การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 นายดำและนางแดงแต่งงานอยู่กินกันมาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ต่อมาทั้งคู่ตกลงที่จะแยกกันอยู่โดยดำบอกแดงว่าเมื่อแยกกันอยู่แล้วจะให้แดงอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินแปลงหนึ่งของตนตลอดชีวิตของแดง ซึ่งเป็นที่ดินที่ดำได้มาก่อนที่ดำจะมาอยู่กินกับแดง เมื่อแยกกันอยู่แล้ว ดำได้ส่งมอบที่ดินแปลงนั้นให้แดงครอบครองทำกิน แต่ไม่ยอมไปจดทะเบียนสิทธิในที่ดินแปลงนั้นให้แดง แดงจะฟ้องร้องบังคับคดีให้ดำไปจดทะเบียนสิทธิตามที่ดำสัญญาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมนั้น จะบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิได้ จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งถ้าฝ่าฝืนจะมีผลเป็นเพียงบุคคลสิทธิ ใช้กล่าวอ้างได้เฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น ไม่สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อบุคคลภายนอกได้ (มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดำและนางแดงแต่งงานอยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและต่อมาทั้งสองตกลงที่จะแยกกันอยู่ โดยนายดำบอกกับนางแดงว่าเมื่อแยกกันอยู่แล้วจะให้นางแดงอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินแปลงหนึ่งของตนตลอดชีวิตของนางแดง ซึ่งเป็นที่ดินที่นายดำได้มาก่อนที่นายดำจะมาอยู่กินกับนางแดงนั้น เป็นกรณีที่นายดำได้ทำสัญญาตกลงให้สิทธิทำกินซึ่งเป็นทรัพยสิทธิประเภทหนึ่งให้แก่นางแดง ถือว่านางแดงได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม และเมื่อการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิดังกล่าวไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ การได้มาของนางแดงจึงยังไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ แต่ยังมีผลใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่กรณีในฐานะบุคคลสิทธิ และใช้บังคับกันได้ตามข้อตกลงในสัญญา แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสัญญานั้น การที่นายดำให้นางแดงมีสิทธิทำกินในที่ดินของตน ไม่มีข้อตกลงว่าจะไปจดทะเบียนให้ ดังนั้นนางแดงจะฟ้องร้องบังคับคดีให้นายดำไปจดทะเบียนสิทธิตามที่นายดำสัญญาไม่ได้

สรุป

นางแดงจะฟ้องร้องบังคับคดีให้นายดำไปจดทะเบียนสิทธิตามที่นายดำสัญญาไม่ได้เพราะการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวของนางแดงไม่บริบูรณ์ตามมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง

 

ข้อ 2. นายน้อยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มือสองคันหนึ่งจากร้านวินมอเตอร์ซึ่งประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์มือสองมาเป็นเวลากว่าสิบปี โดยตกลงผ่อนชำระงวดละ 3,000 บาท 12 งวด หลังจากนายน้อยชำระค่าเช่าซื้อไปได้ 6 งวด นายหนึ่งเจ้าของรถที่แท้จริงได้ติดตามมาทวงรถคืนจากนายน้อย ดังนี้ให้ท่านไห้คำแนะนำแก่นายน้อยว่านายน้อยจะต้องคืนรถจักรยานยนต์แก่นายหนึ่งหรือไม่ นายน้อยจะมีข้อต่อสู้ใด ๆ ตามกฎหมายที่จะต่อสู้นายหนึ่งได้บ้าง จงอธิบาย

