การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  เพลิงครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของน้ำฝนเกินกว่า  10  ปีแล้ว  แต่เพลิงยังไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินเป็นของตน  หลังจากนั้นน้ำฝนถึงแก่ความตาย  น้ำผึ้งบุตรของน้ำฝนได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินแปลงนั้น  ต่อมาอีก  1  ปี  น้ำผึ้งทำสัญญาและจดทะเบียนขายที่ดินแปลงนั้นให้เปลว  โดยก่อนจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์  เปลวได้ไปดูที่ดินแต่ไม่เห็นผู้ใดครอบครองที่ดินดังกล่าว แต่หลังจากน้ำผึ้งจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้เปลวแล้ว  เปลวจึงรู้ว่าเพลิงครอบครองปรปักษ์ที่ดินแปลงนั้น จึงห้ามไม่ให้เพลิงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินแปลงนั้นอีก

ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า  ระหว่างเปลวกับเพลิงผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้นดีกว่ากัน  และเพลิงจะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างน้ำผึ้งกับเปลวได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1299  วรรคสอง  ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์  หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม  สิทธิของผู้ได้มานั้น  ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้  ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้  และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น  มิให้ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

มาตรา  1300  ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์  หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์  เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ 

แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน  ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น  ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด  ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  เพลิงครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของน้ำฝนเกินกว่า  10  ปี  จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1382  และถือเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามมาตรา  1299  วรรคสอง  ดังนั้นเมื่อไม่ได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  เพลิงก็จะเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้  และสิทธิอันยังไม่ได้จดทะเบียนนั้น  มิให้ยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต  และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

สำหรับกรณีที่น้ำฝนเจ้าของที่ดินถึงแก่ความตาย  และน้ำผึ้งบุตรของน้ำฝนจดทะเบียนรับมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวมานั้น  กรณีเช่นนี้ถือว่าน้ำผึ้งรับโอนที่ดินดังกล่าวในฐานะทายาทโดยธรรมของน้ำฝน  อันเป็นการรับทรัพย์มรดกตามกฎหมายว่าด้วยมรดก  ซึ่งทายาทต้องรับไปทั้งสิทธิและตลอดจนความรับผิดต่างๆของเจ้ามรดก  ทั้งถือไม่ได้ว่าน้ำผึ้งเป็นบุคคลภายนอกที่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยมีค่าตอบแทน  ดังนั้น ระหว่างเพลิงกับน้ำผึ้ง  เพลิงจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวดีกว่าน้ำผึ้ง  (ฎ. 1886/2536  ฎ. 1069 1070/2522)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  ระหว่างเปลวและเพลิง  ใครมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ดีกว่ากัน  เห็นว่า  ขณะที่เพลิงยังไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อในโฉนดเป็นชื่อของตน  น้ำผึ้งซึ่งไม่มีสิทธิดีกว่าเพลิงได้จดทะเบียนขายที่ดินแปลงที่ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่เพลิงแล้วให้เปลว  โดยก่อนจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์  เปลวได้ไปดูที่ดินแต่ไม่เห็นผู้ใดครอบครองที่ดินดังกล่าว  แต่หลังจากน้ำผึ้งจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้เปลวแล้ว  เปลวจึงรู้ว่าเพลิงครอบครองปรปักษ์ที่ดินแปลงนั้น  กรณีเช่นนี้ถือว่าเปลวเป็นบุคคลภายนอกซื้อที่ดินมาโดยสุจริต  เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต  จึงได้รับความคุ้มครองตามมาตรา  1299  วรรคสอง  ซึ่งเป็นบทยกเว้นหลักทั่วไปที่ว่า  ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน  ดังนั้นแม้เปลวจะรับโอนมาจากน้ำผึ้งผู้ที่ไม่มีสิทธิในที่ดินดีกว่าเพลิง  เปลวก็ยังมีสิทธิดีกว่าเพลิง  เพลิงจะอ้างหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้ยันเปลวไม่ได้

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  เพลิงจะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างน้ำผึ้งกับเปลวได้หรือไม่  เห็นว่า  แม้เพลิงจะเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามมาตรา  1300  และการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างน้ำผึ้งกับเปลวจะทำให้เพลิงเสียเปรียบก็ตาม  เพลิงก็ไม่สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าว  เพราะการจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ของเปลวนั้นมีค่าตอบแทนและเป็นการจดทะเบียนโดยสุจริต  (ฎ.  32/2490)

