การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. แป๊ะครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของแต๋วกว่า 10 ปีแล้ว แต่ไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินนั้น ต่อมาแต๋วขายที่ดินแปลงนี้ให้กับแมว โดยแมวเพิ่งรู้เรื่องการครอบครองของแป๊ะหลังจากที่ทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้น 1 ปี แมวถึงแก่ความตาย หนูบุตรของแมวจดทะเบียนรับมรดกที่ดินแปลงนี้ในฐานะทายาทโดยธรรม จึงฟ้องขับไล่และเรียกที่ดินคืนจากแป๊ะ

ให้ท่านวินิจฉัยว่าระหว่างแป๊ะกับหนูผู้ใดมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากันเพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1299 วรรคสอง “ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนบั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แปะะครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของแต๋วกว่า 10 ปีแล้วนั้น ถือว่าแป๊ะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของแต๋วโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อันเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามมาตรา 1299 วรรคสอง แต่การที่แป๊ะยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าว ท่าให้แป๊ะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ และไม่สามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค้าตอบแทน โดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว

การที่แต๋วทำสัญญาและจดทะเบียนขายที่ดินแปลงนี้ให้กับแมว โดยแมวไม่รู้เรื่องการครอบครองปรปักษ์ของแป๊ะมาก่อน แมวจึงเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้โดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ดังนั้น แมวจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ดีกว่าแป๊ะ และสามารถให้แป๊ะออกไปจากที่ดินได้ เพราะการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ของแป๊ะสิ้นสุดลงแล้ว และถ้ามีการครอบครองปรปักษ์ก็ต้องเริ่มนับระยะเวลาใหม่

และเมื่อหลังจากนั้น 1 ปี แมวถึงแก่ความตาย หนูบุตรของแมวได้จดทะเบียนรับมรดกที่ดินแปลงนี้ในฐานะทายาทโดยธรรม จึงถือว่าหนูเป็นผู้สืบสิทธิของแมว ผู้ซึ่งมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าแป๊ะ หนูจึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าแป๊ะ อีกทั้งการครอบครองปรปักษ์ครั้งใหม่ของแป๊ะก็เพิ่งครอบครองได้เพียง 1 ปีเท่านั้น

สรุป

หนูมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าแป๊ะ

 

ข้อ 2. หาญเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง ทิศเหนือติดทางสาธารณะซึ่งเป็นทางดินลูกรัง ส่วนด้านทิศใต้ทิศตะวันออก และทิศตะวันตกติดกับที่ดินของเอก โท และตรีตามลำดับ ต่อมาหาญถึงแก่ความตายเก่งและกล้าบุตรของหาญได้จดทะเบียนรับที่ดินมรดก โดยจดทะเบียนแบ่งที่ดินออกเป็นสองแปลง เก่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่ติดทางสาธารณะ ส่วนกล้าเป็นเจ้าของที่ดินแปลงด้านในไม่ติดทางสาธารณะ กล้าต้องการใช้เส้นทางผ่านที่ดินของเอกเพื่อออกสู่ทางหลวงสายกรุงเทพ-สุพรรณบุรี ซึ่งสะดวกมากกว่า แต่เอกไม่ยินยอม

ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า กล้าจะร้องขอต่อศาลเพื่อให้เอกเปิดทางให้ตนผ่านที่ดินของเอกได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1350 “ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน”

วินิจฉัย

การขอทางจำเป็นเพื่อผ่านเข้าออกบนที่ดินตามบทบัญญัติมาตรา 1350 นั้น เป็นกรณีที่ที่ดินแปลงใหญ่เดิมมีทางออกสู่ทางลาธารณะอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนที่ดินแปลงดังกล่าวกันทำให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน แต่ทั้งนี้จะใช้สิทธิได้ก็แต่เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเท่านั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เก่งและกล้าได้ทำการแบ่งแยกที่ดินแปลงใหญ่กันแล้ว เมื่อปรากฏว่าที่ดินแปลงของกล้าถูกปิดล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ (ที่ดินตาบอด) นั้น ย่อมเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 1350 คือเป็นกรณีที่ที่ดินแปลงใหญ่เดิมมีทางออกสู่ทางลาธารณะ แต่เมื่อแบ่งแยกแล้วเป็นเหตุให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ ดังนั้น กรณีนี้กล้าย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินได้ แต่กล้าจะใช้สิทธิได้เฉพาะบนที่ดินที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนคือที่ดินของเก่งโดยไม่ต้องเสียค่าทดแทนเท่านั้น จะไปใช้สิทธิบนที่ดินแปลงอื่นไม่ได้

ดังนั้น การที่กล้าต้องการใช้เส้นทางผ่านที่ดินของเอกเพื่อออกสู่ทางหลวงสายกรุงเทพ-สุพรรณบุรี ซึ่งสะดวกมากกว่าแต่เอกไม่ยินยอมนั้น กล้าจะร้องขอต่อศาลเพื่อให้เอกเปิดทางให้ตนผ่านที่ดินของเอกไม่ได้

สรุป

กล้าจะร้องขอต่อศาลเพื่อให้เอกเปิดทางให้ตนผ่านที่ดินของเอกไม่ได้

 

ข้อ 3. นายมั่นเช่าที่ดิน น.ส.3 ของนายคงเพื่อสร้างบ้านอยู่อาศัย หลังจากนั้น 8 ปี นายคงทำสัญญาขายที่ดินนั้นให้กับนายมั่น โดยชำระราคากันครบถ้วนแล้ว แต่ทั้งสองยังไม่ได้จดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินกัน ต่อมาอีก 5 ปี นายคงทำสัญญาและจดทะเบียนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกลร้างดังกล่าวให้นายเบี้ยว ซึ่งนายเบี้ยวรู้เรื่องการซื้อขายที่ดินระหว่างนายมั่นกับนายคงมาก่อนแล้ว จากนั้นนายเบี้ยวได้ฟ้องขับไล่และเรียกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนจากนายมั่น

ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า ระหว่างนายมั่นกับนายเบี้ยวผู้ใดมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน และนายเบี้ยวจะฟ้องขับไล่นายมั่นได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1367 “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง”

มาตรา 1368 “บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้”

มาตรา 1375 “ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้

การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง”

มาตรา 1379 “ถ้าผู้รับโอนหรือผู้แทนยึดถือทรัพย์สินอยู่แล้ว ท่านว่าการโอนไปซึ่งการครอบครองจะทำเพียงแสดงเจตนาก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายคงทำสัญญาขายที่ดินซึ่งนายมั่นได้เช่าปลูกบ้านอยู่อาศัยให้กับนายมั่น โดยชำระราคากันครบถ้วนแล้วนั้น เป็นกรณีที่ผู้รับโอนได้ยึดถือทรัพย์สินอยู่แล้ว การโอนการครอบครองจึงกระทำได้เพียงผู้โอนแสดงเจตนาตามมาตรา 1379 ดังนั้นจึงถือว่านายมั่นเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในฐานะเจ้าของที่ดินแล้ว เพราะเป็นการยึดถือเพื่อตนมิให้ยึดถือแทนนายคง และมิได้เป็นการแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ตามมาตรา 1367, 1368 และ 1375 และมีผลทำให้สิทธิครอบครองของนายคงสิ้นสุดลงด้วย

กรณีที่หลังจากนั้น 5 ปี นายคงได้ทำสัญญาและจดทะเบียนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้นายเบี้ยวนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเบี้ยวผู้รับโอนได้รู้ถึงเรื่องการซื้อขายที่ดินระหว่างนายมั่นกับนายคงมาก่อนแล้ว ดังนั้น นายเบี้ยวจึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าว ทั้งนี้เพราะนายเบี้ยวผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่านายคงผู้โอน และนายเบี้ยวจะฟ้องขับไล่นายมั่นให้ออกจากที่ดินนั้นไม่ได้

สรุป

นายมั่นมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่านายเบี้ยว และนายเบี้ยวจะฟ้องขับไล่นายมั่นไม่ได้

 

ข้อ 4. นิยมเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งซึ่งเป็นสวนทุเรียนอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี และนิยมมอบให้แก้วเป็นผู้ดูแลสวนทุเรียนแทนตน และมีสิทธิเก็บกินในสวนทุเรียนดังกล่าว โดยแบ่งรายได้จากการขายทุเรียนให้แก้วร้อยละ 15 และแก้วปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวตลอดมา หลังจากนั้น 10 ปี นิยมถึงแก่ความตาย ระเบียบบุตรของนิยมจดทะเบียนรับมรดกสวนทุเรียนแปลงนั้น เห็นว่าแก้วขายทุเรียนหมดนานแล้วแต่ไม่นำเงินจากการขายทุเรียนส่งมอบให้ตน ระเบียบจึงติดตามทวงถามจากแก้วแต่แก้วอ้างว่าสวนทุเรียนเป็นกรรมสิทธิ์ของตน และไม่ยอมแบ่งเงินที่ขายทุเรียนให้ระเบียบ ต่อจากนั้น 2 ปี ระเบียบจึงฟ้องเรียกที่ดินสวนทุเรียนคืนจากแก้ว

ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า ระหว่างระเบียบกับแก้วผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน และระเบียบจะเรียกที่ดินคืนจากนิยมได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1368 “บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้”

มาตรา 1381 “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก”

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้วการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้

  1. เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์
  2. ได้ครอบครองโดยความสงบ
  3. ครอบครองโดยเปิดเผย
  4. ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ
  5. ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นิยมมอบให้แก้วเป็นผู้ดูแลสวนทุเรียนซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดแทนตนและมีสิทธิเก็บกินในสวนทุเรียนดังกล่าวโดยแบ่งรายได้จากการขายทุเรียนให้แก้วร้อยละ 15 และแก้วปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวตลอดมานั้น ถือว่าแก้วเป็นผู้ครอบครองสวนทุเรียนแทนนิยมตามมาตรา 1368

หลังจากนั้น 10 ปี เมื่อนิยมถึงแก่ความตายระเบียบบุตรของนิยมจดทะเบียนรับมรดกสวนทุเรียนแปลงนั้น แล้วติดตามทวงถามเงินที่ขายทุเรียนจากแก้ว แต่แก้วอ้างว่าสวนทุเรียนเป็นกรรมสิทธิ์ของตน และไม่ยอมแบ่งเงินที่ขายทุเรียนให้ระเบียบนั้น เป็นกรณีที่แก้วผู้ครอบครองแทนได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ โดยบอกกล่าวไปยังระเบียบว่าไม่มีเจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป และแก้วได้ครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเองแล้วตามมาตรา 1381 การครอบครองปรปักษ์จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่การเปลี่ยนลักษณะการครอบครองดังกล่าว แต่เมื่อปรากฏว่าการครอบครองปรปักษ์ของแก้วเพิ่งนับได้เพียง 2 ปี ดังนั้นแก้วจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 ระเบียบจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดิกว่าแก้ว และระเบียบย่อมสามารถเรียกที่ดินดินจากแก้วได้

สรุป

ระเบียบมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีกว่าแก้ว และสามารถเรียกที่ดินคืนจากแก้วได้

Advertisement