การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 ชิงชัยกับสันติตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยให้ชิงชัยทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของสันติ หากชิงชัยชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว สันติยินยอมให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของชิงชัยทันที โดยสันติจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ชิงชัย หรือให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว หลังจากที่ชิงชัยชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว แต่ยังไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้สันติจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท หรือไม่ใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาในการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อในโฉนดที่ดินเป็นของตน ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงต่อไปนี้
ก) ถ้าในเวลาต่อมาสันติถึงแก่ความตาย เสกสรรค์บุตรของสันติจดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาทในฐานะทายาทโดยธรรม และเข้าไปสร้างบ้านอยู่อาศัยได้เพียง 1 ปี ชิงชัยจะฟ้องขับไล่เสกสรรให้ออกไปจากที่ดินดังกล่าวได้หรือไม่ และผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ดีกว่ากัน
ข) ถ้าสันติทำสัญญาและจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่องอาจ โดยองอาจไม่รู้เรื่องข้อพิพาทระหว่างชิงชัยกับสันติมาก่อน ดังนี้ระหว่างชิงชัยกับองอาจผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ดีกว่ากัน
ธงคำตอบ
มาตรา 1299 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ท่านว่า การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่
วินิจฉัย
ชิงชัยเป็นผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดของสันติ โดยสัญญาประนีประนอมยอมความตามคำพิพากษาของศาล อันเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง ผลแห่งนิติกรรมฉบับนี้แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ก็หาทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด เพียงแต่ทำให้นิติกรรมไม่บริบูรณ์ถึงขั้นเป็นทรัพย์สิทธิเท่านั้น แต่ระหว่างคู่สัญญาย่อมมีผลผูกพันต่อกันในฐานะบุคคลสิทธิ ดังนั้นจึงวินิจฉัยข้อเท็จจริงได้ดังต่อไปนี้
ก) กรณีที่เสกสรรค์บุตรของสันติจดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาทในฐานะทายาทโดยธรรมและเข้าไปสร้างบ้านอยู่อาศัยได้เพียง 1 ปี ชิงชัยสามารถฟ้องขับไล่เสกสรรให้ออกไปจากที่ดินดังกล่าวได้ เพราะผู้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ย่อมรับไปทั้งสิทธิหน้าที่ของเจ้ามรดก และไม่ถือเป็นบุคคลภายนอก ชิงชัยจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีกว่าเสกสรรค์
ข) กรณีสันติทำสัญญาและจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่องอาจ โดยองอาจไม่รู้เรื่องข้อพิพาทระหว่างชิงชัยกับสันติมาก่อนนั้น การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมที่ไม่ได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิที่จะยกขึ้นต่อสู้กับองอาจซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแต่อย่างใด ดังนั้น องอาจมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีกว่าชิงชัย
