การสอบไล่ภาค 2  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  นายมะนาวติดต่อขอซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากนายทุเรียน  นายทุเรียนแจ้งนายมะนาวว่าที่ดินแปลงนี้มีชื่อเด็กชายมังคุดบุตรของตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์  จึงต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงจะจดทะเบียนโอนขายได้  จึงขอเวลาสามเดือน  นายมะนาวยินดีและได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายกัน  โดยนายทุเรียนทำสัญญาแทนเด็กชายมังคุดในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม

หลังจากนั้นอีก  1  สัปดาห์  ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อขออนุญาตขายที่ดินแปลงดังกล่าว  นายทุเรียนได้เบิกความต่อศาลอธิบายเหตุผล  และชี้ให้เห็นประโยชน์จากการขายที่ดินแปลงนี้ที่จะตกได้แก่เด็กชายมังคุด  ต่อมาปรากฏว่าศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้องไม่อนุญาตให้ขาย

นายมะนาวจึงได้มาปรึกษานักศึกษาในฐานะทนายความประสงค์จะเรียกร้องค่าเสียหายจากนายทุเรียน  นักศึกษามีความเห็นอย่างไรต่อกรณีนี้  และจะเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  219  วรรคหนึ่ง  ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์  อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้  และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้  ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายมะนาวรู้แต่แรกแล้วว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของเด็กชายมังคุดซึ่งยังเป็นผู้เยาว์และต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงจะขายที่ดินแปลงนี้ได้  และปรากฏว่านายทุเรียนก็ได้รีบเร่งดำเนินการขออนุญาตต่อศาลหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายเพียง  1 สัปดาห์  ทั้งไม่ปรากฏว่านายทุเรียนมีเจตนาเสนอพยานหลักฐานเพื่อให้ศาลยกคำร้องแต่อย่างใด  ดังนั้นเมื่อศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้องไม่อนุญาตให้ขายที่ดินซึ่งเป็นไปตามดุลพินิจของศาล  จึงถือว่าเป็นกรณีที่การชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย  เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งที่เกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้  ซึ่งนายทุเรียนและเด็กชายมังคุดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตามมาตรา  219  วรรคแรก  ดังนั้น  ทั้งสองคนจึงหลุดจากการชำระหนี้  คือ  ไม่ต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้แก่นายมะนาว  นายมะนาวจึงไม่สามารถเรียกค่าเสียหายจากนายทุเรียนได้

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่นายมะนาวว่า  นายทุเรียนและเด็กชายมังคุดหลุดพ้นจากการชำระหนี้  และนายมะนาวไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากนายทุเรียนได้

 

 

ข้อ  2  ในคดีเรื่องหนึ่งข้อเท็จจริงได้ความว่า  บริษัท  มะม่วง  จำกัด  ใช้บริการขนส่งสินค้าของบริษัท  ริมทะเล  จำกัดมาแล้วหลายครั้ง  โดยมีข้อตกลงว่า  ในการชำระค่าระวางขนส่ง  บริษัท  มะม่วง  จำกัด  จะชำระภายใน  1  เดือนนับแต่วันที่บริษัท  ริมทะเล  จำกัด  แจ้งเป็นหนังสือให้ทราบ  ต่อมาบริษัท  มะม่วง  จำกัด  จ้างบริษัท  ริมทะเล  จำกัด  ขนส่งตู้เย็นจำนวน  1,000  หลัง  จากท่าเรือคลองเตยไปยังท่าเรือเกาะสีชัง

ครั้นวันที่  20  มกราคม  2556  สินค้าถึงปลายทางเรียบร้อย  บริษัท  ริมทะเล  จำกัด  จึงได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัท  มะม่วง  จำกัด  ชำระหนี้ค่าระวางขนส่ง  จำนวน  50,000  บาท  เมื่อวันที่  21  มกราคม  2556  แต่บริษัท  มะม่วง  จำกัด  ไม่ยอมชำระ  ให้นักศึกษาในฐานะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีนี้  วินิจฉัยว่า  บริษัทมะม่วง  จำกัด  ต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าระวางที่ต้องชำระหรือไม่  ในอัตราร้อยละเท่าใด  และนับแต่วันใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  204  ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  และภายหลังแต่นั้น  เจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว  ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้  ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน  และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้  ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย  วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้  ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว

มาตรา  224  วรรคแรก  หนี้เงินนั้น  ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี  ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น  โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย  ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่บริษัทมะม่วง  จำกัด  ตกลงจะชำระเงินค่าระวางขนส่งภายใน  1  เดือน  นับแต่วันที่บริษัท  ริมทะเล  จำกัด  แจ้งเป็นหนังสือให้ทราบนั้น  ย่อมถือว่าหนี้รายนี้เป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระหนี้  ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทิน  นับแต่วันที่ได้บอกกล่าวตามมาตรา  204  วรรคสองตอนท้าย 