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1332 “บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา ”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดของเอกชน หรือในท้องตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1332 คือ แม้เจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริงจะติดตามทวงคืน ก็ไม่จำต้องคืนทรัพย์สินให้แก่เจ้าของ เว้นแต่เจ้าของทรัพย์สินนั้นจะชดใช้ราคาที่ตนซื้อมา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายน้อยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มือสองคันหนึ่งจากร้านวินมอเตอร์ ซึ่งประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์มือสองมาเป็นเวลากว่าสิบปีนั้น แม้ว่านายน้อยจะได้เช่าซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายน้อยได้ชำระค่าเช่าซื้อไปแล้วเพียง 6 งวด จากที่ตกลงผ่อนชำระกัน 12 งวด ย่อมไม่ถือว่านายน้อยเป็นบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินตามนัยของมาตรา 1332 เพราะการเช่าซื้อทรัพย์สินอันจะถือว่าอยู่ในความหมายของการซื้อทรัพย์สินตามนัยของมาตรา 1332 นั้น จะต้องได้มีการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อจนครบทุกงวดแล้ว ดังนั้น เมื่อนายน้อยมิใช่เป็นบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินตามนัยของมาตรา 1332 นายน้อยจึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 1332

เมื่อนายหนึ่งเจ้าของรถที่แท้จริงได้ติดตามทวงรถคืนจากนายน้อย นายน้อยจึงต้องคืนรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวให้แก่นายหนึ่ง โดยไม่มีสิทธิขอให้นายหนึ่งชดใช้เงินค่าเช่าซื้อรถที่นายน้อยได้ชำระไปแล้วแต่อย่างใด

สรุป

ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำแก่นายน้อยว่า นายน้อยจะต้องคืนรถจักรยานยนต์ให้แก่นายหนึ่งและจะเรียกให้นายหนึ่งชดใช้เงินค่าเช่าซื้อที่นายน้อยได้ชำระไปแล้วไม่ได้

 

ข้อ 3. นายอิ่มอนุญาตด้วยวาจาให้นายอ้วนน้องชายของตนอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่ง ต่อมาบ้านทรุดโทรมมาก นายอ้วนจึงรื้อบ้านหลังเก่าและสร้างบ้านใหม่ในที่ดินนั้น แล้วใส่ชื่อนายอ้วนเป็นเจ้าบ้านในสำเนาทะเบียนบ้าน หลังจากนั้น 3 ปี นายอิ่มถึงแก่ความตาย นางอ้อยภริยาของนายอิ่มผู้รับมรดกที่ดินนั้น ได้แจ้งให้นายอ้วนย้ายออกไปจากที่ดินของตน แต่นายอ้วนอ้างว่าตนครอบครองเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินนานเกินกว่า 3 ปีแล้ว นางอ้อยไม่มีสิทธิเรียกที่ดินคืนจากตน

อีก 5 เดือนต่อมา นางอ้อยจึงฟ้องขับไล่และเรียกที่ดินคืนจากนายอ้วน ดังนี้ นางอ้อยจะฟ้องเพื่อเอาที่ดินพิพาทคืนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1368 “บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้”

มาตรา 1375 “ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้

การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง”

มาตรา 1381 “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอิ่มอนุญาตด้วยวาจาให้นายอ้วนน้องชายของตนอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งนั้น ถือว่านายอ้วนเป็นผู้ครอบครองบ้านและที่ดินมือเปล่าแทนนายอิ่มตามมาตรา 1368 และแม้นายอ้วนจะได้รื้อบ้านหลังเก่าและสร้างบ้านใหม่ในที่ดินนั้นแทน แล้วใส่ชื่อนายอ้วนเป็นเจ้าบ้านในสำเนาทะเบียนบ้านนั้น ก็ไม่ถือว่านายอ้วนเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381 และไม่ถือว่าเป็นการแย่งการครอบครอง เพราะสำเนาทะเบียนบ้านไม่ถือว่าเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน

เมื่อนายอิ่มถึงแก่ความตาย นางอ้อยภริยาของนายอิ่มผู้รับมรดกได้แจ้งให้นายอ้วนย้ายออกไปจากที่ดินนั้น การที่นายอ้วนอ้างว่าตนครอบครองเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินมานานเกินกว่า 3 ปีแล้ว ย่อมถือว่านายอ้วนเพิ่งแย่งการครอบครองโดยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังผู้ครอบครองคือนางอ้อยว่าตนไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินนั้นแทนผู้ครอบครองคือนางอ้อยอีกต่อไป และเมื่อนางอ้อยฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองหลังจากที่นายอ้วนแจ้งเปลี่ยนลักษณะการยึดถือได้เพียง 5 เดือน นางอ้อยจึงสามารถฟ้องได้เพราะยังไม่เกิน 1 ปีนับแต่เวลาที่ถูกแย่งการครอบครอง ข้ออ้างของนายอ้วนจึงรับฟังไม่ได้

สรุป

นางอ้อยสามารถฟ้องเพื่อเอาที่ดินพิพาทคืนได้

 

ข้อ 4. แสงครอบครองที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งซึ่งเป็นที่ดินแห้งแล้ง แสงจึงผันน้ำผ่านคลองในที่ดินของสายส่งน้ำเข้าใช้ในที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งของแสง เพื่อใช้ทำเกษตรกรรม แสงผันน้ำผ่านที่ดินของสายติดต่อกันมาได้11ปีแล้วโดยที่สายไม่เคยทราบเลยแต่เมื่อแล้งจัดคลองที่ผันน้ำเป็นคลองดินจึงทำให้น้ำกว่าจะมาถึงบ่อที่กักเก็บน้ำในที่ดินของแสงเหลือน้อยเพราะจะซึมลงไปใต้พื้นดินเกือบหมดแสงจะเทปูนทำคลองดินให้เป็นคลองปูนได้หรือไม่ เพียงใด เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1391 “เจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิทำการทุกอย่างอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอมแต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง ในการนี้เจ้าของสามยทรัพย์จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภารยทรัพย์ได้ก็แต่น้อยที่สุดตามพฤติการณ์

เจ้าของสามยทรัพย์ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเองรักษาซ่อมแซมการที่ได้ทำไปแล้วให้เป็นไปด้วยดีแต่ถ้าเจ้าของภารยทรัพย์ได้รับประโยชน์ด้วยไซร้ ท่านว่าต้องออกค่าใช้จ่ายตามส่วนแห่งประโยชน์ที่ได้รับ”

วินิจฉัย

ตามกฎหมายในเรื่องภาระจำยอมนั้น เจ้าของสามยทรัพย์ย่อมมีสิทธิทำการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอมได้ แต่จะต้องก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภารยทรัพย์น้อยที่สุดตามพฤติการณ์ และเจ้าของสามยทรัพย์จะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง อย่างไรก็ตาม หากเจ้าของภารยทรัพย์ได้รับประโยชน์จากการนั้นด้วย เจ้าของภารยทรัพย์ก็ต้องช่วยเจ้าของสามยทรัพย์ออกค่าใช้จ่ายตามส่วนแห่งประโยชน์ที่ตนได้รับนั้น (มาตรา 1391)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แสงครอบครองที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งซึ่งเป็นที่ดินแห้งแล้ง แสงจึงได้ผันน้ำผ่านคลองในที่ดินของสายส่งน้ำเข้าใช้ในที่ดินของแสงเพื่อใช้ทำเกษตรกรรมติดต่อกันมาได้ 11 ปีแล้วนั้น ย่อมถือว่า แสงซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่เรียกว่า สามยทรัพย์ มีภาระจำยอมเหนือที่ดินแปลงของสายที่เรียกว่า ภารยทรัพย์ แต่เมื่อแล้งจัด คลองที่ผันน้ำเป็นคลองดินจึงทำให้น้ำกว่าจะมาถึงบ่อที่กักเก็บน้ำในที่ดินของแสงเหลือน้อยเพราะจะซึมลงไปใต้พื้นดินเกือบหมด แสงจึงจะเทปูนทำคลองดินให้เป็นคลองปูนนั้น ย่อมถือว่าแสงเจ้าของสามยทรัพย์จะทำการอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอม ดังนั้น แสงย่อมสามารถทำได้แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเองและต้องก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภารยทรัพย์น้อยที่สุดตามพฤติการณ์

สรุป

แสงจะเทปูนทำคลองดินให้เป็นคลองปูนได้ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง

Advertisement