การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1106 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. จงอธิบายกฎหมายบาบิโลนในเรื่องราวความรับผิดชอบทางอาญา และกฎหมายว่าด้วยโทษ

Advertisement

ธงคําตอบ

ประมวลกฎหมายพระเจ้าฮัมมูราบี (กฎหมายบาบิโลน) ซึ่งได้จัดทําขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรในส่วน ที่เกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาและกฎหมายว่าด้วยโทษนั้น ยึดหลักการแก้แค้นตอบแทนที่รุนแรงมาก หลักการ ดังกล่าวนี้เป็นหลักการของกฎหมายดั้งเดิมที่เรียกว่า “Lex Tationis” หรือที่มีคํากล่าวกันว่า “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” (An eye for an eye, and a tooth for a tooth) จะเห็นได้จากข้อความที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ดังนี้คือ

(1) ถ้าบุคคลใดทําลายดวงตาของอีกผู้หนึ่ง ดวงตาของบุคคลนั้นจะถูกทําลายเช่นกัน
(2) ถ้าชายคนหนึ่งเป็นเหตุให้ชายอีกคนสูญเสียลูกนัยน์ตา ลูกนัยน์ตาของชายคนนั้นต้องถูกควักออกมา
(3) บุคคลใดทําให้บุตรสาวของผู้อื่นถึงแก่ความตาย บุตรสาวของตนก็จะถูกลงโทษให้ถึงแก่ ความตายด้วย
(4) ถ้าบ้านพังตกลงมาทับเจ้าของบ้านตาย ผู้สร้างต้องรับผิดชดใช้ด้วยชีวิต
(5) ช่างก่อสร้างบ้านเรือนที่ทําให้บุตรของเจ้าของบ้านถึงแก่ความตายโดยประมาท บุตรของตน จะถูกลงโทษให้ถึงแก่ความตายเช่นกัน
(6) เจ้าหนี้ทําให้บุตรของลูกหนี้ซึ่งมาอยู่กับตนในฐานะเป็นผู้จัดหนี้ (Mancipium) ถึงแก่ความตาย บุตรของเจ้าหนี้จะถูกลงโทษให้ถึงแก่ความตายด้วย

เมื่อพิจารณาหลักการลงโทษดังกล่าว จะเห็นว่าเป็นการลงโทษแก่บุตรหรือธิดาของผู้กระทําผิด ซึ่งบุคคลดังกล่าวไม่ได้กระทําความผิด อันเป็นวิธีการลงโทษที่มีวัตถุประสงค์ในการแก้แค้นหรือตอบแทนผู้ที่กระทําความผิด วิธีการลงโทษดังกล่าวจึงแตกต่างกับกฎหมายอาญาในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในประมวลกฎหมายนี้ไม่มีการลงโทษจําคุกแก่ผู้กระทําผิด เพราะโทษที่ลงแก่ ผู้กระทําผิดร้ายแรงที่ผู้กระทําผิดมีเจตนา เช่น ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ ลักทรัพย์ คือ โทษประหารชีวิต แต่ความผิด อื่น ๆ ที่ไม่ร้ายแรง โทษที่ผู้กระทําความผิดได้รับ คือ โทษปรับ เช่น การฆ่าคนตายโดยเจตนาต้องถูกลงโทษ ประหารชีวิต แต่ถ้าจําเลยสาบานว่าฆ่าคนจริงแต่ไม่เจตนา โทษที่จําเลยได้รับ คือ โทษปรับ โดยคํานึงถึงชั้น
วรรณะของผู้ซึ่งถึงแก่ความตายเป็นหลัก

นอกจากนี้ลูกทําร้ายร่างกายพ่อ จะถูกลงโทษให้ติดมือทิ้งเสีย

วิธีพิสูจน์ความผิดฐานมีชู้ ให้นําภรรยาไปโยนลงในแม่น้ํา ถ้าลอยน้ําถือว่าบริสุทธิ์ ถ้าจมน้ำถือว่ามีความผิด

 

