การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นายท้วมและนายอ่ำเป็นเจ้าของที่ดินอยู่ติดต่อกัน  และด้านทิศเหนือของที่ดินทั้งสองแปลงต่างก็ติดกับแม่น้ำปิง  เวลาฤดูน้ำ  น้ำท่วมเต็มตลิ่งทุกปี  เวลาฤดูแล้งน้ำลดลงไป  ทั้งนายท้วมและนายอ่ำต่างก็เข้าไปปลุกผักในที่ดินริมตลิ่งที่น้ำลดลงตรงหน้าที่ดินของตน  ต่อมานายท้วมสุขภาพไม่ดีจึงเลิกปลูกผักและไม่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินริมตลิ่งนั้นอีกเลย  นายอ่ำเห็นนายท้วมไม่ได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเป็นเวลากว่า  1  ปีแล้ว  

นายอ่ำจึงขยายพื้นที่ปลูกผักเข้าไปในที่ดินริมตลิ่งหน้าที่ดินของนายท้วม  โดยนายท้วมไม่ทักท้วง  หลังจากนั้น  3  ปี  นายท้วมถึงแก่ความตาย  นายเท่งบุตรของนายท้วมจดทะเบียนรับมรดกที่ดินของนายท้วม  และไม่ยอมให้นายอ่ำปลูกผักในที่ดินริมตลิ่งหน้าที่ดินที่ตนรับมรดก  และต้องการจะเข้าไปปลูกผักเอง  นายอ่ำไม่ยอม  อ้างว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่ามาเกิน  1  ปีแล้วนายเท่งจึงไม่มีสิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครอง  เช่นนี้  นายอ่ำจะได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทนั้นอย่างไร  หรือไม่ และนายเท่งจะให้นายอ่ำออกไปจากที่พิพาทได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1304  สาธารณะสมบัติของแผ่นดินนั้น  รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดิน  ซึ่งใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์  หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน  เช่น

(2) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน  เป็นต้นว่าที่ชายตลิ่ง  ทางน้ำ  ทางหลวง  ทะเลสาบ

มาตรา  1306  ท่านห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

วินิจฉัย  ที่พิพาทเป็นที่ดินริมตลิ่งหน้าที่ดินของนายท้วมและนายอ่ำ  ซึ่งเวลาฤดูน้ำ  น้ำท่วมถึงเต็มตลิ่งทุกปี  เวลาฤดูแล้งน้ำลดลงไป  ที่ดินริมตลิ่งทั้งสองแปลงดังกล่าว  ย่อมถือได้ว่าเป็นที่ชายตลิ่ง  อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน  ตามมาตรา  1304 (2)  ผู้ใดหามีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองไม่  ดังนั้นทั้งนายท้วมและนายอ่ำจึงไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ์ครอบครองในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด (ฎ. 2199/2515)

นอกจากนี้  แม้นายท้วมและนายอ่ำจะเข้าไปปลูกผักในที่ชายตลิ่งหน้าที่ดินของตนนานเท่าใด  ก็ไม่สามารถยกอายุความการครอบครองปรปักษ์  (มาตรา  1382)  หรือแม้แต่ในเรื่องสิทธิครอบครอง  (มาตรา 1367)  ขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินได้  ตามมาตรา  1306

แม้การยึดถือครอบครองสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะไม่ก่อให้เกิดสิทธิใดๆ  แก่ผู้ยึดถือครอบครอง  หมายถึงใช้ยันต่อรัฐหรือแผ่นดินไม่ได้ แต่ในระหว่างเอกชนด้วยกันนั้นใช้ยันกันเองได้  โดยถือหลักว่าผู้ที่เป็นฝ่ายครอบครองที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ก่อนและยังคงครอบครองอยู่  ผู้นั้นย่อมมีสิทธิดีกว่า (ฎ. 3908/2535)  ซึ่งสิทธิดังกล่าวจะมีอยู่ตลอดเวลาที่ครอบครองเท่านั้น  ดังนั้นหากผู้ที่ครอบครองอยู่ก่อนแล้วสละการครอบคอรงที่พิพาทนั้นไป  ผู้ครอบครองรายหลังซึ่งยังคงครอบครองทำประโยชน์อยู่ย่อมมีสิทธิดีกว่า

