การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 นายคงทำสัญญาเช่าตึกแถวของนายมั่นเพื่ออยู่อาศัยเป็นเวลา 5 ปี โดยสัญญาเช่าระบุว่าทรัพย์ใดๆที่นายคงผู้เช่าดัดแปลงหรือต่อเติมลงในตึกแถวที่เช่าให้ทรัพย์นั้นตกเป็นของนายมั่นผู้ให้เช่าทันที หลังจากที่นายคงเข้าไปอยู่ในตึกแถวดังกล่าวได้ 2 ปี นายคงได้ทำฝากั้นห้องที่บริเวณชั้น 3 ของตึก และติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพื่อใช้เป็นห้องนอนเพิ่มอีกห้องหนึ่ง เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่า นายคงจะรื้อถอนเอาไม้ที่ทำเป็นฝากั้นห้องและเครื่องปรับอากาศออกไป
นายมั่นไม่ยอมโดยอ้างว่าทั้งไม้และเครื่องปรับอากาศเป็นกรรมสิทธิ์ของนายมั่นแล้วตามสัญญาเช่าดังกล่าว ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายคงจะรื้อถอนไม้ฝากั้นห้องและเครื่องปรับอากาศออกไปได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 144 ส่วนควบของทรัพย์ หมายความว่า ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่แห่งทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป
เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น
วินิจฉัย
นายคงทำสัญญาเช่าตึกแถวของนายมั่นเพื่ออยู่อาศัยเป็นเวลา 5 ปี หลังจากนายคงเข้าไปอยู่ในตึกแถวได้ 2 ปี นายคงได้ทำฝากั้นห้องที่บริเวณชั้น 3 ของตึก และติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพื่อใช้เป็นห้องนอนนั้น ทั้งฝากั้นห้องและเครื่องปรับอากาศไม่เป็นส่วนควบของตึก เพราะไม่เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของตึกอันไม่อาจแยกออกได้นอกจากทำให้ตัวตึกเสียรูปทรง จึงไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายมั่นผู้ให้เช่าตามมาตรา 144
ดังนั้นเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่า นายคงสามารถรื้อถอนเอาไม้ที่ทำเป็นฝากั้นห้องและเครื่องปรับอากาศออกไปได้ แม้ในสัญญาเช่าระบุว่าทรัพย์ใดๆที่นายคงผู้เช่าดัดแปลงหรือต่อเติมลงในตึกแถวที่เช่า ให้ทรัพย์นั้นตกเป็นของนายมั่นผู้ให้เช่าทันทีก็ตาม แต่ทั้งนี้ทรัพย์ที่ต่อเติมนั้นหมายความถึงการกระทำที่มาเป็นส่วนควบของตึก เมื่อฝากั้นห้องและเครื่องปรับอากาศไม่เป็นส่วนควบของตึกดังกล่าวแล้ว นายคงจึงสามารถรื้อถอนออกไปได้
สรุป นายคงสามารถรื้อถอนไม้ฝากั้นห้องและเครื่องปรับอากาศออกไปได้
ข้อ 2 นายก้องได้เข้าครอบครองทำไร่ในที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม แต่ทางราชการยังไม่ออกพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนการเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หลังจากที่นายก้องทำไร่ในที่ดินดังกล่าวได้ 5 ปี นายก้องได้ไปพบนายขำเพื่อนของตน และขอให้นายขำซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินช่วยออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ให้ ทั้งที่กรมที่ดินยังไม่ได้ประกาศให้ประชาชนเช้าจับจองเป็นเจ้าของหรือออกเอกสารสิทธิแต่อย่างใด
เมื่อนายก้องได้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) มาแล้ว นายก้องได้ทำหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ขายที่ดินดังกล่าวให้กับนายแก้ว ต่อมาทางราชการได้แจ้งให้นายแก้วออกไปจากที่ดินดังกล่าว แต่นายแก้วไม่ยอมย้ายออกจากที่ดินแปลงนั้น โดยต่อสู้ว่าตนซื้อที่ดินมาโดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต
ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายแก้วรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 1304 สาธารณะสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดิน ซึ่งใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น
(1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน
มาตรา 1305 ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา
มาตรา 1306 ท่านห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
วินิจฉัย
ป่าเสื่อมโทรมที่ทางราชการยังไม่ออกพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนการเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาตินั้นยังมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 1304(1) ดังนั้นแม้นายก้องจะเข้าไปครอบครองทำไร่ในที่ดินดังกล่าวนานเท่าใด นายก้องก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงนั้น เพราะสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่สามารถยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินตามมาตรา 1306
ส่วนการที่นายก้องไปพบนายขำเพื่อนของตน และขอให้นายขำเป็นเจ้าพนักงานที่ดินช่วยออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ให้ ทั้งที่กรมที่ดินยังไม่ได้ประกาศให้ประชาชนเข้าจับจองเป็นเจ้าของหรือออกเอกสารสิทธิแต่อย่างใด จึงเป็นการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรมที่ดินสามารถเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) นั้นได้ และนายก้องไม่สามารถทำสัญญาและจดทะเบียนขายที่ดินนั้นให้กับนายแก้ว เพราะมาตรา 1305 มีหลักกฎหมายความว่า ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา ดังนั้นเมื่อทางราชการได้แจ้งให้นายแก้วออกไปจากที่ดินดังกล่าว นายแก้วจึงต้องย้ายออกไปจากที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น ข้อต่อสู้ของนายแก้วที่ว่าตนซื้อที่ดินมาโดยสุจริต และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตจึงรับฟังไม่ได้
สรุป ข้อต่อสู้ของนายแก้งฟังไม่ขึ้น เพราะที่ดินดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ข้อ 3 นายชุ่มทำไร่ในที่ดินมือเปล่าแห่งหนึ่ง ต่อมานายชุ่มได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้นายชม และนายชมได้ให้นายชุ่มอยู่ทำไร่ดูแลที่ดินแปลงนี้ต่อให้ เมื่อนายชุ่มครอบครองที่ดินแปลงนี้ต่อมาได้เจ็ดปี นายชุ่มได้นำที่ดินแปลงนี้ไปขายให้นายชิตส่งมอบการครอบครองให้นายชิต โดยนายชิตไม่ทราบว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของนายชม นายชิตซื้อที่ดินแปลงนี้จากนายชุ่มมาได้สามเดือน
เมื่อเจ้าพนักงานรังวัดสำรวจเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่นายชิตได้แจ้งการครอบครองที่ดินแปลงนี้ว่าเป็นของตนต่อเจ้าพนักงาน นายชมได้ไปร้องคัดค้าน และฟ้องขับไล่นายชิตให้ออกไปจากที่ดินแปลงนี้
ให้ท่านวินิจฉัยว่า ระหว่างนายชมและนายชิตใครมีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงนี้ดีกว่ากัน เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 1368 บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้
มาตรา 1380 การโอนไปซึ่งการครอบครองย่อมเป็นผลแม้ ผู้โอนยังยึดถือทรัพย์สินอยู่ ถ้าผู้โอนแสดงเจตนาว่าต่อไปจะยึดถือทรัพย์สินนั้นแทนผู้รับโอน
ถ้าทรัพย์สินนั้นผู้แทนของผู้โอนยึดถืออยู่ การโอนไปซึ่งการครอบครองจะทำโดยผู้โอนสั่งผู้แทนว่า ต่อไปให้ยึดถือทรัพย์สินไว้แทนผู้รับโอนก็ได้