ข้อ 2. อธิบายความแตกต่างหรือคล้ายคลึงกันระหว่างกฎหมาย ดังต่อไปนี้

กฎหมาย 12 โต๊ะ กับศาลพระมหากษัตริย์

Civil Law กับกฎหมายลายลักษณ์อักษร

ธงคําตอบ

กฎหมาย 12 โต๊ะ กับศาลพระมหากษัตริย์

กฎหมาย 12 โต๊ะ มีต้นกําเนิดมาจากความไม่เสมอภาคทางสังคมและทางการเมืองในยุคนั้น ซึ่ง กรุงโรมได้มีการแบ่งออกเป็น 2 ชนชั้น คือ ชนชั้นสูงหรือแพทริเชียน (Patricians) และชนชั้นกลางหรือเพลเบียน (Plebeians) เนื่องจากกฎหมายในสมัยนั้น ยังไม่มีการบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อมีข้อพิพาทขึ้นสู่ศาล พวกแพทริเซียนซึ่งรู้กฎหมายก็มักเป็นฝ่ายชนะคดี ส่วนพวกเพลเบียนที่ไม่มีทางทราบได้เลยว่ากฎหมายที่ใช้มีอยู่อย่างไรก็ต้องแพ้คดีไป จึงได้มีการเรียกร้องให้นํากฎหมายมาเขียนให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งสิทธิ ในการเข้าถึงความยุติธรรมก็ไม่เท่าเทียมกัน การออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย หรือการชี้ขาดตัดสินคดี ล้วนแต่เป็นอํานาจของพวกแพทริเซียนทั้งสิ้น เช่น คดีที่พวกเพลเบียนเป็นลูกหนี้พวกแพทริเซียนแล้วไม่ยอม ชําระหนี้ การบังคับชําระหนี้อาจนําไปสู่การเป็นทาสหรือความตายของลูกหนี้และครอบครัวได้ เพราะผู้พิพากษา ซึ่งทําหน้าที่บังคับชําระหนี้นั้นเป็นพวกเดียวกันกับพวกแพทริเซียน ความยุติธรรมจึงยากที่จะเกิดขึ้นมาได้

และยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งพวกแพทริเชียนมีสิทธิเหนือกว่าพวกเพลเบียน เช่น พวกเพลเบียนไม่มีสิทธิแต่งงาน การแต่งงานระหว่างพวกเพลเบียนและแพทริเซียนนั้นเป็นเรื่องต้องห้ามอย่าง
เด็ดขาด โดยบุตรที่เกิดจากการอยู่กินระหว่างพวกแพทริเซียนกับเพลเบียนจะอยู่ในอํานาจปกครองของครอบครัว เพลเบียนนั้นต่อไป ไม่เปลี่ยนสภาพไปเป็นแพทริเซียนแต่อย่างใด นอกจากนี้สิทธิทางการเมืองในการดํารงตําแหน่ง ต่าง ๆ เช่น ประมุขในการบริหารที่เรียกว่า “กงสุล” ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีอํานาจสูงสุดก็จํากัดเฉพาะพวกแพทริเซียน ๆ ส่วนตําแหน่งอื่น ๆ รองลงไป ก็จํากัดเฉพาะพวกชนชั้นสูงเช่นกัน โดยที่พวกเพลเบียนไม่มีสิทธิดํารงตําแหน่งต่าง ๆในทางการเมืองแต่อย่างใด

จากสาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ ทําให้เกิดความไม่พอใจแก่พวกเพลเบียนเป็นอย่างมาก จึงได้มีการตั้ง คณะกรรมการเพื่อทําหน้าที่เป็นผู้จัดทํากฎหมายขึ้น โดยจารึกไว้บนแผ่นทองบรอนซ์ รูปร่างคล้ายโต๊ะจํานวน 12 แผ่น ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อว่า “กฎหมาย 12 โต๊ะ” นั่นเอง

