เป็นช่วงทรัพย์ตามมาตรา 226 วรรคสอง
กรณีนี้เป็นเรื่องการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย คือ ลูกหนี้ไม่สามารถส่งมอบทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ได้ เนื่องจากทรัพย์สูญหายหรือถูกทำลาย และต่อมาลูกหนี้ได้ทรัพย์สินอื่นมาแทน หรือได้สิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทน กฎหมายให้เอาทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นเข้าแทนที่เป็นช่วงทรัพย์ของทรัพย์เดิม ดังนั้นเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์สินหรือค่าสินไหมทดแทนจากลูกนี้ได้ หรือจะเรียกจากบุคคลภายนอกโดยตรงเลยก็ได้
เมื่อบ้านถูกไฟไหม้การชำระหนี้ในตัวบ้านเป็นอันพ้นวิสัย ก เจ้าหนี้ย่อมเรียกให้ ข ส่งมอบหรือเข้าเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเสียเองก็ได้ ตามมาตรา 228 วรรคแรก
สรุป ก บังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายให้ ข โอนที่ดินและส่งมอบค่าสินไหมทดแทนบ้านได้ แต่ ก ต้องชำระราคาตามสัญญาซื้อขาย
ข้อ 3 นางจันทร์ (ผู้ให้) ยกที่นาแปลงหนึ่งให้แก่นายอังคาร (ผู้รับการให้) โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อมานางจันทร์มีสิทธิที่จะเรียกถอนคืนการให้จากนายอังคารได้ เนื่องจากเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 แต่ก่อนที่นายอังคารจะถูกฟ้องเพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณนั้น นายอังคารได้โอนที่นาแปลงดังกล่าวให้แก่นายพุธโดยเสน่หา และนายพุธรับโอนไว้โดยถูกต้องและโดยสุจริต
ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า นางจันทร์จะใช้สิทธิในการควบคุมกองทรัพย์สินของนายอังคารในกรณีดังกล่าวได้อย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 237 เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน
วินิจฉัย
ตามาตรา 237 การเพิกถอนการฉ้อฉลนี้ กฎหมายบัญญัติขึ้นมาเพื่อจะแก้ปัญหาในกรณีที่เจ้าหนี้กำลังจะบังคับเอาแก่ลูกหนี้ แต่ทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่มีเหลืออยู่แล้ว หรือมีเหลือแต่ไม่เพียงพอที่จะชำระแก่เจ้าหนี้ เนื่องจากลูกหนี้ได้โอนไปให้ผู้อื่นเสียแล้ว
ดังนั้น มาตรา 237 จึงให้อำนาจเจ้าหนี้ที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใดๆ ที่ลูกหนี้ได้ทำไปโดยฉ้อฉลเจ้าหนี้ และเมื่อศาลเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวแล้ว ก็มีผลเท่ากับว่าลูกหนี้ไม่เคยทำนิติกรรมฉ้อฉลนั้นเลย ทรัพย์สินดังกล่าวก็คงกลับเข้ามาอยู่ที่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ดังเดิม
หลักเกณฑ์การเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237 ประกอบด้วย
1 ลูกหนี้ได้ทำนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล หมายถึง นิติกรรมที่ลูกหนี้ทำขึ้นโดยที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ซึ่งก็คือ นิติกรรมนั้นพอทำแล้วลูกหนี้จะไม่มีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้นั่นเอง แต่ถ้าลูกหนี้ทำนิติกรรมไปแล้วแต่ยังมีทรัพย์สินอีกมากมายที่จะชำระหนี้ได้ ดังนี้ย่อมไม่ถือว่าเจ้าหนี้เสียเปรียบ
2 การทำนิติกรรมของลูกหนี้นั้น ลูกหนี้จะต้องรู้ว่าเมื่อทำนิติกรรมแล้วเจ้าหนี้จะเสียเปรียบถ้าไม่รู้ก็ย่อมไม่ถือเป็นการฉ้อฉล
3 นิติกรรมที่จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ ถ้าทำโดยมิใช่เป็นการทำให้โดยเสน่หาแล้ว เจ้าหนี้จะขอให้ศาลเพิกถอนได้ต่อเมื่อ ในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้น (หมายถึงผู้ที่ทำนิติกรรมกับลูกหนี้) ได้รู้ถึงความเสียเปรียบของเจ้าหนี้ (คือต้องรู้ในขณะที่ทำนิติกรรม ถ้ามารู้ภายหลังก็ย่อมเพิกถอนไม่ได้)