วินิจฉัย
นายชุ่มได้ทำไร่ในที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่ง ต่อมานายชุ่มได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้นายชมและนายชมได้ให้นายชุ่มอยู่ทำไร่ดูแลที่ดินแปลงนั้นให้ตน นายชุ่มจึงยึดถือที่ดินแปลงนั้นแทนนายชมตามมาตรา 1380 นายชมจึงมีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่าแปลงนั้นดีกว่านายชุ่มตามมาตรา 1368 เมื่อนายชุ่มครอบครองที่ดินแปลงนั้นต่อมาได้เจ็ดปี นายชุ่มได้นำที่ดินแปลงนั้นไปขายให้นายชิตส่งมอบการครอบครองให้นายชิต โดยนายชิตไม่ทราบว่าที่ดินแปลงนั้นเป็นของนายชม เมื่อนายชิตรับโอนจากนายชุ่มซึ่งไม่มีสิทธิดีกว่านายชม นายชิตจึงไม่มีสิทธิในที่ดินมือเปล่าแปลงนั้นดีกว่านายชม ดังนั้นระหว่างนายชมและนายชิตนายชมย่อมมีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงนั้นดีกว่านายชิต
สรุป นายชมย่อมมีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงนั้นดีกว่านายชิต
ข้อ 4 นายแสงครอบครองปลูกบ้านและทำนารุกเข้าไปบนที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายเสียง โดยนายแสงก็ไม่ทราบว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของนายเสียงคิดว่าเป็นของตนเพราะหมุดเขตที่ดินหายไป และนายเสียงก็ไม่เคยทราบมาก่อนเลย นายแสงครอบครองทำนาในส่วนที่อยู่บนที่ดินของนายเสียงและของตนมาได้ 6 ปี นายแสงตาย นายสีบุตรชายนายแสงได้ครอบครองทำนาบนที่ดินแปลงนั้นต่อจากนายแสง นายสีทำนาต่อมาได้ 5 ปี นายเสียงเพิ่งมาทราบว่าที่ดินแปลงนั้นของตนบางส่วนถูกนายสีครอบครองทำประโยชน์อยู่ นายเสียงจึงกั้นรั้วและห้ามมิให้นายสีทำนารุกเข้ามาในที่ดินแปลงนั้น แต่นายสีไม่ยอมอ้างว่าตนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนายเสียงส่วนนั้นแล้ว และให้นายเสียงรื้อรั้วออกไป ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้ออ้างของนายสีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์
มาตรา 1385 ถ้าโอนการครอบครองแก่กัน ผู้รับโอนจะนับเวลาซึ่งผู้โอนครอบครองอยู่ก่อนนั้นรวมเข้ากับเวลาครอบครองของตนก็ได้ ถ้าผู้รับโอนนับรวมเช่นนั้น และถ้ามีข้อบกพร่องในระหว่างครอบครองของผู้โอนไซร้ ท่านว่าข้อบกพร่องนั้นอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับโอนได้
วินิจฉัย
นายแสงครอบครองปลูกบ้านและทำนารุกเข้าไปบนที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายเสียง โดยนายแสงก็ไม่ทราบว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของนายเสียงคิดว่าเป็นของตนเพราะหมุดที่ดินหายไป และนายเสียงก็ไม่เคยทราบมาก่อนเลย นายแสงครอบครองทำนาในส่วนที่อยู่บนที่ดินของนายเสียงและของตนมาได้ 6 ปี นายแสงตาย นายสีบุตรชายของนายแสงได้ครอบครองทำนาบนที่ดินแปลงนั้นต่อจากนายแสง นายสีทำนาต่อมาได้ 5 ปี นายสีได้กรรมสิทธิ์บนที่ดินแปลงนั้น โดยการครอบครองปรปักษ์แล้วตามมาตรา 1382 โดยได้รับโอนสิทธิการครอบครองจากนายแสงบิดาตามมาตรา 1385 นายเสียงจึงกั้นรั้วและห้ามมิให้นายสีทำนารุกเข้ามาในที่ดินของตน แต่นายสีไม่ยอมอ้างว่าตนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนายเสียงส่วนนั้นแล้ว และให้นายเสียงรื้อรั้วออกไป ข้ออ้างของนายสีชอบด้วยกฎหมาย นายเสียงต้องรื้อรั้วที่รุกเข้ามาในส่วนที่นายสีครอบครองปรปักษ์เพราะนายสีได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนนั้นแล้ว