การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. กฎหมายตราสามดวงคืออะไร เพราะเหตุใดจึงมีการบัญญัติกฎหมายตราสามดวงขึ้นมา จงอธิบาย

Advertisement

ธงคําตอบ

กฎหมายตราสามดวง คือ กฎหมายที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงให้บัญญัติมา เพื่อใช้ปกครองบ้านเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2347 (จ.ศ. 1166) เหตุที่มีการบัญญัติกฎหมายตราสามดวงขึ้นมาก็เนื่องจาก มีการร้องทุกข์ของนายบุญศรี ช่างเหล็กหลวง ว่าภรรยาของตนเองซึ่งมีชื่อว่าอําแดงป้อม ไปทําชู้กับราชาอรรถ แล้วมาฟ้องหย่านายบุญศรี นายบุญศรีไม่ยอมหย่า แต่ศาลตัดรับให้หย่ากันได้ เพราะตามกฎหมายในขณะนั้น บัญญัติว่า เป็นหญิงหย่าชายหย่าได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเห็นว่า หญิงนอกใจชายแล้วมา ฟ้องหย่า ลูกขุนปรึกษาให้หย่ากันนั้นหายุติธรรมไม่ จึงทรงให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งรวม 11 คน ให้ จัดการชําระบทกฎหมายทั้งหมด ตั้งแต่พระธรรมศาสตร์เป็นต้นมาให้ถูกต้องตามความยุติธรรม และให้อาลักษณ์ เขียนเป็นฉบับหลวงจํานวน 3 ชุด ประทับตราคชสีห์ ราชสีห์ และบัวแก้ว อันตราของสมุหพระกลาโหม สมุหนายก และเจ้าพระยาพระคลังไว้เป็นสําคัญ จึงได้เรียกในภายหลังว่ากฎหมายตราสามดวง

 

ข้อ 2. คัมภีร์พระธรรมศาสตร์คืออะไร ในประมวลกฎหมายตราสามดวงได้มีการกล่าวถึงการกําเนิดของ คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ไว้ว่าอย่างไร อธิบาย

ธงคําตอบ

คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ คือ คัมภีร์ที่ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์หรือผู้มีอํานาจเหนือบุคคลธรรมดาแต่ง เรียบเรียงขึ้น เป็นชุมนุมข้อบังคับหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ตามความยุติธรรม กฎเกณฑ์เหล่านี้อยู่เหนือกฎหมายทั้งปวง ดังนั้น จึงย่อมใช้แก่มนุษย์ทั้งหลายที่อยู่ใต้อํานาจการปกครองของกษัตริย์ และกษัตริย์เองก็อยู่ภายใต้กฎหมาย ของพระธรรมศาสตร์ด้วย โดยลักษณะเช่นนี้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์จึงมีศักดิ์เทียบเท่ากฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งกษัตริย์ของราชอาณาจักรไทยได้นําเอาคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาจากมอญมาเป็นหลักในการบัญญัติกฎหมาย
ที่เรียกว่าพระราชศาสตร์มาตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัยแล้ว

ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ได้กล่าวถึงกําเนิดของพระคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ไว้ว่า เกิดจากการที่มีท้าวมหาพรหมองค์หนึ่งชื่อ พรหมเทวะ จุติจากพรหมโลกแล้วมาปฏิสนธิกําเนิดในตระกูลมหาอํามาตย์ซึ่งเป็นข้าบาท พระเจ้ามหาสมมุติราช ครั้นอายุได้ 15 ปี ก็เข้าแทนที่บิดา ต่อมาเห็นสัตว์โลกทั้งหลายได้รับความทุกข์ยากต่าง ๆ จึงมีความปรารถนาที่จะให้พระเจ้าสมมุติราชตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม จึงถวายบังคมลาออกไปบวชเป็นฤาษีอยู่ใน ป่าหิมพานต์ ต่อมาพระเทวฤๅษีได้เสียเป็นผัวเมียกับกินรีนางหนึ่งจนเกิดบุตร 2 คน คนแรกชื่อ ภัทธระกุมาร คนที่ 2 ชื่อ มโนสารกุมาร เมื่อบุตรทั้ง 2 เจริญเติบโต บิดาก็ให้บวชเป็นฤๅษีจําศีลภาวนา และรับใช้ปรนนิบัติบิดามารดา จนกระทั่งบิดามารดาได้ตายจากไป ภัทธระดาบสจึงได้ละเพศฤๅษีไปรับราชการเป็นปุโรหิตสั่งสอนพระเจ้าสมมุติราช ส่วนมโนสารฤๅษีก็ตามพี่ชายออกไปทําราชการด้วย พระเจ้าสมมุติราชจึงตั้งมโนสารให้เป็นผู้พิพากษา

