การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. คัมภีร์พระธรรมศาสตร์คืออะไร ในประมวลกฎหมายตราสามดวงได้มีการกล่าวถึงการกําเนิดของ คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ไว้ว่าอย่างไรบ้าง อธิบาย

Advertisement

ธงคําตอบ

คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ คือ คัมภีร์ที่ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์หรือผู้มีอํานาจเหนือบุคคลธรรมดาแต่ง เรียบเรียงขึ้น เป็นชุมนุมข้อบังคับหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ตามความยุติธรรม กฎเกณฑ์เหล่านี้อยู่เหนือกฎหมายทั้งปวง ดังนั้น จึงย่อมใช้แก่มนุษย์ทั้งหลายที่อยู่ใต้อํานาจการปกครองของกษัตริย์ และกษัตริย์เองก็อยู่ภายใต้กฎหมาย ของพระธรรมศาสตร์ด้วย โดยลักษณะเช่นนี้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์จึงมีศักดิ์เทียบเท่ากฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งกษัตริย์ของราชอาณาจักรไทยได้นําเอาคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาจากมอญมาเป็นหลักในการบัญญัติกฎหมายที่เรียกว่าพระราชศาสตร์มาตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัยแล้ว

ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ได้กล่าวถึงกําเนิดของพระคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ไว้ว่า เกิดจากการที่มีท้าวมหาพรหมองค์หนึ่งชื่อ พรหมเทวะ จุติจากพรหมโลกแล้วมาปฏิสนธิกําเนิดในตระกูลมหาอํามาตย์ซึ่งเป็นข้าบาท พระเจ้ามหาสมมุติราช ครั้นอายุได้ 15 ปี ก็เข้าแทนที่บิดา ต่อมาเห็นสัตว์โลกทั้งหลายได้รับความทุกข์ยากต่าง ๆ จึงมีความปรารถนาที่จะให้พระเจ้าสมมุติราชตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม จึงถวายบังคมลาออกไปบวชเป็นฤาษีอยู่ใน ป่าหิมพานต์ ต่อมาพระเทวฤๅษีได้เสียเป็นผัวเมียกับกินรีนางหนึ่งจนเกิดบุตร 2 คน คนแรกชื่อ ภัทธระกุมาร คนที่ 2 ชื่อ มโนสารกุมาร เมื่อบุตรทั้ง 2 เจริญเติบโต บิดาก็ให้บวชเป็นฤๅษีจําศีลภาวนา และรับใช้ปรนนิบัติบิดามารดา จนกระทั่งบิดามารดาได้ตายจากไป ภัทธระดาบสจึงได้ละเพศฤาษีไปรับราชการเป็นปุโรหิตสั่งสอนพระเจ้าสมมุติราช ส่วนมโนสารฤๅษีก็ตามพี่ชายออกไปทําราชการด้วย พระเจ้าสมมุติราชจึงตั้งมโนสารให้เป็นผู้พิพากษา

ครั้นอยู่มาวันหนึ่งมีชาย 2 คน ทําไร่แตงใกล้กัน เมื่อปลูกแล้วเอาดินมาปูเป็นถนนกั้นกลาง เถาแตง จึงเลื้อยพาดผ่านข้ามถนนพันจนเป็นต้นเดียวกัน เมื่อแตงเป็นผล ชายทั้งสองต่างก็มาเก็บแตงจึงเกิดการทะเลาะวิวาท ด้วยต่างอ้างเป็นเจ้าของผลแตง ชายทั้งสองจึงพากันมาหาพระมโนสารให้เป็นผู้ชี้ขาด พระมโนสารตัดสินว่า แตงอยู่ในไร่ผู้ใดผู้นั้นเป็นเจ้าของผลแตง ชายผู้หนึ่งไม่พอใจในคําตัดสินของพระมโนสาร จึงอุทธรณ์คําตัดสิน ไปยังพระเจ้าสมมุติราช พระองค์จึงตรัสใช้อํามาตย์ผู้หนึ่งให้ไปพิจารณาคดีใหม่ อํามาตย์ผู้นั้นจึงเลิกต้นแต่งขึ้นดู ตามปลายยอด เอายอดแตงกลับมาไว้ตามต้น ชายทั้งสองต่างพอใจในคําตัดสินของอํามาตย์ผู้นี้ และประชาชน ทั้งหลายต่างพากันตําหนิว่าพระมโนสารตัดสินคดีไม่เป็นธรรม พระมโนสารมีความเสียใจจึงหนีไปออกบวชเป็น ฤๅษีจําเริญภาวนาได้อภิญญา 5 และอรรฐสมบัติ 8 แล้วมีความประสงค์จะให้พระเจ้าสมมุติราชทรงไว้ด้วย ทศพิธราชธรรม 10 ประการ จึงเหาะไปยังกําแพงจักรวาลเห็นบาลีคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นลายลักษณ์อักษรปรากฏอยู่ในกําแพงจักรวาลมีปริมณฑลเท่ากายคชสาร พระมโนสารก็จดจําและนํามาแต่งเรียบเรียงขึ้นเป็นคัมภีร์ พระธรรมศาสตร์ เพื่อมาสั่งสอนพระเจ้าสมมุติราช

