การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2032 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. กฎหมายตราสามดวงคืออะไร เพราะเหตุใดจึงมีการบัญญัติกฎหมายตราสามดวงขึ้นมา จงอธิบาย

Advertisement

ธงคําตอบ

กฎหมายตราสามดวง คือ กฎหมายที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงให้บัญญัติมา เพื่อใช้ปกครองบ้านเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2347 (จ.ศ. 1166) เหตุที่มีการบัญญัติกฎหมายตราสามดวงขึ้นมาก็เนื่องจาก มีการร้องทุกข์ของนายบุญศรี ช่างเหล็กหลวง ว่าภรรยาของตนเองซึ่งมีชื่อว่าอําแดงป้อม ไปทําชู้กับราชาอรรถ แล้วมาฟ้องหย่านายบุญศรี นายบุญศรีไม่ยอมหย่า แต่ศาลตัดรับให้หย่ากันได้ เพราะตามกฎหมายในขณะนั้น บัญญัติว่า เป็นหญิงหย่าชายหย่าได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเห็นว่า หญิงนอกใจชายแล้วมา ฟ้องหย่า ลูกขุนปรึกษาให้หย่ากันนั้นหายุติธรรมไม่ จึงทรงให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งรวม 11 คน ให้ จัดการชําระบทกฎหมายทั้งหมด ตั้งแต่พระธรรมศาสตร์เป็นต้นมาให้ถูกต้องตามความยุติธรรม และให้อาลักษณ์ เขียนเป็นฉบับหลวงจํานวน 3 ชุด ประทับตราคชสีห์ ราชสีห์ และบัวแก้ว อันตราของสมุหพระกลาโหม สมุหนายก และเจ้าพระยาพระคลังไว้เป็นสําคัญ จึงได้เรียกในภายหลังว่ากฎหมายตราสามดวง

ข้อ 2. คัมภีร์พระธรรมศาสตร์คืออะไร ในประมวลกฎหมายตราสามดวงได้มีการกล่าวถึงการกําเนิดของ
คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ไว้ว่าอย่างไรบ้าง อธิบาย

ธงคําตอบ

คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ คือ คัมภีร์ที่ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์หรือผู้มีอํานาจเหนือบุคคลธรรมดาแต่ง เรียบเรียงขึ้น เป็นชุมนุมข้อบังคับหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ตามความยุติธรรม กฎเกณฑ์เหล่านี้อยู่เหนือกฎหมายทั้งปวง ดังนั้น จึงย่อมใช้แก่มนุษย์ทั้งหลายที่อยู่ใต้อํานาจการปกครองของกษัตริย์ และกษัตริย์เองก็อยู่ภายใต้กฎหมาย ของพระธรรมศาสตร์ด้วย โดยลักษณะเช่นนี้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์จึงมีศักดิ์เทียบเท่ากฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งกษัตริย์ของราชอาณาจักรไทยได้นําเอาคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาจากมอญมาเป็นหลักในการบัญญัติกฎหมายที่เรียกว่าพระราชศาสตร์มาตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัยแล้ว

ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ได้กล่าวถึงกําเนิดของพระคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ไว้ว่า เกิดจากการที่มีท้าวมหาพรหมองค์หนึ่งชื่อ พรหมเทวะ จุติจากพรหมโลกแล้วมาปฏิสนธิกําเนิดในตระกูลมหาอํามาตย์ซึ่งเป็นข้าบาท พระเจ้ามหาสมมุติราช ครั้นอายุได้ 15 ปี ก็เข้าแทนที่บิดา ต่อมาเห็นสัตว์โลกทั้งหลายได้รับความทุกข์ยากต่าง ๆ จึงมีความปรารถนาที่จะให้พระเจ้าสมมุติราชตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม จึงถวายบังคมลาออกไปบวชเป็นฤาษีอยู่ใน ป่าหิมพานต์ ต่อมาพระเทวฤๅษีได้เสียเป็นผัวเมียกับกินรีนางหนึ่งจนเกิดบุตร 2 คน คนแรกชื่อ ภัทธระกุมาร คนที่ 2 ชื่อ มโนสารกุมาร เมื่อบุตรทั้ง 2 เจริญเติบโต บิดาก็ให้บวชเป็นฤาษีจําศีลภาวนา และรับใช้ปรนนิบัติบิดามารดา จนกระทั่งบิดามารดาได้ตายจากไป ภัทธระดาบสจึงได้ละเพศฤๅษีไปรับราชการเป็นปุโรหิตสั่งสอนพระเจ้าสมมุติราช ส่วนมโนสารฤๅษีก็ตามพี่ชายออกไปทําราชการด้วย พระเจ้าสมมุติราชจึงตั้งมโนสารให้เป็นผู้พิพากษา

