การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1001 หลักกฎหมายมหาชน
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 ให้นักศึกษาอธิบาย “ความหมายของกฎหมายมหาชน” และ “ความแตกต่างระหว่างกฎหมาย มหาชนกับกฎหมายเอกชน”
ธงคําตอบ
กฎหมายมหาชน ได้แก่ กฎหมายที่กําหนดถึงกฎเกณฑ์ทางกฎหมายทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับ “สถานะและอํานาจของรัฐและผู้ปกครอง” รวมทั้งเป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่กําหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ และผู้ปกครองกับพลเมืองผู้อยู่ใต้การปกครอง ในฐานะที่รัฐและผู้ปกครองมีเอกสิทธิทางปกครองเหนือพลเมือง ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นเอกชน
สาขาของกฎหมายมหาชน ได้แก่ รัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง และกฎหมายการคลัง ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและผู้ปกครองกับพลเมืองตามกฎหมายมหาชนนั้น เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะที่รัฐและผู้ปกครองมีเอกสิทธิ์ทางปกครองเหนือพลเมือง ซึ่งจะแตกต่างกับกฎหมายเอกชนที่ตั้งอยู่บน พื้นฐานแห่งความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันของคู่กรณี และตั้งอยู่บนหลักความศักดิ์สิทธิ์แห่งการแสดงเจตนาและเสรีภาพในการทําสัญญา
สําหรับความแตกต่างระหว่างหลักกฎหมายมหาชนกับหลักกฎหมายเอกชนนั้น สามารถแยกออกเป็นหัวข้อที่สําคัญ ๆ ได้ดังนี้
1 ความแตกต่างทางด้านองค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปสร้างหรือทํานิติสัมพันธ์ (ทฤษฎีตัวการ กฎหมายมหาชน คู่กรณี คือ องค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปสร้างหรือทํานิติสัมพันธ์ ได้แก่ รัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายหนึ่งกับเอกชนที่เป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง
กฎหมายเอกชน คู่กรณี คือ องค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปสร้างหรือทํานิติสัมพันธ์ ได้แก่ เอกชน ที่เป็นคู่กรณีฝ่ายหนึ่งกับเอกชนที่เป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง
2 ความแตกต่างทางด้านเนื้อหาและความมุ่งหมาย (ทฤษฎีผลประโยชน์)
กฎหมายมหาชน มีวัตถุประสงค์ในการดําเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะและการให้บริการ สาธารณะ โดยมิได้มีความมุ่งหมายถึงผลกําไรเป็นตัวเงินหรือทรัพย์สิน แต่มุ่งหวังถึงความพึงพอใจและการตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนรวมเป็นสําคัญ
กฎหมายเอกชน มีวัตถุประสงค์ในการดําเนินงานเพื่อประโยชน์ของเอกชนแต่ละบุคคล โดยมีความมุ่งหมายถึงผลกําไรเป็นตัวเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ในลักษณะอื่นใดเพื่อประโยชน์ของปัจเจกบุคคล เป็นสําคัญ ทั้งนี้ มีข้อยกเว้นกรณีที่เป็นเอกชนบางประเภทที่อาจดําเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังเช่น มูลนิธิ หรือสมาคมการกุศล เป็นต้น
3 ความแตกต่างทางด้านรูปแบบของนิติสัมพันธ์ (ทฤษฎีความไม่เท่าเทียมกัน)
กฎหมายมหาชน มีลักษณะเป็นการใช้บังคับอํานาจที่มีอยู่เหนือนิติสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือกับปัจเจกบุคคล โดยวิธีการที่เป็น “การกระทําฝ่ายเดียว” และปรากฏออกมาในรูปแบบ “คําสั่ง” กล่าวคือ เป็นการกระทําที่ฝ่ายหนึ่ง (รัฐและผู้ปกครอง) สามารถกําหนดหน้าที่ทางกฎหมายให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง (รัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือปัจเจกบุคคล) กระทําตาม โดยฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องกระทําตามอาจไม่ได้ตกลงยินยอมด้วยก็ตาม กฎหมายเอกชน มีลักษณะที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักความเป็นอิสระในการแสดงเจตนา หลักความเสมอภาค และหลักเสรีภาพในการทําสัญญา โดยคู่กรณีต้องมีความสมัครใจ (เจตนาเสนอสนองตรงกัน สัญญาจึงจะเกิด) และคู่กรณีฝ่ายหนึ่งไม่มีอํานาจเหนือคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง โดยจะทําการบังคับอีกฝ่ายหนึ่งโดยปราศจากความยินยอมมิได้
