การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1106 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1. ประโยชน์ของการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมาย ทั้งในส่วนกฎหมายไทยและกฎหมายสากล คืออะไร
ธงคําตอบ
เหตุที่ต้องเรียนประวัติศาสตร์กฎหมายก็เพราะวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายเป็นองค์ประกอบสําคัญของวิชานิติศาสตร์เช่นเดียวกันกับร่างกายมนุษย์ซึ่งประกอบด้วยอวัยวะต่าง ๆ หากขาดอวัยวะที่ไม่สําคัญ บางอย่างไป ชีวิตก็ยังคงดํารงอยู่ได้ แต่หากขาดอวัยวะที่สําคัญไป ชีวิตก็ไม่อาจดํารงอยู่ได้ วิชาประวัติศาสตร์ กฎหมายก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน หากไม่เรียน ไม่ศึกษา ก็สามารถประกอบวิชาชีพทางกฎหมายได้ และถ้าหาก ได้ศึกษาวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายก็จะทําให้เข้าใจกฎหมายได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทําให้เข้าใจวิวัฒนาการของกฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ดีขึ้น
1. กล่าวกันว่ากฎหมายเป็นเรื่องของประสบการณ์ บางครั้งบทบัญญัติของกฎหมายก็ไม่ได้ เป็นไปตามหลักตรรกวิทยา บางครั้งต้องอาศัยประวัติศาสตร์มาอธิบายถึงที่มาของบทบัญญัติกฎหมาย จึงจะ เข้าใจถึงเหตุผลของกฎหมาย เช่น ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ศาลทั้งหลายเป็นองค์กรอิสระ แต่ศาลยุติธรรม ของไทยกลับเคยสังกัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นองค์กรของฝ่ายบริหาร ดังนั้น ถ้าหากเราต้องการจะทราบว่า เพราะเหตุใดศาลยุติธรรมของไทยเคยสังกัดกระทรวงยุติธรรม เราก็ต้องไปศึกษาในประกาศจัดตั้งกระทรวงยุติธรรม ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2434) หรือเพราะเหตุใดศาลหลวง (Royal Court) ของประเทศอังกฤษจึงมีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน ตัวอย่างต่าง ๆ เหล่านี้คงต้องนําประวัติศาสตร์มาอธิบายจึงจะสามารถตอบคําถามต่าง ๆ ข้างต้นได้ ณ จุดนี้ประวัติศาสตร์หนึ่งหน้าย่อมมีค่ามากกว่าตรรกวิทยาหนึ่งเล่ม
2. ทําให้เราทราบถึงที่มาแห่งหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ของกฎหมาย เช่น ทําให้เราทราบว่าประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยแบ่งทรัพย์ออกเป็น ทรัพย์มีรูปร่าง และทรัพย์ไม่มีรูปร่าง โดยแบ่งออกเป็นอสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์ตามแบบอย่างกฎหมายโรมัน ในขณะที่กฎหมายไทยแต่เดิมเคยแบ่งทรัพย์ ออกเป็น ทรัพย์มีวิญญาณ (วิญญาณกทรัพย์) และทรัพย์ไม่มีวิญญาณ (อวิญญาณกทรัพย์) เป็นต้น
3. ทําให้เราทราบเจตนารมณ์และขอบเขตของกฎหมาย ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายย่อม ทราบถึงเจตนารมณ์และขอบเขตของกฎหมายเป็นอย่างดี การรู้เจตนารมณ์และขอบเขตของกฎหมายทําให้สามารถ
ใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการตีความกฎหมายตามตัวอักษรขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายเราต้องถือตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นสําคัญยิ่งกว่าความหมายของกฎหมายตามลายลักษณ์อักษร
4. ทําให้เราทราบถึงที่มาของรูปแบบการปกครองของประเทศต่าง ๆ ตลอดจนความเชื่อมั่น และความมุ่งมั่นในการพัฒนาของแต่ละประเทศ
5. ทําให้เราทราบถึงวิธีการต่าง ๆ ที่มนุษย์คิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมในกาลเวลาและสถานที่แตกต่างกัน
