ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551 นาย ก อาชีพทนายความ กู้ยืมเงินนาย ข 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ตกลงชำระหนี้ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยในวันที่ 1 ตุลาคม 2552 ที่บ้านของนาย ข ต่อมาเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ นาย ก ได้นำเงินสดพร้อมดอกเบี้ยไปชำระแก่นาย ข ที่บ้าน แต่นาย ข เห็นว่า ดอกเบี้ยที่ได้รับตามสัญญาสูงมากเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร จึงไม่ยอมรับชำระหนี้ดังกล่าว และแจ้งให้นาย ก นำเงินกลับไปก่อน นาย ก ไม่ว่าอะไรแล้วกลับบ้านไป เวลาผ่านไปจนกระทั่งวันที่ 10 ตุลาคม 2554
นาย ข ได้ยื่นฟ้องนาย ก ต่อศาลเรียกเงินที่ให้กู้ไปคืนโดยคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่านาย ก จะชำระเสร็จสิ้น นาย ก ได้รับหมายเรียกสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2554 จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ถ้านักศึกษาเป็นศาลจะวินิจฉัยข้อกฎหมายอย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 203 ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้มิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน
มาตรา 204 ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้น เจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว
ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้ ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว
มาตรา 207 ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด
มาตรา 221 หนี้เงินอันต้องเสียดอกเบี้ยนั้น ท่านว่าจะคิดดอกเบี้ยในระหว่างที่เจ้าหนี้ผิดนัดหาได้ไม่
มาตรา 224 วรรคแรก หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย ก กู้ยืมเงินนาย ข 100,000 บาท โดยตกลงชำระหนี้ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยในวันที่ 1 ตุลาคม 2552 ที่บ้านของนาย ข นั้น ย่อมถือว่าหนี้รายนี้เป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ ตามวันแห่งปฏิทินตามมาตรา 204 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระและนาย ก ได้นำเงินสดพร้อมดอกเบี้ยไปชำระที่บ้านนาย ข จึงถือเป็นกรณีที่ลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว เมื่อปรากฏว่านาย ข กลับไม่ยอมรับชำระหนี้ดังกล่าว เพราะเห็นว่าดอกเบี้ยที่ได้รับตามสัญญาสูงมากเมื่อเทียบกับอัตราเงินฝากธนาคาร ย่อมถือว่านาย ข เจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ นาย ข เจ้าหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 207
และเมื่อถือว่านาย ข เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด ผลแห่งการนี้ย่อมทำให้นาย ข ไม่อาจเรียกดอกเบี้ยในระหว่างที่ตนผิดนัดได้ตามมาตรา 221 และทำให้หนี้เงินกู้ระหว่างนาย ก กับนาย ข กลายเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระตามมาตรา 203 วรรคแรก
ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าวันที่ 10 ตุลาคม 2554 นาย ข ได้ยื่นฟ้องนาย ก ต่อศาล เรียกเงินที่ให้กู้ไปคืน นาย ข จึงไม่อาจจะเรียกดอกเบี้ยตามสัญญาจากนาย ก ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2552 ได้ เพราะถือว่าอยู่ระหว่างเวลาที่นาย ข เจ้าหนี้ผิดนัดตามมาตรา 221
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อหนี้รายนี้กลายเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระแล้ว การที่นาย ข เจ้าหนี้ยื่นฟ้องนาย ก เรียกหนี้เงินกู้คืนนั้น ย่อมถือว่านาย ข ได้เตือนนาย ก ให้ชำระหนี้แล้วตั้งแต่วันที่ยื่นฟ้อง ดังนั้น นาย ข จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2554 เป็นต้นไป จนกว่านาย ก จะชำระหนี้เสร็จสิ้น เพราะถือว่าอยู่ระหว่างเวลาที่นาย ก ลูกหนี้ผิดนัดตามมาตรา 204 วรรคแรก โดยนาย ข สามารถเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญา ตามมาตรา 224
สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล ข้าพเจ้าจะวินิจฉัยข้อกฎหมายดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
ข้อ 2 นายไสว่าจ้างบริษัท ตรงเวลา จำกัด ให้ขนส่งไขมันนมจากฟาร์มของนายไสที่จังหวัดราชบุรีเพื่อไปส่งที่โรงงานของนายไสเองในกรุงเทพมหานคร บริษัท ตรงเวลา จำกัด ได้รับมอบไขมันนม 100 ถังราคา 100,000 บาท ไว้เพื่อการขนส่งแล้ว ระหว่างการขนส่ง คนขับรถพนักงานของบริษัท ตรงเวลาจำกัด ขับรถโดยไม่ระมัดระวังและใช้ความเร็วเกินกำหนด
