การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1. จันทร์เป็นลูกหนี้ อังคารเป็นเจ้าหนี้ ในหนี้เงินกู้ยืมสามแสนบาท กําหนดชําระคืนในวันที่ 20 มกราคม 2561 เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ จันทร์ได้ชําระหนี้ให้แก่อังคารจํานวนสามแสนบาท โดยวิธีโอนเงิน ทางธนาคารเข้าบัญชีของอังคารที่ธนาคาร ซึ่งอังคารเองก็ยอมรับว่ามีการโอนเงินจํานวนดังกล่าว เข้าบัญชีของอังคารจริง แต่อังคารปฏิเสธไม่ยอมรับการชําระหนี้ด้วยวิธีการดังกล่าว ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าการชําระหนี้ของจันทร์เป็นการขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยชอบหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 208 วรรคหนึ่ง “การชําระหนี้จะให้สําเร็จผลเป็นอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการ ชําระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง”
วินิจฉัย
กรณีที่จะถือว่าเป็นการขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยชอบตามมาตรา 208 วรรคหนึ่งนั้น จะต้อง เป็นกรณีที่ลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชําระหนี้ให้เกิดผลตรงตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับเจ้าหนี้ โดยลูกหนี้จะต้องอยู่ในฐานะ ที่จะสามารถชําระหนี้ได้ และจะต้องเป็นการชําระหนี้โดยตรง กล่าวคือ จะต้องเป็นการขอปฏิบัติการชําระหนี้ ในลักษณะที่จะให้เกิดสําเร็จผลตามวัตถุประสงค์ของหนี้โดยตรง เช่น ลูกหนี้ตกลงจะชําระหนี้เป็นเงินสด ดังนี้ ลูกหนี้จะนําทรัพย์สินอื่นมาชําระแทน หรือจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเจ้าหนี้ในธนาคารไม่ได้ เพราะจะถือว่า เป็นการชําระหนี้อย่างอื่น อันเป็นการขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยมิชอบตามมาตรา 208 วรรคหนึ่ง
ตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์เป็นลูกหนี้อังคารในหนี้เงินกู้สามแสนบาทนั้น จันทร์จึงต้องชําระหนี้ ให้แก่อังคารด้วยเงินโดยตรงจึงจะถือว่าเป็นการขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยชอบ ดังนั้นการที่จันทร์ชําระหนี้ให้แก่ อังคารโดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของอังคาร และแม้อังคารเองจะยอมรับว่าจันทร์ได้โอนเงินจํานวนดังกล่าว เข้าบัญชีของอังคารจริงก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการชําระหนี้อย่างอื่น จึงเป็นการขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยมิชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 208 วรรคหนึ่ง
สรุป การชําระหนี้ของจันทร์เป็นการขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยมิชอบ
ข้อ 2. นายทะเลผู้ค้าปลีกทําสัญญาซื้อขายข้าวโพดกับนายหินผู้ค้าส่งจํานวน 50 กิโลกรัม โดยตกลงว่าจะชําระราคาในวันส่งมอบสินค้า ก่อนถึงกําหนดเวลาส่งมอบสินค้าตามสัญญา เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ โรงเก็บโกดังสินค้าของนายหินทําให้สินค้าที่มีอยู่เดิมจํานวน 200 กิโลกรัม เหลือเพียง 20 กิโลกรัม นายหินจึงนําสินค้าที่เหลืออยู่ไปส่งให้ตามกําหนด โดยอ้างเหตุสุดวิสัยที่ถูกไฟไหม้ว่าทําให้เกิดเหตุ พ้นวิสัยขึ้นทําให้ส่งสินค้าครบตามสัญญาไม่ได้ และอ้างอีกว่านายทะเลต้องรับสินค้าที่นํามาส่งให้ จํานวน 20 กิโลกรัมไว้ เพราะยังเป็นสินค้าที่มีคุณภาพไม่ถึงกับไร้ประโยชน์ซึ่งนายทะเลยังนําไป จําหน่ายได้อยู่ ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ข้ออ้างของนายหินฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 219 “ถ้าการชําระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้น ภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชําระหนี้นั้น
ถ้าภายหลังที่ได้ก่อหนี้ขึ้นแล้วนั้น ลูกหนี้กลายเป็นคนไม่สามารถชําระหนี้ได้ไซร้ ท่านให้ถือ เสมือนว่าเป็นพฤติการณ์ที่ทําให้การชําระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัยฉะนั้น”
มาตรา 320 “อันจะบังคับให้เจ้าหนี้รับชําระหนี้แต่เพียงบางส่วน หรือให้รับชําระหนี้เป็นอย่างอื่น ผิดไปจากที่จะต้องชําระแก่เจ้าหนี้นั้น ท่านว่าหาอาจจะบังคับได้ไม่”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายทะเลผู้ค้าปลีกทําสัญญาซื้อขายข้าวโพดกับนายหินผู้ค้าส่งจํานวน 50 กิโลกรัมนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีข้อตกลงกันว่าสินค้าข้าวโพดนั้นจะต้องนํามาจากแหล่งใดโดยเฉพาะ สินค้าข้าวโพดดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์ที่มีอยู่ทั่วไป ยังไม่ได้เป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง ดังนั้นกรณีที่เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ โรงเก็บโกดังสินค้าของนายหินทําให้สินค้าที่มีอยู่เดิมจํานวน 200 กิโลกรัม เหลือเพียง 20 กิโลกรัม แม้ว่าอุบัติเหตุ ไฟไหม้จะเป็นพฤติการณ์ที่นายหินลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่กรณีที่จะทําให้การชําระหนี้ กลายเป็นพ้นวิสัย และทําให้นายหินลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชําระหนี้นั้นตามมาตรา 219 แต่อย่างใด เนื่องจากนายหินยังมีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องหาทรัพย์ประเภทเดียวกันจากที่อื่นมาส่งมอบให้แก่นายทะเล ดังนั้น การที่นายหินได้นําสินค้าที่เหลืออยู่ไปส่งมอบให้ตามกําหนด โดยอ้างเหตุสุดวิสัยที่ถูกไฟไหม้ว่าทําให้เกิด เหตุพ้นวิสัยขึ้นทําให้ส่งสินค้าครบตามสัญญาไม่ได้นั้น ข้ออ้างกรณีนี้ของนายหินจึงฟังไม่ขึ้น
และเมื่อตามสัญญาซื้อขายข้าวโพดตกลงกันว่าจะส่งมอบข้าวโพดจํานวน 50 กิโลกรัม แต่นายหิน ได้นํามาส่งมอบเพียง 20 กิโลกรัมนั้น ถือเป็นกรณีที่ลูกหนี้ขอชําระหนี้แต่เพียงบางส่วน ซึ่งนายหินลูกหนี้จะ บังคับให้นายทะเลเจ้าหนี้รับชําระหนี้แต่เพียงบางส่วนไม่ได้ตามมาตรา 320 ดังนั้น ข้ออ้างของนายหินที่ว่า นายทะเลต้องรับสินค้าที่นํามาส่งให้จํานวน 20 กิโลกรัมไว้ เพราะยังเป็นสินค้าที่มีคุณภาพไม่ถึงกับไร้ประโยชน์ซึ่ง นายทะเลยังนําไปจําหน่ายได้อยู่ จึงฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน นายทะเลจึงมีสิทธิปฏิเสธไม่รับสินค้าข้าวโพดที่นายหิน ส่งมอบให้ได้
สรุป ข้ออ้างของนายหินทั้ง 2 ประการ ฟังไม่ขึ้น
ข้อ 3. ในวันที่ 10 มกราคม 2558 นายหล่อได้ทําสัญญาให้นายเข้มเพื่อนสนิทกู้ยืมเงินไป 500,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่า “นายเข้มมีเงินเมื่อใดค่อยนํามาคืน” ต่อมานายหล่อได้ทําสัญญากู้ยืมเงินนายรวย 2,000,000 บาท เพื่อนํามาใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในกิจการร้านขายกาแฟของตน กําหนดชําระคืน ในวันที่ 24 ตุลาคม 2561 ก่อนหนี้เงินกู้ที่ติดค้างต่อนายรวยจะถึงกําหนดชําระ 1 เดือน นายหล่อ รู้ตัวดีว่าตนไม่สามารถชําระหนี้ให้กับนายรวยได้และไม่มีทรัพย์สินอื่นใดอีกนอกจากบ้านหลังเดียวที่ ใช้อยู่อาศัยในปัจจุบัน นายหล่อจึงได้จดทะเบียนยกบ้านหลังดังกล่าวราคาประมาณ 1,500,000 บาท ให้กับนางสาวสวยซึ่งเป็นบุตรสาวคนเดียว โดยนางสาวสวยจะต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูตนเอง เดือนละ 5,000 บาทตลอดชีพ ข้อเท็จจริงปรากฏว่านางสาวสวยไม่ได้รู้ถึงภาระหนี้สินของนายหล่อที่มีต่อนายรวยแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายหล่อไม่ชําระหนี้ให้แก่นายรวย และนายหล่อก็ไม่ยอมทวงถามนายเข้มให้ชําระหนี้แก่ตน