การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. กฎหมายตราสามดวงคืออะไร เพราะเหตุใดจึงมีการบัญญัติกฎหมายตราสามดวงขึ้นมา จงอธิบาย

Advertisement

ธงคําตอบ

กฎหมายตราสามดวง คือ กฎหมายที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงให้บัญญัติมา เพื่อใช้ปกครองบ้านเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2347 (จ.ศ. 1166) เหตุที่มีการบัญญัติกฎหมายตราสามดวงขึ้นมาก็เนื่องจาก มีการร้องทุกข์ของนายบุญศรี ช่างเหล็กหลวง ว่าภรรยาของตนเองซึ่งมีชื่อว่าอําแดงป้อม ไปทําชู้กับราชาอรรถ แล้วมาฟ้องหย่านายบุญศรี นายบุญศรีไม่ยอมหย่า แต่ศาลตัดรับให้หย่ากันได้ เพราะตามกฎหมายในขณะนั้น บัญญัติว่า เป็นหญิงหย่าชายหย่าได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเห็นว่า หญิงนอกใจชายแล้วมา ฟ้องหย่า ลูกขุนปรึกษาให้หย่ากันนั้นหายุติธรรมไม่ จึงทรงให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งรวม 11 คน ให้ จัดการชําระบทกฎหมายทั้งหมด ตั้งแต่พระธรรมศาสตร์เป็นต้นมาให้ถูกต้องตามความยุติธรรม และให้อาลักษณ์ เขียนเป็นฉบับหลวงจํานวน 3 ชุด ประทับตราคชสีห์ ราชสีห์ และบัวแก้ว อันตราของสมุหพระกลาโหม สมุหนายก และเจ้าพระยาพระคลังไว้เป็นสําคัญ จึงได้เรียกในภายหลังว่ากฎหมายตราสามดวง

 

ข้อ 2. หลักอินทภาษคืออะไร มีหลักเกณฑ์ว่าอย่างไร การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามหลักอินทภาษมีผลต่อ ตุลาการอย่างไรบ้าง จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักอินทภาษ คือ คําสั่งของพระอินทร์ที่มีต่อบุรุษผู้หนึ่งซึ่งมีหน้าที่เป็นตุลาการว่าการจะเป็น ตุลาการที่ดีจะต้องไม่มีอคติ 4 ประการ คือ ฉันทาคติ (รัก), โทสาคติ (โกรธ), ภยาคติ (กลัว), โมหาคติ (หลง) และต้องตัดสินความตามพระธรรมศาสตร์โดยคลองธรรมอันเป็นจัตุรัส ซึ่งหมายความว่าพลิกยากไม่ใช่เป็นไปตาม
อารมณ์ของตุลาการ

ที่ว่าให้ผู้พิพากษาปราศจากฉันทาคตินั้น หมายถึง ให้ทําจิตใจให้ปราศจากความโลภ อย่าเห็นแก่ อามิสสินจ้าง อย่าเข้าด้วยโจทก์หรือจําเลย เพราะเหตุจะได้ทรัพย์จากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แม้ว่าผู้ต้องคดีจะเป็นบิดา
มารดาก็ต้องทําใจให้เป็นกลาง

การทําใจให้ปราศจากโทสาคติ หมายความว่า อย่าตัดสินความโดยความโกรธและอาฆาตพยาบาท
เพราะเห็นผู้นั้นเป็นปฏิปักษ์กับตน

การพิจารณาคดีโดยปราศจากภยาคติ หมายความว่า ให้ผู้พิพากษาทําจิตใจให้มั่นคง ไม่หวั่นไหว กลัวฝ่ายโจทก์หรือจําเลย เพราะเป็นผู้มีอํานาจราชศักดิ์หรือเป็นผู้มีกําลังพวกพ้องมาก

การตัดสินคดีโดยปราศจากโมหาคติ หมายความว่า จะต้องตัดสินคดีด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ คดีใด ควรแพ้ก็ต้องให้แพ้ คดีใดควรชนะก็ให้ชนะ จะต้องเป็นผู้รอบรู้ในพระธรรมศาสตร์ จะต้องไม่ตัดสินคดีโดยความหลง