ข้อ 2 ห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมคอมพิวเตอร์ เป็นห้างที่ขายคอมพิวเตอร์และอึปกรณ์คอมพิวเตอร์ตั้งอยู่บนห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งที่มีร้านขายคอมพิวเตอร์อยู่หลายร้านในบริเวณเดียวกัน นายแดงเจ้าของร้านได้นัดหมายนายขาวลูกค้าที่เคยซื้อคอมพิวเตอร์จากร้านของตนมาดูคอมพิวเตอร์มือสองจากญี่ปุ่นโดยอ้างว่ามีจำนวนเพียง 2 เครื่อง ที่เจ้าของต้องการใช้เงินมาก จึงอยากรีบขายในราคาต่ำ แต่ขอให้มาหลัง 5 โมงเย็นซึ่งเป็นเวลาที่ร้านปิดทำการแล้ว
เมื่อนายขาวมาตามนัดหมายนายขาวตัดสินใจซื้อคอมพิวเตอร์ที่นายแดงนำมาให้ดูโดยเลือกซื้อไป 1 เครื่อง ในราคาถูกกว่าปกติหากเทียบกับราคาในท้องตลาด หลังจากใช้มาได้ 2 สัปดาห์ นายดำเจ้าของคอมพิวเตอร์ได้มาทวงคอมพิวเตอร์คืนจากนายขาวเนื่องจากทราบว่าคอมพิวเตอร์ของตนที่ถูกขโมยมาได้มีคนนำมาขายไว้ที่ร้านขายคอมพิวเตอร์แห่งนี้ นายขาวจึงปรึกษาทนายความ
ถ้าท่านเป็นทนายความ จงให้คำปรึกษาแก่นายขาวว่าระหว่างนายขาวกับนายดำ ผู้ใดมีสิทธิในคอมพิวเตอร์นี้ดีกว่ากัน จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 1332 บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา
วินิจฉัย
การซื้อขายทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้มาตรา 1332 ต้องเป็นการซื้อโดยสุจริตจากการขายทอดตลาด ในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าที่ขายของชนิดนั้น นายขาวซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งจากร้านขายคอมพิวเตอร์ของนายแดง แต่ข้อเท็จจริงทั่วไป นายแดงขอให้มาซื้อหลังเวลาร้านปิดแล้วและขายในราคาต่ำกว่าปกติ จึงเป็นการซื้อที่ไม่สุจริต แม้จะซื้อจากผู้ขายของประเภทนี้และซื้อจากท้องตลาดก็ตาม ก็ไม่อยู่ภายใต้มาตรา 1332
ดังนั้น นายขาวต้องคืนคอมพิวเตอร์แก่นายดำเจ้าของที่แท้จริง โดยไม่มีสิทธิขอราคาที่ซื้อมาคืนจากนายดำ
ข้อ 3 นายปูปลูกบ้านบนที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งที่ซื้อมาจากบริษัทจัดสรรที่ดิน เข้าใจว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของตน เพราะบริษัทจัดสรรที่ดินได้ชี้แนวเขตและเป็นผู้วางหมุดเขตที่ดิน แต่ความจริงที่ดินแปลงนี้บริษัทได้ขายให้นายปลา ถ้านายปูจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ นายปูต้องครอบครองที่ดินแปลงนี้อย่างไรบ้าง
และจะได้ข้อสันนิษฐานตามกฎหมายอย่างไรบ้าง ต่อมาเมื่อนายปูปลูกบ้านอยู่มาได้สิบกว่าปีแล้ว นายปลาได้มารังวัดที่ดินพบว่านายปูครอบครองที่ดินของตน นายปลาจึงฟ้องขับไล่นายปู นายปูไม่ได้ยกข้อต่อสู้ว่าตนมีกรรมสิทธิ์ดีกว่านายปลาแต่พิสูจน์ในศาลได้ว่านายปูครอบครองปรปักษ์ครบตามกฎหมายแล้ว ศาลจะพิพากษาให้นายปูได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 1370 ผู้ครอบครองนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าครอบครองโดยสุจริต โดยความสงบและโดยเปิดเผย
มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์
มาตรา 1386 บทบัญญัติว่าด้วยอายุความในประมวลกฎหมายนี้ ท่านให้ใช้บังคับในเรื่องอายุความได้สิทธิ อันกล่าวไว้ในลักษณะนี้โดยอนุโลม
วินิจฉัย