นายรวยจึงใช้สิทธิเรียกร้องของนายหล่อ ฟ้องให้นายเข้มชําระหนี้ 500,000 บาท และฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมที่นายหล่อยกบ้าน ให้กับนางสาวสวย นายเข็มต่อสู้ว่าหนี้ของตนเกิดขึ้นก่อนที่นายหล่อจะไปทําสัญญากู้ยืมเงินนายรวย อีกทั้งหนี้ดังกล่าวยังไม่ถึงกําหนดชําระ นายรวยจึงไม่มีอํานาจฟ้อง ส่วนนางสาวสวยต่อสู้ว่าตนเอง สุจริต และกรณีไม่ใช่เป็นการให้โดยเสน่หาเพราะตนต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้นายหล่อเป็น รายเดือน นายรวยจึงไม่สามารถเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้
ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายเข้มและนางสาวสวยฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 203 วรรคหนึ่ง “ถ้าเวลาอันจะพึงชําระหนี้มีได้กําหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจาก พฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชําระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชําระหนี้ ของตนได้โดยพลันดุจกัน”
มาตรา 233 “ถ้าลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง หรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ต้องเสียประโยชน์ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้ เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ เว้นแต่ในข้อที่เป็นการของลูกหนี้ส่วนตัวโดยแท้”
มาตรา 237 “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้ กระทําลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทํา นิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทําให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมีให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิ ในทรัพย์สิน
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ข้อต่อสู้ของนายเข้มและนางสาวสวยฟังขึ้นหรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
กรณีของนายเข้ม ตามมาตรา 233 การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้นั้น หนี้ของเจ้าหนี้จะเกิดขึ้น ก่อนหรือหลังก็ได้ เพียงแต่ลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอกอยู่ เมื่อหนี้ดังกล่าวถึงกําหนดชําระแล้ว และ ลูกหนี้ขัดขืนหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิแล้วทําให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์ เจ้าหนี้ย่อมสามารถเข้าไปใช้สิทธิเรียกร้อง ดังกล่าวในนามของตนเองแทนลูกหนี้ได้
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายหล่อทําสัญญาให้นายเข้มกู้ยืมเงินไป 500,000 บาท เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2558 โดยมีข้อตกลงว่านายเข้มมีเงินเมื่อใดค่อยนํามาคืนนั้น ถือเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไขไม่แน่นอน จึงเป็น หนี้ที่ถึงกําหนดชําระโดยพลัน ตามมาตรา 203 วรรคหนึ่ง ดังนั้นต่อสู้ของนายเข้มที่ว่าหนี้ของตนเกิดขึ้นก่อนที่ นายหล่อจะไปกู้ยืมเงินนายรวย อีกทั้งหนี้ดังกล่าวยังไม่ถึงกําหนดชําระ นายรวยจึงไม่มีอํานาจฟ้องนั้น จึงฟังไม่ขึ้น
กรณีของนางสาวสวย การที่นายหล่อทํานิติกรรมยกบ้านให้กับนางสาวสวยบุตรสาวของตนนั้น เป็นนิติกรรมที่นายหล่อได้ทําลงทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ และเมื่อนิติกรรมดังกล่าวเป็นนิติกรรม การเห้เดยเสนา จึงจําเป็นจะต้องพิจารณาว่านางสาวสวยสุจริตหรือไม่ เจ้าหนี้ก็สามารถร้องขอให้ศาลเพิกถอนได้ตามมาตรา 237 และแม้การที่นายหล่อยกบ้านให้กับนางสาวสวยนั้น นางสาวสวยต้องจ่ายค่าอุปการะ เลี้ยงดูนายหล่อก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงหน้าที่ตามธรรมจรรยาซึ่งไม่มีผลเปลี่ยนแปลงนิติกรรมการให้เป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้นการที่นางสาวสวยต่อสู้ว่าตนเองสุจริต และกรณีไม่ใช่เป็นการให้โดยเสน่หา นายรวยจึงไม่สามารถเพิกถอน นิติกรรมดังกล่าวได้นั้น ข้อต่อสู้ของนางสาวสวยจึงฟังไม่ขึ้น