กรณีตามอุทาหรณ์  นายท้วมไม่ได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเป็นเวลา  1  ปี  แล้ว  และการที่นายอ่ำขยายพื้นที่ปลูกผักเข้าไปในที่ดินริมตลิ่งหน้าที่ดินของนายท้วม  นายท้วมก็ไม่ได้ทักท้วงแต่อย่างใด  เช่นนี้ถือว่า  นายท้วมสละการครอบคอรงแล้ว  เมื่อนายอ่ำเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ต่อ  นายอ่ำจึงเป็นผู้มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่านายท้วมและนายเท่ง  ดังนั้นนายเท่งจึงไม่สามารถให้นายอ่ำออกไปจากที่ดินพิพาทได้  (ฎ. 279/2530)

สรุป  นายอ่ำไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด  และนายเท่งจะให้นายอ่ำซึ่งเป็นผู้มีสิทธิดีกว่าตนออกไปจากที่ดินพิพาทไม่ได้เช่นกัน

 

ข้อ  2  นายพิภพเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งถูกปิดล้อมโดยที่ดินของนายเขียว  นายขำ  และนายคง  มีเพียงทิศตะวันออกเท่านั้นที่ติดคลองสาธารณะใช้เป็นทางเข้าออกทางน้ำ  โดยใช้เรือในการสัญจรออกสู่แม่น้ำแต่สภาพคลองใช้เข้าออกไม่สะดวก  โดยเฉพาะฤดูแล้งคลองตื้นเขินไม่สามารถใช้เรือสัญจรได้  คงมีเพียงเส้นทางเดียวที่จะสามารถผ่านออกสู่สาธารณะได้  คือการใช้ทางเดินผ่านที่ดินของนายเขียว  ซึ่งอีกด้านหนึ่งติดทางสาธารณะ  หลังจากนายพิภพใช้ทางเดินผ่านที่ดินของนายเขียวได้  1  ปี  นายเขียวก็ปิดกั้นทางเดินดังกล่าวไม่ให้นายพิภพใช้อีกต่อไป

ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายพิภพจะฟ้องขอให้นายเขียวเปิดทางเดินนั้นให้ตนสามารถใช้ผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะต่อไปได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1349  ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงสาธารณะได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้

ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้แต่เมื่อต้องข้ามสระ  บึง  หรือทะเล  หรือมีที่ชัน  อันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้  ท่านว่าให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับ

ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน  กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้  ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะผ่านสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้

ผู้มีสิทธิจะผ่าน  ต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหาย  อันเกิดแก่เหตุที่มีทางผ่านนั้น  ค่าทดแทนนั้น  นอกจากค่าเสียหายเพราะสร้างถนน  ท่านว่าจะกำหนดเป็นเงินรายปีก็ได้

วินิจฉัย   ทางจำเป็นนั้นเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายตามมาตรา  1349  ซึ่งมีหลักว่าที่ดินแปลงใดถูกปิดล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้  เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิที่จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้

ดังนั้นถ้าที่ดินแปลงใดอยู่ติดกับคลองสาธารณะ  แม่น้ำ  จะอ้างขอทางจำเป็นผ่านที่ดินของบุคคลอื่นไม่ได้  เพราะถือว่ามีทางออกสู่สาธารณะอยู่แล้ว  แต่คลองนั้นจะต้องใช้สัญจรไปมาได้ด้วย  (ฎ. 2240/2525)  ถ้าคลองนั้นตื้นเขินจนไม่สามารถเดินเรือ  หรือใช้สัญจรไปมาได้หรือใช้ได้เป็นบางครั้งคราว  หรือไม่มีน้ำที่จะใช้สัญจรได้ตลอดปี  ก็ยังไม่พอถือว่าเป็นทางสาธารณะตามความหมายของมาตรา  1349  ถือว่าเป็นที่ดินที่ไม่มีทางออกสู่สาธารณะ  ดังนี้เจ้าของที่ดินนั้นย่อมมีสิทธิใช้ทางจำเป็นผ่านที่ดินของผู้อื่นไปสู่ทางสาธารณะได้  (ฎ.800 801 /2544)

