การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1102 (LAW 1002)หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 การตีความกฎหมายคืออะไร เพราะเหตุใดจึงต้องมีการตีความกฎหมาย และการตีความกฎหมายแพ่งมีความแตกต่างกับการตีความกฎหมายอาญาอย่างไรบ้าง อธิบาย

ธงคําตอบ

“การตีความกฎหมาย” คือ การหยั่งทราบว่าถ้อยคําของตัวบทกฎหมายมีความหมายว่าอย่างไร และเหตุที่ต้องมีการตีความกฎหมายก็เพราะว่า ถ้อยคําของตัวบทกฎหมายที่บัญญัติไว้มีความไม่ชัดเจนแน่นอน คือมีถ้อยคําที่กํากวมหรือมีความหมายได้หลายทาง จึงมีความจําเป็นต้องมีการตีความเพื่อหยั่งทราบว่าถ้อยคําของตัวบทกฎหมายมีความหมายว่าอย่างไร และเมื่อตีความกฎหมายได้แล้วก็จะได้นําเอากฎหมายนั้นไปปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่ต้องการวินิจฉัยได้ต่อไป

การตีความกฎหมายแพ่งและการตีความกฎหมายอาญา มีความแตกต่างกันดังนี้คือ

“หลักในการตีความกฎหมายแพ่ง” มีหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการใช้กฎหมายแพ่ง ซึ่งเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคหนึ่ง ที่ได้บัญญัติว่า “กฎหมายนั้นต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษรหรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ” กล่าวคือ จะต้องค้นหาความหมายของ บทบัญญัติของกฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมายไปพร้อม ๆ กัน จึงจะได้ความหมายที่ถูกต้องแท้จริงของ กฎหมายนั้น โดยแยกได้ดังนี้ คือ

1 การตีความตามตัวอักษร ซึ่งจะต้องตีความทั้งศัพท์ธรรมดาที่มีความหมายเป็นธรรมดา ทั่วไป เช่น คําว่า บุตร บิดามารดา ฯลฯ และศัพท์เฉพาะที่มีความหมายทางเทคนิคหรือทางวิชาการ เช่น คําที่อยู่ ในตํารากฎหมายหรือบทความทางกฎหมาย ฯลฯ เพื่อจะได้ทราบความหมายของตัวอักษรเสียก่อน และ

2 การตีความตามเจตนารมณ์ เพื่อค้นหาความหมายอันแท้จริงของกฎหมายว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายอาจดูได้จากที่มา ตําแหน่งหรือหมวดหมู่ของกฎหมาย จากถ้อยคําของบทบัญญัตินั้น ๆ หรือดูจากสถานการณ์ในขณะบัญญัติกฎหมาย คําปรารภของกฎหมาย รวมถึงหลักการและเหตุผลในการเสนอ ร่างกฎหมายที่มีการบันทึกไว้ท้ายกฎหมายนั้น ๆ ด้วย ๆ

“หลักในการตีความกฎหมายอาญา” เนื่องจากกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่บัญญัติว่า การกระทําหรืองดเว้นการกระทําใดเป็นความผิดและกําหนดโทษไว้ ดังนั้น กฎหมายอาญาจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด กล่าวคือ ต้องตีความเฉพาะการกระทําหรืองดเว้นการกระทําเท่าที่ระบุไว้ในกฎหมายเท่านั้น จึงจะเป็นความผิด ศาลจะตีความกฎหมายอาญาในทางขยายความไปเอาผิดกับการกระทําซึ่งไม่เป็นความผิดมาลงโทษไม่ได้ หรือจะตีความย้อนหลังไปลงโทษการกระทําซึ่งในขณะกระทําไม่เป็นความผิดมาลงโทษไม่ได้ และขณะเดียวกันศาลก็จะตีความไปเพิ่มโทษผู้กระทําความผิดให้รับโทษหนักขึ้นก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน

 

ข้อ 2 นายเกล้าออกเดินทางจากบ้านที่จังหวัดราชบุรีไปติดต่องานที่ประเทศดูไบ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2560 เข้าเมืองประทับตราวีซ่าในพาสปอร์ตลงวันที่ 3 ตุลาคม 2560 และได้เข้าไปติดต่องานกับบริษัทแห่งหนึ่งในวันที่ 10 ตุลาคม 2560 และได้เกิดเหตุโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายทําให้ตึกที่นายเกล้าไปติดต่องานเกิดถล่มลงมาในวันที่ 11 ตุลาคม 2560 หลังจากนั้นไม่มีใครพบนายเกล้า อีกเลย จนกระทั่งนางวี (ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย) ได้มาปรึกษาท่านซึ่งเป็นนักกฎหมายว่า จะมีสิทธิไปร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้นายเกล้าเป็นคนสาบสูญได้หรือไม่