ครั้นอยู่มาวันหนึ่งมีชาย 2 คน ทําไร่แตงใกล้กัน เมื่อปลูกแล้วเอาดินมาปูเป็นถนนกั้นกลาง เถาแตง จึงเลื้อยพาดผ่านข้ามถนนพันจนเป็นต้นเดียวกัน เมื่อแตงเป็นผล ชายทั้งสองต่างก็มาเก็บแตงจึงเกิดการทะเลาะวิวาท ด้วยต่างอ้างเป็นเจ้าของผลแตง ชายทั้งสองจึงพากันมาหาพระมโนสารให้เป็นผู้ชี้ขาด พระมโนสารตัดสินว่า แตงอยู่ในไร่ผู้ใดผู้นั้นเป็นเจ้าของผลแตง ชายผู้หนึ่งไม่พอใจในคําตัดสินของพระมโนสาร จึงอุทธรณ์คําตัดสิน ไปยังพระเจ้าสมมุติราช พระองค์จึงตรัสใช้อํามาตย์ผู้หนึ่งให้ไปพิจารณาคดีใหม่ อํามาตย์ผู้นั้นจึงเลิกต้นแตงขึ้นดู ตามปลายยอด เอายอดแตงกลับมาไว้ตามต้น ชายทั้งสองต่างพอใจในคําตัดสินของอํามาตย์ผู้นี้ และประชาชน ทั้งหลายต่างพากันตําหนิว่าพระมโนสารตัดสินคดีไม่เป็นธรรม พระมโนสารมีความเสียใจจึงหนีไปออกบวชเป็น ฤษีจําเริญภาวนาได้อภิญญา 5 และอรรฐสมบัติ 8 แล้วมีความประสงค์จะให้พระเจ้าสมมุติราชทรงไว้ด้วย ทศพิธราชธรรม 10 ประการ จึงเหาะไปยังกําแพงจักรวาลเห็นบาลีคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นลายลักษณ์อักษร ปรากฏอยู่ในกําแพงจักรวาลมีปริมณฑลเท่ากายคชสาร พระมโนสารก็จดจําและนํามาแต่งเรียบเรียงขึ้นเป็นคัมภีร์ พระธรรมศาสตร์ เพื่อมาสั่งสอนพระเจ้าสมมุติราช

 

ข้อ 3. ตามที่ได้ศึกษาระบบกฎหมายหลัก อยากทราบว่ากฎหมายของต่างประเทศมีอิทธิพลต่อกฎหมายไทย ในปัจจุบันหรือไม่อย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 บรรพ จํานวน 1,755 มาตรา เมื่อ พิจารณาถึงมาตราต่าง ๆ ในแต่ละบรรพ (Books) จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการร่างกฎหมายได้อาศัยกฎหมายของ ประเทศทางตะวันตกเป็นส่วนมากในการจัดทําประมวลกฎหมายฉบับนี้ ดังจะเห็นได้จากบรรพ 1 หลักทั่วไป และบรรพ 2 ได้ลอกเลียนแบบมาจากกฎหมายแพ่งของเยอรมันและกฎหมายแพ่งของญี่ปุ่น ซึ่งมีรากฐานมาจาก กฎหมายโรมัน โดยเฉพาะในบรรพ 2 ว่าด้วยหนี้ในเรื่องวางทรัพย์ บางมาตราเมื่อเทียบตัวบทแล้วแทบจะเรียกได้ว่า เหมือนกันแทบทุกคําก็ว่าได้

ส่วนในบรรพ 3 ว่าด้วยเอกเทศสัญญา ได้นํากฎหมายหลายประเทศมาพิจารณา เช่น กฎหมายแพ่ง ของฝรั่งเศส กฎหมายแพ่งของสวิส นอกเหนือจากกฎหมายแพ่งของเยอรมันและญี่ปุ่น แต่เมื่อพิจารณาอย่าง ละเอียดรอบคอบแล้ว ได้ยึดถือพระราชบัญญัติซื้อขายสินค้า (The Sale of Goods Act, 1893) ของประเทศ อังกฤษเป็นหลัก ดังปรากฏในมาตราต่าง ๆ ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 1 ว่าด้วย ซื้อขายซึ่งมีบทบัญญัติที่คล้ายคลึงกับกฎหมายซื้อขายของประเทศอังกฤษ