ศาลพระมหากษัตริย์ (King Court) เป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นในยุคเริ่มแรกของระบบกฎหมาย Common Law ที่กําเนิดขึ้นบนเกาะอังกฤษ โดยสืบเนื่องจากปัญหาในการปกครอง เนื่องจากอังกฤษนั้น หลากหลายด้วยจารีตประเพณี และศาลท้องถิ่นก็ได้นําเอาจารีตประเพณีมาใช้ตัดสินคดี โดยแต่ละท้องถิ่นต่างมี จารีตประเพณีของตนเอง ทําให้ผลของคําพิพากษาแตกต่างกันไปในแต่ละศาล อีกทั้งจารีตประเพณีของบางชนเผ่า ยังเป็นจารีตประเพณีที่ล้าสมัย ราษฎรฝ่ายที่แพ้คดีจึงเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมทั้งวิธีการพิสูจน์ความจริง ก็ยังใช้วิธีการแบบดั้งเดิมคือ การพิสูจน์ด้วยไฟหรือน้ํา รวมทั้งการให้คู่ความต่อสู้กันเอง ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการเข้า ร้องเรียนต่อพระเจ้าวิลเลียม พระองค์จึงได้จัดตั้งศาลพระมหากษัตริย์ (King Court) ขึ้นเพื่อเป็นศาลส่วนกลาง ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ศาลหลวง (Royal Court) และมีผู้พิพากษานั่งรถม้าจากส่วนกลางเป็นศาลเคลื่อนที่หมุนเวียน ออกไปพิจารณาคดี โดยจะไม่ใช้วิธีพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างในศาลท้องถิ่น แต่จะใช้วิธีการไต่สวนจากบุคคลที่รู้เห็น เหตุการณ์แทนการพิจารณาแบบดั้งเดิม ซึ่งทําให้ประชาชนทั่วไปเห็นว่าศาลหลวงสามารถให้ความเป็นธรรม แก่ตนได้ และในที่สุดศาลหลวงก็ได้วางหลักเกณฑ์อันมีลักษณะเป็นสามัญ (Common) และใช้กันทั่วประเทศ จึงทําให้ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) ได้เริ่มเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษนับแต่นั้นเป็นต้นมา

Civil Law กับกฎหมายลายลักษณ์อักษร

Civil Law คือ ระบบกฎหมายที่มีการบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร มีต้นกําเนิดจากอาณาจักรโรมัน โดยระบบกฎหมายนี้จะมีการรวบรวมเอาจารีตประเพณีหรือกฎหมายต่าง ๆ มาบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร และ
จัดไว้เป็นหมวดหมู่อย่างเป็นระเบียบ ซึ่งอยู่ในรูปประมวลกฎหมาย

เหตุที่เรียกชื่อระบบกฎหมายนี้ว่า Civil Law เพราะต้องการที่จะยกย่องและให้เกียรติกฎหมาย โรมัน ซึ่งมีคุณค่าสูงกว่ากฎหมายของชนชาติใด ๆ ในสมัยนั้น เนื่องจากคําว่า “Jus Civile” หรือ “Civil Law หมายถึง กฎหมายที่ใช้กับชาวโรมัน หรือต้นกําเนิดของกฎหมายโรมันแท้ ๆ และคําว่า “Civil Law” นี้ ต่อมาก็ ได้กลายเป็นชื่อระบบกฎหมายซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลาย และเมื่อพิจารณากฎหมายโรมันซึ่งได้มีการบัญญัติไว้เป็น ลายลักษณ์อักษร จึงมีผู้เรียกระบบกฎหมายนี้อีกชื่อหนึ่งว่า กฎหมายลายลักษณ์อักษร (Written Law) นั่นเอง

 