6. ประวัติศาสตร์กฎหมายนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมโลก การศึกษาประวัติศาสตร์ กฎหมายย่อมทําให้เราได้ศึกษาอารยธรรมโลกโดยปริยาย
ข้อ 2. หลักการว่าด้วยกษัตริย์ทรงอยู่เหนือกฎหมาย (The King Can Do No Wrong) ดังที่ปรากฏใน รัฐธรรมนูญ มีวิวัฒนาการและภูมิหลังมาจากแนวคิดและอิทธิพลใดในประวัติศาสตร์ของกฎหมาย
ธงคําตอบ
หลักการว่าด้วยกษัตริย์ทรงอยู่เหนือกฎหมาย (The King Can Do No Wrong) ดังที่ปรากฏใน รัฐธรรมนูญนั้น มีวิวัฒนาการและภูมิหลังมาจากแนวคิดแบบ “เทวสิทธิ์” หรือ “เทวราชา” (Divine Right of King) ซึ่งเป็นหลักความเชื่อทางการเมืองและทางศาสนาของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
แนวคิดตามทฤษฎีเทวสิทธิ์ เชื่อว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้างรัฐหรือเป็นผู้ก่อให้เกิดชาติขึ้นมา ดังนั้น พระมหากษัตริย์จึงมีความชอบธรรมที่จะปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ เพราะได้รับมอบอํานาจมาจากพระเจ้าโดยตรง
ส่วนแนวคิดตามทฤษฎีสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เชื่อว่า อํานาจเด็ดขาดในองค์กรเดียวจะก่อให้เกิด ความมั่นคงและสันติภาพ ซึ่งนักทฤษฎีสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่สําคัญ คือ โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) สนับสนุนให้ผู้ปกครองมีอํานาจเด็ดขาด เป็นแนวอธิบายใหม่ของศักดินานิยมที่ยังคงสนับสนุนให้อํานาจเด็ดขาด อยู่กับพระมหากษัตริย์ แต่เปลี่ยนข้ออ้างจากพระเจ้ามาเป็นความมั่นคงและสันติภาพของชุมชน ซึ่งทฤษฎี สมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น นอกจากจะให้ความชอบธรรมแก่ระบบกษัตริย์แล้ว ยังเน้นการรวมศูนย์ยิ่งกว่าทฤษฎี เทวสิทธิ์ ซึ่งโทมัส ฮอปส์ ยังได้กล่าวว่า สภาพธรรมชาติที่ปราศจากอํานาจศูนย์กลางที่ทําให้ทุกคนเกรงกลัว เป็น สภาพสงครามที่ทุกคนต้องต่อสู้กันเอง คนทุกคนเป็นศัตรูกัน ไม่มีความมั่นคง มนุษย์จึงแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดย ทําสัญญาตั้งองค์อธิปัตย์ที่มีอํานาจเด็ดขาดบังคับให้มีการปฏิบัติตามสัญญา องค์อธิปัตย์จึงทําหน้าที่ตรวจตรา ดูแลและลงโทษผู้ไม่ปฏิบัติตามสัญญาสังคม โดยองค์อธิปัตย์จะอยู่เหนือสัญญา ประชาชนไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆต่อองค์อธิปัตย์ อํานาจขององค์อธิปัตย์จึงเด็ดขาดสูงสุด
แนวคิดและหลักความเชื่อดังกล่าวที่ว่าพระเจ้าทรงมอบอํานาจทางโลกให้แก่พระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับที่ทรงมอบอํานาจทางธรรมให้แก่สถาบันศาสนาโดยมีประมุขเป็นพระสันตะปาปา และเมื่อมีการ ขยายตัวของรัฐอิสระต่าง ๆ และการปฏิรูปศาสนาของนิกายโปรเตสแตนต์มีอิทธิพลมากขึ้น ทฤษฎี “เทวสิทธิ์” ก็ กลายมาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสนับสนุนในการให้เหตุผลในเอกสิทธิ์ในการปกครองของพระมหากษัตริย์ทั้งในด้านการเมืองและทางด้านศาสนา
และความเชื่อดังกล่าวนี้ได้แพร่หลายในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง
ของราชวงศ์ทิวดอร์และต้นราชวงศ์สจ๊วตในบริเตน และคริสต์ศาสนาปรัชญาของกลุ่มนักปรัชญาคาโรไลน์ ผู้มีอิทธิพลและมีตําแหน่งหน้าที่สูงในรัชสมัยของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 พระเจ้าชาร์ลที่ 1 และสมเด็จพระเจ้าชาร์ลที่ 2 แห่งอังกฤษ
ในยุคสมัยของการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อํานาจในการบริหารราชการ ทุกประเภทรวมศูนย์อยู่ที่สถาบันกษัตริย์ผู้ดํารงฐานะเป็นประมุขของรัฐ จึงทําให้เข้าใจว่ากษัตริย์เป็นแหล่งกําเนิด อํานาจอธิปไตย อํานาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์ กษัตริย์เป็นผู้ตรากฎหมายและบังคับใช้กฎหมายโดยพระองค์เอง อํานาจต่าง ๆ ในทางการปกครองรวมทั้งการชําระคดีความล้วนมีที่มาหรือได้รับมอบหมายมาจากกษัตริย์ทั้งสิ้น ดังนั้นองค์กษัตริย์จึงไม่อาจมีความรับผิดใด ๆ ได้ เพราะกษัตริย์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองและผู้ใช้อํานาจอธิปไตย เสียเอง จะถูกบังคับให้อยู่ภายใต้อํานาจของตนเองได้อย่างไร จึงมีหลักความคุ้มครองไม่ให้ฟ้องร้องดําเนินคดีใด ๆ ต่อกษัตริย์ที่เรียกว่า “The King Can Do No Wrong” เกิดขึ้นในระบบกฎหมาย Common Law ของอังกฤษ และเป็นที่ยอมรับในหลาย ๆ ประเทศในทวีปยุโรป
ภายหลังจากที่หลายประเทศได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็น ระบอบประชาธิปไตย แต่ละประเทศอาจจะเลือกการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่คงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์เป็น ประมุขของรัฐที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีเป็น
ประมุขโดยตรง ซึ่งแตกต่างกันไปแล้วแต่ประวัติศาสตร์ความผูกพันและทัศนคติหรือมุมมองที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
สําหรับประเทศไทย ได้เลือกระบอบประชาธิปไตยที่คงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 3 ได้บัญญัติรับรองหลักการ ปกครองระบอบประชาธิปไตยไว้ว่า อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้อํานาจ อธิปไตย จึงเท่ากับว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้อํานาจอธิปไตยแทนประชาชน แต่เนื่องจากพระมหากษัตริย์ไม่ได้ บริหารราชการแผ่นดิน เพียงแต่พระองค์ทรงทําตามคําแนะนําของรัฐบาลจึงไม่ต้องมีความรับผิดชอบใด ๆ อัน เกิดจากการกระทําของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ จึงต้องนําหลัก “The King Can Do No Wrong มาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 6 ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” ซึ่งหลักการนี้ได้รับการยอมรับ ในรัฐธรรมนูญของหลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก เบลเยี่ยม และนอร์เวย์
ข้อ 3. กฎหมายศาสนาอิสลามเกิดจากอะไร และมีอิทธิพลอะไรยังไงต่อกฎหมายไทยในยุคปัจจุบัน
ธงคําตอบ
ศาสนาอิสลามมีหลักการสอนให้มีความเชื่อว่า อัลลอฮ์ เป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวในสากล จักรวาล เป็นผู้สร้างโลกมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งปวง ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมอยู่ใต้อํานาจบันดาลของพระองค์ทั้งสิ้น ท่านนบีมู มัด เป็นศาสดาองค์สุดท้ายของศาสนาอิสลามและเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์ ให้มาประกาศสั่งสอนหลักธรรมแก่มนุษย์โลก ดังที่ปรากฏข้อความในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งถือเป็นธรรมนูญสูงสุดและเป็นที่มาอันดับแรกของกฎหมายอิสลาม
กฎหมายอิสลามมีแหล่งกําเนิดที่นครมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ในสมัยที่ท่านนบีมูฮ์มัดได้ทรง ประกาศศาสนาและเป็นผู้ปกครองประเทศ ต่อมาได้แพร่หลายไปในประเทศต่าง ๆ ที่มีมุสลิมซึ่งถือหลักในการ พิจารณากระบวนการยุติธรรม อันเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของครอบครัว ผัวเมีย และการแบ่งปันมรดกของชนชาวมุสลิม
