การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นายเอกตกลงให้นายโทเช่าที่ดินของตนแปลงหนึ่ง โดยข้อตกลงในหนังสือสัญญาเช่าที่ลงลายมือชื่อ นายเอกและนายโทระบุว่า
“ข้อ 1. สัญญาเช่าที่ดินระหว่างคู่สัญญามีกำหนด 30 ปี
ข้อ 2. นายเอก ยินยอมให้นายโทปลูกสร้างโรงเรือนลงบนที่ดินที่เช่าได้
ข้อ 3. นายโทยินยอมให้โรงเรือนตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเอกเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่า ”
ให้ท่านวินิจฉัยว่า
(1) ในระหว่างสัญญาเช่ายังมีอายุกรรมสิทธิ์ในโรงเรือนเป็นของนายเอกหรือนายโท
(2) ข้อตกลงที่นายเอกได้กรรมสิทธิ์ในโรงเรือนเมื่อครบกำหนดเวลาการเช่าบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิหรือไม่
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 144 “ส่วนควบของทรัพย์ หมายความว่า ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทำลายทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น”
มาตรา 146 “ทรัพย์ซึ่งติดกับที่ดินหรือติดกับโรงเรือนเพียงชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินหรือโรงเรือนนั้น ความข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ซึ่งผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นใช้สิทธินั้นปลูกสร้างไว้ในที่ดินนั้นด้วย ”
มาตรา 1299 วรรคแรก “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่”
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมนั้น จะบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิได้ จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ (มาตรา 1299 วรรคแรก)
กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้
- การที่นายเอกตกลงให้นายโทเช่าที่ดินของตน โดยนายเอกยินยอมให้นายโทปลูกสร้างโรงเรือนลงบนที่ดินที่เช่าได้ และมีข้อตกลงว่าเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่า 30 ปีแล้ว ให้โรงเรือนนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเอก ดังนั้นเมื่อนายโทปลูกสร้างโรงเรือนลงบนที่ดินที่เช่า จึงเป็นกรณีที่ผู้มีสิทธิในที่ดินของผู้อื่นได้ใช้สิทธินั้นปลูกสร้างโรงเรือนไว้ โรงเรือนที่นายโทได้ปลูกสร้างไว้ดังกล่าวจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน ตามมาตรา 144 ประกอบมาตรา 146 และในระหว่างสัญญาเช่ายังมีอายุกรรมสิทธิ์ในโรงเรือนจึงยังเป็นของนายโท
- ข้อตกลงที่ให้นายเอกได้กรรมสิทธิ์ในโรงเรือนเมื่อครบกำหนดเวลาการเช่านั้น เป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม เมื่อปรากฏว่านิติกรรมดังกล่าวแม้นายเอกและนายโทจะได้ทำเป็นหนังสือ แต่เมื่อไม่ได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้น การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในโรงเรือนของนายเอกเมื่อครบกำหนดเวลาเช่า จึงไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิตามมาตรา 1299 วรรคแรก
สรุป
- ในระหว่างสัญญาเช่ายังมีอายุกรรมสิทธิ์ในโรงเรือนยังเป็นของนายโท
- ข้อตกลงที่นายเอกได้กรรมสิทธิ์ในโรงเรือนเมื่อครบกำหนดเวลาการเช่าไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ
ข้อ 2. นายเชิดเป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งซึ่งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ต่อมาที่ดินขอนายเชิดค่อย ๆเกิดที่ดินงอกยื่นเข้าไปในแม่น้ำแม่กลองเป็นเนื้อที่ประมาณ 30 ตารางวา และนายเชิดได้นำดินมาถมแม่น้ำต่อจากที่งอกริมตลิ่งนั้นเป็นเนื้อที่เพิ่มขึ้นอีก 50 ตารางวา ต่อจากนั้นนายเชิดได้สร้างร้านอาหารลงบนที่ดินที่เกิดขึ้นใหม่ 80 ตารางวานั้น หลังจากสร้างร้านอาหารได้ 5 ปี ทางราชการต้องการขุดลอกแม่น้ำแม่กลอง ทางราชการจึงให้นายเชิดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดบนที่ดิน 80 ตารางวาที่ยื่นเข้าไปในแม่น้ำแม่กลอง ดังนี้ นายเชิดจะอ้างสิทธิใด ๆ เหนือที่ดินดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1308 “ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิง ที่งอกย่อมเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น”
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 1308 กรณีที่จะเป็นที่งอกริมตลิ่งและตกเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินแปลงที่เกิดที่งอกริมตลิ่งนั้น จะต้องเป็นที่งอกจากที่ดินที่เป็นประธานออกไปในน้ำและเป็นการงอกโดยธรรมชาติด้วย มิใช่การเอาดินมาถมเพื่อให้เป็นที่งอก
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ที่ดินของนายเชิดค่อย ๆ เกิดที่ดินงอกยื่นเข้าไปในแม่น้ำแม่กลองเป็นเนื้อที่ 30 ตารางวานั้น เป็นที่งอกริมตลิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ดังนั้นที่งอกริมตลิงจึงตกเป็นสิทธิของนายเชิดเจ้าของที่ดินที่เกิดที่งอกริมตลิ่งตามมาตรา 1308 แต่ที่ดินส่วนที่นายเชิดได้นำดินมาถมต่อจากที่งอกริมตลิ่งล้ำเข้าไปในแม่น้ำแม่กลองเป็นเนื้อที่ 50 ตารางวานั้น ไม่ถือว่าเป็นที่งอกริมตลิ่งตามมาตรา 1308 เพราะมิได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ดังนั้น ที่ดิน 50 ตารางวาจึงยังมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่เกิดจากการถมแม่น้ำแม่กลองซึ่งนายเชิดไม่มีสิทธิใด ๆ เหนือที่ดินส่วนที่ตนใช้ดินถมออกไป และเมื่อทางราชการต้องการขุดลอกแม่น้ำแม่กลอง
ทางราชการจึงสั่งให้นายเชิดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดบนที่ดิน 80 ตารางวาที่ยื่นเข้าไปในแม่น้ำแม่กลองนั้น นายเชิดย่อมอ้างสิทธิเหนือที่ดินได้เฉพาะส่วนที่เป็นที่งอกริมตลิ่ง 30 ตารางวาเท่านั้น ส่วนที่ดินอีก 50 ตารางวา ที่นายเชิดได้ถมล้ำเข้าไปในแม่น้ำแม่กลองนั้นนายเชิดไม่มีสิทธิใด ๆ เหนือที่ดินส่วนนี้เลย และต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินส่วนนี้ออกไปด้วย
สรุป
นายเชิดมีสิทธิครอบครองเหนือที่ดินส่วนที่เป็นที่งอกริมตลิ่งเนื้อที่ 30 ตารางวา ส่วนที่ดินอีก 50 ตารางวา ที่นายเชิดถมล้ำเข้าไปในแม่น้ำแม่กลอง นายเชิดไม่มีสิทธิใด ๆ เหนือที่ดินส่วนนี้เลย และต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินส่วนนี้ออกโปด้วย
ข้อ 3. หมูครอบครองบุกรุกเข้าไปทำไร่ข้าวโพดในที่ดินมีโฉนดของแมว โดยบอกกับชาวบ้านแถวนั้นว่าเป็นที่ดินของตน หลังจากที่ครอบครองมาได้ 5 ปี แมวรู้เข้าจึงบอกให้หมูออกไปจากที่ดิน มิฉะนั้น จะแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดีกับหมู หมูกลัวจึงย้ายออกจากไร่ข้าวโพดของแมวในขณะที่เพิ่งเริ่มปลูกข้าวโพดได้เพียง 10 วัน ผ่านไป 1 เดือน หมูเสียดายต้นข้าวโพดที่ลงทุนไปจึงย้ายกลับเข้าไปใหม่และครอบครองต่อมาอีก 5 ปี แมวก็ถึงแก่ความตาย นกบุตรของแมวรับมรดกจากแมวมา และแจ้งให้หมูออกจากที่ดินเสีย
ให้ท่านวินิจฉัยว่า หมูจะอ้างสิทธิในการครอบครองปรปักษ์ขึ้นต่อสู้นกได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”
มาตรา 1384 “ถ้าผู้ครอบครองขาดยึดถือทรัพย์สินโดยไม่สมัคร และได้คืนภายในเวลาปีหนึ่งนับตั้งแต่วันขาดยึดถือหรือได้คืนโดยฟ้องคดีภายในกำหนดนั้นไซร้ ท่านมิให้ถือว่าการครอบครองสะดุดหยุดลง”
วินิจฉัย
โดยหลักแล้วการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้
- เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์
- ได้ครอบครองโดยความสงบ
- ครอบครองโดยเปิดเผย
- ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ
- ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่หมูครอบครองปรปักษ์ที่ดินของแมวได้ 5 ปี และได้ย้ายออกไปเมื่อแมวบอกให้ออกมิฉะนั้นจะแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดีกับหมู แม้หมูกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีจึงได้ย้ายออกไปจากที่ดินของแมว ก็ถือว่าเป็นกรณีที่หมูมีเจตนาสละการครอบครองที่ดินไปโดยสมัครใจ สิทธิครอบครองจึงสิ้นสุดลง
และเมื่อหมูได้ย้ายกลับมาอีกและครอบครองใหม่ จึงต้องเริ่มต้นนับเวลาใหม่อีกครั้งหนึ่งซึ่งกรณีนี้จะนำมาตรา 1384 มาใช้กับการกลับเข้ามาครอบครองใหม่ของหมูไม่ได้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหมูได้ครอบครองในครั้งหลังนี้ได้เพียง 5 ปี ยังไม่ครบ 10 ปี หมูจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382
ดังนั้น เมื่อนกบุตรของแมวแจ้งให้หมูออกไปจากที่ดิน หมูจะอ้างสิทธิในการครอบครองปรปักษ์ขึ้นต่อสู้นกไม่ได้
สรุป
หมูจะอ้างสิทธิในการครอบครองปรปักษ์ขึ้นต่อสู้นกไม่ได้
ข้อ 4. ส่งเป็นพี่น้องของสีซึ่งมีที่ดินอยู่ใกล้กับสี สีได้วางสายไฟฟ้าพาดผ่านที่ดินของส่งเข้ามาในที่ดินของตน ซึ่งส่งทราบแต่ก็ไม่ได้ห้าม ต่อมาส่งได้ขายที่ดินของส่งแปลงนั้นให้สุด สุดได้เรียกให้สีรื้อถอนเสาไฟฟ้าออกไปแต่สีไม่ยอม เมื่อสุดซื้อที่ดินแปลงนี้มาได้ 3 ปี สีก็ได้วางสายโทรศัพท์บนเสาไฟฟ้าและวางทอประปาผ่านที่ดินของสุดอีก โดยสุดไม่ทราบเพราะไม่เคยเข้าไปดูแลที่ดินเลย สีวางสายโทรศัพท์ท่อประปามาได้ 8 ปี สุดจึงได้ฟ้องร้องต่อศาลให้นายสีรื้อถอนเสาไฟฟ้า สายโทรศัพท์ ท่อประปาออกไปจากที่ดินของตน สีจะต่อสู้ว่าตนได้ภาระจำยอมในการวางสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ ท่อประปาบนที่ดินของสุดแปลงนั้นแล้ว ข้อต่อสู้ของสีรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”
มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยูในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”
มาตรา 1401 “ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
วินิจฉัย
การได้ภาระจำยอมตามมาตรา 1387 โดยอายุความครอบครองปรปักษ์นั้น ถือเป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งตามมาตรา 1401 นั้น บัญญัติให้นำอายุความได้สิทธิตามมาตรา 1382 มาบังคับใช้โดยอนุโลม กล่าวคือ ต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์ โดยความสงบ เปิดเผย และมีเจตนาจะได้สิทธิภาระจำยอมในภารยทรัพย์ โดยต้องใช้ประโยชน์ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ส่งกับสีเป็นพี่น้องกันและมีที่ดินอยู่ใกล้กันนั้น การที่สีได้วางสายไฟฟ้าพาดผ่านที่ดินของส่งเข้ามาในที่ดินของตนโดยไม่ได้บอกกล้าวกับส่งซึ่งส่งทราบแต่ก็ไม่ได้ห้าม ถือเป็นการใช้ภาระจำยอมโดยฉันญาติมิตร ไม่ก่อให้เกิดการนับอายุความปรปักษ์ แต่เป็นการได้ภาระจำยอมโดยนิติกรรมสัญญา แต่เมื่อส่งได้ขายที่ดินของส่งแปลงนั้นให้สุด และสุดได้เรียกให้สีรื้อถอนเสาไฟฟ้าออกไปแต่สีไม่ยอม จึงเป็นการเปลี่ยนการยึดถือเป็นเจตนาปรปักษ์เพี่อให้ได้ภาระจำยอม ซึ่งสีสามารถนับอายุความครอบครองปรปักษ์เพี่อให้ได้ภาระจำยอมได้
เมื่อสุดซื้อที่ดินแปลงนี้มาได้สามปี สีก็ได้วางสายโทรศัพท์และท่อไฟฟ้า และวางท่อประปาผ่านที่ดินของสุดอีก โดยสุดไม่ทราบเพราะไม่เคยเข้าไปดูแลที่ดินเลย และเมื่อสีวางสายโทรศัพท์และท่อประปามาได้แปดปี สุดจึงได้ฟ้องร้องต่อศาลให้สีรื้อถอนเสาไฟฟ้า สายโทรศัพท์ ท่อประปาออกไปจากที่ดินของตน
ดังนี้จะเห็นได้ว่าสีได้ภาระจำยอมเฉพาะในการวางสายไฟฟ้าเท่านั้นเพราะครบสิบปีแล้ว ส่วนสายโทรศัพท์และท่อประปาสียังไม่ได้ภาระจำยอมเพราะยังครอบครองปรปักษ์ไม่ครบสิบปีตามมาตรา 1387 ประกอบมาตรา 1401 และมาตรา 1382
สรุป
ข้อต่อสู้ของสีรับฟังได้เฉพาะกรณีที่ได้ภาระจำยอมในการวางสายไฟฟ้าเท่านั้น ส่วนที่ว่าตนได้ภาระจำยอมในการวางสายโทรศัพท์ และท่อประปานั้นรับฟังไม่ได้