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  บริษัท  ริมทะเล  จำกัด  ได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัท  มะม่วง  จำกัด  ชำระหนี้ค่าระวางขนส่งจำนวน  50,000  บาท  เมื่อวันที่  21  มกราคม  2556  หนี้จำนวนดังกล่าวจึงต้องชำระภายในวันที่  21  กุมภาพันธ์  2550  ดังนั้น  เมื่อปรากฏว่าบริษัท  มะม่วง จำกัด  ไม่ชำระหนี้ภายในวันดังกล่าว  จึงถือว่าบริษัท  มะม่วง  จำกัด  ลูกหนี้  ตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่  22  กุมภาพันธ์  2556  โดยมิพักต้องเตือนเลยตามมาตรา  204  วรรคสองตอนต้น 

ดังนั้น  เมื่อบริษัท  มะม่วง  จำกัด  ลูกหนี้  ตกเป็นผู้ผิดนัด  จึงต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าระวางที่ต้องชำระให้แก่บริษัท  ริมทะเล จำกัด  เจ้าหนี้  ในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี  นับแต่วันผิดนัด  คือ  วันที่  22  กุมภาพันธ์  2556  เป็นต้นไปจนกว่า  บริษัท  มะม่วง  จำกัด  จะชำระหนี้เสร็จสิ้นตามมาตรา  224  วรรคแรก 

สรุป  บริษัท  มะม่วง  จำกัด  จะต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าระวางที่ต้องชำระในอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี  นับแต่วันที่ผิดนัด  คือ  วันที่  22  กุมภาพันธ์  2556  เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น

 

 

ข้อ  3  จันทร์เป็นเจ้าหนี้อังคารสองแสนบาท  และอังคารเป็นเจ้าหนี้พุธอยู่สามแสนบาท  หนี้ระหว่างอังคารกับพุธถึงกำหนดชำระแล้ว  แต่อังคารไม่ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่พุธซึ่งเป็นลูกหนี้ของอังคาร  เป็นเหตุให้จันทร์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์  อันเป็นกรณีที่จันทร์เจ้าหนี้จะเข้าใช้สิทธิเรียกร้องของอังคารลูกหนี้ได้  จันทร์จึงได้ใช้สิทธิเรียกร้องของอังคารโดยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเพื่อบังคับเอาแก่พุธ

ปรากฏว่า  จันทร์ฟ้องพุธแต่จันทร์ไม่ขอหมายเรียกอังคาร  (ลูกหนี้)  เข้ามาในคดีด้วย  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  การที่จันทร์ไม่ขอหมายเรียกอังคารเข้ามาในคดี  ผลในทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  233  ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง  หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้  เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้

มาตรา  234  เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้นั้นจะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้มาในคดีนั้นด้วย

วินิจฉัย

 กรณีตามอุทาหรณ์  เป็นเรื่องที่จันทร์  (เจ้าหนี้)  ใช้สิทธิเรียกร้องของอังคาร  (ลูกหนี้)  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  233  โดยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องพุธ  (ลูกหนี้ของอังคาร)  เป็นจำเลย  ซึ่งการที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้นั้น  ป.พ.พ.  มาตรา  234  กำหนดไว้ว่า  เจ้าหนี้ที่ยื่นฟ้องจะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้  (คืออังคาร)  เข้ามาในคดีด้วย

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  จันทร์ฟ้องพุธแต่จันทร์ไม่ขอหมายเรียกอังคาร  (ลูกหนี้)  เข้ามาในคดีด้วย  จึงถือว่าจันทร์  (เจ้าหนี้)  ทำผิดหลักเกณฑ์ของกฎหมายตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  234  ดังนั้นจึงมีผลให้เจ้าหนี้  (คือจันทร์)  ไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้ในหนี้ที่  2  คือ  พุธ  ตามที่จันทร์อ้างถึงการใช้สิทธิเรียกร้องของอังคาร  ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของพุธ  ดังนั้นผลในทางกฎหมายก็คือ  เท่ากับจันทร์ผู้เป็นโจทก์ฟ้องโดยไม่มีอำนาจฟ้อง  ศาลจึงต้องยกฟ้อง

สรุป  การที่จันทร์ไม่ขอหมายเรียกอังคารเข้ามาในคดี  ผลในทางกฎหมายคือเท่ากับจันทร์ผู้เป็นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง  ศาลต้องยกฟ้อง