ทำให้สินค้าที่ขนส่งได้รับการกระทบกระเทือน เมื่อสินค้าถึงโรงงานของนายไสในกรุงเทพมหานคร ปรากฏว่าไขมันนม 20 ถัง ราคา 20,000 บาท มีรอยแตกซึม เกิดการปนเปื้อนกับฝุ่นผงในอากาศ และเนื่องจากไขมันนมเหล่านี้ นายไสจะนำมาใช้ผลิตนมผงสำหรับเลี้ยงทารกที่ต้องใช้วัตถุดิบที่สะอาดปราศจากการปนเปื้อน นายไสจึงปฏิเสธไม่ยอมรับสินค้าไขมันนมทั้ง 100 ถัง
และเรียกค่าเสียหายจากบริษัท ตรงเวลา จำกัดทั้งหมดเป็นเงิน 100,000 บาท ถ้านักศึกษาเป็นที่ปรึกษากฎหมายของบริษัท ตรงเวลา จำกัด นักศึกษาจะแนะนำอย่างไรเพื่อให้บริษัทเสียหายน้อยที่สุด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 218 ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยจะทำได้เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ต้องรับผิดชอบไซร้ ท่านว่าลูกหนี้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าหนี้เพื่อค่าเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้น
ในกรณีที่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยแต่เพียงบางส่วน ถ้าหากว่าส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทำได้นั้น จะเป็นอันไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้แล้ว เจ้าหนี้จะไม่ยอมรับชำระหนี้ส่วนที่ยังเป็นวิสัยจะทำได้นั้นแล้ว และเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้เสียทั้งหมดทีเดียวก็ได้
มาตรา 220 ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบในความผิดของตัวแทนแห่งตนกับทั้งของบุคคลที่ตนใช้ในการชำระหนี้นั้นโดยขนาดเสมอกับว่าเป็นความผิดของตนเองฉะนั้น แต่บทบัญญัติแห่งมาตรา 373 หาใช้บังคับแก่กรณีเช่นนี้ด้วยไม่
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ไขมันนม 20 ถัง เกิดการปนเปื้อนนั้น เกิดจากการขับรถโดยไม่ระมัดระวังของพนักงานบริษัท ตรงเวลา จำกัด ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของบริษัทในการปฏิบัติการชำระหนี้ คือ การขนส่งสินค้าไปส่งมอบที่ปลายทาง ดังนั้น บริษัท ตรงเวลา จำกัด จึงต้องร่วมรับผิดชอบด้วยตามมาตรา 220
และจากข้อเท็จจริงตามปัญหา การชำระหนี้ในส่วนของไขมันนม 20 ถัง ที่มีรอยแตกซึมนั้น ถือได้ว่าเป็นการพ้นวิสัยแล้ว เนื่องจากเป็นสินค้าที่จะต้องนำไปใช้ผลิตนมผงสำหรับทารกซึ่งไม่สามารถใช้วัตถุดิบปนเปื้อนได้ เพราะจะเป็นอันตรายต่อทารก ดังนั้น เมื่อการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยนี้เกิดขึ้นเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ต้องรับผิดชอบ ความเสียหายในส่วนนี้บริษัท ตรงเวลา จำกัด จึงต้องชดใช้ค่าสินไหมให้แก่นายไส ตามมาตรา 218 วรรคแรก
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับไขมันนมอีก 80 ถังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการปนเปื้อน หรือได้รับความเสียหายอย่างไร จึงไม่อาจถือได้ว่าไขมันนมส่วนนี้เป็นอันไร้ประโยชน์แก่นายไส เพราะนายไสยังสามารถนำไปใช้ผลิตนมผงสำหรับเลี้ยงทารกได้ตามความประสงค์ นายไสจึงไม่มีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมรับมอบไขมันนมส่วนนี้จากบริษัท และเรียกค่าเสียหายด้วยได้ตามมาตรา 218 วรรคสอง ดังนั้น บริษัท ตรงเวลา จำกัด จึงควรชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้นายไสเพียง 20,000 บาท สำหรับความเสียหายที่เกิดจากการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย ในส่วนของไขมันนม 20 ถังเท่านั้น
สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นที่ปรึกษากฎหมายของบริษัท ตรงเวลา จำกัด ข้าพเจ้าจะแนะนำดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
ข้อ 3 จันทร์เป็นเจ้าหนี้ โดยมีอังคารและพุธเป็นลูกหนี้ร่วม ในหนี้เงินกู้ยืมหนึ่งแสนบาท อังคารเป็นคนที่มีฐานะดี สามารถชำระหนี้ให้แก่จันทร์โดยสิ้นเชิงได้ แต่พุธฐานะไม่ค่อยดีมีทรัพย์สินอยู่เพียงอย่างเดียว คือรถยนต์หนึ่งคันราคาประมาณหนึ่งแสนบาท
ปรากฏว่าก่อนหนี้เงินกู้ถึงกำหนดชำระเพียงห้าวัน พุธได้ยกรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์สินอย่างเดียวที่มีอยู่ให้กับบุตรโดยเสน่หา หลังจากนั้นจันทร์ทราบเรื่อง ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าจันทร์จะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการยกรถยนต์ให้โดยเสน่หาระหว่างพุธกับบุตรได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 237 เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
