การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1103 (LAW1003) ป.พ.พ.ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 นางสวย ต้องการซื้อที่ดินจากนายดวง ปรากฏว่านายดวงพานางสวยไปดูที่ดินที่จะขาย เมื่อถึงวันนัดทําสัญญาซื้อขายที่ดิน นายดวงได้โอนขายที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้นางสวยโดยเป็นที่ดิน คนละแปลงกับที่นายดวงพานางสวยไปดู
ดังนี้ จงวินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวมีผลอย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 156 “การแสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ
ความสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสําคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสําคัญผิดในตัวของบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และความสําคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น”
มาตรา 158 “ความสําคัญผิดตามมาตรา 156 หรือมาตรา 157 ซึ่งเกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรงของบุคคลผู้แสดงเจตนา บุคคลนั้นจะถือเอาความสําคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้”
วินิจฉัย
ตามมาตรา 156 ได้บัญญัติให้การแสดงเจตนาทํานิติกรรมที่เกิดขึ้นเพราะความสําคัญผิดในสิ่ง ซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรม ซึ่งได้แก่ ลักษณะของนิติกรรม ตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมนั้น การแสดงเจตนาหรือนิติกรรมที่เกิดขึ้นย่อมตกเป็นโมฆะ แต่ถ้าความสําคัญผิดดังกล่าว ได้เกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้แสดงเจตนา ผู้นั้นจะถือเอาความสําคัญผิดนั้นมาใช้เป็น ประโยชน์แก่ตนไม่ได้ (มาตรา 158)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสวยต้องการซื้อที่ดินจากนายดวง และนายดวงได้พานางสวยไปดู ที่ดินที่จะขายแล้วนั้น แต่ปรากฏว่าพอถึงวันนัดทําสัญญาซื้อขายที่ดิน นายดวงได้โอนขายที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้ นางสวยโดยเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่นายดวงพานางสวยไปดูนั้น ถือว่าการแสดงเจตนาทํานิติกรรมในรูปสัญญา ซื้อขายที่ดินของนางสวยดังกล่าว เป็นการแสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในทรัพย์สิน (ที่ดิน) ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เพราะเป็นการแสดงเจตนาซื้อขายที่ดินในแปลงซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของนางสวย และเป็นการสําคัญผิดในสิ่ง ซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมตามมาตรา 156 อีกทั้งความสําคัญผิดดังกล่าวก็มิได้เกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรงของนางสวยแต่อย่างใด ดังนั้นสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆะ
สรุป สัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวมีผลเป็นโมฆะ
ข้อ 2 นายเอกซึ่งเป็นชาวต่างชาติในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัท AAA จํากัด ได้ว่าจ้างนายโทซึ่งเป็นคนไทยและเป็นผู้มีความรู้ทางกฎหมายให้เข้ามาดูแลกิจการและผลประโยชน์ของบริษัท AAA จํากัด โดยตกลงให้นายโทเข้ามาเป็นกรรมการของบริษัท AAA จํากัด และมีอํานาจลงนาม ร่วมกับนายเอกจึงจะผูกพันบริษัท AAA จํากัด นายโทได้นําเอกสารต่าง ๆ ที่จัดทําขึ้นเป็นภาษาไทย มาให้นายเอกลงลายมือชื่อเพื่อนําไปดําเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุนและเพิ่มหุ้น ตรวจสอบภายหลังปรากฏว่า นายโทหลอกให้นายเอกหลงเชื่อและเข้าใจผิดในการจดทะเบียนเพิ่มทุนและเพิ่มหุ้นดังกล่าวด้วยการไปจดทะเบียนเพิ่มทุนและโอนหุ้นให้แก่นายโทเอง ตลอดจนทําการเปลี่ยนแปลงอํานาจ กรรมการบริษัท AAA จํากัด ให้คงเหลือเฉพาะนายโทแต่เพียงผู้เดียว
ให้ท่านวินิจฉัยว่า การที่นายเอกในฐานะกรรมการของบริษัท AAA จํากัด ลงนามในเอกสารเปลี่ยนแปลง อํานาจกรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทนบริษัท AAA จํากัด เป็นนายโทแต่เพียงผู้เดียวนั้นมีผลทางกฎหมายเช่นไร เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 156 “การแสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ
ความสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสําคัญผิดในลักษณะ ของนิติกรรม ความสําคัญผิดในตัวของบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และความสําคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็น วัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกซึ่งเป็นชาวต่างชาติในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัท AAA จํากัด ได้ว่าจ้างนายโทซึ่งเป็นคนไทยและเป็นผู้มีความรู้ทางกฎหมายให้เข้ามาดูแลกิจการและผลประโยชน์ของ บริษัท AAA จํากัด โดยตกลงให้นายโทเข้ามาเป็นกรรมการของบริษัท AAA จํากัด และมีอํานาจลงนามร่วมกับนายเอก จึงจะผูกพันบริษัท AAA จํากัด นายโทได้นําเอกสารต่าง ๆ ที่จัดทําขึ้นเป็นภาษาไทยมาให้นายเอกลงลายมือชื่อ เพื่อนําไปดําเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุนและเพิ่มหุ้น ต่อมาเมื่อมีการตรวจสอบปรากฏว่า นายโทหลอกให้นายเอกหลงเชื่อและเข้าใจผิดในการจดทะเบียนเพิ่มทุนและเพิ่มหุ้นดังกล่าว และส่งผลให้นายโทไปจดทะเบียนเพิ่มทุนและโอนหุ้นให้แก่ตนเอง และทําการเปลี่ยนแปลงอํานาจกรรมการบริษัท AAA จํากัด ให้คงเหลือเพียงนายโทคนเดียวนั้น ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า นายเอกในฐานะกรรมการของบริษัท AAA จํากัด ลงนามในเอกสารเปลี่ยนแปลงอํานาจ กรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทนบริษัท AAA จํากัด เป็นนายโทแต่เพียงผู้เดียว เป็นการกระทําโดยสําคัญผิด ในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรม เอกสารการเปลี่ยนแปลงอํานาจกรรมการของนายโทจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 (เทียบเคียงคําพิพากษาฎีกาที่ 1169/2562)
สรุป การที่นายเอกในฐานะกรรมการของบริษัท AAA จํากัด ลงนามในเอกสารเปลี่ยนแปลงอํานาจ กรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทนบริษัท AAA จํากัด เป็นนายโทแต่เพียงผู้เดียวนั้นมีผลเป็นโมฆะ เพราะเป็น กรณีที่นายเอกได้แสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมมาตรา 156
ข้อ 3 นายหนึ่งตกลงซื้อบ้านเลขที่ 12/34 จากนายสอง ต่อมานายหนึ่งพบว่าบ้านชํารุดบกพร่อง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นายสองเข้าไปแก้ไขซ่อมแซมส่วนที่ชํารุดบกพร่อง หลังจากนั้นนายหนึ่ง ให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 6 มิถุนายน 2562 แจ้งให้นายสองหยุดทําการแก้ไขส่วนที่ชํารุด บกพร่อง โดยนายหนึ่งจะหาบุคคลภายนอกมาแก้ไขเอง อยากทราบว่านายหนึ่งมีสิทธิเรียกร้องให้ นายสองรับผิดเพื่อชํารุดบกพร่องได้ตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ และภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 474 การที่นายหนึ่งนําคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น ฟ้องนายหนึ่งขาดอายุความหรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทําเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชําระหนี้ ให้บางส่วน ชําระดอกเบี้ยให้ประกัน หรือกระทําการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับ สภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง
มาตรา 193/15 “เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ เมื่อเหตุที่ทําให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น” มาตรา 474 “ในข้อรับผิดเพื่อชํารุดบกพร่องนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่ เวลาที่ได้พบเห็นความชํารุดบกพร่อง
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งได้ตกลงซื้อบ้านเลขที่ 12/34 จากนายสอง ต่อมานายหนึ่ง พบว่าบ้านชํารุดบกพร่องในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และนายสองได้เข้าไปแก้ไขซ่อมแซมส่วนที่ชํารุดบกพร่องนั้น ย่อมเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) และเมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้วระยะเวลาที่ ล่วงไปก่อนนั้นจึงไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง
ต่อมาการที่นายหนึ่งให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 6 มิถุนายน 2562 แจ้งให้นายสองหยุด ทําการแก้ไขส่วนที่ชํารุดบกพร่อง โดยนายหนึ่งจะหาบุคคลภายนอกมาแก้ไขเองนั้น ย่อมเป็นเหตุให้อายุความ สะดุดหยุดลงนั้นได้สิ้นสุดลง อายุความจึงต้องเริ่มนับใหม่ตั้งแต่เวลานั้น คือให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไปตามมาตรา 193/15 วรรคสอง ดังนั้น นายหนึ่งจึงมีสิทธิเรียกร้องให้นายสองรับผิด เพื่อชํารุดบกพร่องได้ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2562 และเมื่ออายุความในการฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายเพื่อ ความชํารุดบกพร่องมีกําหนดอายุความ 1 ปีตามมาตรา 474 การที่นายหนึ่งนําคดีมาฟ้องวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 จึงเกิน 1 ปี ดังนั้น ฟ้องนายหนึ่งจึงขาดอายุความ
สรุป นายหนึ่งมีสิทธิเรียกร้องให้นายสองรับผิดเพื่อชํารุดบกพร่องได้ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2562 และการที่นายหนึ่งนําคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ฟ้องของนายหนึ่งจึงขาดอายุความ
ข้อ 4 นางสาวแตงโมทําสัญญาขายเรือสปีดโบ๊ทเก่าของตนให้แก่นางสาวแตงไท 1 ลํา ราคา 10 ล้านบาท ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 กําหนดส่งมอบเรือสปีดโบ๊ทในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมี ข้อตกลงกําหนดเบี้ยปรับกันไว้ว่า ถ้านางสาวแตงโมไม่ส่งมอบเรือสปีดโบ๊ทให้แก่นางสาวแตงไท ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 นางสาวแตงโมต้องเสียเบี้ยปรับให้แก่นางสาวแตงไทเป็นเงิน 1 ล้านบาท ปรากฏว่าเมื่อถึงวันกําหนดส่งมอบเรือสปีดโบ๊ท นางสาวแตงโมไม่ส่งมอบเรือสปีดโบ๊ท ให้แก่นางสาวแตงไท ดังนี้ อยากทราบว่านางสาวแตงไทจะเรียกเอาเบี้ยปรับและเรือสปีดโบ๊ท จากนางสาวแตงโมได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 380 วรรคหนึ่ง “ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชําระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียก เอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นแทนการชําระหนี้ก็ได้ แต่ถ้าเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับฉะนั้นแล้ว ก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องชําระหนี้อีกต่อไป”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวแตงโมทําสัญญาขายเรือสปีดโบ๊ทเก่าของตนให้แก่นางสาวแตงไท 1 ลํา ราคา 10 ล้านบาท ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 และกําหนดส่งมอบเรือสปีดโบ๊ทในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีข้อตกลงกําหนดเบี้ยปรับกันไว้ว่า ถ้านางสาวแตงโมไม่ส่งมอบเรือสปีดโบ๊ทให้แก่นางสาวแตงไทใน วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 นางสาวแตงโมต้องเสียเบี้ยปรับให้แก่นางสาวแตงไทเป็นเงิน 1 ล้านบาท แต่ปรากฏว่า เมื่อถึงวันกําหนดส่งมอบ คือ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 นางสาวแตงโมผิดสัญญาไม่ส่งมอบเรือสปีดโบ๊ท ให้แก่นางสาวแตงไทนั้น ย่อมมีผลทําให้นางสาวแตงโมจะต้องจ่ายเบี้ยปรับให้แก่นางสาวแตงไทตามที่ตกลงไว้
แต่นางสาวแตงไทไม่มีสิทธิที่จะเรียกทั้งเบี้ยปรับและเรือสปีดโบ๊ทจากนางสาวแตงโม ถ้าจะเรียกเอาเบี้ยปรับ นางสาวแตงไทก็มีสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากนางสาวแตงโม 1 ล้านบาท แทนการส่งมอบเรือสปีดโบ๊ท เพราะ ถ้านางสาวแตงไทแสดงต่อนางสาวแตงโมว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับแล้วก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องให้ชําระหนี้คือ การส่งมอบเรือสปีดโบ๊ทอีกต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 แต่ถ้านางสาวแตงไทต้องการให้นางสาวแตงโมส่งมอบ เรือสปีดโบ๊ท นางสาวแตงไทก็ขาดสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับเช่นเดียวกัน นางสาวแตงไทจะต้องเลือกอย่างใด อย่างหนึ่ง จะเรียกทั้งเบี้ยปรับและให้ส่งมอบเรือสปีดโบ๊ทด้วยไม่ได้
สรุป นางสาวแตงไทจะเรียกเอาเบี้ยปรับและเรือสปีดโบ๊ทจากนางสาวแตงโมไม่ได้ จะต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว