การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2001 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายหนึ่งใช้ทางผ่านที่ดินมีโฉนดของนายสองเพื่อเดินจากหมู่บ้านเข้าไปทําไร่สวนในที่ดินของตน จนได้มาซึ่งภาระจํายอมโดยอายุความ แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายหลังต่อมานายสองได้จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงเดียวกันนี้ให้นายสามโดยเสน่หา ครั้นนายสาม เข้าอยู่ในที่ดินแล้วพบว่านายหนึ่งได้เดินผ่านที่ดินดังกล่าว นายสามจึงปิดกั้นทางเพื่อไม่ให้นายหนึ่ง ผ่านอีกต่อไป ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายหนึ่งจะยกเอาการได้มาซึ่งภาระจํายอมในที่ดินอันยังมิได้ จดทะเบียนซึ่งได้มาก่อนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงเดียวกันของนายสามขึ้นต่อสู้นายสาม ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1299 วรรคสอง “ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการ เปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิ มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่นายหนึ่งใช้ทางผ่านที่ดินมีโฉนดของนายสองเพื่อเดินจากหมู่บ้าน เข้าไปทําไร่สวนในที่ดินของตนจนได้มาซึ่งภาระจํายอมโดยอายุความนั้น ถือว่านายหนึ่งเป็นผู้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามมาตรา 1299 วรรคสอง แต่ยังมิได้จดทะเบียน การได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และต่อมาภายหลังการที่นายสองได้จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงเดียวกันนี้ให้นายสาม โดยเสน่หา และนายสามซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวได้ปิดกั้นทางเพื่อ ไม่ให้นายหนึ่งผ่านอีกต่อไป โดยอ้างว่าตนมีสิทธิดีกว่านายหนึ่งเพื่อลบล้างภาระจํายอมโดยอายุความของนายหนึ่งนั้น ย่อมไม่อาจทําได้ ทั้งนี้เพราะการที่จะอ้างว่าการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจาก นิติกรรม ถ้าผู้ได้มายังมิได้จดทะเบียน จะยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วไม่ได้ตามมาตรา 1299 วรรคสองไม่ได้นั้น จะต้องเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิ ประเภทเดียวกัน แต่ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์นั้น การได้มาซึ่งภาระจํายอมโดยอายุความเป็นทรัพยสิทธิประเภท รอนสิทธิ ส่วนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการรับโอนเป็นทรัพยสิทธิประเภทได้สิทธิ จึงเป็นสิทธิคนละประเภทกัน นายสามจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1299 วรรคสอง

ดังนั้น นายหนึ่งจึงสามารถยกเอาการได้มาซึ่ง ภาระจํายอมในที่ดินที่ยังมิได้จดทะเบียนซึ่งได้มาก่อนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงเดียวกันของนายสามขึ้นต่อสู้ นายสามได้ โดยนายสามย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวโดยติดภาระจํายอมไปด้วย (คําพิพากษาฎีกาที่ 3984/2533 และ 3262/2548)

สรุป

นายหนึ่งจะยกเอาการได้มาซึ่งภาระจํายอมในที่ดินอันยังมิได้จดทะเบียนนั้นขึ้นต่อสู้ นายสามได้

 

ข้อ 2. นายแดนทําพินัยกรรมยกที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งเป็นสวนเงาะให้กับบุตรของตน โดยระบุให้นายท็อป 3 ส่วน นายบอย 1 ส่วน และนายเบ็นซ์ 1 ส่วน หลังจากนายแดนถึงแก่ความตาย นายท็อป นายบอย และนายเบ็นซ์ ยังทําสวนเงาะร่วมกันต่อจากบิดาของตน ต่อมาเกิดอุทกภัยน้ำท่วมสวนเงาะ นายบอย จึงจ้างคนทําคันดินและสูบน้ำออกจากสวนเงาะ โดยไม่ได้แจ้งให้นายท็อปกับนายเบ็นซ์ทราบ และ นายบอยได้จ่ายเงินค่าจ้างไปแล้ว 100,000 บาท หลังจากนั้นนายบอยขอให้นายท็อปและนายเบนซ์ ช่วยออกค่าใช้จ่ายในการเเก้ปัญหาน้ำท่วมดังกล่าว แต่นายท็อปกับนายเป็นซ์ปฏิเสธความรับผิดชอบ โดยอ้างว่าพวกตนไม่ได้รู้เห็นในการดําเนินการดังกล่าว พร้อมกับเสนอให้เปลี่ยนจากการทําสวนเงาะ ไปทํารีสอร์ทแทน แต่นายบอยไม่เห็นด้วย ดังนี้ นายท็อปกับนายเป็นซ์จะต้องร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในการทําคันดินและแก้ปัญหาน้ำท่วมสวนเงาะมากน้อยเพียงใดหรือไม่ และนายท็อปกับนายเป็นซ์ จะเปลี่ยนจากสวนเงาะไปเป็นรีสอร์ทโดยนายบอยไม่เห็นด้วยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1358 “ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของรวมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินร่วมกันในเรื่องจัดการตามธรรมดา ท่านว่าพึงตกลงโดยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม แต่เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจทําสิ่งใดสิ่งหนึ่งในทางจัดการตามธรรมดาได้ เว้นแต่ฝ่ายข้างมากได้ตกลงไว้เป็นอย่างอื่น แต่ เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจทําการเพื่อรักษาทรัพย์สินได้เสมอ