มาตรา 291 ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พุธลูกหนี้ได้ยกรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์สินอย่างเดียวที่มีอยู่ให้กับบุตรโดยเสน่หานั้น ถือเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ จึงเป็นนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้ และกรณีนี้แม้บุตรของพุธซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นจะไม่รู้ว่าเป็นการยกให้เพื่อหนีหนี้ จันทร์ก็ย่อมฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการยกรถยนต์ให้โดยเสน่หาระหว่างพุธกับบุตรได้ตามมาตรา 237 วรรคแรก
อย่างไรก็ตาม แม้จะปรากฏว่า อังคารกับพุธเป็นลูกหนี้ร่วมกัน แต่กฎหมายในเรื่องลูกหนี้ร่วมนั้น เจ้าหนี้มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากลูกหนี้คนใดคนหนึ่งโดยสิ้นเชิงได้ตามมาตรา 291 ดังนั้น การที่พุธลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งทำนิติกรรมอันเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ซึ่งถือเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้ตามมาตรา 237 วรรคแรก จันทร์เจ้าหนี้ย่อมฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ แม้ว่าอังคารลูกหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งจะมีฐานะดี สามารถชำระหนี้โดยสิ้นเชิงได้ก็ตาม เพราะกรณียังคงถือว่าเป็นการทำนิติกรรมอันเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
สรุป จันทร์สามารถฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการยกรถยนต์ให้โดยเสน่หาระหว่างพุธกับบุตรได้
ข้อ 4 เอกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องส่งมอบม้าตัวหนึ่งให้แก่โทและตรี กำหนดส่งมอบม้าให้แก่โทและตรีในวันที่ 20 มกราคม 2555 ปรากฏว่าเมื่อถึงกำหนดส่งมอบ เอกได้เสนอขอปฏิบัติการชำระหนี้ส่งมอบม้าให้แก่โทและตรีด้วยกันทั้งสองคน ปรากฏว่าโทพร้อมและตกลงรับการส่งมอบม้า แต่ตรีเพียงผู้เดียวปฏิเสธไม่ยอมรับการชำระหนี้จากเอกโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ใครบ้างที่ตกเป็นผู้ผิดนัด เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 207 ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด
มาตรา 302 ถ้าการชำระหนี้เป็นการอันจะแบ่งกันชำระมิได้ และมีบุคคลหลายคนเป็นเจ้าหนี้ถ้าบุคคลเหล่านั้นมิได้เป็นเจ้าหนี้ร่วมกันไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ได้แต่จะชำระหนี้ให้ได้ประโยชน์แก่บุคคลเหล่านั้นทั้งหมดด้วยกัน และเจ้าหนี้แต่ละคนจะเรียกชำระหนี้ได้ก็แต่เพื่อได้ประโยชน์ด้วยกันหมดทุกคนเท่านั้น อนึ่งเจ้าหนี้แต่ละคนจะเรียกให้ลูกหนี้วางทรัพย์ที่เป็นหนี้นั้นไว้เพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้หมดทุกคนด้วยกันก็ได้หรือถ้าทรัพย์นั้นไม่ควรแก่การจะวางไว้ ก็ให้ส่งแก่ผู้พิทักษ์ทรัพย์ซึ่งศาลจะได้ตั้งแต่งขึ้น
นอกจากนี้ ข้อความจริงใดที่ท้าวถึงเจ้าหนี้คนหนึ่งเท่านั้น หาเป็นไปเพื่อคุณหรือโทษแก่เจ้าหนี้คนอื่นๆด้วยไม่
วินิจฉัย
โดยหลัก ถ้าเป็นเรื่องหนี้ที่แบ่งกันชำระมิได้ และมีเจ้าหนี้หลายคนโดยเจ้าหนี้เหล่านั้นมิได้เป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน การกระทำของเจ้าหนี้คนหนึ่งย่อมเป็นเรื่องเฉพาะตัวของเจ้าหนี้คนนั้น หามีผลไปถึงเจ้าหนี้คนอื่นไม่ ตามมาตรา 302
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องส่งมอบม้าตัวหนึ่งให้แก่โทและตรีนั้น ถือเป็นเรื่องการชำระหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ โดยมีโทและตรีเป็นเจ้าหนี้ แต่ไม่ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน ดังนั้น เมื่อถึงเวลาส่งมอบม้า การที่เอกได้เสนอขอปฏิบัติการชำระหนี้ส่งมอบม้าให้แก่โทและตรีด้วยกันทั้งสองคน การขอปฏิบัติการชำระหนี้ของเอกจึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 302 วรรคแรก เพราะเป็นกรณีที่ลูกหนี้ได้ชำระหนี้เพื่อให้ได้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหมดแล้ว
และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ตรีเพียงผู้เดียวที่ปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้จากเอกโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ ก็ย่อมมีผลทำให้ตรีตกเป็นเจ้าหนี้ผู้ผิดนัด ตามมาตรา 207 และผลของการผิดนัดนี้ ถือเป็นกรณีที่ตรีตกเป็นเจ้าหนี้ผิดนัดโดยลำพัง หามีผลให้โทเจ้าหนี้อีกคนหนึ่งผิดนัดด้วยไม่ ตามมาตรา 302 วรรคสอง
สรุป ตรีแต่ผู้เดียวที่ตกเป็นผู้ผิดนัด