การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  จำเลยสั่งซื้อหินคลุกเพื่อใช้ในการก่อสร้างหลายครั้ง  ครั้งละหลายพ่วง  ซึ่งแต่ละครั้งจำเลยต้องชำระราคาค่าซื้อภายในสามสิบวัน ให้ท่านตอบคำถามต่อไปนี้โดยยกหลักกฎหมายประกอบคำตอบให้ชัดเจน

ก.      เป็นสิทธิเรียกร้องที่มีกำหนดเวลาหรือไม่ 

ข.      สิทธิเรียกร้องถึงกำหนดเมื่อใด

ค.      อายุความจะเริ่มนับตั้งแต่วันไหน  กี่เดือน  กี่ปี

ง.       ถ้าจำเลยผิดนัด  จะถือว่าผิดนัดตั้งแต่วันไหน  จำเลยจะต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  193/12  อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใด  ให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น

มาตรา  193/33  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้  ให้มีกำหนดอายุความห้าปี

(4)  เงินค้างจ่าย  คือ  เงินเดือน  เงินปี  เงินบำนาญ  ค่าอุปการะเลี้ยงดู  และเงินอื่นๆในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา

มาตรา  203 วรรคสอง  ถ้าได้กำหนดเวลาไว้  แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่  แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้

มาตรา  204  ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  และภายหลังแต่นั้น  เจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว  ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้  ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน  และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้  ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย  วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้  ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว

มาตรา  224  วรรคแรก  หนี้เงินนั้น  ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี  ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น  โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย  ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

วินิจฉัย

ตามปัญหา  การที่จำเลยสั่งซื้อหินคลุกเพื่อใช้ในการก่อสร้างหลายๆครั้ง  ครั้งละหลายพ่วง  ซึ่งแต่ละครั้ง  จำเลยต้องชำระราคาค่าซื้อภายใน  30  วันนั้น

ก.       การที่จำเลยต้องชำระราคาสินค้าภายใน  30  วัน  นับแต่วันที่โจทก์ส่งมอบสินค้า  ถือว่าเป็นการกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน  ดังนั้นสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงเป็นสิทธิเรียกร้องที่มีกำหนดเวลาตามมาตรา  203  วรรคสอง

ข.       เมื่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์เป็นสิทธิเรียกร้องที่มีกำหนดเวลา  ดังนั้น  สิทธิเรียกร้องย่อมถึงกำหนดเมื่อครบกำหนด  30  วัน  นับแต่วันที่โจทก์ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลย

ตัวอย่างเช่น  โจทก์ได้ส่งมอบหินคลุกให้แก่จำเลยวันที่  1  เมษายน  2556  กำหนดเวลาที่จำเลยจะต้องชำระราคาสินค้าคือวันที่  1 พฤษภาคม  2556  ดังนั้นสิทธิเรียกร้องกรณีนี้ถึงกำหนดวันที่  1  พฤษภาคม  2556

ค.       ตามมาตรา  193/12  ได้บัญญัติว่าอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  ดังนั้น  เมื่อสิทธิเรียกร้องถึงกำหนดวันใด  อายุความก็จะเริ่มนับตั้งแต่วันนั้น  เช่น  ตามตัวอย่างดังกล่าว  เมื่อสิทธิเรียกร้องถึงกำหนดวันที่  1 พฤษภาคม  2556  ดังนั้นอายุความในกรณีนี้ก็จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่  1  พฤษภาคม  2556

และสำหรับกรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อเป็นสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเงินที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา  ดังนั้นจึงมีกำหนดอายุความ  5  ปี  ตามมาตรา  193/33(4) 

ง.        ถ้าจำเลยผิดนัด  ย่อมถือว่าจำเลยผิดนัดนับตั้งแต่วันที่จำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนด  โดยที่เจ้าหนี้ไม่ต้องเตือน  ตามมาตรา  204  วรรคสอง  เช่นตามตัวอย่างดังกล่าวเมื่อถึงกำหนดวันที่  1  พฤษภาคม  2556  จำเลยยังมิได้ชำระหนี้  ย่อมถือว่าจำเลยได้ตกเป็นผู้ผิดนัดทันทีโดยที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่ต้องเตือน  และเมื่อจำเลยผิดนัด  จำเลยก็จะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี  ตามมาตรา  224  วรรคแรก

