การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 นิพนธ์กู้เงินดวงกมลสามแสนบาท มีกำหนดเวลาสามปี ก่อนถึงกำหนด นิพนธ์นัดดวงกมลขอชำระหนี้ทั้งหมดถึงสองครั้ง แต่ดวงกมลปฏิเสธไม่รับชำระ ต่อมาเมื่อหนี้ถึงกำหนดดวงกมลฟ้องบังคับชำระหนี้ แต่ศาลไม่ประทับฟ้องเพราะโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อยากทราบว่าหนี้ระงับหรือไม่ เจ้าหนี้จะบังคับชำระหนี้ได้หรือไม่ อย่างไร ยกหลักกฎหมายประกอบคำตอบให้ชัดเจน
ธงคำตอบ
มาตรา 203 วรรคสอง ถ้าได้กำหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้
มาตรา 207 ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด
มาตรา 221 หนี้เงินอันต้องเสียดอกเบี้ยนั้น ท่านว่าจะคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่เจ้าหนี้ผิดนัดหาได้ไม่
วินิจฉัย
การที่นิพนธ์นัดดวงกมลขอชำระหนี้ทั้งหมดถึง 2 ครั้ง แต่ดวงกมลปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ โดยปราศจากมูลเหตุที่จะอ้างกฎหมายได้จึงถือว่า เจ้าหนี้ผิดนัดตามมาตรา 207 เพราะเป็นหนี้มีกำหนดเวลาแม้เจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนกำหนดไม่ได้ แต่ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ได้ตามมาตรา 203 วรรคสอง อย่างไรก็ดีเพียงเจ้าหนี้ผิดนัดไม่ทำให้หนี้ระงับ แต่มีผลทำให้เจ้าหนี้จะคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่ตนผิดนัดไม่ได้ ตามมาตรา 221
ดังนั้นในเมื่อหนี้ยังไม่ระงับ ลูกหนี้ยังคงต้องชำระหนี้อยู่ เจ้าหนี้สามารถเรียกให้ชำระหนี้และบังคับชำระหนี้ต่อไปได้
สรุป หนี้ไม่ระงับและเจ้าหนี้บังคับชำระหนี้ได้
ข้อ 2 บริษัทดาว จำกัด ทำสัญญาเช่าเครื่องบินโดยสารจากบริษัทไมค์ จำกัด เพื่อใช้บินรับส่งผู้โดยสารภายในประเทศไทย โดยสัญญาเช้าที่ทำกันไว้มีข้อตกลงด้วยว่า หากในระหว่างการเช่าเครื่องบินที่เช่าได้รับความเสียหายไม่ว่าในกรณีใดในระหว่างทำการบิน หรือขณะอยู่ในทางวิ่งหรือทางขับ หรือบริเวณหลุมจอดเครื่องบินภายในท่าอากาศยานแห่งใดในประเทศไทย บริษัทดาว จำกัด จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายนั้น
ต่อมาในระหว่างการเช่า เครื่องบินลำที่เช่าถูกเครื่องบินอีกลำหนึ่งของบริษัทตะวัน จำกัด เฉี่ยวชนที่บริเวณปีกของเครื่อง ขณะที่เครื่องบินลำที่เช่าจอดส่งผู้โดยสารอยู่ที่หลุมจอดในสนามบินภูเก็ตทำให้ปีกเครื่องบินหัก ต้องซ่อมแซมเสียค่าใช้จ่ายไป 2,500,000 บาท ต่อมาบริษัทดาว จำกัด
ได้ชดใช้ค่าซ่อมให้แก่บริษัท ไมค์ จำกัด และบริษัทดาว จำกัด จึงฟ้องบริษัทตะวัน จำกัด ต่อศาลเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืน บริษัทตะวัน จำกัด ต่อสู้ว่าบริษัทดาว จำกัด ไม่ใช่เจ้าของเครื่องบินเป็นเพียงผู้เช่า จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวได้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้นี้ฟังได้หรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
มาตรา 227 เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้นๆด้วยอำนาจกฎหมาย
วินิจฉัย
ตามปัญหาเป็นเรื่องที่เมื่อเกิดความเสียหายและบริษัทดาว จำกัด ผู้เช่า ซึ่งเป็นลูกหนี้ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เป็นค่าซ่อมเครื่องบินที่เช่าไปตามสัญญาให้แก่บริษัทไมค์ จำกัด ผู้เป็นเจ้าหนี้ เต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้แล้ว บริษัทดาว จำกัด ลูกหนี้จึงย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้เกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้นด้วยอำนาจแห่งกฎหมาย ทั้งนี้ ตามมาตรา 227 จึงมีอำนาจฟ้องบริษัทตะวัน จำกัด เพื่อเรียกเงินจำนวนนั้นได้
