การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ1 นายส้มว่าจ้างนายเงาะให้ก่อสร้างห้องน้ำที่บ้านของนายส้มและตกลงให้สร้างห้องน้ำให้เสร็จในวันที่ 1 ธันวาคม 2556 หลังจากที่ได้ตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่บ้านนายส้ม ดังนั้น สำนักงานเขตจึงมีคำสั่งห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ ทำให้นายเงาะ ไม่สามารถเข้าไปสร้างห้องน้ำได้ ต่อมาหลังจากนั้น นายส้มได้ซ่อมแซมบ้านจนเสร็จ นายส้มได้ทำหนังสือแจ้งแก่นายเงาะให้มาดำเนินการสร้างห้องน้ำหลายครั้ง แต่นายเงาะก็เพิกเฉย ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า ใครตกเป็นผู้ผิดนัด เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 203 วรรคแรก “ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน”
มาตรา 204 วรรคแรก “ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือน
ลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว”
มาตรา 205 “ตราบใดการชำระหนี้ยังมิได้กระทำลง เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้
ไม่ต้องรับผิดชอบ ตราบนั้นลูกหนี้ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่ ”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายส้มได้ว่าจ้างนายเงาะให้ก่อสร้างห้องน้ำที่บ้านของนายส้มและ
ตกลงให้สร้างให้เสร็จในวันที่ 1 ธันวาคม 2556 นั้น เมื่อต่อมาได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่บ้านของนายส้มและหลังเกิดเหตุ สำนักงานเขตได้มีคำสั่งห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุเพลิงไหม้นั้น ทำให้นายเงาะไม่สามารถเข้าไปสร้างห้องน้ำได้ กรณีเช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่การชำระหนี้ยังมิได้กระทำลง เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตามมาตรา 205 ดังนั้นกรณีนี้ นายเงาะลูกหนี้จึงยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด
การที่หนี้มีกำหนดเวลาชำระหนี้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2556 นั้น เวลากำหนดชำระหนี้นั้นได้
ขยายออกไปโดยผลของกฎหมาย ดังนั้น หนี้ระหว่างนายส้มกับนายเงาะจึงเป็นหนี้ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ตามมาตรา 203 วรรคแรก และการที่นายส้มได้ทำหนังสือแจ้งแก่นายเงาะหลายครั้งให้มาดำเนินการสร้างห้องน้ำ หลังจากที่นายล้มได้ซ่อมแซมบ้านเสร็จ ถือได้ว่าเป็นการเตือนให้นายเงาะลูกหนี้ชำระหนีแล้ว เมื่อนายเงาะยังเพิกเฉยจึงถือว่านายเงาะตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 204 วรรคแรก (เทียบเคียงฎีกาที่ 4521 – 4522/2553)
สรุป. นายเงาะลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดในกรณีที่นายส้มได้ทำหนังสือแจ้งให้นายเงาะมาดำเนินการสร้างห้องน้ำหลังจากที่นายส้มได้ซ่อมแซมบ้านเสร็จแต่นายเงาะยังเพิกเฉย จึงตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะเจ้าหนี้ได้เตือนแล้วตามมาตรา 204 วรรคแรก
ข้อ 2 จันทร์เป็นเจ้าหนี้อังคารห้าแสนบาท ต่อมาอังคารทำสัญญาซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากพุธ โดยชำระราคาครบถ้วนแล้ว และถึงกำหนดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันแล้ว แต่อังคารเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับให้พุธจดทะเบียนโอนที่ดินมาเป็นของตน โดยอังคารไม่มีทรัพย์สินอื่น ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า จันทร์จะใช้สิทธิในการควบคุมกองทรัพย์สินของอังคาร (ลูกหนี้) ในกรณีตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างอังคารกับพุธได้อย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ดามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 233 “ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้”
วินิจฉัย
การที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามมาตรา 233 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์
ดังต่อไปนี้
- ลูกหนี้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง
- ปรากฏว่าการขัดขืนหรือเพิกเฉยของลูกหนี้นั้นเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ และ
- การที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ได้นั้นต้องปรากฏว่าไม่ใช่ข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์เป็นเจ้าหนี้อังคาร และต่อมาอังคารทำสัญญาซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากพุธ โดยชำระราคาครบถ้วนแล้ว แต่เมื่อถึงกำหนดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันแล้ว อังคารกลับเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับให้พุธจดทะเบียนโอนที่ดินนาเป็นของตน อีกทั้งอังคารก็ไม่มีทรัพย์สินอื่น ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าอังคารซึ่งเป็นลูกหนี้เพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเป็นเหตุให้จันทร์ผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ และกรณีดังกล่าวก็ไม่ใช่ข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้ ดังนั้น จันทร์ผู้เป็นเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิในการควบคุมกองทรัพย์สินของอังคาร ซึ่งเป็นลูกหนีได้