 

 

ข้อ  2  บริษัท  มั่งมี  จำกัด  ค้างชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลกรมสรรพากรอยู่ห้าล้านบาทเศษ  บริษัทฯก็ไม่ขวนขวายที่จะทำการชำระหนี้ภาษีให้เสร็จสิ้น  ในขณะที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ  มีมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ  แต่กรรมการบริษัทก็เพิกเฉยไม่เรียกมูลค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นยังส่งใช้ไม่ครบนั้น  กรมฯจะบังคับค่าภาษีเอากับบริษัททางใดได้บ้าง  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  233  ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง  หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้  เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  หากลูกหนี้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องของตน  จนเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์  เจ้าหนี้ก็สามารถใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้  เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นได้ตามมาตรา  233

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่บริษัท  มั่งมี  จำกัด  ค้างชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลกรมสรรพากร  แต่บริษัทฯก็ไม่ขวนขวายที่จะทำการชำระหนี้ภาษีให้เสร็จสิ้น  และในขณะที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ  มีมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ  แต่กรรมการบริษัทก็เพิกเฉยไม่เรียกมูลค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นยังส่งใช้ไม่ครบนั้น  ย่อมถือได้ว่า  เป็นกรณีที่ลูกหนี้คือบริษัทฯมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นชำระมูลค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ  แต่ได้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนั้น  เป็นเหตุให้เจ้าหนี้คือกรมสรรพากรต้องเสียประโยชน์  ดังนั้น  กรมสรรพากรซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมสามารถใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้  โดยการเรียกมูลค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบ  เพื่อนำมาชำระภาษีได้ตามมาตรา  233

สรุป  กรมสรรพากรจะบังคับค่าภาษีเอากับบริษัทฯได้  โดยการใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทฯ  เรียกมูลค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบเพื่อนำมาชำระภาษี

 

 

ข้อ  3  ก  กู้เงิน  ข  สามแสนบาท  โดยจดจำนองที่ดินของตนประกันหนี้เงินกู้ไว้  แต่  ก  กลับนำที่ดินที่ติดจำนองดังกล่าวไปทำสัญญาจะขายให้  ค  โดย  ค  รู้ว่าที่ดินติดจำนอง  ข  อยู่  ข  จะขอเพิกถอนการขายได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  214  ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา  733  เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิง  รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่นๆซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย

มาตรา  237  เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น  บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย  แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา  ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้  ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนซึ่งนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลง  ทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบได้  ตามมาตรา  237  วรรคแรก  แต่ถ้านิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงนั้น  ไม่ได้ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบแต่อย่างใด  กล่าวคือ  แม้ลูกหนี้จะได้ทำนิติกรรมนั้น  ลูกหนี้ก็ยังมีทรัพย์สินที่เจ้าหนี้ยังสามารถที่จะบังคับชำระหนี้ได้  ดังนี้  เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ก  กู้เงิน  ข  โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินของตนประกันหนี้เงินกู้ไว้  แต่  ก  กลับนำที่ดินที่ติดจำนองดังกล่าวไปทำสัญญาจะขายให้  ค  โดย  ค  ก็รู้ว่าที่ดินติดจำนอง  ข  อยู่นั้น  ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยอยู่ที่ว่า  การกระทำของ  ก  ลูกหนี้ดังกล่าวนั้นทำให้  ข  เจ้าหนี้เสียเปรียบหรือไม่  กรณีนี้เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติมาตรา  214  ที่ว่า  ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา  733  เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงนั้น  หมายถึง  การที่เจ้าหนี้สามารถบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งหมดนั้น  กฎหมายมีข้อยกเว้นไว้ว่า  ถ้าเป็นเรื่องของสัญญาจำนองแล้วก็ต้องเป็นไปตามมาตรา  733  ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา  214  กล่าวคือ  ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินที่จำนองไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะโอนไปกี่ทอด  จำนองก็ย่อมจะติดไปด้วยเสมอ  ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้รับจำนองย่อมสามารถที่จะบังคับจำนองเอากับทรัพย์สินที่จำนองได้เสมอเช่นเดียวกัน