ครั้นอยู่มาวันหนึ่งมีชาย 2 คน ทําไร่แตงใกล้กัน เมื่อปลูกแล้วเอาดินมาปูเป็นถนนกั้นกลาง เถาแตง จึงเลื้อยพาดผ่านข้ามถนนพันจนเป็นต้นเดียวกัน เมื่อแตงเป็นผล ชายทั้งสองต่างก็มาเก็บแตงจึงเกิดการทะเลาะวิวาท ด้วยต่างอ้างเป็นเจ้าของผลแตง ชายทั้งสองจึงพากันมาหาพระมโนสารให้เป็นผู้ชี้ขาด พระมโนสารตัดสินว่า แตงอยู่ในไร่ผู้ใดผู้นั้นเป็นเจ้าของผลแดง ชายผู้หนึ่งไม่พอใจในคําตัดสินของพระมโนสาร จึงอุทธรณ์คําตัดสิน ไปยังพระเจ้าสมมุติราช พระองค์จึงตรัสใช้อํามาตย์ผู้หนึ่งให้ไปพิจารณาคดีใหม่ อํามาตย์ผู้นั้นจึงเลิกต้นแตงขึ้นดู ตามปลายยอด เอายอดแตงกลับมาไว้ตามต้น ชายทั้งสองต่างพอใจในคําตัดสินของอํามาตย์ผู้นี้ และประชาชน ทั้งหลายต่างพากันตําหนิว่าพระมโนสารตัดสินคดีไม่เป็นธรรม พระมโนสารมีความเสียใจจึงหนีไปออกบวชเป็น ฤๅษีจําเริญภาวนาได้อภิญญา 5 และอรรฐสมบัติ 8 แล้วมีความประสงค์จะให้พระเจ้าสมมุติราชทรงไว้ด้วย ทศพิธราชธรรม 10 ประการ จึงเหาะไปยังกําแพงจักรวาลเห็นบาลีคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นลายลักษณ์อักษร ปรากฏอยู่ในกําแพงจักรวาลมีปริมณฑลเท่ากายคชสาร พระมโนสารก็จดจําและนํามาแต่งเรียบเรียงขึ้นเป็นคัมภีร์ พระธรรมศาสตร์ เพื่อมาสั่งสอนพระเจ้าสมมุติราช

ข้อ 3. ระบบกฎหมายหลักมีระบบ อะไรบ้าง จงอธิบายแต่ละระบบโดยย่อ

ธงคําตอบ

ระบบกฎหมายหลักของโลก มี 4 ระบบ คือ

(1) ระบบกฎหมายโรมาโน-เยอรมันนิค โรมาโนเป็นภาษาของชนเผ่าอีทรัสคัน หมายความว่า กรุงโรม เมืองหลวงของประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นต้นกําเนิดของประมวลกฎหมายแพ่ง

เยอรมันนิค หมายความว่า ชื่อชนเผ่าหนึ่ง ปัจจุบันคือชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นชนเผ่าที่นําเอา ประมวลกฎหมายแพ่งไปใช้กับชนเผ่าของตน

เนื่องจากกฎหมายโรมันเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร จึงมีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Written Law การที่กฎหมายโรมันจัดทําเป็นประมวลกฎหมาย จึงมีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Code Law ประเทศที่อยู่ในระบบกฎหมายนี้คือ อิตาลี เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน สวิส ญี่ปุ่น ไทย ฯลฯ

(2) ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ คือ ระบบกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ศาลนําเอา จารีตประเพณีมาใช้ในการตัดสินคดี ต้นกําเนิดหรือแม่แบบเกิดขึ้นในประเทศแรกคือ อังกฤษ ระยะแรกมีชนเผ่า ต่าง ๆ ที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานบนเกาะอังกฤษ ศาลท้องถิ่นได้นําเอาจารีตประเพณีของชนเผ่ามาตัดสิน ทําให้ผล ของคําพิพากษาแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน จนกระทั่งชนเผ่าสุดท้ายคือพวกนอร์แมนพิชิตเกาะอังกฤษ ในสมัย พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 จึงส่งศาลเคลื่อนที่ออกไปวางหลักเกณฑ์ ทําให้จารีตประเพณีเหมือนกันทุกท้องถิ่น มีลักษณะ เป็นสามัญ (Common) และใช้กันทั่วไป จึงเรียกว่า คอมมอนลอว์ ตัวอย่างเช่น แคนาดา อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหภาพแอฟริกาใต้ เป็นต้น

(3) ระบบกฎหมายสังคมนิยม หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าระบบกฎหมายคอมมิวนิสต์ เกิดขึ้นใน ประเทศแรกคือ รัสเซีย หลังจากมีการปฏิวัติเมื่อ ค.ศ. 1917 โดยนําเอาแนวความคิดของนักปราชญ์ 2 ท่าน คือ คาร์ล มาร์กซ์ และเลนิน ซึ่งถือว่ากฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อให้การปกครองของประเทศยึดหลักผลประโยชน์ ของส่วนรวมหรือของชุมชนหรือสังคม ประเทศใดที่มีการปกครองในระบอบสังคมนิยมตามแนวคิดของนักปราชญ์ ทั้งสอง ประเทศนั้นจัดอยู่ในระบบกฎหมายสังคมนิยม เช่น เวียดนาม ลาว เกาหลีเหนือ จีนแผ่นดินใหญ่ เป็นต้น