โดยจันทร์สามารถใช้สิทธิเรียกร้องของอังคารตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างอังคารกับพุธ โดยการฟ้องบังคับให้พุธจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่อังคารได้ตามมาตรา 233
สรุป จันทร์สามารถใช้สิทธิในการควบคุมกองทรัพย์สินของอังคาร (ลูกหนี้) ได้ โดยการใช้สิทธิเรียกร้องของอังคารตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่อังคารมีอยู่ฟ้องบังคับให้พุธจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่อังคารได้
ข้อ 3. นวยเมฆตกลงจ้างนายสามารถและนางสาวสดใสนักร้องชื่อดังให้มาแสดงการร้องเพลงคู่ (ชาย-หญิง) ในงานวันเกิดอายุครบรอบ 60 ปี ของนายเมฆ ซึ่งตรงกับวันที่ 7 ตุลาคม 2556 โดยมีข้อตกลงว่า นายเมฆจะจ่ายค่าจ้างให้แก่นายสามารถและนางสาวสดใสหลังการแสดงเสร็จสิ้นลง ปรากฏว่า ในวันที่ 6 ตุลาคม 2556 นายสามารถล้มป่วยกะทันหัน แพทย์วินิจฉัยว่า นายสามารถเป็นโรคเส้นเสียงอักเสบขั้นรุนแรง ไม่สามารถร้องเพลงได้ตลอดชีวิต เมื่อถึงกำหนดวันแสดง ทั้งนายสามารถและนางสาวสดใสจึงไม่มาทำการแสดงตามสัญญาจ้าง ทำให้นายเมฆเสียหน้าต่อบรรดาแขกผู้มาร่วมงานเป็นอย่างมาก
ดังนี้ นายสามารถและนางสาวสดใสจะต้องร่วมกันรับผิดต่อนายเมฆหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 219 “ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น
ถ้าภายหลังที่ได้ก่อหนี้ขึ้นแล้วนั้น ลูกหนี้กลายเป็นคนไม่สามารถชำระหนี้ได้ไซร้ ท่านให้ถือเสมือนว่าเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การชำระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัยฉะนั้น”
มาตรา 295 “ข้อความจริงอื่นใด นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 292 ถึง 294 นั้น เมื่อเป็นเรื่องท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั่นเอง
ความที่ว่ามานี้ เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่การให้คำบอกกล่าวการผิดนัด การที่หยิบยกอ้างความผิด การชำระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลง และการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกันไปกับหนี้สิน”
มาตรา 301 “ถ้าบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน”
วินิจฉัย
ตามอุทาหรณ์ การที่นายเมฆตกลงจ้างนายสามารถและนางสาวสดใสให้มาแสดงการร้องเพลงคู่ (ชาย-หญิง) เป็นกรณีที่บุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งชำระมิได้โดยวัตถุประสงค์หรือเจตนาของคู่สัญญา
เนื่องจากเป็นหนี้กระทำการตามสัญญาที่ต้องทำเป็นคู่ ซึ่งตามบทบัญญัติมาตรา 301 ได้วางหลักให้บุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน ดังนั้น นายสามารถและนางสาวสดใสจึงอยู่ในฐานะลูกหนี้ร่วมของนายเมฆ
ต่อมาการที่นายสามารถเป็นโรคเส้นเสียงอักเสบขั้นรุนแรง ไม่สามารถร้องเพลงได้ตลอดชีวิตเป็นกรณ์ที่ลูกหนี้กลายเป็นคนไม่สามารถชำระหนี้ได้ภายหลังที่ได้ก่อหนี้ขึ้น ซึ่งตามมาตรา 219 วรรคสอง ให้ถือเสมือนว่าเป็นพฤติการณ์ที่ทำให้การชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยอันส่งผลให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากการชำระหนี้ ดังนั้น
นายสามารถจึงไม่ต้องรับผิดต่อนายเมฆตามมาตรา 219 วรรคแรก
และแม้ว่าการชำระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น จะเป็นเหตุส่วนตัวกล่าวคือ เป็นข้อความจริงที่ท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ตามนัยมาตรา 295 วรรคสองก็ตาม แต่เมื่อหนี้ที่นายสามารถและนางสาวสดใสต้องชำระแก่นายเมฆ เป็นหนี้อันจะแบ่งชำระมิได้ จึงเป็นกรณีที่ขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง ส่งผลให้เหตุส่วนตัวที่เกิดขึ้นกับนายสามารถส่งผลไปยังนางสาวสดใสลูกหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งด้วย นางสาวสดใสจึงสามารถอ้างเหตุที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเกิดขึ้นกับนายสามารถ เพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากความรับผิดต่อนายเมฆได้เช่นเดียวกัน ตามนัยมาตรา 295 วรรคแรก
สรุป จากเหตุผลที่กล่าวมาในข้างต้น นายสามารถและนางสาวสดใสจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดต่อนายเมฆ