กรณีตามอุทาหรณ์  ที่ดินของนายพิภพแม้จะติดคลองสาธารณะ  สามารถใช้เป็นทางเข้าออกโดยใช้เรือในการสัญจรออกสู่แม่น้ำได้  แต่สภาพคลองใช้เข้าออกไม่สะดวก  โดยเฉพาะในฤดูแล้ง  คลองตื้นเขินไม่สามารถใช้เรือสัญจรได้  ก็ยังไม่พอที่จะถือได้ว่าเป็นทางสาธารณะตามความหมายของมาตรา  1349  นายพิภพจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินผ่านที่ดินของนายเขียวซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะ  ดังนั้นนายพิภพจึงฟ้องขอให้นายเขียวเปิดทางจำเป็นให้ตนสามารถใช้ผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะต่อไปได้

สรุป  นายพิภพฟ้องให้นายเขียวเปิดทางจำเป็นได้

 

ข้อ  3  นายส้มทำสัญญาเป็นหนังสือขายที่ดินมือเปล่าของนายส้มแปลงหนึ่งให้นายแสด  ซึ่งที่ดินแปลงนั้นนายส้มได้ให้นายตาลบุตรชายนายส้มอาศัยทำไร่อยู่  นายแสดได้ตกลงกับนายส้มว่าตนยินดีที่จะให้นายตาลอยู่อาศัยบนที่ดินแปลงนั้นต่อไปโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า  หลังจากนั้นนายแสดซื้อที่ดินแปลงนั้นมาได้หนึ่งปี  จึงได้ให้เจ้าพนักงานมารังวัดเพื่อออกเอกสารสิทธิในที่ดิน  และให้นายตาลออกไปจากที่ดินแปลงนั้น  แต่นายตาลไม่ยอมออกอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงนั้นดีกว่านายแสด  นายแสดไม่มีสิทธิขับไล่ตนเพราะเรียกคืนเกินหนึ่งปีหมดระยะเวลาฟ้องเอาคืนที่ดินแปลงนั้นแล้ว

ท่านคิดว่า  ข้ออ้างของนายตาลรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1368  บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้

มาตรา  1375  ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้  ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่า  ซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้

การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น  ท่านว่าต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง 

มาตรา  1380  การโอนไปซึ่งการครอบครองย่อมเป็นผลแม้  ผู้โอนยังยึดถือทรัพย์สินอยู่  ถ้าผู้โอนแสดงเจตนาว่าต่อไปจะยึดถือทรัพย์สินนั้นแทนผู้รับโอน 

ถ้าทรัพย์สินนั้นผู้แทนของผู้โอนยึดถืออยู่  การโอนไปซึ่งการครอบครองจะทำโดยผู้โอนสั่งผู้แทนว่า  ต่อไปให้ยึดถือทรัพย์สินไว้แทนผู้รับโอนก็ได้

มาตรา  1381  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง  บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่า  ไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป  หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต  อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก

วินิจฉัย   นายส้มทำสัญญาเป็นหนังสือขายที่ดินมือเปล่าของนายส้มแปลงหนึ่งให้นายแสด  ซึ่งที่ดินแปลงนั้นนายส้มได้ให้นายตาลบุตรชายนายส้มอาศัยทำไร่อยู่  ถือว่านายตาลครอบครองที่ดินแปลงนั้นแทนนายส้ม  (ฎ.1579/2514)  เมื่อนายแสดซื้อที่ดินแปลงนั้นมาจากนายส้ม จึงถือว่านายตาลครอบครองที่ดินแปลงนั้นแทนนายแสดต่อไป  ตามมาตรา  1368  ประกอบมาตรา  1380  หลังจากนายแสดซื้อที่ดินแปลงนั้นมาได้หนึ่งปี  จึงได้ให้เจ้าพนักงานมารังวัดเพื่อออกเอกสารสิทธิในที่ดิน  และให้นายตาลออกไปจากที่ดินแปลงนั้น  แต่นายตาลไม่ยอมออกอ้างว่า  ตนมีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงนั้นดีกว่านายแสด  ดังนี้เมื่อนายตาลยึดถือที่ดินแปลงนั้นแทนนายแสด  นายตาลต้องเปลี่ยนลักษณะการยึดถือ  โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครอง (เจ้าของ)  ว่าตนไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป  ตามมาตรา 1381  ก่อนจึงจะถือว่านายตาลยึดถือเพื่อตน  ซึ่งจะทำให้ได้และมีสิทธิครอบครองดีกว่านายแสด  ระยะเวลาการฟ้องเอาคืน  ซึ่งการครอบครองภายใน  1  ปี  ตามมาตรา  1375  จึงยังไม่ได้เกิดขึ้นเพราะยังไม่ได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือ  (แย่งการครอบครอง)  นั่นเอง  ข้ออ้างของนายตาลรับฟังไม่ได้