นายปูปลูกบ้านบนที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งที่ซื้อมาจากบริษัทจัดสรรที่ดิน เข้าใจว่าที่ดินแปลงนี้เป็นของตน เพราะบริษัทจัดสรรที่ดินได้ชี้แนวเขตและเป็นผู้วางหมุดเขตที่ดิน แต่ความจริงที่ดินแปลงนี้บริษัทได้ขายให้นายปลวก ถ้านายปูจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ นายปูต้องครอบครองที่ดินแปลงนี้อย่างสงบเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันครบสิบปีตามมาตรา 1382 และจะได้ข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่าครอบครองโดยสุจริต โดยความสงบและโดยเปิดเผยตามมาตรา 1370 ต่อมาเมื่อปลูกบ้านอยู่มาได้สิบกว่าปีแล้ว นายปลาได้มารังวัดที่ดินพบว่านายปูครอบครองที่ดินของตน นายปลาจึงฟ้องขับไล่แต่นายปูไม่ได้ยกข้อต่อสู้ และพิสูจน์ในศาลว่านายปูครอบครองปรปักษ์ครบตามกฎหมายแล้ว ศาลจะพิพากษาให้นายปูได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ได้เพราะอายุความครอบครองปรปักษ์เป็นอายุความได้สิทธิตามมาตรา 1386 ไม่ใช่อายุความสิทธิเรียกร้อง ศาลจึงยกขึ้นเองได้
ข้อ 4 ที่ดินของนายเสาร์ นายจันทร์และนายพุธอยู่ใกล้เคียงกัน ที่ดินของนายเสาร์ได้ภารจำยอมในการสูบน้ำในบ่อน้ำบนที่ดินของนายจันทร์มาใช้ประโยชน์ โดยภารจำยอมนี้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมานายเสาร์ได้แบ่งที่ดินของนายเสาร์จดทะเบียนขายให้แก่นายอาทิตย์ครึ่งหนึ่ง โดยเมื่อโอนขายให้นายอาทิตย์ไปแล้ว นายเสาร์ได้กั้นรั้วที่ดินของตนทำให้นายอาทิตย์ไม่สามารถเข้าไปใช้น้ำในบ่อที่อยู่บนที่ดินของนายจันทร์ได้เหมือนเดิม หลังจากนายอาทิตย์ซื้อที่ดินมาได้ห้าเดือน นายอาทิตย์จึงได้ตกลงกับนายพุธวางท่อสูบน้ำจากบ่อน้ำบนที่ดินของนายจันทร์ผ่านที่ดินของนายพุธเพื่อมายังที่ดินของตน นายพุธยินยอม นายอาทิตย์จึงได้วางท่อผ่านที่ดินของนายพุธ นายจันทร์ได้มาห้ามไม่ยอมให้นายอาทิตย์ใช้น้ำในบ่อบนที่ดินของตน นายจันทร์จะห้ามนายอาทิตย์ได้หรือไม่ ภารจำยอมในส่วนที่ดินของนายอาทิตย์ระงับไปแล้วหรือยัง เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 1394 ถ้ามีการแบ่งแยกภารทรัพย์ ท่านว่าภารจำยอมยังคงมีอยู่ทุกส่วนที่แยกออก แต่ถ้าในส่วนใดภารจำยอมนั้นไม่ใช้และใช้ไม่ได้ตามรูปการ ท่านว่าเจ้าของส่วนนั้นเรียกให้พ้นจากภารจำยอมก็ได้
วินิจฉัย
ที่ดินของนายเสาร์ นายจันทร์และนายพุธอยู่ใกล้เคียงกัน ที่ดินของนายเสาร์ได้ภารจำยอมในการสูบน้ำในบ่อน้ำบนที่ดินของนายจันทร์มาใช้ประโยชน์ โดยภารจำยอมนี้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมานายเสาร์ได้แบ่งที่ดินของนายเสาร์จดทะเบียนขายให้แก่นายอาทิตย์ครึ่งหนึ่ง โดยเมื่อโอนขายให้นายอาทิตย์ไปแล้วนายเสาร์ได้กั้นรั้วรอบที่ดินของตนทำให้นายอาทิตย์ไม่สามารถเข้าไปใช้น้ำในบ่อที่อยู่บนที่ดินของนายจันทร์ได้เหมือนเดิม หลังจากนายอาทิตย์ซื้อที่ดินมาได้ห้าเดือน นายอาทิตย์จึงได้ตกลงกับนายพุธวางท่อสูบน้ำจากบ่อน้ำบนที่ดินของนายจันทร์ผ่านที่ดินของนายพุธเพื่อมายังที่ดินของตน นายพุธยินยอม นายอาทิตย์จึงได้วางท่อผ่านที่ดินของนายพุธ นายจันทร์ได้มาห้ามไม่ยอมให้นายอาทิตย์ใช้น้ำในบ่อบนที่ดินของนายจันทร์ นายจันทร์จะห้ามนายอาทิตย์ไม่ได้เพราะภารจำยอมมีประโยชน์ทุกส่วนของสามทรัพย์ และส่วนที่แบ่งแยกยังคงใช้ประโยชน์ในภารจำยอมนั้นได้ นายจันทร์จึงไม่มีสิทธิห้ามหรือขอให้ที่ดินของนายอาทิตย์พ้นจากภารจำยอม ภารจำยอมในส่วนที่ดินของนายอาทิตย์ยังไม่ระงับ