การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 นริศให้นรินทร์กู้เงินหนึ่งล้านบาท มีกำหนดเวลาชำระคืนภายในสามปี โดยมีนเรศเป็นผู้ค้ำประกันหลังจากกู้ไปได้หนึ่งปี นรินทร์กลายเป็นผู้ไม่อยู่ นริศจึงเรียกและบังคับให้นเรศชำระหนี้ นเรศต่อสู้ว่าหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ นริศจะเรียกบังคับชำระหนี้ไม่ได้ ข้อต่อสู้ของนเรศฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 203 วรรคสอง ถ้าได้กำหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้
วินิจฉัย
ตามสัญญากู้เป็นหนี้มีกำหนดเวลาชำระ เมื่อลูกหนี้ไปเสียจากภูมิลำเนา ไม่มีใครรู้ว่าอยู่หรือตายแล้ว ข้อสันนิษฐานตามมาตรา 203 วรรคสอง จึงเป็นอันตกไป เจ้าหนี้ฟ้องผู้ค้ำประกันได้
สรุป ข้อต่อสู้ของนเรศฟังไม่ขึ้น
ข้อ 2 ดำมีหน้าที่ขับรถส่งของให้แดงนายจ้าง ขณะที่ส่งของ ดำขับรถชนรถของขาวโดยประมาท ดำเกรงว่าแดงนายจ้างจะทราบ จึงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับขาวว่า จะชำระค่าซ่อมรถให้ขาวทั้งหมดหนึ่งหมื่นห้าพันบาท แต่ดำผิดสัญญา บริษัทตาปีประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถของขาว นำรถของขาวเข้าซ่อมเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้ชำระค่าซ่อมให้อู่ซ่อม ขาวจะเรียกบังคับให้ดำชำระหนี้หนึ่งหมื่นห้าพันบาทตามสัญญาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 227 เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้นๆด้วยอำนาจกฎหมาย
วินิจฉัย
บริษัทผู้รับประกันภัยได้ซ่อมรถให้ขาวตามสัญญาประกันภัยแล้ว บริษัทฯย่อมรับช่วงสิทธิของขาวที่จะเรียกเอาจากดำไปแล้ว ตามมาตรา 227
ดังนั้น ขาวจึงสิ้นสิทธิที่จะเรียกเอาจากดำ
ข้อ 3 หนึ่งเป็นเจ้าหนี้ และสองเป็นลูกหนี้ในหนี้เงิน 200,000 บาท โดยมีสามและสี่เป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายดังกล่าวนี้ ปรากฏว่าสามเพียงผู้เดียวในฐานะผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ทั้งหมดแทนสองลูกหนี้ไป ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าสามจะมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากสี่ได้หรือไม่ เพียงใด เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 229 การรับช่วงสิทธิย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมาย และย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ
(3) บุคคลผู้มีความผูกพันร่วมกับผู้อื่น หรือเพื่อผู้อื่นในอันจะต้องใช้หนี้ มีส่วนได้เสียด้วยในการใช้หนี้นั้น และเข้าใช้หนี้นั้น
มาตรา 296 ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น ท่านว่าต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนท่าๆกัน เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าส่วนที่ลูกหนี้ร่วมกันคนใดคนหนึ่งจะพึงชำระนั้น เป็นอันจะเรียกเอาจากคนนั้นไม่ได้ไซร้ ยังขาดจำนวนอยู่เท่าไร ลูกหนี้คนอื่นๆ ซึ่งจำต้องออกส่วนด้วยนั้นก็ต้องรับใช้ แต่ถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใด เจ้าหนี้ได้ปลดให้หลุดพ้นจากหนี้อันร่วมกันนั้นแล้ว ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ไป
มาตรา 682 วรรคสอง ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน
วินิจฉัย
สามและสี่เป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน จึงต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน ตามมาตรา 682 วรรคสอง เมื่อสามคนเดียวชำระหนี้ทั้งหมดให้เจ้าหนี้แทนสองลูกหนี้ สามจึงไล่เบี้ยเอาจากสี่ได้กึ่งหนึ่ง คือ 100,000 บาท ตามมาตรา 229(3) และมาตรา 296
ข้อ 4 จันทร์เป็นเจ้าหนี้อังคาร 100,000 บาท ต่อมาจันทร์ได้ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวนี้ให้แก่พุธ และพุธได้มีหนังสือบอกกล่าวการโอนให้อังคารทราบ แต่ปรากฏว่าก่อนที่จะได้รับหนังสือบอกกล่าวการโอนนั้น อังคารได้ชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่จันทร์ไปแล้ว ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าอังคารจะต้องชำระหนี้ให้พุธอีกหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 306 วรรคสอง ถ้าลูกหนี้ทำให้พอแก่ใจผู้โอนด้วยการใช้เงิน หือด้วยประการอื่นเสียแต่ก่อนได้รับบอกกล่าว หรือก่อนได้ตกลงให้โอนไซร้ ลูกหนี้นั้นก็เป็นอันหลุดพ้นจากหนี้
วินิจฉัย
เป็นเรื่องที่ลูกหนี้ทำให้พอใจแก่ผู้โอน (เจ้าหนี้) ด้วยการใช้เงินเสียแต่ก่อนได้รับคำบอกกล่าวการโอน หนี้จึงเป็นอันระงับ ลูกหนี้จึงเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ ดังนั้น อังคารลูกหนี้จึงไม่ต้องชำระหนี้ให้พุธอีก ตามมาตรา 306 วรรคสอง