การตัดสินคดีโดยมีอคติ 4 ประการนี้ นับว่าเป็นบาปอย่างยิ่ง กล่าวว่าถึงแม้จะฆ่าสิ่งมีชีวิตไปเป็นพันเป็นหมื่น บาปกรรมนั้นก็ไม่เท่ากับบุคคลที่บังคับคดีไม่เที่ยงตรง

การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามคําสอนนี้มีผลต่อตุลาการผู้นั้น คือ ถ้าตัดสินความโดยปราศจากอคติ 4 ประการดังกล่าวแล้ว อิสริยยศและบริวารยศแห่งบุคคลผู้นั้นก็จะเจริญรุ่งเรือง เปรียบประดุจเดือนข้างขึ้น ถ้าผู้ใดตัดสินโดยมีอคติ 4 ประการดังกล่าว อิสริยยศและบริวารยศก็จะเสื่อมสูญไป เปรียบประดุจเดือนข้างแรม

 

ข้อ 3. จงอธิบายระบบกฎหมายสังคมนิยมมาพอสังเขป

ธงคำตอบ

ระบบกฎหมายสังคมนิยม (Socialist Law)

คําว่า “สังคมนิยม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายความหมายว่า ทฤษฎีเศรษฐกิจ และการเมืองที่มีหลักการให้รัฐหรือส่วนรวมเป็นเจ้าของปัจจัยในการผลิต ตลอดจนการจําแนกแจกจ่ายและวาง
ระเบียบการบริโภคผลผลิต

คําว่าสังคมนิยมมักนําไปใช้ในเรื่องทางการเมืองการปกครอง ซึ่งการปกครองในระบอบสังคมนิยม มีต้นกําเนิดในรัสเซียเมื่อปี พ.ศ. 2460 หรือ ค.ศ. 1917 แต่เดิมรัสเซียมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในปีดังกล่าวได้มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์มาเป็นสังคมนิยมซึ่งเป็นการปกครองที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทําให้สังคมกลายเป็นคอมมิวนิสต์ในที่สุด

คําว่าคอมมิวนิสต์ หมายความว่า ลัทธิเกี่ยวกับการจัดระเบียบสังคมที่ยึดหลักว่าการรวมกันของ บรรดาทรัพย์สินทั้งหลายเป็นของกลางร่วมกันทั้งหมด เอกชนจะถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้

แนวความคิดในเรื่องสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ เกิดจากแนวความคิดหรือทฤษฎีทางเศรษฐกิจ ของนักปราชญ์ 2 ท่านคือ คาร์ล มาร์กซ์ (Kart Marx) และเลนิน (Lenin) ทั้ง 2 เชื่อว่าต้องสร้างผลประโยชน์ ของส่วนรวมขึ้น โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ ทําให้สังคมเป็นคอมมิวนิสต์ โดยที่ทรัพยากรและผลผลิตต่าง ๆ ย่อมตกเป็นของชุมชน และจะไม่มีสิ่งใดเป็นของเอกชนเลย แต่การที่จะบรรลุ ถึงอุดมการณ์เช่นนั้นได้ต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ เพื่อบีบบังคับเอามาเป็นของชุมชน เนื่องจากมนุษย์โดย ธรรมชาติย่อมเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของชุมชน

สืบเนื่องจากแนวความคิดดังกล่าว นักกฎหมายสังคมนิยมจึงแบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ประเภท คือ กฎหมายสังคมนิยมกับกฎหมายที่ไม่ใช่สังคมนิยม โดยกฎหมายที่ไม่ใช่สังคมนิยม ได้แก่ กฎหมายที่ปกป้อง ผลประโยชน์ของเอกชน ซึ่งการปกป้องผลประโยชน์ของเอกชนย่อมทําลายผลประโยชน์ของชุมชน

ดังนั้น แนวความคิดของมาร์กซ์และเลนิน จึงถือว่าเป็นบ่อเกิดหรือเป็นที่มาของกฎหมายในระบบ กฎหมายสังคมนิยม นอกจากแนวความคิดของนักปราชญ์ทั้งสองแล้ว ที่มาของกฎหมายอีกแหล่งหนึ่ง คือ รัฐสภา ในรัสเซียก็มีฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งทําหน้าที่ออกกฎหมายลายลักษณ์อักษร รวมทั้งรัสเซียเองก็มีจารีตประเพณีของ ตนเอง จึงถือว่าเป็นที่มาของกฎหมายได้อีกทางหนึ่งด้วย ในเมื่อไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง

ในปัจจุบันถึงแม้ว่าลัทธิสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์จะล่มสลายในรัสเซียไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีอีก
หลายประเทศที่มีการปกครองระบอบสังคมนิยม เช่น สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว เป็นต้น แต่นักกฎหมายสังคมนิยมเห็นว่าประเทศของตนไม่ใช่ทุนนิยม จึงไม่อาจจัดอยู่ในระบบ กฎหมายโรมาโน-เยอรมันนิคได้ เพราะเป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบที่แตกต่างกัน ดังนั้นระบบกฎหมาย จึงย่อมไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้เองจึงได้เกิดระบบกฎหมายใหม่ขึ้นมาอีกระบบหนึ่ง

 

ข้อ 4. กฎหมายสิบสองโต๊ะว่ามีสาเหตุเกิดจากอะไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

การแบ่งชนชั้นออกเป็น 2 พวก คือ แพทริเชียน (Patricians) และเพลเบียน (Plebeians) ทําให้ เกิดความเหลื่อมล้ําและไม่เสมอภาคทางสังคมและทางการเมือง พวกชนชั้นสูงหรือแพทริเชียนมีสิทธิเหนือกว่า ชนชั้นกลางหรือสามัญชนคือพวกเพลเบียน เช่น พวกเพลเบียนไม่มีสิทธิแต่งงาน (Conubium) การแต่งงานที่ ขอบด้วยกฎหมายระหว่างชนชั้นสูง จะมีผลทําให้บุตรที่เกิดจากคู่สมรสอยู่ในอํานาจปกครองของครอบครัวที่บิดา
สังกัดอยู่ การแต่งงานระหว่างพวกเพลเบียนและแพทริเซียนจึงเป็นของต้องห้ามอย่างเด็ดขาด ส่วนบุตรที่เกิดจาก การอยู่กินกันระหว่างพวกแพทริเซียนกับเพลเบียนจะอยู่ในอํานาจปกครองของครอบครัวของเพลเบียนนั้นต่อไปไม่เปลี่ยนสภาพกลายเป็นแพทริเชียน

สิทธิทางการเมืองในการดํารงตําแหน่ง เช่น ประมุขในการบริหารหรือปกครองที่เรียกว่ากงสุล ซึ่ง ถือว่าเป็นผู้มีอํานาจสูงสุด (Imperium) จํากัดเฉพาะพวกแพทริเซียน ส่วนตําแหน่งต่าง ๆ รองลงไปก็จํากัด เฉพาะพวกชนชั้นสูงเท่านั้น พวกเพลเบียนไม่มีสิทธิดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ทางการเมืองแต่อย่างใด

นอกจากนี้ในการออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย หรือการชี้ขาดตัดสินคดี เป็นอํานาจของ พวกแพทริเซียนทั้งสิ้น เช่น พวกเพลเขียนที่เป็นลูกหนี้พวกแพทริเซียน แล้วไม่ยอมชําระหนี้ การบังคับชําระหนี้ อาจนําไปสู่ความเป็นทาส หรือความตายของลูกหนี้และครอบครัวได้ เพราะผู้พิพากษาซึ่งทําหน้าที่บังคับชําระหนี้ ก็เป็นพวกเดียวกันกับพวกแพทริเชียน ความยุติธรรมจึงยากที่จะเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้เองทําให้เกิดความไม่พอใจ แก่พวกเพลเบียนเป็นอย่างมาก เพราะพวกนี้ไม่มีทางทราบได้เลยว่ากฎหมายที่ใช้มีอยู่อย่างไร จึงได้มีการเรียกร้องให้นํากฎหมายเหล่านั้นมาเขียนให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร

สรุป กําเนิดของกฎหมายสิบสองโต๊ะเกิดจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนชั้น 2 พวก คือ แพทริเซียน และเพลเบียนนั่นเอง

 

Advertisement