ท่านอาจารย์เด่น โต๊ะมีนา ได้อธิบายว่า กฎหมายอิสลามมีที่มาจากหลักฐานทางศาสนาที่สําคัญอยู่ 4 ประการ คือ
1) พระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน ถือว่าเป็นพระอธิเทวราชโองการของอัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้า ที่ทรงประทานลงมาให้แก่ท่านนบีมูฮัมัด ต่างกรรมต่างวาระที่พระองค์เห็นสมควร ปรากฏว่าภายหลังจากที่ท่าน นบีมูฮ์มัดได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว จึงได้มีการรวบรวมจากที่กระจัดกระจายอยู่ตามบันทึกที่มีการจดเป็นตัวอักษร ไว้ในใบปาล์มบ้าง หนังสัตว์บ้าง ตลอดถึงการจดจําของบรรดาผู้ใกล้ชิด และผู้เป็นสาวกนํามาเรียงลําดับก่อนหลัง จนครบถ้วนบริบูรณ์ รวมทั้งสิ้น 30 ภาค มี 114 บท จํานวน 6,000 กว่าโองการ จึงนับได้ว่าเป็นที่มาของกฎหมาย อิสลามอันดับแรกที่สําคัญที่สุด
2) พระคัมภีร์อัล-หะดีษ คือ ข้อบัญญัติจากการกระทําหรือปฏิบัติการต่าง ๆ และพระวัจนพจน์ ตลอดถึงการวินิจฉัยข้อปัญหากฎหมายบางเรื่องบางอย่าง รวมทั้งการดําเนินตามวิถีทางความเป็นอยู่ทุกอิริยาบถ
ของท่านนบีมูฮ์มัด ซึ่งได้มีการบันทึกและจดจําโดยผู้ใกล้ชิดและบรรดาสาวกทั้งหลาย เก็บรักษาไว้เป็นหลักการ ทางศาสนาและปฏิบัติกันตลอดมาที่เรียกว่า “ซุนนะห์
3) อัล-อิจญ์มาร์ คือ มติธรรมของปวงปราชญ์ ซึ่งเป็นความเห็นอันเกี่ยวกับปัญหาทางกฎหมาย อิสลามที่สอดคล้องต้องกันของนักนิติศาสตร์ฝ่ายศาสนาอิสลาม ผู้ซึ่งเป็นสาวกของท่านนบีมูฮัมัด ในกรณีที่ไม่มี ข้อความอันใดปรากฏในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน หรืออัล-หะดีษ ที่จะยกมาปรับกับปัญหาที่มีขึ้น
4) อัล-กิยาส คือ การเปรียบเทียบโดยอาศัยเหตุผลที่ต่อเนื่องด้วยหลักการแห่งที่มาของกฎหมาย อิสลามทั้ง 3 ประการดังกล่าวข้างต้นนั้น แต่ยังไม่เพียงพอแก่ความต้องการของสังคมมุสลิม จึงจําเป็นต้องใช้ วิธีการให้เหตุผลโดยอาศัยการเปรียบเทียบกับตัวบทกฎหมายที่ใกล้เคียง และไม่ขัดกับหลักการอันเป็นที่มาของกฎหมายอิสลามทั้ง 3 ข้อที่กล่าวแล้วด้วย หรือถ้าหากยังไม่สามารถกระทําได้ก็ให้ดําเนินการวินิจฉัยตามหลักธรรม การปฏิบัติศาสนกิจหรือตามประเพณีนิยม (อัล-อุรฟุ) ทั่วไปที่ไม่ขัดกับหลักธรรมหรือจริยธรรมของอิสลาม เช่น หลักกฎหมายอิสลามที่ใช้บังคับกับศาลชั้นต้นในเขต 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สตูล ยะลา ปัตตานี และ นราธิวาส โดยคู่กรณีต้องเป็นชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในจังหวัดดังกล่าว และต้องเป็นประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายครอบครัวหรือมรดกเท่านั้น เนื่องจากหากมีการใช้มวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับครอบครัว และมรดกบังคับใช้กับประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามที่อยู่ในเขตจังหวัดสตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นอย่างมาก เพราะเนื้อหาของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับครอบครัวและมรดกนั้น มีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับหลักกฎหมายอิสลาม
ข้อ 4. โปรดประเมินผลกระทบทางกฎหมายของมหากฎบัตร (Magna Carta) ที่ส่งผลต่อพัฒนาการทาง กฎหมาย และผลกระทบนั้นมีผลเฉพาะกับประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) เพียงอย่างเดียว ประเทศไทยจึงไม่ได้รับอิทธิพลของมหากฎบัตรไปด้วย จริงหรือไม่