 

ข้อ 2. ในพระอัยการลักษณะตัวเมีย ในกฎหมายตราสามดวง มีบทบัญญัติที่มีลักษณะเป็นเงื่อนไขการ
สมรสในกรณีใดบ้าง อธิบาย

ธงคําตอบ

ตามพระอัยการลักษณะตัวเมียในกฎหมายตราสามดวงนั้น ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้หลายคนในเวลาเดียวกัน ดังนั้นสังคมไทยจึงเป็นสังคมแบบ Polygamy แต่ในขณะเดียวกันกฎหมายก็ไม่อนุญาตให้หญิง มีสามีได้หลายคนในเวลาเดียวกัน หากหญิงมีสามีอยู่ก่อนแล้วจะสมรสกับชายอื่นอีกไม่ได้ จนกว่าสามีจะตายและ
เผาศพสามีเรียบร้อยแล้ว หรือหย่าขาดจากสามีแล้ว

เมื่อชายสามารถมีภรรยาได้หลายคนในเวลาเดียวกัน ในพระอัยการลักษณะตัวเมียจึงมีบทบัญญัติที่มีลักษณะเป็นเงื่อนไขการสมรสไว้ดังนี้

เงื่อนไขการสมรส

เงื่อนไขการสมรส หมายความถึง คุณสมบัติที่ผู้จะสมรสต้องมีหรือต้องไม่มี เพื่อให้การสมรสมีผล สมบูรณ์ตามกฎหมาย แม้ในพระอัยการลักษณะตัวเมียจะไม่ได้บัญญัติไว้โดยตรงว่าเป็นเงื่อนไขแห่งการสมรส ทํานองเดียวกันกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาแล้ว บทบัญญัติดังต่อไปนี้น่าจะถือว่า เป็นเงื่อนไขแห่งการสมรสตามพระอัยการลักษณะตัวเมียได้

1. หญิงต้องไม่ใช่ภรรยาของชายอื่นอยู่ก่อนแล้ว จริงอยู่กฎหมายยินยอมให้ผู้ชายมีภรรยาได้ หลายคนในเวลาเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้อนุญาตให้ผู้หญิงมีสามีได้หลายคนในเวลาเดียวกัน หากหญิงมีสามีอยู่ก่อนแล้ว และไปได้เสียกับชายอื่น กฎหมายถือว่าชายนั้นเป็นเพียงชายชู้เท่านั้น จะต้องเอาหญิงนั้นส่งคืนสามีของเขา

2. ชายต้องไม่เป็นพระภิกษุ กฎหมายห้ามไว้โดยชัดแจ้งไม่ให้พระภิกษุสามเณรมีภรรยา ถ้าพระภิกษุสามเณรผิดเมียผู้อื่นถึงชําเรา ได้ชื่อว่าปาราชิกให้สึกออก และให้ปรับไหมด้วย

3. ชายหญิงต้องไม่เป็นญาติกัน ทั้งนี้เชื่อกันว่าหากชายหญิงที่เป็นญาติกันสมรสกัน จะทําให้ เกิดสิ่งอัปมงคลแก่บ้านเมือง

4. หญิงหม้ายที่สามีตายจะสมรสใหม่ได้จะต้องเผาศพสามีเดิมให้เรียบร้อยเสียก่อน ทั้งนี้ กฎหมายบัญญัติไว้ในลักษณะที่ทําให้เห็นว่า หากหญิงยังไม่เผาศพสามีที่ตายไปแล้ว การสมรสยังไม่ขาดจากกัน หากหญิงชักนําเอาชายอื่นมาหลับนอนด้วย ชายนั้นมีฐานะเป็นชายชู้ กฎหมายให้ปรับไหมชายนั้นฐานทําด้วย
ภรรยาของผู้อื่น

5. กําหนดอายุ พระอัยการลักษณะตัวเมียไม่ได้กําหนดอายุขั้นต่ําของชายหญิงที่จะทําการสมรสได้ไว้ แต่ก็เป็นที่เข้าใจว่าฝ่ายชายต้องได้บวชเรียนเรียบร้อยแล้ว และฝ่ายหญิงก็คงจะต้องเติบโตพอจนออก เรือนได้แล้ว จึงจะทําการสมรสกัน

การสมรส

การสมรสตามพระอัยการลักษณะผัวเมียนั้น จะไม่มีการจดทะเบียนสมรสกันดังเช่นในปัจจุบัน แต่ ก็ไม่ได้หมายความว่าชายหญิงได้เสียกันแล้วจะเป็นสามีภริยากันเสมอไปก็หาไม่ การที่ชายหญิงจะมีสามีภรรยา โดยชอบด้วยกฎหมายนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังนี้คือ