4 หากลูกหนี้ทำนิติกรรมให้โดยเสน่หา เพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวก็พอแล้วที่จะขอให้เพิกถอนได้ (ดังนั้นผู้ได้ลาภงอกจะอ้างว่าตนสุจริตก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ)
5 การเพิกถอนการฉ้อฉลใช้ได้กับนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สินเท่านั้น จะไม่นำมาใช้กับนิติกรรมใดๆ อันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน
ตามปัญหา นางจันทร์ (ผู้ให้) ยกที่นาแปลงหนึ่งให้แก่นายอังคาร (ผู้รับการให้) โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ต่อมานางจันทร์มีสิทธิที่จะเรียกถอนคืนการให้จากนายอังคารได้ เนื่องจากเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 แต่ก่อนที่นายอังคารจะถูกฟ้องเพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณนั้น นายอังคารได้โอนที่นาแปลงดังกล่าวให้แก่นายพุธโดยเสน่หา และนายพุธรับโอนไว้โดยถูกต้องและโดยสุจริต ย่อมถือได้ว่าเป็นการทำนิติกรรมอันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งที่รู้ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ และเมื่อกรณีเป็นการทำให้โดยเสน่หา เพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้ กรณีนี้ถือว่าผู้ให้อยู่ในฐานะเจ้าหนี้และเป็นฝ่ายที่ต้องเสียเปรียบ จึงควรใช้มาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของลูกหนี้ด้วยการใช้สิทธิเพิกถอนการฉ้อฉล ตามมาตรา 237 วรรคแรก เพิกถอนการฉ้อฉลได้
สรุป นางจันทร์ใช้สิทธิในการควบคุมกองทรัพย์สินของนายอังคารได้โดยร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการฉ้อฉลของนายอังคารดังกล่าวได้ตามมาตรา 237 วรรคแรก
ข้อ 4 ก และ ข เป็นลูกหนี้ร่วม กู้เงินของ ค ไป 20,000 บาท เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ ก แต่ผู้เดียวนำเงิน 20,000 บาท ไปขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อ ค โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ ค ต้องการได้รับดอกเบี้ยต่อไป จึงปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้ ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า
(1) การขอปฏิบัติการชำระหนี้ของ ก จะเป็นคุณประโยชน์ต่อ ข ด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด
(2) ค จะเรียกดอกเบี้ยจาก ข ต่อไปได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 207 ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด
มาตรา 221 หนี้เงินอันต้องเสียดอกเบี้ยนั้น ท่านว่าจะคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่เจ้าหนี้ผิดนัดหาได้ไม่
มาตรา 294 การที่เจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย
วินิจฉัย
เจ้าหนี้จะตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรานี้ ต้องครบองค์ประกอบ 2 ประการ คือ
1 ลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว
2 เจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างโดยกฎหมาย
(1) การที่จะถือว่าลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้วอันจะมีผลให้เจ้าหนี้ผู้ปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดนั้น จะต้องปรากฏว่าลูกหนี้พร้อมที่จะชำระหนี้โดยแท้จริง และขอปฏิบัติการชำระหนี้ได้กระทำโดยชอบแล้วด้วยกฎหมาย ถูกต้องตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด
การที่ ก นำเงิน 20,000 บาท ไปขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบต่อ ค แต่ ค ปฏิเสธ จึงถือว่า ค เจ้าหนี้ผิดนัดต่อ ก ตามมาตรา 207 มีผลเท่ากับ ค ผิดนัดต่อ ข ด้วย ตามมาตรา 294
(2) เมื่อ ค เจ้าหนี้ผิดนัด ค จึงเรียกดอกเบี้ยต่อ ข ต่อไปไม่ได้ ตามมาตรา 221