การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1103 (LAW1003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายสมชายซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งขอกู้เงินจากนายสมหมายจํานวน 300,000 บาท นายสมหมายไม่มีเงินในขณะนั้นจึงให้นายสมชายจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวให้นายสมหมาย เพื่อนายสมหมายจะได้นําโฉนดที่ดินไปแสดงกับเพื่อนและยืมเงินจากเพื่อนมาให้นายสมชายกู้ต่อไป

นายสมชายจึงทําหนังสือและจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้นายสมหมาย โดยนายสมหมายไม่ได้ชําระราคาที่ดินในวันนั้น เพียงแต่นัดให้นายสมชายไปรับเงินที่บ้านนายสมหมายหลังจากนั้นอีก 3 วัน เมื่อถึงวันนัดนายสมหมายให้นายสมชายทําสัญญาขายฝากที่ดินตามโฉนดที่ดินนั้นให้นายสมหมาย ยึดถือไว้อีกฉบับหนึ่ง โดยไม่ได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มีข้อตกลง ไถ่ถอนคืนภายใน 3 ปี และกําหนดให้นายสมชายชําระดอกเบี้ยให้นายสมหมายเดือนละ 10,000 บาท พร้อมกับส่งมอบเงินจํานวน 300,000 บาทให้กับนายสมชาย หลังจากนั้นนายสมชายชําระดอกเบี้ย ทุก ๆ เดือน และนําเงินมาไถ่ที่ดินคืนจากนายสมหมาย แต่นายสมหมายไม่ยอมให้นายสมชาย ไถ่ที่ดินคืน อ้างว่านายสมชายได้ขายที่ดินนั้นให้แก่ตนเด็ดขาดแล้วมิได้ขายฝากที่ดินนั้น ให้วินิจฉัยว่า นายสมชายจะฟ้องบังคับให้นายสมหมายคืนที่ดินให้แก่ตนได้หรือไม่ จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 152 “การใดมิได้ทําให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ การนั้นเป็นโมฆะ”

มาตรา 155 “การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็น ข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทําการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่ง ทําขึ้นเพื่ออําพรางนิติกรรมอื่น ให้นําบทบัญญัติของ

กฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอําพรางมาใช้บังคับ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมชายซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายสมหมาย โดยที่นายสมหมายไม่ได้ชําระราคา เพียงแต่นัดให้นายสมชายไปรับเงินหลังจากนั้น อีก 3 วัน และในวันนัดนั้นนายสมหมายได้ให้นายสมชายทําหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินให้อีกฉบับหนึ่งโดยไม่ได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น จะเห็นได้ว่าระหว่างนายสมชายและนายสมหมายได้มี การทํานิติกรรมกัน 2 ฉบับ ได้แก่

นิติกรรมอันแรก เป็นนิติกรรมซื้อขาย ซึ่งคู่กรณีได้ทําขึ้นมาแต่ไม่ต้องการให้มีผลผูกพันกัน แต่อย่างใด แต่เป็นนิติกรรมที่เกิดขึ้นด้วยการแสดงเจตนาลวงโดยการสมรู้กันระหว่างคู่กรณี ดังนั้น นิติกรรม ซื้อขายที่ดินแม้จะได้ทําถูกต้องตามแบบที่กฎหมายได้กําหนดไว้ก็ตาม ก็มีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง

นิติกรรมอีกอันหนึ่ง เป็นนิติกรรมขายฝาก ซึ่งคู่กรณีได้ทําขึ้นมาและต้องการให้มีผลผูกพัน บังคับกันแต่ได้ปิดบังหรืออําพรางไว้ ซึ่งตามกฎหมายมาตรา 155 วรรคสอง ได้บัญญัติให้คู่กรณีต้องบังคับกันตาม นิติกรรมขายฝากซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอําพราง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นิติกรรมการขายฝากที่ดิน ดังกล่าว มิได้ทําให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกําหนด คือไม่ได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้น นิติกรรมขายฝากที่ดินจึงตกเป็นโมฆะเช่นเดียวกันตามมาตรา 152

เมื่อนิติกรรมทั้งสองตกเป็นโมฆะ คู่กรณีจึงไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน ดังนั้น นายสมชายจึงฟ้องบังคับให้นายสมหมายคืนที่ดินแปลงนั้นให้แก่ตนได้

สรุป นายสมชายฟ้องบังคับให้นายสมหมายคืนที่ดินแปลงนั้นให้แก่ตนได้

 

ข้อ 2 นายเอกทราบดีว่าที่ดินที่จะขายให้แก่นายโทตั้งอยู่ในบริเวณสํารวจเพื่อเวนคืน หากนายโททราบหรือเพียงแต่สงสัยว่าจะมีการเวนคืน นายโทจะไม่ยอมตกลงเข้าทําสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับนายเอกแน่นอนเพราะเงินค่าทดแทนที่จะได้รับจากการเวนคืนไม่คุ้มกับเงินจํานวนที่นายโทต้องชําระราคาที่ดินให้แก่นายเอก ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า การแสดงเจตนาทําสัญญาจะซื้อขายที่ดินของนายโทเพราะนายเอก ปิดบังข้อเท็จจริงดังกล่าวมีผลทางกฎหมายเป็นเช่นไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 159 วรรคหนึ่ง “การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ”