สรุป ข้อต่อสู้ของนายเข้มและนางสาวสวยฟังไม่ขึ้น
ข้อ 4. บริษัท ดีหนึ่ง จํากัด กับนางสองได้ร่วมกันทําสัญญากู้ยืมเงินจํานวน 100,000 บาท จากนายสิบและได้จดทะเบียนจํานองที่ดินของบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด กับนางสองแก่นายสิบไว้เป็นประกันด้วย ต่อมานายสิบเป็นหนี้ตามสัญญาซื้อขายต่อนายพัน นายสิบจึงได้ทําหนังสือลงลายมือชื่อโอนสิทธิ เรียกร้องหนี้เงินกู้ดังกล่าวให้แก่นายพันเพื่อชําระหนี้ตามสัญญาซื้อขาย และนายสิบได้จดทะเบียน โอนสิทธิจํานองนั้นแก่นายพัน ต่อมานางสองได้ชําระหนี้เงินกู้แก่นายสิบ 20,000 บาท หลังจากนั้น นายสิบและนายพันได้ร่วมกันทําหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสองเพื่อทราบ เมื่อหนี้เงินกู้ถึงกําหนด บริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสองไม่ชําระ นายพัน จึงฟ้องเรียกหนี้เงินกู้ 100,000 บาทตามสัญญาจากบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสอง และขอบังคับ จํานองด้วย บริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสอง ให้การต่อสู้ว่า
(1) การโอนสิทธิเรียกร้องไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสอง การโอน จึงไม่สมบูรณ์ใช้บังคับไม่ได้
(2) การจํานองไม่ได้ทําเป็นสัญญากันใหม่ระหว่างบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสอง กับนายพัน การจํานองจึงระงับแล้ว นายพันไม่มีสิทธิบังคับจํานอง
(3) นางสองได้ชําระหนี้บางส่วนแก่นายสิบแล้ว บริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสองจึงต้องรับผิด อีกเพียง 80,000 บาท
ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสอง ทั้ง 3 ข้อ ฟังขึ้นหรือไม่เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 291 “ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทําการชําระหนี้โดยทํานองซึ่งแต่ละคนจําต้องชําระหนี้ สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชําระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้ จะเรียกชําระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคง ต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชําระเสร็จสิ้นเชิง
มาตรา 292 วรรคหนึ่ง “การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งชําระหนี้นั้น ย่อมได้เป็นประโยชน์แก่ “กหนี้คนอื่น ๆ ด้วย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่การใด ๆ อันพึงกระทําแทนชําระหนี้ วางทรัพย์สินแทน กระหนี้ และหักกลบลบหนี้ด้วย”
มาตรา 305 วรรคหนึ่ง “เมื่อโอนสิทธิเรียกร้องไป สิทธิจํานองหรือจํานําที่มีอยู่เกี่ยวพันกับ เริเรียกร้องนั้นก็ดี สิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ําประกันที่ให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องนั้นก็ดี ย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนด้วย”
มาตรา 306 วรรคหนึ่ง “การโอนหนี้อันจะพึงต้องชําระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทําเป็นหนังสือท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คําบอกกล่าวหรือความยินยอม เช่นว่านี้ท่านว่าต้องทําเป็นหนังสือ”
มาตรา 308 วรรคสอง “ถ้าลูกหนี้เป็นแต่ได้รับคําบอกกล่าวการโอน ท่านว่าลูกหนี้มีข้อต่อสู้ ผู้โอนก่อนเวลาที่ได้รับคําบอกกล่าวนั้นฉันใด ก็จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แก่ผู้รับโอนได้ฉันนั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