ข้อ 3. การพิจารณาคดีที่กษัตริย์นอร์แมนนํามาใช้มีหลายวิธี จงอธิบายและยกตัวอย่าง

ธงคําตอบ

การพิจารณาคดีที่กษัตริย์นอร์แมนนํามาใช้มีหลายวิธี ดังนี้คือ

1. การสาบานตัวว่าจําเลยเป็นบุคคลที่เชื่อถือได้ (Compurgation) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เวลเจอร์ออฟลอว์ (Wager of Law) เป็นวิธีที่จําเลยจะต้องนําบุคคลฝ่ายตนมาศาล (โดยทั่วไปจะมีจํานวน 12 คน หรือจํานวนมากน้อยกว่านั้นแล้วแต่ศาลกําหนดตามแต่พฤติการณ์ความหนักเบาแห่งคดี แต่อย่างมากที่สุดไม่เกิน 48 คน) และเป็นผู้สาบานตัวต่อศาลว่าจําเลยเป็นผู้บริสุทธิ์หรือจําเลยเป็นบุคคลที่เชื่อถือได้นั่นเอง ไม่ได้สาบานว่าข้อเท็จจริงในคดีนั้นเป็นไปตามที่จําเลยกล่าวอ้าง หากจําเลยไม่สามารถหาตัวบุคคลที่จะมาสาบานตัวต่อศาล ในฐานะเป็นคอมเพอร์เกเตอร์ (Compurgators) หรือโอชเฮลเปอร์ (Oath Helpers) ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้จําเลยก็ต้องแพ้คดีไป

ในบางกรณี ศาลอาจจะกําหนดให้จําเลยเป็นผู้สาบานว่าตนไม่ผิดแต่ผู้เดียว ถ้าหากจําเลย สาบานได้ก็จะชนะคดีพ้นข้อหาไป แต่อย่างไรก็ตามสําหรับคนสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเชื่อคําสาบาน เชื่อถือ
อย่างจริงจังว่า หากสาบานว่าอย่างไรแล้วจะต้องเป็นไปอย่างนั้น ฉะนั้นโดยทั่วไปแล้วถ้าจําเลยผิดจริงจะไม่กล้า สาบานว่าตนไม่ผิดเป็นอันขาด และเหตุผลอีกประการหนึ่งคือ คําสาบานนั้นต้องว่าตามแบบฉบับของศาล ผู้สาบาน ต้องว่าให้ถูกต้องและไม่ติดขัด ถ้าคําสาบานที่กล่าวนั้นผิดพลาดในถ้อยคําแม้เพียงคําเดียว หรือออกเสียงเป็นวิบัติไป ตลอดจนกล่าวตะกุกตะกักไม่ชัดเจน ก็ถือว่าผู้สาบานนั้นไม่สามารถสาบานได้ก็ต้องแพ้คดีไป

2. การพิสูจน์ด้วยไฟหรือน้ำโดยวิธีทรมาน (Ordeal of fire or water) ซึ่งใช้สําหรับคดี อุฉกรรจ์มหันตโทษ เป็นการพิสูจน์ความจริงโดยอาศัยผีสางเทวดาเป็นผู้วินิจฉัย เพราะเกินกําลังความเข้าใจ ของมนุษย์ เป็นการยกให้เป็นภาระของพระผู้เป็นเจ้าที่จะต้องแสดงความผิดหรือความบริสุทธิ์ของคนให้ประจักษ์ ซึ่งมีหลายแบบด้วยกันคือ

(ก) วิธีการใช้เหล็กเผาไฟร้อนแดง แล้วให้จําเลยถือเหล็กที่เผาไฟร้อนแดงนั้นเดินหรือวิ่งเป็นระยะทาง 9 ฟุต เมื่อวางเหล็กนั้นแล้วจะมีการเอาผ้าพันมือของจําเลยที่ได้ถือเหล็กนั้น แล้วประทับตราไว้ เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน หลังจากนั้นก็จะแก้เอาผ้าที่พ้นออก หากปรากฏว่ามือจําเลยไม่มีบาดแผลที่ถูกไฟลวก แต่ประการใดก็ถือว่าพระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์ได้ปกป้องจําเลยผู้บริสุทธิ์แล้ว ตรงกันข้ามหากว่ามือจําเลยมีบาดแผล หรือว่ามีร่องรอยของการที่ถือเหล็กไฟแดงนั้นก็ถือว่าจําเลยได้กระทําความผิดตามที่ถูกกล่าวหานั้น