1. ชายหญิงทั้งสองฝ่ายได้กินอยู่หลับนอนด้วยกันโดยมีเจตนาเป็นสามีภรรยากัน

2. บิดามารดาหรือผู้เป็นอิสระแก่หญิง (ผู้มีอํานาจปกครอง) ยินยอมยกหญิงให้เป็นภรรยาชาย
โดยหญิงนั้นยินยอมด้วย

 

ข้อ 3. จงอธิบายระบบกฎหมายศาสนาและประเพณีนิยม

ธงคําตอบ

ระบบกฎหมายศาสนาและประเพณีนิยม ปัจจุบันมีบางประเทศที่นําเอาคําสอนของพระผู้เป็นเจ้า มาบัญญัติเป็นกฎหมาย จึงกล่าวกันว่าศาสนาเป็นที่มาของบ่อเกิดของกฎหมาย มี 3 กลุ่ม คือ

(1) ศาสนาอิสลาม ต้นกําเนิดประเทศแรกคือ ซาอุดิอาระเบีย คําสอนของพระเจ้า คือ อัลลอฮ์ ปรากฏอยู่ในกฎหมาย เช่น กฎหมายครอบครัวและมรดก เป็นต้น

(2) ศาสนาคริสต์ แนวความคิดของศาสนาคริสต์ ใช้เป็นแนวทางในการร่างกฎหมายของประเทศ ที่นับถือคริสต์ศาสนา เช่น ข้อกําหนดห้ามหย่า การห้ามคุมกําเนิด การห้ามทําแท้ง และการห้ามสมรสซ้อน (Bigamy) เป็นต้น

(3) ศาสนาฮินดู ต้นกําเนิดประเทศแรกอยู่ในประเทศอินเดีย ตัวอย่างปรากฏอยู่ในตํารากฎหมาย
คือ พระธรรมศาสตร์ หรือของไทยเรียกคัมภีร์ธรรมศาสตร์ของมโนสาราจารย์

ส่วนประเพณีนิยม เกิดจากคําสอนของนักปราชญ์ มิใช่พระผู้เป็นเจ้า เช่น ชาวจีนในสมัยขงจื้อ ที่นําเอาความเชื่อของนักปราชญ์ท่านนี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายในชีวิตประจําวัน หรือลัทธิชินโตของประเทศญี่ปุ่นก็มีอิทธิพลต่อการจัดทํากฎหมายของญี่ปุ่นเช่นกัน

 

ข้อ 4. ข้อแตกต่างระหว่างระบบกฎหมายสังคมนิยม กับระบบกฎหมายชีวิลลอว์ มีกี่ประการ อะไรบ้าง จงอธิบายโดยยกมาให้ดูเป็นข้อ ๆ

ธงคําตอบ

ข้อแตกต่างระหว่างระบบกฎหมายสังคมนิยม กับระบบกฎหมายชีวิลลอว์ มี 4 ประการ คือ

(1) ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ พัฒนามาเป็นระยะเวลานานหลายศตวรรษ การออกกฎหมายต้อง อาศัยหลักการ เหตุผลและเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นพื้นฐานรองรับ แต่ในระบบกฎหมายสังคมนิยมอาศัยการเมือง เป็นจักรกลสําคัญในการออกกฎหมาย ดังนั้นจึงมีผลให้หลักการสําคัญของกฎหมายหลายเรื่องแตกต่างกัน เช่น กฎหมายอาญาของประเทศสังคมนิยม ไม่ต้องตีความโดยเคร่งครัด โดยอาจจะลงโทษผู้กระทําความผิดโดยอาศัย การเทียบเคียงความผิด (Crime by Aralogy) และออกกฎหมายย้อนหลังลงโทษผู้กระทําความผิดได้

(2) ระบบกฎหมายชีวิลลอว์ มักถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด การออกกฎหมายใด ๆ จะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่ในระบบกฎหมายสังคมนิยมจะคํานึงถึงเป้าหมาย นั่นคือ การสร้างความ เท่าเทียมกันในสังคมมากกว่าวิธีการ ดังนั้นแม้จะต้องออกกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ได้ผ่านขั้นตอน ของรัฐสภาก็อาจจะใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

(3) ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ ให้เสรีภาพแก่เอกชนในการถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน แต่ในระบบ กฎหมายสังคมนิยมถือว่ารัฐมีอํานาจในการจํากัดการมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์

(4) ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ ให้ความสําคัญแก่กฎหมายเอกชนมากกว่ากฎหมายมหาชน แต่ ในระบบกฎหมายสังคมนิยมจะให้ความสําคัญแก่กฎหมายมหาชนมากกว่ากฎหมายเอกชน เนื่องจากความจําเป็น ทางด้านการเมือง และถือว่านิติสัมพันธ์ของประชาชนอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายมหาชน เช่น การได้มาหรือ สิ้นไปของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ตลอดจนความสัมพันธ์ในครอบครัว

 

Advertisement