การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1001 หลักกฎหมายมหาชน
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 จงอธิบายความหมายของกฎหมายมหาชน และกฎหมายมหาชนแตกต่างจากกฎหมายเอกชนอย่างไร
ธงคําตอบ
เมื่อพิจารณาจากความหมาย ลักษณะ และขอบเขตของกฎหมายมหาชนแล้ว สามารถที่จะ สรุปได้ว่า “กฎหมายมหาชน” เป็นกฎหมายที่มีสาระสําคัญดังต่อไปนี้ คือ
1 เป็นกฎหมายที่มีลักษณะในการกําหนดสถานะและนิติสัมพันธ์ของคู่กรณี โดยที่คู่กรณี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นองค์กรของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีการสร้างนิติสัมพันธ์กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง โดยอาจ เป็นองค์กรของรัฐด้วยกัน หรืออาจเป็นคู่กรณีที่มีสภาพบุคคลตามกฎหมายเอกชนก็ได้
2 เป็นกฎหมายที่มีลักษณะในการมุ่งถึงประโยชน์ในการสร้างนิติสัมพันธ์ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะ
3 เป็นกฎหมายที่มีลักษณะในการสร้างนิติสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีทั้งสองฝ่าย โดยไม่จําต้อง ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งหลักความเสมอภาค กล่าวคือ คู่กรณีฝ่ายรัฐสามารถมีอํานาจบังคับเหนือคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นเอกชนได้ หากเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะ
4 เป็นกฎหมายที่มีสภาพบังคับทางกฎหมายเป็นการทั่วไป โดยคู่กรณีจะเจรจาหรือตกลง กันเองว่าจะนํากฎหมายใดมาใช้หรือไม่ใช้กฎหมายใดมิได้ (หากมีการทําข้อตกลงยกเว้นย่อมถือได้ว่ามีลักษณะ เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนได้)
5 เป็นกฎหมายที่กําหนดให้ศาลพิเศษมีอํานาจในการพิจารณาพิพากษาคดี หากเกิด กรณีข้อพิพาทขึ้นศาลที่มีอํานาจในการพิจารณาพิพากษาคดี คือ ศาลพิเศษ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง เป็นต้น (ทั้งนี้ย่อมเป็นไปตามลักษณะข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในแต่ละกรณี)
สําหรับความแตกต่างระหว่างหลักกฎหมายมหาชนกับหลักกฎหมายเอกชนนั้น สามารถแยกออกเป็นหัวข้อที่สําคัญ ๆ ได้ดังนี้
1 ความแตกต่างทางด้านองค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปสร้างหรือทํานิติสัมพันธ์ (ทฤษฎีตัวการ)
กฎหมายมหาชน คู่กรณี คือ องค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปสร้างหรือทํานิติสัมพันธ์ ได้แก่ รัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายหนึ่งกับเอกชนที่เป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง
กฎหมายเอกชน คู่กรณี คือ องค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปสร้างหรือทํานิติสัมพันธ์ ได้แก่ เอกชนที่เป็นคู่กรณีฝ่ายหนึ่งกับเอกชนที่เป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง
2 ความแตกต่างทางด้านเนื้อหาและความมุ่งหมาย (ทฤษฎีผลประโยชน์)
กฎหมายมหาชน มีวัตถุประสงค์ในการดําเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะและการให้บริการสาธารณะ โดยมิได้มีความมุ่งหมายถึงผลกําไรเป็นตัวเงินหรือทรัพย์สิน แต่มุ่งหวังถึงความพึงพอใจและการตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนรวมเป็นสําคัญ
กฎหมายเอกชน มีวัตถุประสงค์ในการดําเนินงานเพื่อประโยชน์ของเอกชนแต่ละบุคคล โดยมีความมุ่งหมายถึงผลกําไรเป็นตัวเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ในลักษณะอื่นใดเพื่อประโยชน์ของปัจเจกบุคคล เป็นสําคัญ ทั้งนี้ มีข้อยกเว้นกรณีที่เป็นเอกชนบางประเภทที่อาจดําเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังเช่น มูลนิธิหรือสมาคมการกุศล เป็นต้น
3 ความแตกต่างทางด้านรูปแบบของนิติสัมพันธ์ (ทฤษฎีความไม่เท่าเทียมกัน)
กฎหมายมหาชน มีลักษณะเป็นการใช้บังคับอํานาจที่มีอยู่เหนือนิติสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือกับปัจเจกบุคคล โดยวิธีการที่เป็น “การกระทําฝ่ายเดียว” และปรากฏออกมาในรูปแบบ “คําสั่ง” กล่าวคือ เป็นการกระทําที่ฝ่ายหนึ่ง (รัฐและผู้ปกครอง) สามารถกําหนดหน้าที่ทางกฎหมายให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง (รัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือปัจเจกบุคคล) กระทําตาม โดยฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องกระทําตามอาจไม่ได้ตกลงยินยอมด้วยก็ตาม กฎหมายเอกชน มีลักษณะที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักความเป็นอิสระในการแสดงเจตนา หลักความเสมอภาค และหลักเสรีภาพในการทําสัญญา โดยคู่กรณีต้องมีความสมัครใจ (เจตนาเสนอสนองตรงกัน สัญญาจึงจะเกิด) และคู่กรณีฝ่ายหนึ่งไม่มีอํานาจเหนือคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง โดยจะทําการบังคับอีกฝ่ายหนึ่งโดย ปราศจากความยินยอมมิได้
4 ความแตกต่างทางด้านนิติวิธี
กฎหมายมหาชน มีลักษณะเป็นการนํานิติวิธีทางกฎหมาย โดยการนําแนวความคิด วิเคราะห์การแก้ไขปัญหาทางกฎหมายมหาชน โดยการสร้างหลักกฎหมายมหาชนขึ้นมาใช้บังคับ (โดยปฏิเสธการนําแนวความคิดวิเคราะห์ตามหลักกฎหมายเอกชนมาใช้บังคับโดยตรง)
กฎหมายเอกชน มีลักษณะเป็นการนํานิติวิธีทางกฎหมาย โดยการนําความคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาทางกฎหมายเอกชนที่มุ่งเน้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลด้วยกันเอง และมุ่งเน้นถึงการรักษาผลประโยชน์ของเอกชนด้วยกัน
5 ความแตกต่างทางด้านนิติปรัชญา
กฎหมายมหาชน มีลักษณะเป็นการมุ่งเน้นถึงการประสานและสร้างความสมดุลระหว่างผลประโยชน์สาธารณะหรือผลประโยชน์ของส่วนรวมกับผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลหรือเอกชน ที่มุ่งถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลตามที่กฎหมายให้อํานาจหรือกําหนดไว้
กฎหมายเอกชน มีลักษณะเป็นการมุ่งเน้นถึงความยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน และตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความสมัครใจของคู่กรณี
6 ความแตกต่างทางด้านเขตอํานาจศาล
กฎหมายมหาชน หากเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ หรือข้อพิพาทระหว่างรัฐกับ ปัจเจกบุคคลหรือเอกชนในทางกฎหมายมหาชนแล้ว คดีข้อพิพาทจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลเฉพาะหรือ ศาลพิเศษในทางมหาชน เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง เป็นต้น
กฎหมายเอกชน หากเป็นข้อพิพาทระหว่างปัจเจกบุคคล หรือเอกชนต่อปัจเจกบุคคล หรือเอกชนในทางกฎหมายเอกชนแล้ว คดีข้อพิพาทจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม ดังเช่น ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือศาลภาษี เป็นต้น
ข้อ 2 จงอธิบายว่ากฎหมายมหาชนและหลักกฎหมายมหาชนมีความสําคัญและเกี่ยวข้องกับตัวนักศึกษาอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบ
ธงคําตอบ
“กฎหมายมหาชน” คือ กฎหมายที่บัญญัติให้อํานาจและหน้าที่แก่รัฐ แก่หน่วยงานทางปกครอง หรือหน่วยงานของรัฐและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในทางปกครองและการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชน ส่วนใหญ่ ในฐานะที่ฝ่ายปกครองมีอํานาจเหนือผู้ใต้ปกครอง
กฎหมายมหาชน ปัจจุบันได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง ซึ่งกฎหมายปกครองนั้นอาจจะอยู่ในชื่อของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกําหนด ประมวลกฎหมายหรืออาจจะอยู่ในชื่อของประกาศคณะปฏิวัติก็ได้
กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการวางระเบียบการปกครองของรัฐในทาง การเมืองโดยกําหนดโครงสร้างของรัฐ ระบอบการปกครอง การใช้อํานาจอธิปไตยและการดําเนินงานของสถาบันสูงสุด ของรัฐที่ใช้อํานาจอธิปไตย กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงอํานาจในการปกครองประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 อํานาจ คือ
1 อํานาจนิติบัญญัติ เป็นอํานาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของ อํานาจอธิปไตย ซึ่งมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อํานาจนี้
2 อํานาจบริหาร เป็นอํานาจที่จะจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย มีรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ใช้อํานาจนี้
3 อํานาจตุลาการ เป็นอํานาจในการตัดสินและพิพากษาอรรถคดี ซึ่งองค์กรสําคัญที่ใช้ อํานาจนี้ คือ ศาล
กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองของรัฐในทาง ปกครองหรือที่เรียกว่า “การจัดระเบียบราชการบริหาร” รวมทั้งการวางระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายปกครอง ที่เรียกว่า “บริการสาธารณะ” ซึ่งฝ่ายปกครองจัดทําเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน
ราชการแผ่นดินของไทยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหาร ส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายปกครองดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
นอกจากนี้ยังกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า กฎหมายปกครอง เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อํานาจหน้าที่ ในทางปกครองแก่หน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกคําสั่งทางปกครอง ให้อํานาจในการออกกฎให้อํานาจในการกระทําทางปกครองและสัญญาทางปกครอง
ซึ่งในการใช้อํานาจนิติบัญญัติ อํานาจบริหาร และอํานาจตุลาการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการใช้อํานาจทางปกครองในการออกกฎ ออกคําสั่งทางปกครอง หรือการกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น และการทําสัญญาทางปกครองขององค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ก็เพื่อการ บริหารราชการแผ่นดินและเพื่อการจัดทําบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวมของประเทศ ซึ่งรวมทั้ง เพื่อประโยชน์แก่ตัวข้าพเจ้าด้วย ดังนั้นในการใช้อํานาจต่าง ๆ หรือการกระทําต่าง ๆ ขององค์กรของรัฐหรือหน่วยงาน ทางปกครอง เพื่อประโยชน์แก่ตัวข้าพเจ้าด้วย ซึ่งมีการชนบัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ไว้ด้วย เพราะถ้าไม่มีกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ไว้ องค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะ ไม่สามารถที่จะดําเนินการใด ๆ ได้
และนอกจากนั้น ในการใช้อํานาจต่าง ๆ ขององค์กรของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็จะต้องได้ใช้อํานาจโดยถูกต้องตามหลักของกฎหมายมหาชนด้วย เช่น หลักความชอบด้วยกฎหมาย หลักความสุจริต หลักประโยชน์สาธารณะ หลักความยุติธรรม และหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นต้น
หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยรามคําแหงซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะใช้อํานาจทางปกครองเพื่อออกกฎ เช่น ระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัยหรือ ออกคําสั่งทางปกครอง หรือกระทําการทางปกครองในรูปแบบอื่น หรือการทําสัญญาทางปกครองในการบริหาร มหาวิทยาลัยเพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัยและนักศึกษาทุกคนซึ่งรวมทั้งข้าพเจ้าด้วยนั้นก็จะต้องมีกฎหมายมหาชน
ซึ่งในที่นี้คือ พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยรามคําแหง ซึ่งเป็นกฎหมายปกครองได้บัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ไว้ด้วย และจะต้องใช้อํานาจและหน้าที่นั้นโดยถูกต้องตามหลักการต่าง ๆ ของกฎหมายมหาชนดังกล่าวข้างต้นด้วย เพราะถ้า เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยได้ใช้อํานาจหน้าที่เกินขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือเป็นการใช้อํานาจโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อํานาจไว้ หรือได้ใช้อํานาจและหน้าที่ไม่ถูกต้องตามหลักของกฎหมายมหาชนแล้ว ย่อมอาจ ก่อให้เกิดข้อพิพาทซึ่งเรียกว่า ข้อพิพาททางปกครองขึ้นมาได้ และเมื่อเกิดข้อพิพาททางปกครองหรือคดีปกครอง ขึ้นมาแล้ว ก็สามารถนําข้อพิพาทนั้นไปฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองได้
ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากฎหมายมหาชนและหลักกฎหมายมหาชน มีความสําคัญและเกี่ยวข้องกับข้าพเจ้า ตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 3 จงอธิบายจุดอ่อนและจุดแข็งของการควบคุมการใช้อํานาจรัฐในแบบวิธีการป้องกันและแบบแก้ไขมาโดยละเอียด
ธงคําตอบ
การควบคุมการใช้อํานาจรัฐ หมายถึง การควบคุมการใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยสั่งการ หรือ การกระทําทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือฝ่ายปกครองนั่นเอง ซึ่งการควบคุมการใช้อํานาจรัฐนั้น แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
1 การควบคุมการใช้อํานาจรัฐแบบป้องกัน หมายความว่า ก่อนที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือ ฝ่ายปกครองจะได้วินิจฉัยสั่งการ หรือมีการกระทําในทางปกครองที่จะไปกระทบต่อสถานภาพทางกฎหมายของบุคคลใด ควรมีระบบป้องกันหรือควบคุมการวินิจฉัยสั่งการหรือการกระทํานั้นเสียก่อน กล่าวคือมีกฎหมายกําหนด กระบวนการหรือขั้นตอนต่าง ๆ ก่อนที่จะมีคําสั่งนั้นออกไป
ซึ่งการควบคุมการใช้อํานาจรัฐแบบป้องกันดังกล่าวนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั่นเอง เช่น
(1) เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้โต้แย้งคัดค้าน คือ การให้โอกาสผู้ที่อาจได้รับความเสียหาย จากการกระทําของฝ่ายปกครอง สามารถแสดงข้อโต้แย้งของตนได้
(2) มีการปรึกษาหารือ คือการให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ
(3) หลักการไม่มีส่วนได้เสีย กล่าวคือ ผู้มีอํานาจสั่งการทางปกครองจะต้องไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่จะสั่งการนั้น
(4) มีการไต่สวนทั่วไป ซึ่งเป็นวิธีการที่กําหนดให้ฝ่ายปกครองต้องสอบสวนหา ข้อเท็จจริง โดยทําการรวบรวมความคิดเห็นของบุคคลผู้มีส่วนได้เสีย แล้วทําเป็นรายงานก่อนที่ฝ่ายปกครองจะได้ตัดสินใจกระทําการที่จะมีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย
(5) เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจะต้องแจ้งสิทธิและหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาทางปกครองให้คู่กรณีทราบตามความจําเป็นแก่กรณี
(6) ถ้าเป็นคําสั่งทางปกครองที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปได้ จะต้องระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้ง การยื่นคําอุทธรณ์หรือคําโต้แย้ง และระยะเวลาสําหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งดังกล่าวไว้ด้วย
จุดอ่อน ของการควบคุมการใช้อํานาจรัฐแบบป้องกัน คือการขาดสภาพบังคับ และการถือปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงทําให้วิธีการดังกล่าวไม่ค่อยจะได้ผล แต่จุดแข็ง คือ ถือเป็นการควบคุม การใช้อํานาจรัฐก่อนที่จะมีการทํานิติกรรม หรือคําสั่งทางปกครอง อีกทั้งเป็นวิธีการที่ช่วยเสริมการควบคุม โดยทางศาล เพราะฝ่ายปกครองจะต้องระมัดระวังในขั้นตอนการพิจารณาออกคําสั่ง ทําให้การกระทําของฝ่ายปกครองมีความโปร่งใสและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังลดคดีที่จะมีไปสู่ศาลอีกทางหนึ่งด้วย
2 การควบคุมการใช้อํานาจรัฐแบบแก้ไข หมายความว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐได้สั่งการใด หรือวินิจฉัยเรื่องใดไปแล้ว หากกระทบต่อสถานภาพทางกฎหมายของบุคคลใดในทางที่มิชอบด้วยกฎหมายจึง กําหนดให้มีระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐแบบแก้ไขโดยองค์กรที่เกี่ยวข้อง คือ ระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐ โดยองค์กรภายในของฝ่ายบริหาร และระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยองค์กรภายนอกของฝ่ายบริหาร
(1) ระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยองค์กรภายในของฝ่ายบริหาร เป็นระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยขึ้นอยู่กับการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ โดยอาจกระทําได้โดยการบังคับบัญชา และการกํากับดูแล ได้แก่
ก) ระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐ ด้วยการควบคุมบังคับบัญชาและการกํากับดูแล
– การควบคุมบังคับบัญชา โดยผู้บังคับบัญชาทําการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและความเหมาะสมในการกระทําของผู้ใต้บังคับบัญชา โดยอาจตรวจสอบเองหรือมีบุคคลมาร้องเรียน
– การกํากับดูแล โดยหน่วยงานของรัฐจะดําเนินการตรวจสอบ ความชอบด้วยกฎหมายของการกระทําของหน่วยงานตามสายการบังคับบัญชา
ข) ระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐ ด้วยการร้องทุกข์และการอุทธรณ์ภายใน หน่วยงาน โดยสามารถร้องทุกข์หรืออุทธรณ์คําสั่งไปยังผู้ออกคําสั่งนั้น
(2) ระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยองค์กรภายนอกของฝ่ายบริหาร ได้แก่
ก) การควบคุมโดยองค์กรทางการเมือง เช่น รัฐสภา เป็นต้น
ข) การควบคุมโดยองค์กรพิเศษ คือ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฯ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการ ตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น
(3) ระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยองค์กรศาล ได้แก่
ก) การควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยศาลยุติธรรม
ข) การควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยศาลปกครอง
ค) การควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยศาลรัฐธรรมนูญ
วิธีการควบคุมการใช้อํานาจรัฐที่ดีที่สุด คือ การควบคุมแบบแก้ไข (ภายหลัง) ที่เรียกว่า ใช้ระบบ ตุลาการ (ศาลคู่) นั่นคือ ศาลปกครอง เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะมีระบบการพิจารณาที่ใช้ศาล และมีกฎหมายรองรับ ทําให้การพิจารณาพิพากษาเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างยิ่ง อาทิเช่น กฎหมายจัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กฎหมายว่าด้วยความรับผิดในทางละเมิดของ เจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2539
ส่วนการควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยองค์กรภายในของฝ่ายบริหารหรือโดยองค์กรทางการเมืองถือเป็นจุดอ่อนของการควบคุมการใช้อํานาจรัฐในรูปแบบนี้ เพราะไม่ค่อยเกิดผลในทางปฏิบัติมากนัก