(ข) วิธีการเอามือจําเลยจุ่มลงไปในกระทะน้ําเดือดเพื่อเอาหินที่อยู่ก้นกระทะนั้นขึ้นมา หลังจากที่จําเลยได้เอามือจุ่มลงไปในน้ําเดือดมาแล้ว 3 วัน ถ้าหากปรากฏว่าไม่มีร่องรอยของการถูกน้ําเดือดลวก แต่ประการใด จําเลยก็จะเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ถ้าหากว่ามีร่องรอยของการถูกน้ําเดือดลวก ก็ถือว่าจําเลยเป็น ผู้กระทําผิดจริงตามฟ้อง

(ค) วิธีน้ำเย็น โดยเอาตัวจําเลยโยนลงไปในน้ํา ถ้าจมก็บริสุทธิ์ แต่ถ้าลอยก็มีความผิด เพราะมีเทวดามาอุ้มไว้ไม่ให้จม จึงเห็นได้ประจักษ์ว่าจําเลยผิดจริง

(ง) วิธีกลืนอาหาร โดยเอาขนมปังหรือเนยแข็งมีน้ําหนักหนึ่งเอานซ์ให้แก่จําเลย แล้ว สาปแช่งให้ขนมปังหรือเนยแข็งชิ้นนั้นติดคอ ถ้าหากจําเลยผิดอย่าให้กลืนลงคอได้ แล้วให้จําเลยกลืนอาหารชิ้นนั้น เข้าไป ถ้าหากกลืนคล่องคอไม่ติดขัด แสดงว่าบริสุทธิ์

3. การให้โจทก์จําเลยต่อสู้กันด้วยกําลังกาย วิธีการนี้เป็นวิธีการพิสูจน์ความจริงทั้งในคดีแพ่ง และคดีอาญา ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมกันมากในยุโรปประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 10 และพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ได้นําเอา วิธีการพิสูจน์แบบนี้มาใช้ในเกาะอังกฤษด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ในสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 2 ได้ทรงกําหนดให้คู่ความ มีสิทธิปฏิเสธวิธีการพิสูจน์ความผิดโดยการต่อสู้กันด้วยกําลังกาย หากคู่ความไม่มีความชํานาญในการใช้อาวุธ และให้ใช้วิธีพิจารณาโดยวิธีการหาคนมาร่วมสาบานแทนวิธีการต่อสู้ได้

 

ข้อ 4. ในฐานะที่ท่านได้ศึกษาวิชาประวัติศาสตร์กฎหมาย ท่านคิดว่าประเทศไทยในยุคปัจจุบันควร กลับไปใช้วิธีการลงโทษเหมือนในยุคกรุงสุโขทัยของพ่อขุนรามคําแหงหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

ในฐานะที่ข้าพเจ้าได้ศึกษาวิชาประวัติศาสตร์กฎหมาย ข้าพเจ้าคิดว่าประเทศไทยในยุคปัจจุบัน ไม่ควรกลับไปใช้วิธีการลงโทษเหมือนในยุคกรุงสุโขทัยของพ่อขุนรามคําแหง ทั้งนี้เพราะ

ในสมัยกรุงสุโขทัยของพ่อขุนรามคําแหงนั้น วิธีการลงโทษตามที่ปรากฏในกฎหมายซึ่งเรียกกันว่า “กฎหมายลักษณะโจร” ที่จารึกไว้ในแผ่นศิลาเป็นหินชนวนสีเขียว ซึ่งพบที่ตําบลเมืองเก่า อําเภอเมือง จังหวัด สุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. 2473 และที่เรียกว่ากฎหมายลักษณะโจร เพราะเหตุว่า เป็นกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับการ กระทําความผิดทางอาญา ซึ่งในสมัยโบราณนั้นผู้กระทําความผิดอาญาล้วนเรียกว่าโจร เช่น โจรปล้น โจรฆ่าคน
เป็นต้น