ธงคําตอบ
กฎหมายของมหากฎบัตร (Magna Carta) เป็นกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นในยุคก่อตัวของ Common Law (ค.ศ. 1066 – 1485) สมัยของพระเจ้าจอห์น (King John) มีการลงพระนามเมื่อปี ค.ศ. 1215 ซึ่งเกิดการ แย่งชิงอํานาจระหว่างกษัตริย์กับพวกขุนนาง มีทั้งหมด 63 ข้อ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ลิดรอนอํานาจและขจัดการ กระทําที่ไม่ชอบของพระเจ้าจอห์น และถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกฎหมายรัฐธรรมนูญอังกฤษ นอกจากนี้ ากนี้ยังเป็น
กฎหมายที่มีผลกระทบต่อระบบกฎหมายและศาลหลวงด้วย
สําหรับวัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้ก็คือ ขจัดการกระทําที่ไม่ชอบของพระเจ้าจอห์น กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่ลิดรอนอํานาจของพระองค์เอง แม็กนาคาร์ต้าจึงเป็นหลักประกันว่ากษัตริย์จะต้องอยู่ภายใต้ กฎหมายและจะไม่ปฏิบัติการใด ๆ โดยไม่มีกฎหมายให้อํานาจ และถือเป็นกฎหมายที่วางหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
มหากฎบัตร (Magna Carta) ที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของ พลเมืองอังกฤษในสาระสําคัญ 3 ประการ คือ
1. ปฏิรูปมหาสภา (Magnum Concilium) ให้มีโครงสร้างประกอบด้วยขุนนางผู้ครองเมือง หรือเจ้าของที่ดิน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงมีหมายเรียกเป็นการเฉพาะบุคคล นอกจากนี้ให้เชิญขุนนางตําแหน่งอัศวินจากแต่ละเมืองเข้าร่วมประชุมมหาสภาด้วย นับเป็นครั้งแรกที่ให้สิทธิ์แก่ขุนนางระดับล่างให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ
2. คุ้มครองเสรีภาพของเสรีชนในอันที่จะไม่ถูกจับกุมคุมขังหรือปฏิบัติโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
3. ให้สิทธิแก่ขุนนางในการเลือกตัวแทนมาทําหน้าที่กํากับดูแลให้มีการปฏิบัติตามข้อกําหนด ในแม็กนาคาร์ต้า และให้สิทธิแก่ขุนนางทัดทานการกระทําที่ไม่ชอบธรรม และหากปรากฏว่ามีการใช้อํานาจ ปกครองด้วยความไม่ชอบธรรม หรือละเมิดต่อกฎหมาย หรือข้อตกลงที่ได้กําหนดไว้แล้ว ขุนนางมีสิทธิ์จัดตั้งสภา เพื่อพิจารณาการกระทําของผู้ใช้อํานาจปกครอง
สําหรับผลกระทบนั้น ไม่มีผลแต่เฉพาะกับประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) เพียงอย่างเดียว ในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพลของมหากฎบัตรไปด้วย จากการที่ความมุ่งหมาย และคําอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้มีการอ้างถึง ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยว่าเป็นหมวดที่มีความสําคัญที่สุดหมวดหนึ่งในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้มีการบัญญัติไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 และบัญญัติไว้เรื่อยมาในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ในทางหลักการแล้วหมวดนี้บัญญัติขึ้นเพื่อรองรับ แนวคิดที่ว่ามนุษย์ควรได้รับความคุ้มครองจากรัฐเพื่อที่จะสามารถรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ได้ โดยห้ามมิให้ รัฐใช้อํานาจทางนิติบัญญัติออกกฎหมายเพื่อลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือเกินจําเป็น ซึ่งหลักการสําคัญนี้ปรากฏในมหากฎบัตรแม็กนาคาร์ต้า (Magna Carta) ดังนั้น คํากล่าวข้างต้นจึงไม่จริง