มาตรา 162 “ในนิติกรรมสองฝ่าย การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงหรือ คุณสมบัติอันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้ การนั้นจะเป็นกลฉ้อฉล หากพิสูจน์ได้ว่าถ้ามิได้นิ่งเสียเช่นนั้น นิติกรรมนั้นก็คงจะมิได้กระทําขึ้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ในการทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างนายเอกกับนายโทนั้น การที่นายเอกได้ทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินที่จะขายให้แก่นายโทนั้น ตั้งอยู่ในบริเวณสํารวจเพื่อเวนคืน แต่นายเอกกลับจงใจ นิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงหรือคุณสมบัตินี้ให้แก่นายโททราบ ซึ่งหากนายโททราบหรือเพียงแต่สงสัยว่าจะมีการเวนคืน นายโทจะไม่ยอมตกลงเข้าทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับนายเอกแน่นอน ดังนั้น จึงถือว่าการแสดงเจตนาทําสัญญา จะซื้อจะขายที่ดินของนายโทดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะถูกกลฉ้อฉลและเป็นกลฉ้อฉลโดยการวิ่งตามมาตรา 162 นิติกรรม หรือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างนายเอกกับนายโทดังกล่าว จึงมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง

สรุป การแสดงเจตนาทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของนายโทเพราะนายเอกปิดบังข้อเท็จจริงดังกล่าวมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 162 ประกอบมาตรา 159 วรรคหนึ่ง

 

ข้อ 3 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2545 นายกุ้งได้ทําสัญญากู้เงินจากนายหมึกเป็นจํานวน 1 ล้านบาท มีกําหนดชําระคืนภายในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2546 เมื่อหนี้ถึงกําหนด นายกุ้งไม่นําเงินมาชําระ นายหมึกได้ติดตามทวงถามด้วยวาจาตลอดมา จนกระทั่งวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2549 นายหมึก ได้ส่งจดหมายทวงถามเพื่อให้นายกุ้งชําระหนี้เงินที่กู้ยืมไป นายกุ้งก็ไม่นําเงินมาชําระให้ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 นายกุ้งจึงได้นําเงินมาชําระให้บางส่วน จํานวนหนึ่งแสนบาท พร้อมทั้งได้นําที่ดินมาจํานองเพื่อเป็นประกันหนี้ส่วนที่เหลือดังกล่าว และได้นัดที่จะมาชําระหนี้ส่วนที่เหลือวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 แต่เมื่อถึงกําหนดนายกุ้งก็ไม่ได้นําเงินมาชําระให้ ต่อมานายหมึกจึงได้นําคดี มาฟ้องศาลในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อให้นายกุ้งชําระหนี้เงินกู้ที่เหลือ นายกุ้งต่อสู้ว่าคดี ขาดอายุความแล้ว แต่นายหมึกอ้างว่ายังไม่ขาดอายุความ ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของนายกุ้ง ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/9 “สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด สิทธิ เรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ

มาตรา 193/10 “สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชําระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้”

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทําเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ชําระหนี้ ให้บางส่วน ชําระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทําการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับ สภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง”

มาตรา 193/28 “การชําระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ว่ามากน้อย เพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชําระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม

บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็น หนังสือ หรือโดยการให้ประกันด้วย แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้”

มาตรา 193/30 “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกําหนดสิบปี”

มาตรา 193/35 “ภายใต้บังคับมาตรา 193/27 สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพ ความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ให้มีกําหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดหรือให้ประกัน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกุ้งได้ทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายหมึกเป็นเงินจํานวน 1 ล้านบาท มีกําหนดชําระคืนภายในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2546 เมื่อหนี้ถึงกําหนดนายกุ้งไม่นําเงินมาชําระ อายุความจึงเริ่มนับ ตั้งแต่วันรุ่งขึ้นคือวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2546 และเนื่องจากการกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกําหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนําอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 คือ อายุความ 10 ปีมาใช้บังคับ ดังนั้นกรณีนี้อายุความ 10 ปี จะครบกําหนดในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 เมื่อนายหมึกไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในกําหนด 10 ปี สิทธิเรียกร้อง ของนายหมึกที่มีต่อนายกุ้งลูกหนี้ย่อมเป็นอันขาดอายุความ นายหมึกย่อมไม่สามารถฟ้องร้องบังคับให้นายกุ้ง ชําระหนี้แก่ตนได้ และถ้านายหมึกฟ้องนายกุ้งให้ชําระหนี้ นายกุ้งย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชําระหนี้นั้นได้ตามมาตรา 193/9 และมาตรา 193/10

