การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 นายน้ำเข้าครอบครองที่ดินมีโฉนดของนายเปลวโดยสงบ เปิดเผย และมีเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันได้เก้าปี พอขึ้นปีที่สิบ นายเปลวได้ฟ้องขับไล่นายน้ำให้ออกไปจากที่ดินแปลงนั้น คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล นายน้ำกับนายเปลวตกลงยอมความกัน โดยนายเปลวยินยอมให้นายน้ำเช่าซื้อที่ดินพิพาท หากชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้วนายเปลวยอมให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายน้ำทันที และนายเปลวจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่นายน้ำ หากไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
และศาลมีคำพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว หลังจากนายน้ำชำระราคาครบถ้วน นายเปลวยังไม่ได้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้นายน้ำ นายเปลวก็ถึงแก่ความตาย นายเพลิงซึ่งเป็นบุตรของนายเปลวได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาทในฐานะทายาทโดยชอบธรรม และไม่รู้เรื่องสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างนายน้ำกับนายเปลวแต่อย่างใด
ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายน้ำจะฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาทและบังคับให้นายเพลิงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 1299 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ท่านว่า การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา 1300 ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้
วินิจฉัย นายน้ำแย่งการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนายเปลวติดต่อกันยังไม่ครบสิบปี ก็ถูกนายเปลวฟ้องขับไล่จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ แต่ขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลนายน้ำกับนายเปลวตกลงยอมความกัน โดยนายเปลวยินยอมให้นายน้ำเช่าซื้อที่ดินพิพาท หากชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้วนายเปลวยอมให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายน้ำทันที และนายเปลวจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่นายน้ำ หากปฏิบัติตามข้อตกลงให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และศาลมีคำพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว และนายน้ำชำระราคาเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว เช่นนี้นายน้ำจึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท โดยสัญญาประนีประนอม ยอมความในชั้นศาล ซึ่งเป็นการได้มาโดยทางนิติกรรมตามมาตรา 1299 วรรคแรก เมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ การได้ซึ่งกรรมสิทธิ์จึงยังไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ แต่ยังคงมีผลบังคับนายน้ำกับนายเปลวในฐานะบุคคลสิทธิ ซึ่งนายน้ำสามารถฟ้องบังคับให้นายเปลวไปจดทะเบียนโนกรรมสิทธิ์ให้แก่ตนได้
หลังจากนั้น นายเปลวถึงแก่ความตาย นายเพลิงซึ่งเป็นบุตรของนายเปลวได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินพิพาทในฐานะทายาทโดยชอบธรรม ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิของนายเปลวต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของมรดกและการจดทะเบียนรับมรดกดังกล่าวทำให้นายน้ำผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนต้องเสียเปรียบนายน้ำจึงสามารถฟ้องศาลให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกของนายเพลิงได้ตามมาตรา 1300 เพราะเป็นการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยไม่มีค่าตอบแทน และบังคับให้นายเพลิงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ตนได้
สรุป นายน้ำสามารถฟ้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับมรดกและบังคับให้นายเพลิงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่ตนได้