กฎหมายลักษณะโจรในสมัยสุโขทัย (ศิลาจารึกหลักที่ 38) ถือได้ว่าเป็นกฎหมายที่แท้จริง เพราะเป็นบทบัญญัติที่มาจากองค์อธิปัตย์ คือเป็นกฎหมายที่พระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระบรมราชโองการให้บัญญัติขึ้นมา เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการที่ข้าคนรับใช้หรือภรรยาของผู้อื่นหนีมาอยู่ด้วย แล้วไม่ส่งคืนเจ้าของภายใน 3 วัน มีความผิดต้องถูกปรับไหมตามที่กําหนดไว้ในพระราชศาสตร์ พระธรรมศาสตร์ นอกจากนั้นยังมีบทบัญญัติการให้ รางวัลแก่ผู้จับขโมย หรือนําของที่ถูกลักขโมยไปคืนให้แก่เจ้าของ การไม่ช่วยจับโจรเพราะโจรเป็นญาติพี่น้องก็ดี โจรเป็นข้าของผู้ใหญ่หรือรับเงินจากโจรแล้วปล่อยตัวไปก็ดี ต้องรับโทษเสมือนกับลักคนหรือลักทรัพย์ของผู้อื่น ผู้ช่วยจับกุมผู้กระทําความผิดให้ได้รับรางวัลจากเงินค่าปรับไหม กับทั้งของถูกโจรแย่งชิงไปเท่าใดให้ผู้นั้นใช้จนครบ

จะเห็นได้ว่า ในส่วนที่เป็นบทบังคับของกฎหมายฉบับนี้ คือการปรับไหมผู้กระทําความผิด เป็นสินไหมให้แก่ผู้เสียหาย และการปรับไหมก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในพระราชศาสตร์ พระธรรมศาสตร์ และ แม้ว่าโทษที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 38 กล่าวกันว่า นอกจากจะมีโทษปรับไหมแล้ว ยังมีโทษสัก และโทษโบย แต่ก็ถือว่าเป็นโทษที่ไม่หนักเท่าใดเมื่อเปรียบเทียบกับโทษทางอาญาที่มีในยุคปัจจุบัน ที่นอกจากจะมีโทษปรับแล้ว ยังมีโทษกักขัง จําคุก และโทษประหารชีวิต

เมื่อโทษในสมัยกรุงสุโขทัย ซึ่งมีเพียงโทษปรับไหม รวมทั้งโทษสักและโทษโบย ซึ่งถือว่าเป็นโทษที่ ไม่หนัก รวมทั้งเป็นโทษที่ใช้ในสมัยโบราณที่ไม่นิยมวิธีการลงโทษที่รุนแรง หากนํามาใช้กับประเทศไทยในยุค ปัจจุบันที่มีประชาชนจํานวนมาก มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและเศรษฐกิจตลอดเวลา มีการกระทําความผิด ในลักษณะร้ายแรงเป็นประจําและเกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามไม่ให้มีการกระทํา ความผิดโดยเฉพาะความผิดที่ร้ายแรงที่เป็นภยันตรายทั้งต่อประชาชน ต่อสังคม และต่อเศรษฐกิจของประเทศ จึงจําเป็นต้องใช้บทลงโทษที่หนักแก่ผู้กระทําความผิด เพราะหากใช้บทลงโทษที่ไม่หนักหรือโทษที่ค่อนข้างเบาเหมือนในยุคสุโขทัยแล้ว ย่อมไม่อาจจะทําให้ประสิทธิภาพในการป้องกันและการปราบปรามการกระทําความผิด บรรลุผลสําเร็จลงอย่างแน่นอน เพราะถึงแม้จะมีการลงโทษผู้กระทําความผิดด้วยบทลงโทษตามกฎหมายปัจจุบัน เช่น การประหารชีวิต การจําคุก (ทั้งตลอดชีวิตหรือมีกําหนดเวลา) รวมทั้งการกักขัง หรือปรับ การกระทําความผิด ทางอาญาก็หาได้ลดลงแต่อย่างใดไม่

Advertisement