สําหรับกฎหมายตั๋วเงินในบรรพ 3 ลักษณะ 21 ก็ได้นําเอาบทบัญญัติส่วนใหญ่ของ เดอะบิลล์ ออฟเอ็กซ์เชนจ์แอคท์ ค.ศ. 1882 (The Bill of Exchange Act, 1882) ของอังกฤษมาเป็นรากฐานในการร่าง นอกจากนี้กฎหมายอังกฤษก็ยังเป็นต้นแบบแนวความคิดในการร่างกฎหมายลักษณะบริษัทจํากัดอีกด้วย

ในกฎหมายล้มละลายคือพระราชบัญญัติล้มละลาย ร.ศ. 127 ก็เป็นกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลมาจาก กฎหมายของต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายของอังกฤษ ซึ่งต่อมาได้มีการตรากฎหมายฉบับใหม่ คือ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และฉบับปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2542

ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย ก็เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่ผู้ร่างได้ นําเอาหลักกฎหมายอังกฤษมาบัญญัติไว้คือ เรื่องเฮบีอัสคอร์พัส (Habeas Corpus) ซึ่งเป็นกฎหมายสําคัญใน การให้หลักกฎหมายทางเสรีภาพแก่ประชาชนอังกฤษมาใช้ ตามกฎหมายอังกฤษถ้าบุคคลใดฝ่าฝืนหมายเรียก เฮบีอัลคอร์พัส ย่อมมีความผิดฐานละเมิดอํานาจศาล ผลคือศาลลงโทษได้ทันที หลักกฎหมายนี้ได้นํามาบัญญัติไว้ ในมาตรา 90 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนชาวไทยได้รับความ คุ้มครองเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างในอังกฤษ

ด้วยเหตุนี้ ท่านศาตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งปัจจุบันดํารงตําแหน่งองคมนตรี ได้กล่าว แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของกฎหมายต่างประเทศในระบบกฎหมายไทยว่า “ระบบกฎหมายไทยในปัจจุบันนั้น เมื่อพิจารณาถึงแบบแห่งกฎหมาย ย่อมถือได้ว่าเป็นระบบกฎหมายของประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมาย แต่ถ้าจะ พิจารณาถึงเนื้อหาสาระแห่งบทกฎหมายโดยตรงแล้วน่าจะกล่าวได้ว่า กฎหมายไทยมีรากเหง้ามาจากแหล่งต่าง ๆ รวม 3 แหล่งด้วยกัน แหล่งแรก ได้แก่ ระบบกฎหมายไทยดั้งเดิม ซึ่งมีที่มาจากพระคัมภีร์ธรรมศาสตร์ของอินเดีย ส่วนหนึ่ง และมาจากวิวัฒนาการของกฎหมายไทยเราเอง ในการสังคายนาประมวลกฎหมายของแผ่นดินในสมัย ต่าง ๆ จนกระทั่งถึงกฎหมายตราสามดวงอีกส่วนหนึ่ง กฎหมายไทยในปัจจุบันที่ยังถือตามกฎหมายไทยดั้งเดิม เป็นบางส่วนก็มี เช่น กฎหมายลักษณะครอบครัว และลักษณะมรดก ฯลฯ อีกแหล่งหนึ่งซึ่งเป็นที่มาของกฎหมายไทย ในปัจจุบันคือ กฎหมายของประเทศที่ใช้ประมวล เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศส เยอรมัน สวิส บราซิล และญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้จากบทบัญญัติต่าง ๆ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายลักษณะ อื่น ๆ ของเราในปัจจุบัน และแหล่งสุดท้ายอันเป็นที่มาของกฎหมายไทยก็คือ ระบบกฎหมายอังกฤษ

 

ข้อ 4. ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ และซีวิลลอว์ แตกต่างกันอย่างไร จงยกมาให้ดูเป็นข้อ ๆ

ธงคําตอบ

ข้อแตกต่างระหว่างระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ และซีวิลลอว์ มีดังนี้
(1) ที่มาของกฎหมาย
(2) วิธีพิจารณาคดี
(3) การจําแนกประเภทกฎหมาย
(4) ผลของคําพิพากษา
(5) การศึกษากฎหมาย
(นักศึกษาต้องตอบรายละเอียดแต่ละข้อในตําราหน้า 175 – 178 พอสังเขป)

Advertisement