4 ความแตกต่างทางด้านนิติวิธี
กฎหมายมหาชน มีลักษณะเป็นการนํานิติวิธีทางกฎหมาย โดยการนําแนวความคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาทางกฎหมายมหาชน โดยการสร้างหลักกฎหมายมหาชนขึ้นมาใช้บังคับ (โดยปฏิเสธการนําแนวความคิด วิเคราะห์ตามหลักกฎหมายเอกชนมาใช้บังคับโดยตรง)
กฎหมายเอกชน มีลักษณะเป็นการนํานิติวิธีทางกฎหมาย โดยการนําความคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาทางกฎหมายเอกชนที่มุ่งเน้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลด้วยกันเอง และมุ่งเน้นถึงการรักษาผลประโยชน์ของเอกชนด้วยกัน
5 ความแตกต่างทางด้านนิติปรัชญา
กฎหมายมหาชน มีลักษณะเป็นการมุ่งเน้นถึงการประสานและสร้างความสมดุลระหว่างผลประโยชน์สาธารณะหรือผลประโยชน์ของส่วนรวมกับผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลหรือเอกชน ที่มุ่งถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลตามที่กฎหมายให้อํานาจหรือกําหนดไว้
กฎหมายเอกชน มีลักษณะเป็นการมุ่งเน้นถึงความยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน และตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความสมัครใจของคู่กรณี
6 ความแตกต่างทางด้านเขตอํานาจศาล
กฎหมายมหาชน หากเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ หรือข้อพิพาทระหว่างรัฐกับปัจเจกบุคคล หรือเอกชนในทางกฎหมายมหาชนแล้ว คดีข้อพิพาทจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลเฉพาะหรือศาลพิเศษในทาง มหาชน เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง เป็นต้น
กฎหมายเอกชน หากเป็นข้อพิพาทระหว่างปัจเจกบุคคล หรือเอกชนต่อปัจเจกบุคคลหรือ เอกชนในทางกฎหมายเอกชนแล้ว คดีข้อพิพาทจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม ดังเช่น ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือศาลภาษี เป็นต้น
ข้อ 2 จงอธิบายเกี่ยวกับ “หลักประโยชน์สาธารณะ (Public Interest)” และ “หลักการพื้นฐานของ การให้บริการสาธารณะ (Public Service)”
ธงคําตอบ
หลักประโยชน์สาธารณะ (Public Interest) หมายถึง หลักการใช้อํานาจรัฐเพื่อตอบสนองต่อ ความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ มิใช่การตอบสนองต่อความต้องการของปัจเจกบุคคลเพียงคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม และมิใช่การตอบสนองต่อความต้องการของรัฐหรือผู้ดําเนินการนั้น หรืออาจกล่าวได้ว่า ประโยชน์สาธารณะ คือ ความต้องการของปัจเจกบุคคลแต่ละคนที่ตรงกัน และเป็นความต้องการที่ตรงกัน จํานวนมากจนเป็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม มีผลทําให้ความต้องการในลักษณะดังกล่าวเป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งจะมีความแตกต่างจากประโยชน์ส่วนบุคคลของปัจเจกบุคคลหรือเอกชนแต่ละคน ส่วนหลักพื้นฐานของการให้บริการสาธารณะ (Public Service) มีดังนี้ คือ
1 หลักความต่อเนื่องในการบริการสาธารณะ หมายถึง การจัดทําบริการสาธารณะจะต้องมี ความสม่ําเสมอและต่อเนื่องตลอดเวลา
2 หลักความเสมอภาคในการบริการสาธารณะ หมายถึง การไม่เลือกปฏิบัติ ต้องให้ความ เสมอภาคอย่างเท่าเทียมกันทั้งในด้านการให้บริการและการรับบุคคลเข้าทํางานในหน่วยงานของรัฐ
3 หลักการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการบริการสาธารณะ คือ จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ให้เกิดความทันสมัยและทันต่อความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่อยู่เสมอ
ข้อ 3 จงอธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง “สิทธิ” “เสรีภาพ” “รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” และ “พระราชกําหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548” ว่ามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร
ธงคําตอบ
“สิทธิ (Right)” หมายถึง อํานาจหรือประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้แก่บุคคลในอัน ที่จะกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของตนหรือบุคคลอื่น ซึ่งกฎหมายที่รับรองและคุ้มครองสิทธิดังกล่าวคือรัฐธรรมนูญนั่นเอง
“เสรีภาพ (Liberty)” หมายถึง ความมีเสรีและความเป็นอิสระที่สามารถจะกระทําหรืองดเว้น การกระทําได้โดยปลอดอุปสรรค และโดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น เป็นอํานาจในการกําหนดพฤติกรรมตนเองโดย ปราศจากการแทรกแซง การบังคับ และการขู่เข็ญ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้มีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ ของปวงชนชาวไทยไว้ในหมวด 3 อยู่หลายประการ (ตั้งแต่มาตรา 25 – 49) อาทิเช่น
1 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เท่าเทียมกัน… (มาตรา 27)
2 บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทํามิได้ เว้นแต่มีคําสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
การค้นตัวบุคคลหรือการกระทําใดอันกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือเสรีภาพในชีวิตหรือร่างกายจะกระทํามิได้ เว้นแต่จะมีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 28)
3 บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือ ประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อ ความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (มาตรา 31)
4 บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว…. (มาตรา 32) 5. บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติ แห่งกฎหมายที่ตราขึ้นโดยเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน (มาตรา 34)
ซึ่งสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวนั้นบุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทําการนั้นได้และจะได้รับ คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อ ความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของ บุคคลอื่น (มาตรา 25)
อย่างไรก็ดี อาจมีการตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลไว้ในบางกรณีได้ โดยอาศัยอํานาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น การตราพระราชกําหนด (ตามมาตรา 172 – 174 ประกอบ มาตรา 26) ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ และเพื่อ ประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกําหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้ ซึ่งประเทศไทยเคยมีการตราพระราชกําหนดที่เป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญไว้คือพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งในการตราพระราชกําหนด ดังกล่าวมาใช้บังคับนั้นได้ให้เหตุผลไว้ในหมายเหตุแนบท้ายของพระราชกําหนดดังกล่าวไว้ด้วยว่า เป็นกรณีฉุกเฉินที่มี ความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัย สาธารณะ และป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ จึงจําเป็นต้องตราพระราชกําหนดนี้ และตามมาตรา 9 ได้บัญญัติให้ นายกรัฐมนตรีมีอํานาจออกข้อกําหนดต่าง ๆ เช่น การห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลา ที่กําหนด ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทําการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทําให้ ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นต้น ซึ่งข้อกําหนด ดังกล่าวย่อมถือว่าเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลแล้ว และถ้าหากผู้ใดฝ่าฝืนข้อกําหนดดังกล่าวก็จะมี ความผิดและถูกลงโทษ (มาตรา 18)
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า “สิทธิ” “เสรีภาพ” “รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” และ “พระราชกําหนดการ บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548” ย่อมมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันดังที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น