การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2001 (LA 201),(LW 204) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 สมัครเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งอยู่ติดกับทางสาธารณะที่เป็นทางดินลูกรัง แต่สมัครได้ทำถนนผ่านที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งทางราชการยังไม่เคยออกเอกสารสิทธิให้แก่ราษฎรผู้ใด สมัครใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกที่ดินดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลากว่า 12 ปีแล้ว เพราะเห็นว่าสะดวกกว่าการใช้ทางดินลูกรัง
ต่อมาทางราชการได้ล้อมรั้วเพื่อก่อสร้างสถานที่ราชการตรงที่ดินแปลงนั้น ทำให้สมัครไม่สามารถใช้ถนนดังกล่าวได้ สมัครจึงยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้ทางราชการเปิดเส้นทางให้สมัครสามารถใช้ถนนผ่านเข้าออกได้เช่นเดิม เพราะตกเป็นภาระจำยอมแล้ว ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้ออ้างของสมัครรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1304 สาธารณะสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดิน ซึ่งใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น
(1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน
มาตรา 1306 ท่านห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น กฎหมายห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้นตามมาตรา 1306
กรณีตามอุทาหรณ์ ถึงแม้สมัครจะทำถนนผ่านที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งทางราชการยังไม่เคยออกเอกสารสิทธิให้แก่ราษฎรผู้ใด และใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกที่ดินดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลากว่า 12 ปีแล้วก็ตาม สมัครก็ไม่ได้ภาระจำยอมซึ่งถือเป็นทรัพยสิทธิโดยอายุความปรปักษ์ เพราะที่ดินดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 1304(1) ซึ่งห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดิน ตามมาตรา 1306
ดังนั้น เมื่อทางราชการได้ล้อมรั้วเพื่อก่อสร้างสถานที่ราชการตรงที่ดินแปลงนั้น สมัครจะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้ทางราชการเปิดเส้นทางให้สมัครสามารถใช้ถนนผ่านเข้าออกได้เช่นเดิมโดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวตกเป็นภาระจำยอมแล้วไม่ได้
สรุป ข้ออ้างของสมัครรับฟังไม่ได้
ข้อ 2 จิ๋วซื้อรถยนต์คันหนึ่งในราคา 250,000 บาท จากเหวงซึ่งเป็นช่างซ่อมรถยนต์ของอู่ซ่อมรถยนต์แห่งหนึ่ง โดยจิ๋วไม่รู้ว่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นของเบิ้มที่ถูกคนร้ายขโมยไปขายให้กับเหวงในราคา 150,000 บาท และจิ๋วได้จ้างเหวงเปลี่ยนเครื่องยนต์จากเครื่องยนต์เบนซินเป็นเครื่องยนต์ดีเซลอีกในราคา 30,000 บาท หลังจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจจับคนร้ายได้ และทราบว่ารถยนต์ของกลางอยู่ที่จิ๋ว เบิ้มจึงเรียกให้จิ๋วส่งมอบรถยนต์คืนให้ตน แต่จิ๋วต่อสู้ว่าตนซื้อรถยนต์มาโดยสุจริต ถ้าเบิ้มต้องการรถยนต์คืน เบิ้มต้องจ่ายเงินให้จิ๋วตามราคาที่จิ๋วซื้อมาและค่าเปลี่ยนเครื่องรถยนต์เป็นเงิน 280,000 บาทก่อน
ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า จิ๋วจะต้องคืนรถยนต์ให้เบิ้มหรือไม่ และจิ๋วจะเรียกร้องอะไรจากเบิ้มได้บ้าง เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1316 ถ้าเอาสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเข้ากันจนเป็นส่วนควบหรือแบ่งแยกไม่ได้ไซร้ ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นเจ้าของรวมแห่งทรัพย์ที่รวมเข้ากัน แต่ละคนมีส่วนตามค่าแห่งทรัพย์ของตนในเวลาที่รวมเข้ากับทรัพย์อื่น
ถ้าทรัพย์อันหนึ่งอาจถือได้ว่าเป็นทรัพย์ประธานไซร้ ท่านว่าเจ้าของทรัพย์นั้นเป็นเจ้าของทรัพย์ที่รวมเข้ากันแต่ผู้เดียว แต่ต้องใช้ค่าแห่งทรัพย์อื่นๆ ให้แก่เจ้าของทรัพย์นั้นๆ