สรุป  เปลวเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดีกว่าเพลิง  และเพลิงจะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างน้ำผึ้งกับเปลวไม่ได้

 

ข้อ  2  เอกมีที่ดินแปลงหนึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดพื้นที่  20  ไร่  ต่อมาเอกแบ่งขายให้โท  10  ไร่  โดยทำการซื้อขายและจดทะเบียนกันถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย  ปรากฏว่าเมื่อโทแบ่งซื้อที่ดินมาทำให้แปลงที่ซื้อมาไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะ  ต้องใช้ทางสัญจรทางเรือเท่านั้นเพราะถูกล้อมรอบด้วยที่ดินของ  เอก  ตรี  และจัตวา

เมื่อโทซื้อที่ดินของเอกมาแล้วโทได้ทำประโยชน์เป็นที่นาปลูกข้าวและเข้า ออกจากที่ดินโดยใช้เรือตลอดเป็นเวลา  3  ปี  โทต้องการใช้รถโดยเห็นว่าถ้าได้ขับรถผ่านเข้า ออกทางที่ดินของเอกเข้าสู่ที่ดินของโทก็จะได้รับความสะดวกมากกว่าการเดินทางทางเรืออย่างทุกวันนี้

หากโทจะขอทางจำเป็นผ่านบนที่ดินของเอกจะเข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1349  ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงสาธารณะได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้

มาตรา  1350  ถ้าที่ดินที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ไซร้  ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยก  หรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน

วินิจฉัย

ตามมาตรา  1349  วรรคแรก  หมายความว่า  ที่ดินแปลงใดที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ  เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะก็ได้  ส่วนการจะนำบทบัญญัติมาตรา  1350  มาใช้บังคับได้  ต้องเป็นกรณีที่ที่ดินแปลงเดิมมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว  ต่อมาเมื่อแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ  เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องทางเดินได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน  แต่ทั้งนี้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแปลงโอนกันเท่านั้น 

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  โทจะขอทางจำเป็นผ่านบนที่ดินของเอกจะเข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่  เห็นว่า  ที่ดินของโทเป็นที่ดินที่แบ่งแยกมาจากที่ดินของเอกโดยการซื้อเป็นคนละแปลงนั้น  เดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน ดังนั้นหากจะขอใช้ทางจำเป็นต้องใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา  1350  มาบังคับ  กรณีนี้ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  1349  วรรคแรก

แต่เนื่องจากหลักเกณฑ์สำคัญตามมาตรา  1350  ประการหนึ่งมีว่าเมื่อแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันแล้วจะต้องทำให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ  แต่กรณีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  หลักจากแบ่งแยกหรือแบ่งโอนออกจากที่ดินของเอกแล้ว  โทก็ยังใช้ทางสาธารณะทางน้ำ  (เรือ)  เป็นทางเข้าออกจากที่ดินของตนได้อยู่  จึงถือไม่ได้ว่าที่ดินของโทมีสภาพที่ถูกปิดล้อมจนไม่สามารถเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้  จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์การขอทางจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1350  ดังกล่าวเช่นกัน  (ฎ. 607/2537)

อนึ่งเมื่อที่ดินของโทมีทางออกสู่สาธารณะได้  แม้โทจะต้องการใช้รถโดยเห็นว่าถ้าได้ขับรถผ่านเข้าออกทางที่ดินของเอกเข้าสู่ที่ดินของตนก็จะได้รับความสะดวกมากกว่าเดินทางทางเรืออย่างทุกวันนี้  ก็เป็นเรื่องความสะดวกสบายของโทเท่านั้น  หาใช่ว่าโทไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเพราะถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมไม่  โทจึงไม่มีสิทธิขอเปิดทางจำเป็นในที่ดินของเอกทั้งตามบทบัญญัติมาตรา  1349  หรือมาตรา  1350  ได้เลย  (ฎ. 6372/2550)

สรุป  โทไม่สามารถขอเปิดทางจำเป็นผ่านบนที่ดินของเอกได้  ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา  1349 หรือมาตรา  1350

 

ข้อ  3  ใสได้ตกลงขอทำถนนผ่านที่ดินของแสงซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่า  แต่ก็ยังไม่ถึงทางสาธารณะ  ใสจะต้องทำถนนผ่านที่ดินของเสียงอีกแปลงหนึ่งซึ่งเป็นที่ดินเปล่าจึงจะถึงทางสาธารณะได้  แต่ใสไม่สามารถติดต่อเสียงได้จึงได้ทำถนนผ่านที่ดินของเสียงไปโดยพลการ  และนอกจากนั้นเมื่อเห็นที่ดินของเสียงทิ้งร้างไว้  ใสจึงยังใช้ที่ดินของเสียงทั้งแปลงทำไร่ข้าวโพด  ใสใช้ทางผ่านที่ดินของทั้งแสงและเสียงและทำไร่ข้าวโพดบนที่ดินของเสียงผ่านมาได้ห้าปี