ข้อ 2 นายเอกมีที่ดินแปลงหนึ่งอยู่ติดกับที่ดินของนายโท นายเอกได้สร้างบ้านบนที่ดินของตนโดยก่อนปลูกสร้างได้เรียกเจ้าพนักงานมารังวัดสอบเขตแล้ว แต่เมื่อสร้างเสร็จจึงพบว่ารั้วกำแพงและท่อระบายน้ำรุกล้ำอยู่ในเขตที่ดินของนายโท 1 ตารางวา ดังนี้ นายเอกจะต้องรื้อถอนรั้วกำแพงและท่อระบายน้ำหรือไม่ นายเอกและนายโทมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติต่อกันอย่างไร หรือไม่ จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 144 ส่วนควบของทรัพย์ หมายความว่า ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่แห่งทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป
เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น
มาตรา 1312 วรรคแรก บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้นและจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอม ต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้
วินิจฉัย การที่นายเอกทำการรังวัดสอบเขตก่อนปลูกบ้านเป็นการปลูกสร้างที่สุจริต เพราะไม่ได้เพิกเฉยละเลยในการตรวจสอบแนวเขต แต่เมื่อสร้างเสร็จพบว่ารั้วกำแพงและท่อระบายน้ำรุกล้ำอยู่ในเขตของนายโท นายเอกจึงต้องรื้อถอนรั้วกำแพงและท่อระบายน้ำออกจากที่ดินของนายโท แม้ว่าจะเป็นการปลูกสร้างที่สุจริตก็ตาม เพราะรั้วกำแพงและท่อระบายน้ำมิใช่ส่วนควบของโรงเรือน ตามมาตรา 144 จึงไม่อยู่ในความหมายของการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำในมาตรา 1312 วรรคแรก ดังนั้น นายเอกจึงมีหน้าที่ต้องรื้อถอนรั้วกำแพง และท่อระบายน้ำออกไปจากที่ดินของนายโท แม้ว่าจะเป็นการสร้างรุกล้ำที่สุจริตก็ตาม
สรุป นายเอกมีหน้าที่ต้องรื้อถอนรั้วกำแพงและท่อระบายน้ำออกไปจากที่ดินของนายโท
ข้อ 3 นายสมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งไดภาระจำยอมในการใช้ทางผ่านที่ดินของนายแสงตลอดไป และได้จดทะเบียนไว้แล้ว แต่เมื่อใช้ภาระจำยอมไปได้ระยะหนึ่ง นายสมได้กั้นรั้วแบ่งแยกที่ดินแปลงนั้นของตนออกเป็นสองส่วน ที่ดินอีกส่วนที่แบ่งแยกออกไปได้ให้นายสดเช่าปลูกบ้าน นายสดปลูกบ้านอยู่บนที่ดินแปลงนั้น และใช้ทางผ่านเข้าออกบนที่ดินของนายสวยเพื่อออกสู่ทางสาธารณะ และไม่เคยได้ใช้ทางผ่านที่ดินของนายแสงอีกเลย มีเพียงแต่นายสมเท่านั้นใช้ทางผ่านที่ดินของนายแสง นายสดได้ใช้ถนนผ่านเข้าออกบนที่ดินของนายสวยเพื่อออกสู่สาธารณะโดยไม่เคยขอหรือบอกนายสวยเลย
ให้นักศึกษาอธิบายว่า
1 นายแสงจะขอให้ที่ดินส่วนที่นายสดครอบครองพ้นจากภาระจำยอมได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
2 ถ้านายสดใช้ทางผ่านที่ดินของนายสวยจะก่อให้เกิดภาระจำยอมบนที่ดินของนายสมและส่วนที่นายสดครอบครองนั้นได้หรือไม่เพียงใด อธิบายให้ละเอียด
ธงคำตอบ
มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์
มาตรา 1387 อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์นั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น
มาตรา 1395 ถ้ามีการแบ่งแยกสามยทรัพย์ ท่านว่าภาระจำยอมยังคงมีอยู่เพื่อประโยชน์แก่ทุกส่วนที่แยกออกนั้น แต่ถ้าภาระจำยอมนั้นไม่ใช้ และใช้ไม่ได้ตามรูปการเพื่อประโยชน์แก่ส่วนใดไซร้ ท่านว่าเจ้าของภารยทรัพย์จะเรียกให้พ้นจากภาระจำยอมอันเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนนั้นก็ได้
มาตรา 1399 ภาระจำยอมนั้น ถ้ามิได้ใช้สิบปี ท่านว่าย่อมสิ้นไป
มาตรา 1401 ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
วินิจฉัย
นายสมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงหนึ่ง ซึ่งได้ภาระจำยอมในการใช้ทางผ่านที่ดินของนายแสงตลอดไป และจดทะเบียนไว้แล้ว แต่เมื่อใช้ภาระจำยอมไปได้ระยะหนึ่ง นายสมได้แบ่งแยกกั้นรั้วที่ดินแปลงนั้นของตนออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งให้นายสดปลูกบ้านเช่าอยู่ นายสดจึงปลูกบ้านอยู่บนที่ดินแปลงนั้น และนายสดก็ไม่เคยใช้ทางผ่านที่ดินของนายแสงอีกเลย มีเพียงนายสมเท่านั้นใช้ทางผ่านที่ดินของนายแสงนายสดใช้ถนนผ่านเข้าออกบนที่ดินของนายสวยเพื่อออกสู่สาธารณะแทนโดยไม่เคยขอหรือบอกนายสวยเลย