สรุป ข้อต่อสู้ของบริษัทตะวันจำกัดฟังไม่ขึ้น
ข้อ 3 จันทร์เป็นเจ้าหนี้อังคารหนึ่งแสนบาท และอังคารเป็นเจ้าหนี้พุธห้าแสนบาท จันทร์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องของอังคาร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพุธเรียกเอาเงินห้าแสนบาทที่พุธค้างชำระแก่อังคารปรากฏว่าในระหว่างพิจารณา พุธยอมชำระเงินให้จันทร์หนึ่งแสนบาท และหนี้ระหว่างจันทร์กับอังคารก็ถึงกำหนดชำระแล้ว ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าเงินหนึ่งแสนบาทนี้จะตกเป็นของใคร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 235 เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เรียกเงินเต็มจำนวนที่ยังค้างชำระแก่ลูกหนี้โดยไม่คำนึงถึงจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนก็ได้ ถ้าจำเลยยอมใช้เงินเพียงเท่าจำนวนที่ลูกหนี้เดิมค้างชำระแก่เจ้าหนี้นั้น คดีก็เป็นเสร็จกันไป แต่ถ้าลูกหนี้เดิมได้เข้าชื่อเป็นโจทก์ด้วย ลูกหนี้เดิมจะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาต่อไปในส่วนจำนวนเงินที่ยังเหลือติดค้างอยู่ก็ได้
แต่อย่างไรก็ดี ท่านมิให้เจ้าหนี้ได้รับมากไปกว่าจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนนั้นเลย
วินิจฉัย
กรณีตามปัญหา เงินหนึ่งแสนบาทจะตกเป็นของจันทร์ (เจ้าหนี้) ตามนัยแห่งบทบัญญัติใน ป.พ.พ. มาตรา 235 วรรคแรก และวรรคสอง โดยการแปลความตามนัยที่ว่า “ถ้าจำเลยยอมใช้เงินเพียงเท่าจำนวนที่ลูกหนี้เดิมค้างชำระแก่เจ้าหนี้นั้น คดีก็เป็นเสร็จกันไป” และในวรรคสองที่ว่า “ท่านมิให้เจ้าหนี้ได้รับมากไปกว่าจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนนั้นเลย”
สรุป เงินหนึ่งแสนบาทเป็นของจันทร์
ข้อ 4 เอกกู้เงินโทไปหนึ่งแสนบาท และเอกกู้เงินตรีไปสองแสนบาทอีกด้วย เอกไม่มีเงินชำระหนี้ให้แก่โทและตรี เอกจึงเอารถยนต์ของตนหนึ่งคันตีราคาได้สามแสนบาทไปชำระหนี้เงินกู้ทั้งสองรายนั้นแทนเงินสด โดยทั้งโทและตรียอมรับเอาการชำระหนี้ด้วยรถยนต์ดังกล่าวนั้นไว้ ปรากฏว่าเมื่อถึงกำหนดส่งมอบรถยนต์ โทมารับมอบรถยนต์เพียงคนเดียว แต่ตรีไม่มารับมอบรถยนต์ และไม่ยินยอมให้โทรับมอบรถยนต์คนเดียว ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าเอกจะส่งมอบรถยนต์ให้โทแต่เพียงผู้เดียวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 302 ถ้าการชำระหนี้เป็นการอันจะแบ่งกันชำระมิได้ และมีบุคคลหลายคนเป็นเจ้าหนี้ถ้าบุคคลเหล่านั้นมิได้เป็นเจ้าหนี้ร่วมกันไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ได้แต่จะชำระหนี้ให้ได้ประโยชน์แก่บุคคลเหล่านั้นทั้งหมดด้วยกัน และเจ้าหนี้แต่ละคนจะเรียกชำระหนี้ได้ก็แต่เพื่อได้ประโยชน์ด้วยกันหมดทุกคนเท่านั้น อนึ่งเจ้าหนี้แต่ละคนจะเรียกให้ลูกหนี้วางทรัพย์ที่เป็นหนี้นั้นไว้เพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้หมดทุกคนด้วยกันก็ได้หรือถ้าทรัพย์นั้นไม่ควรแก่การจะวางไว้ ก็ให้ส่งแก่ผู้พิทักษ์ทรัพย์ซึ่งศาลจะได้ตั้งแต่งขึ้น
นอกจากนี้ ข้อความจริงใดที่ท้าวถึงเจ้าหนี้คนหนึ่งเท่านั้น หาเป็นไปเพื่อคุณหรือโทษแก่เจ้าหนี้คนอื่นๆด้วยไม่
วินิจฉัย
กรณีตามปัญหา โทและตรีมิได้เป็นเจ้าหนี้ร่วม กรณีเป็นเรื่องการชำระหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้และมีโทและตรีเป็นเจ้าหนี้ เอกซึ่งเป็นลูกหนี้ได้แต่จะชำระหนี้ให้ได้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหมดด้วยกัน เอกจึงส่งมอบรถยนต์ให้โทแต่ผู้เดียว โดยตรีไม่ยินยอมไม่ได้ กรณีต้องด้วยบทบัญญัติในมาตรา 302
สรุป เอกจะส่งมอบรถยนต์ให้โทแต่เพียงผู้เดียวไม่ได้