ข้อ 4. นายนวลซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นเจ้าหนี้เงินทกู้นายอินซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 100,000 บาทโดยมีนายพวงเป็นผู้ค้ำประกันหนี้เงินทกู้นี้โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมานายนวลได้สั่งซื้อสินค้าจากนายอาจซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในราคา 100,000 บาท เมื่อหนี้ทั้งสองจำนวนถึงกำหนดชำระแล้ว
นายนวลกับนายอาจได้พบกันและตกลงกันว่านายนวลจะโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินกู้ที่นายนวลเป็นเจ้าหนี้นายอิน จำนวน 100,000 บาท ให้แก่นายอาจ เพื่อเป็นการชำระค่าสินค้า จำนวน 100,000 บาท ที่นายนวลเป็นหนี้นายอาจอยู่ ทั้งสองฝ่ายได้ทำสัญญาเป็นหนังสือโดยนายนวลคนเดียวลงชื่อในสัญญาดังกล่าว แต่ในสัญญาดังกล่าวมิได้กล่าวถึงการค้ำประกันของนายพวง จากนั้น นายนวลได้มีจดหมายบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปให้นายอินทราบแล้ว
ต่อมา นายอินไม่ยอมชำระเงินจำนวน 100,000 บาท และนายพวงก็ปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้ตามที่ค้ำประกันแก่นายอาจ นายอาจจึงฟ้องคดีต่อศาลเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวจากนายอินและนายพวง นายอินต่อสู้ว่า การโอนดังกล่าวไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้องแต่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ และถึงแม้จะเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องก็เป็นโมฆะเพราะไม่ได้ลงลายมือชื่อนายอาจผู้รับโอนด้วย ส่วนนายพวงต่อสู้ว่า การค้ำประกับระงับไปแล้วเพราะมีการแปลงหนี้ใหม่ โดยนายพวงมิได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ที่เกิดขึ้นใหม่ จึงไม่ต้องรับผิดต่อนายอาจ
ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ดังกล่าวของนายอินกับนายพวงฟังขึ้นหรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 305 วรรคแรก “เมื่อโอนสิทธิเรียกร้องไป สิทธิจำนองหรือจำนำที่มีอยู่เกี่ยวพันกับสิทธิเรียกร้องนั้นก็ดี สิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันที่ให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องนั้นก็ดี ย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนด้วย”
มาตรา 306 วรรคแรก “การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น
ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้ หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ”
มาตรา 349 วรรคแรกและวรรคสาม “เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ไซร้ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่
ถ้าแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้อง ”
มาตรา 352 “คู่กรณีในการแปลงหนี้ใหม่อาจโอนสิทธิจำนำ หรือจำนองที่ได้ให้ไว้เป็นประกันหนี้เดิมนั้นไปเป็นประกันหนี้รายใหม่ได้เพียงเท่าที่เป็นประกันวัตถุแห่งหนี้เดิม แต่หลักประกันเช่นว่านี้ถ้าบุคคลภายนอกเป็นผู้ให้ไว้ไซร้ ท่านว่าจำต้องได้รับความยินยอมของบุคคลภายบอกนั้นด้วยจึงโอนได้”
มาตรา 698 “อันผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในขณะเมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไปไม่ว่าเพราะเหตุใดๆ”
วินิจฉัย
จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ เป็นกรณีที่นายนวลกับนายอาจมีเจตนาจะทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องกัน มิใช่การทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ตามมาตรา 349 วรรคสาม และการโอนสิทธิเรียกร้องนั้น มาตรา 306 วรรคแรก บัญญัติเพียงว่า จะต้องทำเป็นหนังสือจึงจะสมบูรณ์ และการโอนนั้นจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายบอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้ได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น
โดยได้ทำคำบอกกล่าวหรือความยินยอมเป็นหนังสือ หาได้บัญญัติว่า การโอนจะต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมีอชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอนไม่ ดังนั้น การโอนสิทธิเรียกร้องที่ได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนแต่ฝ่ายเดียวก็เป็นการโอนที่สมบูรณ์ การโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้จึงใช้บังคับได้ และมีผลผูกพันนายอินในอันที่จะต้องชำระหนี้แก่นายอาจ
ส่วนนายพวงนั้นเมื่อปรากฎว่าการทำสัญญาระหว่างนายนวลกับนายอาจเป็นการโอนสิทธิเรียกร้อง การค้ำประกับของนายพวงต่อนายอินจึงตกได้แก่นายอาจด้วยตามมาตรา 305 วรรคแรก และการค้ำประกันไม่ได้ระงับเพราะไม่ใช่การแปลงหนี้ใหม่ตามมาตรา 349 วรรคแรกมาตรา 352 และมาตรา 698ดังนั้นข้อต่อสู้ของ
นายอินและนายพวงจึงฟังไม่ขึ้น นายอินและนายพวงจึงต้องชำระหนี้แก่นายอาจ (เทียบเคียงฎีกาที่ 6816/2537)
สรุป ข้อต่อสู้ดังกล่าวของนายอินและนายพวงฟังไม่ขึ้น