มาตรา 1332 บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา
วินิจฉัย
โดยหลัก การซื้อทรัพย์สินที่จะอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 1332 อันจะทำให้บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินได้รับการคุ้มครองนั้น ต้องเป็นการซื้อโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดของเอกชน หรือในท้องตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น
กรณีตามอุทาหรณ์ จิ๋วซื้อรถยนต์คันหนึ่งจากเหวงซึ่งเป็นช่างซ่อมรถยนต์ของอู่ซ่อมรถยนต์แห่งหนึ่งในราคา 250,000 บาท ซึ่งมิใช่เป็นการซื้อจากการขายทอดตลาดของเอกชน หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น จิ๋วผู้ซื้อจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1332 แม้จิ๋วจะซื้อโดยสุจริตเพราะไม่รู้ว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นของเบิ้มที่ถูกคนร้ายขโมยไปขายให้กับเหวงในราคา 150,000 บาทก็ตาม ดังนั้นจิ๋วจะต้องคืนรถยนต์ให้แก่เบิ้มและไม่สามารถเรียกให้เบิ้มจ่ายเงิน 250,000 บาท ตามราคาที่จิ๋วซื้อมาได้
ส่วนกรณีที่จิ๋วได้จ้างเหวงเปลี่ยนเครื่องยนต์จากเครื่องยนต์เบนซินเป็นเครื่องยนต์ดีเซลในราคา 30,000 บาทนั้น เป็นกรณีที่เอาสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเข้ากันจนเป็นส่วนควบตามมาตรา 1316 วรรคแรก โดยมีรถยนต์เป็นทรัพย์ประธานและเครื่องยนต์ดีเซลเป็นส่วนควบ ดังนั้น เบิ้มซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์จึงเป็นเจ้าของเครื่องยนต์ดีเซลซึ่งเป็นส่วนควบนั้นด้วย แต่เบิ้มจะต้องชดใช้เงินค่าเครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 30,000 บาท ให้กับจิ๋วตามมาตรา 1316 วรรคสอง
สรุป จิ๋วจะต้องคืนรถยนต์ให้กับเบิ้ม และมีสิทธิเรียกให้เบิ้มชดใช้เงินได้แต่เฉพาะค่าเครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 30,000 บาทเท่านั้น
ข้อ 3 เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2540 คำปันได้นำพนักงานที่ดินรังวัดเพื่ออกโฉนดโดยผนวกที่ดิน น.ส.3 ของคำม่วนซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของคำปัน เพราะเห็นว่าคำม่วนไม่ได้ดูแลหรือทำประโยชน์ในที่ดินนั้นอย่างจริงจัง
โดยคำปันเริ่มเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของคำม่วนนับแต่วันที่นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัด ทางราชการออกโฉนดให้คำปันวันที่ 1 ตุลาคม 2540 ต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2541 คำม่วนได้ไปขอรังวัดเพื่อออกโฉนดบ้าง คำม่วนจึงรู้ว่าคำปันออกโฉนดทับที่ดินของตน คำม่วนจึงเจรจาขอที่ดินคืนจากคำปัน แต่คำปันปฏิเสธไม่ยอมคืนโดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนแล้ว หลังจากนั้นวันที่ 1 มิถุนายน 2542 คำม่วนจึงฟ้องศาลเพื่อเรียกคืนที่ดินพิพาทจากคำปัน
ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า คำม่วนจะฟ้องเรียกคืนที่ดินพิพาทได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1367 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง
มาตรา 1375 ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่า ซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้
การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง
วินิจฉัย
โดยหลัก ถ้าผู้ถูกครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กฎหมายให้สิทธิผู้ครอบครองฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองได้ภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง โดยไม่คำนึงว่าผู้ครอบครองจะทราบว่าถูกแย่งการครอบครองหรือไม่ และไม่คำนึงว่าผู้ครอบครองได้โต้แย้งการครอบครองหรือไม่ตามมาตรา 1375