 

 

ข้อ  4  เอกเป็นเจ้าหนี้และโทเป็นลูกหนี้  ในหนี้เงินสี่แสนบาท  โดยมีตรีและจัตวาเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายดังกล่าวนี้  ครั้นเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  โทลูกหนี้ผิดนัด  จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น  กรณีที่หนึ่ง  ถ้าเจ้าหนี้เตือนให้ตรีชำระหนี้  ตามสัญญาค้ำประกัน  แต่ตรีไม่ยอมชำระหนี้  ให้วินิจฉัยว่า  ผลในทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร  เพราะเหตุใด

กรณีที่สอง  ถ้าตรีเพียงคนเดียวนำเงินสดจำนวนสี่แสนบาทไปชำระให้แก่เอก  (เจ้าหนี้)  โดยเป็นการชำระโดยชอบ  แต่เอกปฏิเสธไม่ยอมรับโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้  ให้วินิจฉัยว่า  ผลในทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  204  ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  และภายหลังแต่นั้น  เจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว  ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้  ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

มาตรา  207  ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้  และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด

มาตรา  294  การที่เจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งนั้น  ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย

มาตรา  295  ข้อความจริงอื่นใด  นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  292  ถึง  294  นั้น  เมื่อเป็นเรื่องท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น  เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง

ความที่ว่ามานี้  เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่การให้คำบอกกล่าว  การผิดนัด  การที่หยิบยกอ้างความผิด  การชำระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง  กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลง  และการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกันไปกับหนี้สิน

มาตรา  682  วรรคสอง  ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้  ท่านว่าผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ตรีและจัตวาเข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้รายดังกล่าวที่มีโทเป็นลูกหนี้เอกนั้น  ย่อมเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน  จึงมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน  ตามมาตรา  682  วรรคสอง

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย  แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีที่หนึ่ง  ตามบทบัญญัติมาตรา  295  วรรคแรกนั้น  ได้บัญญัติเอาไว้ว่า  การอันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ลูกหนี้ร่วมคนใด  ย่อมถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมคนนั้น  ไม่มีผลถึงลูกหนี้ร่วมคนอื่นด้วย  เว้นแต่ที่ระบุไว้ในมาตรา  292  ถึง  294  หรือปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง

ตามข้อเท็จจริง  การที่หนี้ถึงกำหนดชำระ  ปรากฏว่าโทลูกหนี้ผิดนัด  และเอกเจ้าหนี้ได้เตือนให้ตรีผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญาค้ำประกันแล้วนั้น  เมื่อปรากฏว่าตรีไม่ยอมชำระหนี้  ย่อมถือว่าตรีตกเป็นผู้ผิดนัด  ตามมาตรา  204  วรรคแรก  และการที่ตรีตกเป็นผู้ผิดนัด  ถือเป็นเรื่องเฉพาะตัวของตรีลูกหนี้ร่วมเพียงคนเดียว  คือให้ถือว่าเฉพาะตรีเท่านั้นตกเป็นผู้ผิดนัดไม่มีผลถึงจัตวาซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งด้วยตามมาตรา  295  ประกอบมาตรา  204  วรรคแรก

กรณีที่สอง  การที่ตรีนำเงินสดจำนวนสี่แสนบาทไปชำระให้แก่เอกเจ้าหนี้  โดยเป็นการชำระโดยชอบ  แต่เอกปฏิเสธไม่ยอมรับโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้นั้น  ย่อมถือว่าเอกเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดต่อตรี  ตามมาตรา  207

และเมื่อตรีเป็นลูกหนี้ร่วมกับจัตวา  ซึ่งตามมาตรา  294  ได้กำหนดไว้ว่า  หากเจ้าหนี้ผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง  ย่อมได้เป็นคุณประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่นๆด้วย  ดังนั้น  จัตวาจึงได้ประโยชน์จากการผิดนัดของเอกเจ้าหนี้ด้วย  ผลในทางกฎหมายจึงเท่ากับเอกผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมทุกคน  คือ  ผิดนัดต่อตรีและจัตวาตามมาตรา  294  ประกอบมาตรา  207

สรุป

กรณีที่หนึ่ง  ผลในทางกฎหมายคือ  ตรีตกเป็นผู้ผิดนัดเพียงคนเดียว  ไม่มีผลไปถึงจัตวาด้วย

กรณีที่สอง  ผลในทางกฎหมายคือ  เอกผิดนัดต่อลูกหนี้ร่วมทุกคน  คือ  ผิดนัดทั้งต่อตรีและจัตวา

Advertisement