ในเรื่องจัดการอันเป็นสาระสําคัญ ท่านว่าต้องตกลงกันโดยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม และคะแนนข้างมากนั้นต้องมีส่วนไม่ต่ํากว่าครึ่งหนึ่งแห่งค่าทรัพย์สินการเปลี่ยนแปลงวัตถุที่ประสงค์นั้น ท่านว่าจะตกลงกันได้ก็แต่เมื่อเจ้าของรวมเห็นชอบทุกคน”

มาตรา 1362 “เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จําต้องช่วยเจ้าของรวมคนอื่น ๆ ตามส่วนของตนใน การออกค่าจัดการ ค่าภาษีอากร และค่ารักษา กับทั้งค่าใช้ทรัพย์สินรวมกันด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดนทําพินัยกรรมยกที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งเป็นสวนเงาะให้กับบุตร ของตน โดยระบุให้นายท็อป 3 ส่วน นายบอย 1 ส่วน และนายเบ็นซ์ 1 ส่วน และหลังจากนายแดนถึงแก่ความตาย นายท็อป นายบอย และนายเบ็นซ์ ยังทําสวนเงาะร่วมกันต่อจากบิดาของตนนั้น ย่อมถือว่า นายท็อป นายบอย และนายเบ็นซ์ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมรดกสวนเงาะดังกล่าวตามส่วนที่ตนได้รับตามที่ระบุไว้ใน พินัยกรรม

การที่เกิดอุทกภัยน้ำท่วมสวนเงาะ และนายบอยได้จ้างคนทําคันดินและสูบน้ำออกจากสวนเงาะ โดยไม่ได้แจ้งให้นายทอปกับนายเบ็นซ์ทราบนั้น นายบอยย่อมมีอํานาจกระทําการดังกล่าวได้โดยลําพังเนื่องจาก เป็นการจัดการเพื่อรักษาทรัพย์สินรวมตามมาตรา 1358 วรรคสองตอนท้าย และเมื่อได้จัดการไปแล้ว เจ้าของรวม คนอื่น ๆ ทุกคนก็จะต้องร่วมกันรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายนั้นตามส่วนของตนตามมาตรา 1362 ดังนั้น เมื่อนายบอย ได้จายเงินค่าจ้างไป 100,000 บาท นายท็อปจึงต้องรับผิดชอบ 3 ส่วนเป็นเงิน 60,000 บาท และนายเป็นซ์ต้อง รับผิดชอบ 1 ส่วนเป็นเงิน 20,000 บาท

ส่วนกรณีที่นายท็อปและนายเบ็นซ์ได้เสนอให้เปลี่ยนจากการทําสวนเงาะไปทํารีสอร์แทนนั้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงวัตถุที่ประสงค์ ซึ่งตามมาตรา 1358 วรรคท้ายได้กําหนดไว้ว่าจะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของรวมทุกคนจึงจะดําเนินการได้ ดังนั้น เมื่อนายบอยไม่เห็นด้วย นายทอปและนายเบ็นซ์จึงไม่สามารถ เปลี่ยนจากการทําสวนเงาะไปเป็นรีสอร์ทได้

สรุป นายท็อปกับนายเบ็นซ์จะต้องร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการทําคันดินและแก้ปัญหา น้ำท่วมสวนเงาะโดยนายท็อปต้องรับผิดชอบเป็นเงิน 60,000 บาท และนายเบ็นซ์ต้องรับผิดชอบเป็นเงิน 20,000 บาท และนายท็อปกับนายเบ็นซ์จะเปลี่ยนจากการทําสวนเงาะไปเป็นรีสอร์ทโดยนายบอยไม่เห็นด้วยไม่ได้

 

ข้อ 3. นายดําบุกรุกเข้าไปทําประโยชน์ปลูกหอม กระเทียม และพริกในที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายแดงคิดเป็นพื้นที่ 5 ไร่ โดยมิได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินแปลงนี้ นายดําทําประโยชน์ในที่ดินของนายแดงมาได้ราว 5 ปี ก็เปลี่ยนจากทําเองเป็นให้นายเขียวเช่าทําประโยชน์แทนเป็นเวลา 2 ปี ต่อมานายดํากลับเข้ามาทําประโยชน์เองอีกครั้งหนึ่ง และในครั้งนี้นอกจากปลูกต้นหอม กระเทียม และพริกแล้ว นายดํายังย้ายมาปลูกกระท่อมหลังคามุงจากเพื่อนอนเฝ้าที่ดินด้วย หลังจากที่นายดํามาปลูกกระท่อม อยู่อาศัยในที่ดินของนายแดงได้ 4 ปี นายแดงจึงฟ้องขับไล่นายดํา