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่คำปันนำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนดโดยผนวกที่ดิน น.ส.3 ของคำม่วนซึ่งมีเพียงสิทธิครอบครองไปด้วย ซึ่งคำปันได้เริ่มเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของคำม่วน นับแต่วันที่นำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดคือวันที่ 5 มกราคม 2540 นั้น กรณีเช่นนี้ถือว่าคำปันได้เข้ายึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนแล้ว คำปันจึงได้สิทธิครอบครองในที่ดิน น.ส.3 ของคำม่วนตามมาตรา 1367 และกรณีนี้ยังถือว่าคำปันได้แย่งการครอบครองที่ดิน น.ส.3 ของคำม่วนด้วยตามมาตรา 1375 วรรคแรก โดยทางราชการได้ออกโฉนดให้คำปันในวันที่ 1 ตุลาคม 2540
ต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2541 คำม่วนได้ไปขอรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนด จึงรู้ว่าคำปันแย่งสิทธิครอบครองที่ดินของตน คำม่วนจึงเจรจาขอที่ดินคืนจากคำปัน ซึ่งกรณีนี้เป็นเพียงการโต้แย้งผู้แย่งการครอบครองเท่านั้น ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า คำม่วนได้ฟ้องศาลเพื่อเรียกที่ดินพิพาทคืนจากคำปันในวันที่ 1 มิถุนายน 2542 ซึ่งเกิน 1 ปีนับแต่ถูกแย่งการครอบครอง คำม่วนจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกคืนการครอบครองที่พิพาทจากคำปันตามมาตรา 1375 วรรคสอง
สรุป คำม่วนจะฟ้องเรียกคืนที่ดินพิพาทจากคำปันไม่ได้
ข้อ 4 ป้อมตั้งแผงขายผลไม้อยู่ในที่ดินของแก่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากแก่น และต้องการเพียงใช้เป็นที่ขายผลไม้โดยไม่มีเจตนาจะยึดเป็นเจ้าของแต่อย่างใด ป้อมใช้พื้นที่ดังกล่าวขายผลไม้ติดต่อกันได้ 10 กว่าปีแล้ว แก่นจึงแจ้งให้ป้อมย้ายออกไปจากที่ดินของตน แต่ป้อมอ้างว่าตนใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว จึงได้ภาระจำยอมเหนือที่ดินของแก่น และเรียกให้แก่นไปจดทะเบียนภาระจำยอมให้ป้อม ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้ออ้างของป้อมที่ว่าได้ภาระจำยอมแล้วรับฟังได้หรือไม่ และป้อมจะเรียกให้แก่นจดทะเบียนภาระจำยอมให้กับตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์
มาตรา 1387 อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น
มาตรา 1401 ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
วินิจฉัย
โดยหลัก การได้ภาระจำยอมโดยอายุความ เป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งตามมาตรา 1401 บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิตามมาตรา 1382 มาใช้บังคับโดยอนุโลม กล่าวคือ ต้องเป็นการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดยความสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของและครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี
แต่อย่างไรก็ตาม ภาระจำยอมจะเกิดมีขึ้นได้ก็เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นซึ่งเรียกว่าสามยทรัพย์เท่านั้น ตามมาตรา 1387 ดังนั้น ถ้าเป็นการใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์ส่วนตัวแม้จะใช้ติดต่อกันนานเกินกว่า 10 ปี ก็ไม่ทำให้เกิดภาระจำยอมโดยอายุความขึ้นได้
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ป้อมตั้งแผงขายผลไม้อยู่ในที่ดินของแก่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากแก่นและต้องการเพียงใช้เป็นที่ขายผลไม้โดยไม่มีเจตนาจะยึดถือเป็นเจ้าของแต่อย่างใด จึงไม่ใช่เป็นการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 เพราะป้อมไม่มีเจตนาเป็นเจ้าของ
และการที่ป้อมใช้ที่ดินของแก่นเพื่อตั้งแผงขายผลไม้ก็ไม่ใช่เป็นการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น แม้จะมีการใช้ที่ดินเพื่อขายผลไม้ติดต่อกันนานเกินกว่า 10 ปีแล้ว ที่ดินของป้อมก็ไม่ได้ภาระจำยอมเหนือที่ดินของแก่นโดยอายุความปรปักษ์ตามมาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382 และมาตรา 1387
สรุป ข้ออ้างของป้องที่ว่าได้ภาระจำยอมเหนือที่ดินของแก่นแล้วรับฟังไม่ได้ และป้อมจะเรียกให้แก่นจดทะเบียนภาระจำยอมให้กับตนไม่ได้เช่นกัน