สรุป  ข้ออ้างของนายตาลรับฟังไม่ได้

 

ข้อ  4  นายสำลีมีอาชีพทำไร่และเลี้ยงปลาขาย  ที่ดินของสำลีที่ใช้ทั้งอาศัยปลูกบ้านและทำไร่เลี้ยงปลาอยู่ตรงข้ามกับที่ดินของนายสายมีทางเดินเท้าสาธารณะคั่นอยู่   ที่ดินของนายสายมีสระน้ำอยู่ในที่ดินนั้น  นายสำลีทำท่อฝังใต้ถนนสาธารณะสูบน้ำข้ามถนนเข้ามาในที่ดินของนายสำลีโดยไม่ได้ขออนุญาตนายสายแต่อย่างใด  เพื่อใช้ทำไร่เลี้ยงปลาประจำมาได้แปดปี  ต่อมานายสำลีได้ยกท่อน้ำขึ้นมาวางไว้บนถนน  ทำให้ชาวบ้านซึ่งใช้ถนนเส้นนั้นเข้าออกไม่สะดวก  ชาวบ้านจึงได้บอกกับกำนันให้มาบอกให้นายสำลีรื้อท่อน้ำนั้นออกไปจากถนน  แต่นายสำลีไม่ยอมรื้อ  หลังจากนั้นมาได้สองปีครึ่งนายสายทราบจึงห้ามไม่ให้นายสำลีสูบน้ำจากที่ดินของตนและให้รื้อท่อน้ำนั้นออกไป  แต่นายสำลีไม่ยอม  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  นายสำลีจะได้ภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์ในการใช้น้ำในบ่อนั้นหรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบคอรงติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบคอรงติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1387  อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน  หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์นั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น

มาตรา  1401  ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ  ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ  3  แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

นายสำลีมีอาชีพทำไร่และเลี้ยงปลาขาย  ที่ดินของสำลีที่ใช้ทั้งอาศัยปลูกบ้านและทำไร่เลี้ยงปลาอยู่ตรงข้ามกับที่ดินของนายสายมีทางเดินเท้าสาธารณะขั้นอยู่  ที่ดินของนายสายมีสระน้ำอยู่ในที่ดินนั้นนายสำลีทำท่อฝังใต้ถนนสาธารณะสูบน้ำเข้ามาในที่ดินของนายสำลีโดยไม่ได้ขออนุญาตจากนายสายแต่อย่างใด  เพื่อใช้ทำไร่เลี้ยงปลาเป็นการใช้เพื่อประโยชน์อสังหาริมทรัพย์ทำให้ที่ดินของนายสำลีเข้าลักษณะภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว  เมื่อใช้มาได้ประจำแปดปีนายสำลีได้ยกท่อน้ำนั้นขึ้นมาบนถนน  ทำให้ชาวบ้านซึ่งใช้ถนนเส้นนั้นเข้าออกไม่สะดวก  ชาวบ้านจึงได้บอกกับกำนันให้มาบอกให้นายสำลีรื้อถอนท่อน้ำนั้นออกไปจากถนน  แต่นายสำลีก็ยังไม่ยอมรื้อออก  หลังจากนั้นมาได้สองปีครึ่งนายสายทราบจึงห้ามไม่ให้นายสำลีสูบน้ำจากที่ดินของตนและรื้อท่อน้ำนั้นออกไป  แต่นายสำลีไม่ยอม  ดังนี้นายสำลีได้ภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์ในการใช้น้ำในบ่อนั้นอันได้มาโดยอายุความแล้ว  ตามมาตรา  1387  ประกอบมาตรา  1382  และมาตรา  1401

สรุป  นายสำลีย่อมได้ภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์ในการใช้น้ำในบ่อน้ำนั้นแล้ว

Advertisement