ดังนั้น  ตามอุทาหรณ์  แม้  ก  จะเอาที่ดินที่ติดจำนองไปทำสัญญาจะขายให้  ค  จึงไม่ถือว่า  เป็นทางทำให้  ข  เจ้าหนี้เสียเปรียบ  เพราะแม้ที่ดินนั้นจะโอนไปเป็นของ  ค  ข  เจ้าหนี้ก็ยังสามารถบังคับจำนองเอากับที่ดินที่ติดจำนองนั้นได้  ดังนั้น  ข  จึงไม่สามารถขอเพิกถอนการขายได้

สรุป  ข  จะเพิกถอนการขายไม่ได้

 

 

ข้อ  4  แดงกู้เงินขาวสองแสนบาท  ต่อมาขาวได้โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ให้กับเขียว  และเขียวมีหนังสือบอกกล่าวการโอนส่งไปให้แดงแล้ว  ก่อนได้รับคำบอกกล่าว  แดงนำรถยนต์ของตนตีใช้หนี้ขาว  ขาวรับไว้เพราะเห็นว่าเกินคุ้มถ้าขายก็มีกำไร  เมื่อแดงได้รับคำบอกกล่าวเขียวจะบังคับสิทธิเรียกร้องเอากับแดงได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  306  วรรคสอง  ถ้าลูกหนี้ทำให้พอแก่ใจผู้โอนด้วยการใช้เงิน  หรือด้วยประการอื่นเสียแต่ก่อนได้รับบอกกล่าว  หรือก่อนได้ตกลงให้โอนไซร้  ลูกหนี้นั้นก็เป็นอันหลุดพ้นจากหนี้

มาตรา  321  ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้  ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป

วินิจฉัย

ตามมาตรา  306  วรรคสองดังกล่าวนั้น  หมายความว่า  ถ้าก่อนลูกหนี้ได้รับคำบอกกล่าวหรือก่อนลูกหนี้ได้ตกลงด้วยในการโอนสิทธิเรียกร้อง  ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ผู้โอนไปแล้ว  หรือกระทำประการใดจนเป็นที่พอใจของเจ้าหนี้  เช่น  นำทรัพย์สินไปตีใช้หนี้ให้เจ้าหนี้  หนี้เป็นอันระงับไปแล้ว  ลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นความรับผิด  ผู้รับโอนจะฟ้องเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้อีกไม่ได้  แต่ถ้าภายหลังได้รับคำบอกกล่าวการโอน  หรือภายหลังที่ลูกหนี้ยินยอมด้วยแล้ว  ถือว่าเจ้าหนี้ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้แล้ว  ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระให้เจ้าหนี้  หนี้ไม่ระงับ  ผู้รับโอนย่อมมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้อีก

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  เขียวจะบังคับสิทธิเรียกร้องเอากับแดงได้หรือไม่  เห็นว่า  ก่อนที่แดงลูกหนี้จะได้รับหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา  306  วรรคแรก  แดงได้นำรถยนต์ของตนตีใช้หนี้ให้แก่ขาวผู้โอนไปแล้ว  กรณีเช่นนี้จึงเป็นการที่แดงลูกหนี้ทำให้พอใจแก่ขาวผู้โอนด้วยการชำระหนี้  ด้วยประการอื่น  และเจ้าหนี้ยอมรับตามมาตรา  321  วรรคแรก  หนี้จำนวนดังกล่าวจึงเป็นอันระงับไป  แดงลูกหนี้จึงเป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้  ดังนั้น  แดงลูกหนี้จึงไม่ต้องชำระหนี้ให้เขียวอีกตามมาตรา  306   วรรคสอง  เขียวจะบังคับสิทธิเรียกร้องเอากับแดงไม่ได้

สรุป  เขียวจะบังคับสิทธิเรียกร้องเอากับแดงไม่ได้

Advertisement