ถ้าเสียงฟ้องเรียกคืนและห้ามไม่ให้ใสเข้ามายุ่งเกี่ยวในที่ดินของตน  ใสจะมีข้อต่อสู้เสียงได้อย่างไรบ้าง  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1367  บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน  ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง

มาตรา  1375  ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้  ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง  เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่า  ซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้

การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น  ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง 

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ถ้าเสียงฟ้องเรียกคืนและห้ามไม่ให้ใสเข้ามายุ่งเกี่ยวในที่ดินของตน  ใสจะมีข้อต่อสู้เสียงได้อย่างไรบ้าง  เห็นว่า  การที่ใสได้ตกลงขอทำถนนผ่านที่ดินของแสง  ซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่า  แต่ก็ยังไม่ถึงทางสาธารณะ  ใสจะต้องทำถนนผ่านที่ดินของเสียงอีกแปลงหนึ่งซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าจึงจะถึงทางสาธารณะได้  แต่ใสไม่สามารถติดต่อเสียงได้จึงได้ทำถนนผ่านที่ดินของเสียงไปโดยพลการ  นอกจากนั้นเมื่อเห็นที่ดินของเสียงทิ้งร้างไว้  ใสจึงยังใช้ที่ดินของเสียงทั้งแปลงทำไร่ข้าวโพด  อันเป็นการยึดถือทำประโยชน์ในทรัพย์สิน  กรณีเช่นนี้ถือว่าใสได้เข้ายึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนแล้ว  ใสจึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินมือเปล่าของเสียงทั้งแปลงตามมาตรา  1367  และกรณีนี้ยังถือว่าใสได้แย่งการครอบครองมือเปล่าของเสียงด้วยตามมาตรา  1375  วรรคแรก

เมื่อเสียงผู้ครอบครองถูกใสแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  กฎหมายให้สิทธิเสียงฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองได้ภายใน  1 ปี  นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง  โดยไม่คำนึงว่าผู้ครอบครองจะทราบว่าถูกแย่งการครอบครองหรือไม่  และไม่คำนึงถึงว่าผู้ครอบครองได้โต้แย้งผู้แย่งหารครอบครองหรือได้ร้องเรียนต่อพนักงานฝ่ายปกครองว่าถูกแย่งการครอบครองหรือไม่ (ฎ. 6412/2550  ฎ. 108/2517) เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่าใสได้ใช้ทางผ่านที่ดินมือเปล่าทั้งของแสงและเสียงและทำไร่ข้าวโพดบนที่ดินของเสียงผ่านมาได้  5  ปี  เสียงจึงหมดสิทธิฟ้องเรียกคืนการครอบครองแล้วตามมาตรา  1375  วรรคสอง  ถ้าเสียงฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองและห้ามมิให้ใสเข้ามายุ่งเกี่ยวในที่ดินของตน  ใสย่อมสามารถยกข้อต่อสู้ได้ว่าเสียงหมดสิทธิเรียกคืนซึ่งการครอบครองแล้ว  และตนได้สิทธิครอบครองในที่ดินของเสียงแล้ว

สรุป  ใสสามารถยกข้อต่อสู้ได้ว่าเสียงหมดสิทธิเรียกคืนซึ่งการครอบครองตามมาตรา  1375  และตนได้สิทธิครอบครองในที่ดินของเสียงแล้ว

 

ข้อ  4  นายฟ้าครอบครองปรปักษ์ทำนาบนที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของเหลืองมาเข้าปีที่แปด  นายฟ้าประสบอุบัติเหตุ  ต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล  นายฟ้าทราบว่าแม้ออกจากโรงพยาบาลแล้วร่างกายตนคงทำนาไม่ได้อีกแล้ว  ขณะรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลได้  6  เดือน  ได้ยกที่ดินแปลงนั้นให้บุตรชายทำนาต่อจากตน  บุตรชายนายฟ้าจึงเข้าไปครอบครองที่ดินแปลงนั้น  และเอาที่ดินแปลงนั้นไปให้นายแดงเช่าแทน  นายแดงนำที่ดินแปลงนั้นไปปลูกยางพารา  แดงเช่าที่ดินแปลงนั้นมาได้สามปี  เหลืองได้ฟ้องคดีต่อศาลขับไล่ให้แดงและบุตรชายนายฟ้าออกจากที่ดินแปลงนั้น  ตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  บุตรชายนายฟ้าได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินแปลงนั้นแล้วหรือยัง  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1368  บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้

