การสอบไล่ภาคซ่อม  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

 ข้อ 1.       วันที่ 23 ตุลาคม 2551  ก.ทำสัญญาจะซื้อที่ดินจาก ข. ในราคาหนึ่งล้านสามแสนบาท วางมัดจำไว้สามแสนบาท ส่วนที่เหลืออีกหนึ่งล้านบาท จะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ซึ่งกำหนดนัดโอนในวันที่ 20 ธันวาคม 2551  โดยคู่สัญญาไม่ทราบว่าตรงกับวันอาทิตย์ เป็นวันหยุดโอนไม่ได้ ต่อมาในวันจันทร์ ผู้ขายไปรอที่สำนักงานที่ดิน ปรากฏว่าผู้ซื้อไม่ไป  ผู้ขายจะริบมัดจำสามแสนบาทตามข้อสัญญา เพราะผู้ซื้อผิดนัดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

 แนวคำตอบ  เป็นเรื่องกำหนดเวลาชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 203, 204

 ตามสัญญาจะซื้อขายเป็นหนี้มีกำหนดเวลาชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรค 2 แต่ไม่อาจชำระหนี้ได้ตามกำหนดจนสิ้นเชิง เพราะเป็นวันหยุด  จากหนี้มีกำหนดจึงกลายเป็นหนี้ไม่มีกำหนด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรค 1 จะให้ลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ต้องเตือน ตามมาตรา 204 วรรค 1 เมื่อยังมิได้เตือนจะถือว่าผู้ซื้อผิดนัดไม่ได้ ผู้ขายจึงริบ มัดจำไม่ได้

 

ข้อ 2.       วันที่ 23 ตุลาคม 2549  แดงกู้เงินขาวห้าแสนบาท มีกำหนดเวลาสามปี โดยแดงได้นำที่ดินของตน จำนอง เพื่อประกันหนี้เงินกู้รายนี้ และมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า  “ถ้าบังคับจำนองเอาทรัพย์จำนองขายทอดตลาดได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ ยังขาดอยู่เท่าใด ผู้จำนองและลูกหนี้ต้องรับผิดชอบจนกว่าครบจำนวน”  ข้อเท็จจริงปรากฏว่า กู้ได้แค่สามเดือน แดงถึงแก่ความตาย  ขาวเห็นว่าหนี้ยังไม่ถึงกำหนด  ก็มิได้เรียกบังคับชำระหนี้  เมื่อครบสามปีตามสัญญา  ขาวจะเรียกจะบังคับชำระหนี้เอาจากกองมรดกและทายาทของแดงได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ  เป็นเรื่องเจ้าหนี้ผู้รับจำนองบังคับชำระหนี้ ซึ่งหนี้จำนองเป็นหนี้อุปกรณ์ที่ไม่มีอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 1754 วรรค 3 มิให้เจ้าหนี้ฟ้องบังคับชำระหนี้ เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของลูกหนี้เจ้ามรดก

แม้สัญญากู้เป็นหนี้มีกำหนดเวลาชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรค 2 แต่เมื่อรู้ว่าลูกหนี้ถึงแก่ความตายก่อนกำหนดแล้ว ไม่ได้บังคับชำระหนี้ภายใน 1 ปี คดีขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรค 3

แม้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ เจ้าหนี้ผู้รับจำนองยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่รับจำนองได้อยู่ แต่จะบังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ไม่ได้ ข้อตกลงต่อท้ายจำนองจึงตกไป

                 

ข้อ 3.    เอกเป็นเจ้าหนี้โทอยู่หนึ่งแสนบาท  แต่โทไม่มีทรัพย์สินใดๆ เลย  โทมีอาชีพขายข้าวแดงมีรายเพียงวันละหนึ่งร้อยบาท  ต่อมาปรากฏว่าโทได้จดทะเบียนรับตรีเป็นบุตรบุญธรรมของตน  ซึ่งเป็นผลทำให้โทจะต้องมีภาระเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดู และค่าใช้จ่ายในการให้การศึกษาแก่ตรีผู้เป็นบุตรบุญธรรม  ทำให้ทรัพย์สินของโทต้องหมดเปลืองและลดน้อยลงยิ่งขึ้นอีก  ดังนี้ เอก สมควรจะใช้มาตรการใดทางกฎหมาย เพื่อเป็นมาตรการในการควบคุมกองทรัพย์สินของโทได้บ้างหรือไม่ เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ  ยกหลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรค 2

กรณีตามอุทธาหรณ์  การรับบุตรบุญธรรม เป็นนิติกรรมที่มิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลมาใช้บังคับกับเรื่องนี้ได้ ต้องห้ามตาม ป.พ.พ.มาตรา 237 วรรค 2 กรณีจึงใช้มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมกองทรัพย์สินของโท (ลูกหนี้) ไม่ได้

 

 

ข้อ 4.       จันทร์และอังคารเป็นเจ้าหนี้ร่วมของพุธในหนี้เงินสองแสนบาท ต่อมาอังคารตาย และพุธได้เป็นผู้รับมรดกทั้งหมดของอังคารโดยพินัยกรรม  ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าจันทร์จะเรียกร้องให้พุธชำระหนี้สองแสนบาทดังกล่าวนั้น ได้หรือไม่ เพียงใด  เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ  ยกหลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 299 วรรค 2 (ประกอบมาตรา 353)

กรณีตามปัญหา  หนี้เป็นอันระงับสิ้นไปด้วยเหตุหนี้เกลื่อนกลืนกันในตัวของพุธ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 353 และผลอันนี้ทำให้สิทธิของจันทร์เจ้าหนี้ร่วมอีกคนหนึ่ง อันมีต่อพุธ เป็นอันระงับสิ้นไปด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 299 วรรค 2 จันทร์จึงเรียกร้องให้พุธชำระหนี้ไม่ได้ (แต่ไม่ตัดสิทธิจันทร์ในการใช้สิทธิตามมาตรา 300)

Advertisement