(4) ระบบกฎหมายศาสนาและประเพณีนิยม ในปัจจุบันมีบางประเทศที่ได้นําเอาคําสอนของ พระผู้เป็นเจ้ามาบัญญัติเป็นกฎหมาย จึงกล่าวกันว่าศาสนาเป็นที่มาของบ่อเกิดของกฎหมาย มี 3 กลุ่ม คือ

(ก) ศาสนาอิสลาม ต้นกําเนิดประเทศแรกคือ ประเทศซาอุดิอาระเบีย คําสอนของพระเจ้า
คือ อัลลอฮ์ ปรากฏอยู่ในกฎหมาย เช่น กฎหมายครอบครัวและมรดก เป็นต้น

(ข) ศาสนาคริสต์ แนวความคิดของศาสนาคริสต์ ใช้เป็นแนวทางในการร่างกฎหมายของ ประเทศที่นับถือคริสต์ศาสนา เช่น ข้อกําหนดห้ามหย่า การห้ามคุมกําเนิด การห้ามทําแท้ง และการห้ามสมรสซ้อน Bigamy) เป็นต้น

(ค) ศาสนาฮินดู ต้นกําเนิดประเทศแรกคือ ประเทศอินเดีย ตัวอย่างปรากฏอยู่ในตํารา กฎหมาย คือ พระธรรมศาสตร์ หรือของไทยเรียกคัมภีร์ธรรมศาสตร์ของมโนสาราจารย์

ส่วนประเพณีนิยม เกิดจากคําสอนของนักปราชญ์ ไม่ใช่พระผู้เป็นเจ้า เช่น ชาวจีนในสมัย ขงจื้อที่นําเอาความเชื่อของนักปราชญ์ท่านนี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายในชีวิตประจําวัน หรือลัทธิชินโตของประเทศญี่ปุ่นก็มีอิทธิพลต่อการจัดทํากฎหมายของญี่ปุ่นเช่นกัน

หมายเหตุ คําตอบของนักศึกษาถ้าอยู่ในหน้า 91 ถึง 101 ก็ให้คะแนน

ข้อ 4. คอมมอนลอว์ และชีวิลลอว์ แตกต่างในเรื่องผลของคําพิพากษาอย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลในระบบกฎหมายคอมมอนลอว์นั้น เป็นการพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดี และผู้พิพากษาได้กําหนดหลักเกณฑ์อันเป็นบรรทัดฐานหรือแบบอย่าง (Precedent) ขึ้นจากข้อเท็จจริงในคดีนั้น เป็นการพิจารณาคดีจากข้อเท็จจริงเฉพาะเรื่องมาสู่หลักเกณฑ์ทั่วไป

เมื่อศาลได้พิพากษาและกําหนดแบบอย่างอันเป็นหลักเกณฑ์ทั่วไป ซึ่งถือได้ว่าเป็นกฎหมายแล้ว
ศาลต่อ ๆ มาต้องผูกพันที่จะพิพากษาไปในแนวทางเดียวกัน

แต่ในระบบกฎหมายซีวิวลอว์นั้น คํานึงถึงตัวบทกฎหมายเป็นสําคัญ การพิจารณาคดีของศาลเป็น การนําเอาตัวบทกฎหมายที่เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปมาปรับกับคดีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่อง ๆ ไป เมื่อศาลได้มีคําพิพากษา
ไปแล้ว คําพิพากษาของศาลไม่ถือว่าเป็นบรรทัดฐานหรือแบบอย่างที่ศาลต่อมาจําเป็นต้องพิพากษาไปในแนว เดียวกัน ศาลต่อ ๆ มา ไม่จําต้องผูกพันที่จะพิพากษาตามคําพิพากษาของศาลก่อน ๆ แม้ศาลล่าง เช่น ศาลชั้นต้น ก็ไม่จําต้องยึดแนวคําพิพากษาของศาลสูง เช่น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ในการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลของตน แต่อย่างไรก็ตาม คําพิพากษาของศาลสูงแม้จะไม่ใช่กฎหมาย แต่ก็ได้รับความเคารพเชื่อถือในแง่ที่ว่า ศาลสูงได้ ใคร่ครวญและกลั่นกรองคําพิพากษาของศาลชั้นต้นมาแล้ว อีกทั้งถ้าศาลล่างมีคําพิพากษาแตกต่างไปจากศาลสูง คําพิพากษานั้นอาจจะถูกกลับได้ แนวคําวินิจฉัยของศาลสูงจึงมีบทบาทสําคัญในการพัฒนากฎหมาย นักศึกษากฎหมายจําเป็นต้องเอาใจใส่ศึกษาไม่น้อยกว่าตัวบทกฎหมาย

 

Advertisement