(1) ตามมาตรา 306 วรรคหนึ่ง การโอนหนี้อันจะพึงต้องชําระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะ เจาะจงนั้น จะต้องทําเป็นหนังสือจึงจะสมบูรณ์ และการโอนนั้นจะยกเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ก็ ต่อเมื่อได้บอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้ได้ยินยอมเป็นหนังสือในการโอนนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง
การที่ บริษัท ดีหนึ่ง จํากัด กับนางสอง ได้ร่วมกันทําสัญญากู้ยืมเงินจํานวน 100,000 บาท จากนายสิบ และได้จดทะเบียนจํานองที่ดินของบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด กับนางสองแก่นายสิบไว้เป็นประกันด้วยนั้น ย่อมถือว่า บริษัท ดีหนึ่ง จํากัด กับนางสอง เป็นลูกหนี้ร่วมของนายสิบ เพราะทั้งสองได้แสดงเจตนาร่วมกันกู้ยืมเงิน จากนายสิบ ดังนั้น บริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสอง จึงต้องชําระหนี้แก่นายสิบอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 291 และเมื่อต่อมานายสิบได้ทําหนังสือลงลายมือชื่อโอนสิทธิเรียกร้องหนี้เงินกู้ดังกล่าวให้แก่นายพัน การโอนจึงสมบูรณ์ และเมื่อนายสิบและนายพันได้ร่วมกันทํา หนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และ นางสองเพื่อทราบ การบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวย่อมขอบด้วยมาตรา 306 วรรคหนึ่ง โดย ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสองแต่อย่างใด และมีผลผูกพันบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด กับนางสองที่จะต้องชําระหนี้ให้แก่นายพันซึ่งเป็นเจ้าหนี้คนใหม่ ดังนั้น ข้อต่อสู้ของบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และ นางสองที่ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสอง การโอนจึงไม่สมบูรณ์ ใช้บังคับไม่ได้นั้น จึงฟังไม่ขึ้น
(2) ตามมาตรา 305 วรรคหนึ่ง เมื่อมีการโอนสิทธิเรียกร้องไปแล้ว สิทธิจํานองที่มีอยู่เกี่ยวพัน กับสิทธิเรียกร้องนั้นย่อมตกไปได้แก่ผู้รับโอนด้วย ดังนั้นตามอุทาหรณ์เมื่อนายสิบได้จดทะเบียนโอนสิทธิจํานองนั้น ให้แก่นายพันผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องแล้วด้วย นายพันจึงเป็นเจ้าหนี้คนใหม่ที่มีสิทธิตามสัญญาจํานองและสามารถ บังคับจํานองได้ ข้อต่อสู้ของบริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสองที่ว่าการจํานองไม่ได้ทําเป็นสัญญากันใหม่ระหว่าง บริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสอง กับนายพัน การจํานองจึงระงับแล้ว นายพันไม่มีสิทธิบังคับจํานอง จึงฟังไม่ขึ้น
(3) การที่นางสองซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งได้ชําระหนี้เงินกู้ให้แก่นายสิบ 20,000 บาทนั้น ย่อมเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้คนอื่น ๆ ด้วยตามมาตรา 292 วรรคหนึ่ง และเมื่อเป็นการชําระหนี้ก่อนที่นางสองจะ ได้รับคําบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องจากนายสิบและนายพัน บริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสองจึงสามารถยก ข้อที่ได้ชําระหนี้บางส่วนแล้วนั้นขึ้นต่อสู้นายพันผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 308 วรรคสอง ดังนั้น การที่ บริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสองให้การต่อสู้ว่า นางสองได้ชําระหนี้บางส่วนแล้ว บริษัท ดีหนึ่ง จํากัด และนางสอง จึงต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวอีกเพียง 80,000 บาทนั้น ข้อต่อสู้ดังกล่าวจึงฟังขึ้น
สรุป
ข้อต่อสู้ในข้อ (1) และ (2) ฟังไม่ขึ้น แต่ข้อต่อสู้ในข้อ (3) ฟังขึ้น