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายเกล้าถึงแก่ความตายเมื่อใด และนางวีจะมีสิทธิไปใช้สิทธิทางศาลได้ หรือไม่ เมื่อใด เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 61 “ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลําเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี

(1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2) นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทําลาย หรือสูญหายไป

(3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้น ตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น”

มาตรา 62 “บุคคลซึ่งศาลได้มีคําสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกําหนด ระยะเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา 61

วินิจฉัย

ตามมาตรา 61 กรณีที่บุคคลจะไปใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคําร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญนั้น ต้องปรากฏว่าบุคคลนั้นได้หายไปโดยไม่มีผู้ใดทราบว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และได้หายไปจนครบกําหนด 5 ปีหรือ 2 ปี แล้วแต่กรณี และผู้ที่มีสิทธิไปร้องขอต่อศาลได้นั้นต้องเป็น ผู้มีส่วนได้เสียด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเกล้าออกเดินทางจากบ้านที่จังหวัดราชบุรีไปติดต่องานที่ประเทศดูไบ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2560 เข้าเมืองประทับตราวีซ่าในพาสปอร์ตลงวันที่ 3 ตุลาคม 2560 และได้เข้าไปติดต่องาน กับบริษัทแห่งหนึ่งในวันที่ 10 ตุลาคม 2560 และได้เกิดเหตุโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายทําให้ตึกที่นายเกล้า ไปติดต่องานเกิดถล่มลงมาในวันที่ 11 ตุลาคม 2560 หลังจากนั้นไม่มีใครพบนายเกล้าอีกเลยนั้น ถือว่านายเกล้า ได้สูญหายไปโดยไม่มีใครรู้แน่ว่านายเกล้ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ในกรณีพิเศษตามมาตรา 61 วรรคสอง (3) เพราะหายไปเนื่องจากตกอยู่ในเหตุอันตรายแก่ชีวิต ดังนั้นระยะเวลาที่ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะสามารถร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งให้นายเกล้าเป็นคนสาบสูญจึงต้องนับระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่เหตุ อันตรายแก่ชีวิตคือตึกถล่มได้ผ่านพ้นไปแล้ว คือวันที่ 11 ตุลาคม 2560 และจะครบกําหนด 2 ปี คือวันที่ 11 ตุลาคม 2562 ดังนั้นถ้าผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งให้นายเกล้าเป็นคนสาบสูญ ก็สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป

สําหรับนางวีนั้น เมื่อนางวีเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเกล้า นางวีจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และมีสิทธิไปร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้นายเกล้าเป็นคนสาบสูญได้ โดยนางวีสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ตั้งแต่ วันที่ 12 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป และเมื่อศาลสั่งให้นายเกล้าเป็นคนสาบสูญแล้ว ถือว่านายเกล้าได้ถึงแก่ความตาย ในวันที่ 11 ตุลาคม 2562 คือเมื่อครบกําหนด 2 ปี ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 61 มาตรา 62)

สรุป นางวีสามารถไปร้องขอให้ศาลสั่งให้นายเกล้าเป็นคนสาบสูญได้ โดยสามารถไปใช้สิทธิทางศาล ได้ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป และถือว่านายเกล้าถึงแก่ความตายในวันที่ 11 ตุลาคม 2562

 

ข้อ 3 บุคคลดังกล่าวต่อไปนี้ทํานิติกรรมจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

(1) นายไก่อายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ ทําพินัยกรรมขึ้นหนึ่งฉบับกําหนดไว้ว่า เมื่อตนถึงแก่ความตาย ให้ยกเงินจํานวนหนึ่งล้านบาทในบัญชีส่วนตัว ซึ่งตนฝากไว้ที่ธนาคารเอ จํากัด ให้แก่มูลนิธิช่วยเหลือผู้เยาว์ที่ขาดทุนทรัพย์ในการศึกษาโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม

(2) นายเป็ดคนไร้ความสามารถได้รับอนุญาตจากนายห่านผู้อนุบาล ให้ไปซื้อเครื่องออกกําลังกายจากร้านนายดํามูลค่าหนึ่งแสนบาท

(3) นายนกคนวิกลจริตไปเช่าบ้านนายหนูในขณะกําลังวิกลจริต และนายหนูทราบดีว่านายนกเป็นคนวิกลจริตในราคาเดือนละห้าพันบาท

(4) นายแมวคนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมอูฐมูลค่าตัวละแปดแสนบาทสองตัวไปบริการ นักท่องเที่ยวที่โรงแรมของนายแดงเพื่อนรักโดยไม่ได้รับความยินยามจากผู้พิทักษ์

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 21 “ผู้เยาว์จะทํานิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทําลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 25 “ผู้เยาว์อาจทําพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์”

มาตรา 29 “การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทําลง การนั้นเป็นโมฆียะ”

มาตรา 30 “การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทําลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทําในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทําเป็นคนวิกลจริต”

มาตรา 34 “คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทําการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า….

การใดกระทําลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ”

วินิจฉัย

กรณีตามปัญหา วินิจฉัยได้ดังนี้ คือ

(1) โดยหลัก ผู้เยาว์จะทํานิติกรรมใด ๆ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน มิฉะนั้นนิติกรรมที่ผู้เยาว์ทําขึ้นจะตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 21 เว้นแต่นิติกรรมบางประเภทที่กฎหมายกําหนดให้ ผู้เยาว์สามารถทําเองได้โดยลําพังตนเองและมีผลสมบูรณ์ เช่น นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทําเองเฉพาะตัว นิติกรรมที่จําเป็นในการดํารงชีพของผู้เยาว์ หรือพินัยกรรมซึ่งผู้เยาว์ได้ทําขึ้นในขณะที่มีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ เป็นต้น

ตามปัญหา การที่นายไก่ ซึ่งเป็นผู้เยาว์ได้ทําพินัยกรรมขึ้นหนึ่งฉบับกําหนดไว้ว่า เมื่อตนถึงแก่ความตายให้ยกเงินจํานวนหนึ่งล้านบาทในบัญชีส่วนตัวซึ่งฝากไว้ที่ธนาคารเอ จํากัด ให้แก่มูลนิธิช่วยเหลือผู้เยาว์ ที่ขาดทุนทรัพย์ในการศึกษานั้น เมื่อนายไก่ได้ทําพินัยกรรมในขณะที่มีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์แล้ว พินัยกรรม ดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 25 โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม

(2) ตามมาตรา 29 กฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้คนไร้ความสามารถทํานิติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าคนไร้ความสามารถฝ่าฝืนไปทํานิติกรรม ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลหรือไม่ก็ตาม นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา การที่นายเป็ดคนไร้ความสามารถได้ทํานิติกรรมโดยไปซื้อเครื่องออกกําลังกายมูลค่าหนึ่งแสนบาทจากร้านนายดํานั้น แม้การทํานิติกรรมดังกล่าวของนายเป็ดจะได้รับอนุญาต คือได้รับความยินยอม จากนายห่านผู้อนุบาลก็ตาม นิติกรรมดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 29

(3) โดยหลักของมาตรา 30 คนวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทํานิติกรรมใด ๆ นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะตกเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อได้ทํานิติกรรมนั้นในขณะจริตวิกล และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้ทํานิติกรรมเป็นคนวิกลจริต

ตามปัญหา การที่นายนกคนวิกลจริตไปเช่าบ้านนายหนูในราคาเดือนละ 5,000 บาท ในขณะที่ กําลังวิกลจริตนั้น เมื่อนายหนูทราบดีว่านายนกเป็นคนวิกลจริต ดังนั้น นิติกรรมการเช่าบ้านดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆยะตามมาตรา 30

(4) โดยทั่วไป คนเสมือนไร้ความสามารถทํานิติกรรมใด ๆ ได้โดยลําพังตนเอง และมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมที่สําคัญบางอย่างที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 เช่น การกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์ อันมีค่า คนเสมือนไร้ความสามารถจะทําต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา การที่นายแมวคนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมอูฐมูลค่าตัวละแปดแสนบาท 2 ตัว ไปให้บริการนักท่องเที่ยวที่โรงแรมของนายแดงเพื่อนรักนั้น เป็นเพียงการให้ยืมสังหาริมทรัพย์ธรรมดาเท่านั้น (เพราะอูฐนั้นไม่ใช่สัตว์พาหนะ) จึงไม่ใช่กรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า (สังหาริมทรัพย์ที่เมื่อมีการจําหน่ายจ่ายโอนจะต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่) ซึ่งเป็น นิติกรรมที่จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อนตามมาตรา 34 (3) ดังนั้นแม้นายแมวจะให้เพื่อนยืมอูฐ 2 ตัว โดยลําพัง กล่าวคือโดยผู้พิทักษ์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยแต่อย่างใด สัญญาการให้เพื่อนยืมอูฐ 2 ตัว ดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆียะแต่อย่างใด

สรุป

(1) พินัยกรรมที่นายไก่ได้ทําขึ้นมีผลสมบูรณ์

(2) สัญญาซื้อขายเครื่องออกกําลังกายระหว่างนายเป็ดกับนายดําเป็นโมฆียะ

(3) สัญญาเช่าบ้านระหว่างนายนกกับนายหนูเป็นโมฆียะ

(4) การให้เพื่อนยืมอูฐ 2 ตัวของนายแมวมีผลสมบูรณ์

Advertisement