1 นายแสงจะขอให้ที่ดินส่วนที่นายสดครอบครองพ้นจากภาระจำยอมไม่ได้ เพราะไม่ใช่แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ ที่ดินทั้งแปลงยังเป็นของนายสม จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะขอให้พ้นจากภาระจำยอมตามมาตรา 1395 และภาระจำยอมก็ยังไม่สิ้นไปตามมาตรา 1399 เพราะนายสมยังคงใช้ภาระจำยอมผ่านที่ดินของนายแสงอยู่
2 ถ้านายสดใช้ทางผ่านที่ดินของนายสวยจะก่อให้เกิดภาระจำยอมบนที่ดินของนายสมทั้งแปลงทั้งส่วนของนายสดที่ครอบครองอยู่ ในการผ่านที่ดินของนายสวยโดยการครอบครองปรปักษ์ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ใครก็ตามที่อยู่ในสามยทรัพย์ก่อให้เกิดภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์ได้ มาตรา 1387
สรุป 1 นายแสงไม่มีสิทธิที่จะขอให้พ้นจากภาระจำยอมได้
2 นายสดจะก่อให้เกิดภาระจำยอมบนที่ดินของนายสมทั้งแปลง รวมทั้งส่วนของนายสดครอบครองอยู่ได้โดยการครอบครองปรปักษ์
ข้อ 4 นายแดงได้กู้ยืมเงินนายดำมาจำนวน 500,000 บาท กำหนดชำระเงินคืนภายในสามปี และได้ให้นายดำเข้าครอบคอรงทำประโยชน์บนที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งของนายแดงแทนค่าดอกเบี้ยเงินกู้ ต่อมาเมื่อกู้ยืมเงินกันไปได้หนึ่งปี นายขาวบุตรชายของนายแดงได้มาทำสัญญาขายที่ดินแปลงนั้นกับนายดำ โดยนายดำได้ให้เงินนายขาวไปจำนวน 200,000 บาท แต่ก่อนที่จะครบสามปีตามสัญญากู้ยืม โดยนายดำได้นำเงิน 500,000 บาท มาชำระหนี้เงินกู้ และเรียกที่ดินแปลงนั้นคืน แต่นายดำไม่ยอมรับและไม่ยอมออกไปจากที่ดินแปลงนั้นโดยอ้างว่าที่ดินแปลงนั้นนายขาวได้ขายให้ตนมาได้เกินกว่าหนึ่งปีแล้ว ดังนี้ถ้านายแดงมาปรึกษาท่าน ท่านจะให้คำแนะนำกับนายแดงอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 1367 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง
มาตรา 1375 ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่า ซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้
การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง
มาตรา 1381 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่า ไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก
วินิจฉัย
นายแดงได้กู้ยืมเงินมาจากนายดำจำนวน 500,000 บาท กำหนดชำระเงินคืนภายในสามปี และได้ให้นายดำเข้าใช้ประโยชน์บนที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งของนายแดงแทนค่าดอกเบี้ยเงินกู้ ต่อมาเมื่อกู้ยืมเงินไปได้หนึ่งปี นายขาวบุตรชายของนายแดงได้มาทำสัญญาขายที่ดินแปลงนั้นกับนายดำโดยนายดำได้ให้เงินนายขาวไปจำนวน 200,000 บาท แต่ก่อนที่ครบสามปีตามสัญญากู้ยืมเงิน นายแดงได้นำเงิน 500,000 บาท มาชำระหนี้เงินกู้และเรียกที่ดินแปลงนั้นคืน แต่นายดำไม่ยอมรับและก็ไม่ยอมออกไปจากที่ดินแปลงนั้น โดยอ้างว่าที่ดินแปลงนั้นนายขาวได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้ตนมาได้กว่าหนึ่งปีแล้ว ดังนี้ นายแดงต้องฟ้องเรียกคืนที่ดินแปลงนั้นจากนายดำภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับตั้งแต่นายแดงไปชำระหนี้เงินกู้ และนายดำไม่ยอมรับชำระหนี้กู้ยืมไม่ยอมออกไปและไม่ส่งที่ดินแปลงนั้นคืนนายแดง โดยอ้างว่าได้ซื้อที่ดินแปลงนั้นจากนายขาวบุตรชายของนายแดงแล้ว แสดงว่านายดำได้แย่งการครอบครองที่ดินมือเปล่าแปลงนั้นจากนายแดงสำเร็จแล้ว ตามมาตรา 1381 นายดำครอบครองที่ดินแปลงนั้นด้วยตนเองตามมาตรา 1367 นายแดงต้องฟ้องต่อศาลเรียกคืนที่ดินแปลงนั้นภายในระยะเวลาหนึ่งปีตามมาตรา 1375
สรุป ข้าพเจ้าจะแนะนำให้นายแดงฟ้องต่อศาลเรียกคืนที่ดินแปลงนั้นภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่นายดำไม่ยอมรับชำระหนี้เงินกู้ และไม่ยอมออกไปจากที่ดิน