การที่นายกุ้งได้นําเงินมาชําระให้บางส่วน จํานวนหนึ่งแสนบาท พร้อมทั้งได้นําที่ดินมาจํานอง เพื่อเป็นประกันหนี้ส่วนที่เหลือดังกล่าวในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่นายกุ้งลูกหนี้รับสภาพหนี้ แก่นายหมึกเจ้าหนี้แต่อย่างใด เพราะกรณีที่จะถือว่าลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14 (1) นั้น ต้องเป็นการกระทําก่อนที่สิทธิเรียกร้องนั้นจะขาดอายุความ ดังนั้น การกระทําของนายกุ้ง จึงเป็นการรับสภาพความรับผิดตามมาตรา 193/28 และเป็นการชําระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้ว

เมื่อนายกุ้งได้รับสภาพความรับผิดโดยการนําที่ดินมาจํานองเพื่อเป็นประกันหนี้ส่วนที่เหลือ ดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นการรับสภาพความรับผิดโดยสัญญาตามมาตรา 193/28 วรรคสอง และเมื่อการรับสภาพ ความรับผิดนั้นมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงใช้บังคับได้ โดยนายหมึกสามารถฟ้องให้นายกุ้งชําระหนี้ได้ แต่จะต้องฟ้องภายในอายุความ 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดนั้นตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ประกอบมาตรา 193/35 ซึ่งอายุความ 2 ปี จะครบกําหนดในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 ดังนั้น เมื่อนายหมึกได้นําคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งเป็นวันครบกําหนดอายุความ 2 ปีพอดี ข้อต่อสู้คดีของนายกุ้งที่ว่า คดีขาดอายุความแล้ว จึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้อต่อสู้ของนายกุ้งที่ว่าคดีขาดอายุความแล้วฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 4 นายหนึ่งทําสัญญาซื้อโลหะจากบริษัท สอง จํากัด ที่เป็นของนําเข้าจากต่างประเทศ โดยตกลงกัน ให้นายหนึ่งมีหน้าที่ขออนุญาตต่อราชการในการนําสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร เมื่อโลหะที่นายหนึ่ง สั่งซื้อได้เดินทางเข้ามาถึงประเทศไทย บริษัท สอง จํากัด ได้แจ้งให้นายหนึ่งดําเนินการขออนุญาต นําสินค้าเข้าในราชอาณาจักร แต่นายหนึ่งเพิกเฉยจนสินค้าถูกกรมศุลกากรยึด

ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายหนึ่งต้องรับผิดชําระราคาโลหะที่ถูกยึดให้แก่บริษัท สอง จํากัด หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 219 วรรคหนึ่ง “ถ้าการชําระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชําระหนี้นั้น”

มาตรา 372 วรรคสอง “ถ้าการชําระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษเจ้าหนี้ได้ ลูกหนี้ก็หาเสียสิทธิที่จะรับชําระหนี้ตอบแทนไม่…”

วินิจฉัย

สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ผู้ขายและผู้ซื้อต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน ผู้ขายและผู้ซื้อจึงมีหนี้ที่จะต้องชําระตอบแทนกัน และถ้าการชําระหนี้ของลูกหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอันเกิดจากเจ้าหนี้และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ เจ้าหนี้ย่อมต้องเป็นผู้รับผลแห่งภัยพิบัติที่เกิดขึ้นนั้น และแม้ว่าลูกหนี้ เป็นอันหลุดพ้นจากการชําระหนี้ตามมาตรา 219 วรรคหนึ่ง แต่เจ้าหนี้ยังคงมีหน้าที่ที่จะต้องชําระหนี้ตอบแทน ให้แก่ลูกหนี้ตามมาตรา 372 วรรคสอง

ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ เมื่อปรากฏว่าบริษัท สอง จํากัด ผู้ขายในฐานะลูกหนี้ในการส่งมอบทรัพย์สิน ไม่สามารถส่งมอบโลหะให้แก่นายหนึ่งผู้ซื้อในฐานะเจ้าหนี้ในการรับมอบโลหะได้ เพราะนายหนึ่งเพิกเฉยในการขออนุญาตต่อทางราชการในการนําโลหะเข้ามาในราชอาณาจักรจนถูกกรมศุลกากรยึด จึงถือว่าการชําระหนี้ของบริษัท สอง จํากัด ด้วยการนําเข้าโลหะเพื่อส่งมอบให้แก่นายหนึ่งตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุ อย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษนายหนึ่งเจ้าหนี้ได้ นายหนึ่งจึงเป็นผู้ผิดสัญญา และนายหนึ่งต้องรับผิดชําระราคา โลหะที่ถูกยึดให้แก่บริษัท สอง จํากัด ตามมาตรา 372 วรรคสอง

สรุป นายหนึ่งต้องรับผิดชําระราคาโลหะที่ถูกยึดให้แก่บริษัท สอง จํากัด

Advertisement