ให้ท่านวินิจฉัยว่านายดําจะต่อสู้ ว่าตนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของนายแดงแล้วได้หรือไม่ และนายแดงจะ ต่อสู้ว่านายดําครอบครองปรปักษ์ได้เพียงแค่ 4 ปี จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์

ดังนี้ ข้อต่อสู้ของนายดําหรือนายแดงเป็นข้อต่อสู้ที่ถูกต้อง จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1368 “บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้”

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วย เจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครอง ติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้วการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้

1 เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์

2 ได้ครอบครองโดยความสงบ

3 ครอบครองโดยเปิดเผย

4 ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ

5 ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดําบุกรุกเข้าไปทําประโยชน์ปลูกหอม กระเทียม และพริกใน ที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของนายแดงคิดเป็นพื้นที่ 5 ไร่ โดยมิได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินของนายแดงได้ 5 ปีนั้น การบุกรุกเข้าครอบครองที่ดินของผู้อื่นถือเป็นการครอบครองโดยไม่มีสิทธิ การกระทําของนายดําจึงเป็นการใช้ สิทธิที่เป็นปรปักษ์ต่อกรรมสิทธิ์ของนายแดง และแม้ว่าต่อมานายดําไม่ได้ทําประโยชน์เองแต่ให้นายเขียวเช่า เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งในระหว่างที่นายเขียวเช่าย่อมถือว่านายเขียวทําการครอบครองแทนนายดําตามมาตรา 1368

ดังนั้น การครอบครองของนายดําจึงยังคงนับต่อเนื่องกันตลอดมา และเมื่อในครั้งหลังนายดําได้เข้ามาครอบครอง ทําประโยชน์ด้วยตนเองอีก 4 ปี จึงถือว่านายดําได้ครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของนายแดงได้ 11 ปี นายดําจึงได้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินของนายแดงโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 ดังนั้น การที่นายแดงต่อสู้ว่านายดํา ครอบครองปรปักษ์ได้เพียง 4 ปี จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์นั้น ข้อต่อสู้ของนายแดงจึงไม่ถูกต้อง

สรุป

นายดําจะต่อสู้ว่าตนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของนายแดงแล้วได้ เพราะเป็นข้อต่อสู้ที่ถูกต้อง

 

ข้อ 4. นายลําไยได้รับอนุญาตจากนายลิ้นจี่ให้สัญจรไปมาผ่านที่ดินของนายลิ้นจี่ได้อย่างภาระจํายอมในลักษณะทางซึ่งกว้าง 4 เมตร ในเวลาใดก็ได้ เมื่อนายลําไยได้ใช้ทางไปสักระยะหนึ่ง นายลิ้นจี่ได้ทํา ประตูเหล็กปิดกั้นรถยนต์ที่จะผ่านเข้าออกทําให้นายลําไยเข้าออกได้ไม่สะดวกเพราะต้องคอยขออนุญาตนายลิ้นจี่เปิดประตู ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทางภาระจํายอมได้เต็มที่

ให้ท่านวินิจฉัยว่านายลิ้นจี่ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินภารยทรัพย์มีสิทธิกระทําการเช่นนั้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจํายอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับ กรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”

มาตรา 1390 “ท่านมิให้เจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์ แห่งภาระจํายอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวก”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายลําไยได้รับอนุญาตจากนายลิ้นจี่ให้สัญจรไปมาผ่านที่ดินของ นายลิ้นจี่ได้อย่างภาระจํายอมในลักษณะทางซึ่งกว้าง 4 เมตร ในเวลาใดก็ได้นั้น ย่อมถือว่านายลําไยได้ภาระจํายอม ในที่ดินของนายลิ้นจี่โดยนิติกรรม โดยที่ดินของนายลิ้นจี่ต้องตกอยู่ในภาระจํายอมอันเป็นเหตุให้นายลิ้นจี่ต้อง ยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นคือที่ดินของนายลําไยตามมาตรา 1387

เมื่อนายลําไยได้ใช้ทางไปสักระยะหนึ่ง การที่นายลิ้นจี่ได้ทําประตูเหล็กกั้นรถยนต์ที่จะผ่าน เข้าออกทําให้นายลําไยเข้าออกได้ไม่สะดวกเพราะต้องคอยขออนุญาตนายลิ้นจี่เปิดประตู ไม่สามารถใช้ประโยชน์ จากทางภาระจํายอมได้เต็มที่นั้น ย่อมถือเป็นเหตุทําให้การใช้ประโยชน์แห่งภาระจํายอมของนายลิ้นจี่ลดไป หรือ เสื่อมความสะดวกตามมาตรา 1390 ซึ่งนายลิ้นจี่ย่อมไม่มีสิทธิกระทําการเช่นนั้นได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 3748/2546)

สรุป

นายลิ้นจี่ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินภารยทรัพย์ไม่มีสิทธิกระทําการเช่นนั้นได้

Advertisement