มาตรา  1382  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

มาตรา  1384  ถ้าผู้ครอบครองขาดยึดถือทรัพย์สินโดยไม่สมัคร  และได้คืนภายในเวลาปีหนึ่งนับตั้งแต่วันขาดยึดถือ  หรือได้คืนโดยฟ้องคดีภายในกำหนดนั้นไซร้  ท่านมิให้ถือว่าการครอบครองสะดุดหยุดลง

มาตรา  1385  ถ้าโอนการครอบครองแก่กัน  ผู้รับโอนจะนับเวลาซึ่งผู้โอนครอบครองอยู่ก่อนนั้นรวมเข้ากับเวลาครอบครองของตนก็ได้  ถ้าผู้รับโอนนับรวมเช่นนั้น  และถ้ามีข้อบกพร่องในระหว่างครอบครองของผู้โอนไซร้  ท่านว่าข้อบกพร่องนั้นอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับโอนได้

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1382  จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้  คือ

1       เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์

2       ได้ครอบครองโดยความสงบ

3       ครอบครองโดยเปิดเผย

4       ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ

5       ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา  10  ปี

สำหรับการครอบครองติดต่อกันนั้น  จะต้องเป็นกรณีที่ผู้ครอบครอง  ไม่มีเจตนาสละการครอบครอง  หรือขาดการยึดถือโดยสมัครใจ  และนับระยะเวลาครอบครองติดต่อกันได้  หากเป็นเพียงการขาดการยึดถือโดยไม่สมัคร  เพราะมีเหตุมาขัดขวางโดยไม่สมัครใจ  กฎหมายถือว่าการขาดการยึดถือนั้นไม่ทำให้ขาดอายุความ  การครอบครองสะดุดหยุดลง  หากได้ทรัพย์สินคืนภายใน  1  ปี  นับแต่วันที่ขาดการยึดถือ  ทั้งนี้ตามมาตรา  1384 

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  บุตรชายนายฟ้าได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินแปลงนั้นหรือยัง  เห็นว่า นายฟ้าได้ครอบครองปรปักษ์ทำนาบนที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของเหลืองมาเข้าปีที่  8  นายฟ้าประสบอุบัติเหตุต้องรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล กรณีนี้ถือว่านายฟ้าขาดการยึดถือโดยไม่สมัครใจเนื่องจากมีเหตุมาขัดขวางหรือไม่มีเจตนาสละการครอบครอง  เมื่อนายฟ้าเห็นว่าทำนาต่อไปอีกไม่ได้  จึงยกที่ดินแปลงนั้นให้บุตรชายทำนาต่อจากตนในขณะที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลได้  6  เดือน  ดังนี้ถือว่าการขาดการยึดถือนั้นไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง  เนื่องจากได้ทรัพย์สินคืนมาภายใน  1  ปี  นับแต่วันที่ขาดการยึดถือ  โดยมีบุตรชายนายฟ้าเข้ายึดถือแทนตามมาตรา  1384  และในกรณีเช่นนี้บุตรชายนายฟ้าผู้รับโอนการครอบครองโดยนิติกรรมสามารถนับเวลาซึ่งนายฟ้าผู้โอนครอบครองอยู่ก่อนนั้นรวมเข้ากับเวลาครอบครองของตนก็ได้  ตามมาตรา  1385

อนึ่ง  การที่บุตรชายของนายฟ้ากลับเอาที่ดินแปลงนั้นไปให้นายแดงเช่าแทน  นายแดงย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้ยึดถือที่ดินแปลงนั้นแทนบุตรชายนายฟ้าตลอดมาตามมาตรา  1368 (ฎ. 1054/2519  ฎ. 1623/2522)  เมื่อแดงเช่าที่ดินแปลงนั้นมาได้  3  ปี  รวมกับเวลาที่นายฟ้าครอบครองมาแต่ก่อนและที่กฎหมายถือว่าไม่สะดุดหยุดลงอีก  8  ปี  6  เดือน  รวมเป็น  11  ปี  6  เดือน  ตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  บุตรชายนายฟ้าย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้นโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา  1382  แล้ว

สรุป  บุตรชายนายฟ้าได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว

Advertisement