การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LW 203 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 นิติกรรมที่กฎหมายบังคับว่า จะต้องทำเป็นหนังสือแตกต่างจากนิติกรรมที่จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างไร ให้อธิบายและยกตัวอย่างประกอบ
ธงคำตอบ
มาตรา 152 การใดมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้การนั้นเป็นโมฆะ
อธิบาย นิติกรรมที่กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือนั้นคือ นิติกรรมที่กฎหมายบังคับไว้ให้ทำในลักษณะของแบบบังคับนั้นเองและหากเป็นแบบบังคับแล้ว ผลตามกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 152 คือ ถ้าผู้ทำนิติกรรมมิได้ทำตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้นั้น นิติกรรมนั้นก็จะตกเป็นโมฆะ
นิติกรรมที่ต้องทำเป็นหนังสือ หมายถึง นิติกรรมที่ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร โดยลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย จะมีเพียงหลักฐานเป็นหนังสือไม่ได้ ทั้งนี้การทำเป็นหนังสือที่ต้องลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายนี้ ไม่มีบทบัญญัติใดระบุว่าคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายจะต้องลงชื่อในวันทำสัญญานั้น
ตัวอย่างเช่น สัญญาเช่าซื้อ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 วรรคสอง ที่กำหนดให้สัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือ หมายถึงว่าเจ้าของทรัพย์สินผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อจะต้องลงลายมมือชื่อในหนังสือสัญญาเช่าซื้อด้วยกันทั้งสองฝ่าย สัญญาเช่าซื้อจึงจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ดังนั้นหากสัญญาเช่าซื้อใดตกลงด้วยวาจา หรือในกรณีที่มีการทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อ แต่ผู้ให้เช่าซื้อหรือผู้เช่าซื้อแต่เพียงฝ่ายเดียวลงลายมือชื่อในสัญญา ถือได้ว่ามิได้ทำตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ ตามมาตรา 572 วรรคสอง สัญญาเช่าซื้อดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ
สำหรับลักษณะของการทำหลักฐานเป็นหนังสือนั้นคือ การเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร มีข้อความทุกอย่างของนิติกรรมประเภทนั้นครบถ้วน มีลายมือชื่อของคู่สัญญาฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ทั้งหมดนี้ไม่จำต้องมีหรือได้ทำขึ้นในขณะที่ทำนิติกรรม
นิติกรรมที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น เป็นเพียงนิติกรรมที่กฎหมายกำหนดว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือเพื่อใช้ในการฟ้องร้องและต้องมีลายมือชื่อของผู้รับผิด แม้นิติกรรมนั้นกฎหมายจะกำหนดให้ต้องมีหลักฐาน แม้จะไม่มีหลักฐานในขณะทำนิติกรรม นิติกรรมนั้นก็เป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมายทุกประการเพียงแต่คู่กรณีจะฟ้องกันโดยที่ไม่มีหลักฐานนั้นไม่ได้
ตัวอย่างเช่น สัญญากู้ยืมเงิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคแรก ที่กำหนดว่าการกู้ยืมเงินเกินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ แสดงให้เห็นชัดอยู่ในตัวว่าบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับว่าต้องทำสัญญากู้ยืมเป็นหนังสือ เหมือนเช่นสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวข้าง ต้นแต่อย่างใด เพียงแต่หากประสงค์จะฟ้องร้องบังคับคดีในชั้นศาล คู่สัญญาจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงจะฟ้องร้องกันได้ ดังนั้นในขณะทำสัญญากู้ยืมเงินกัน เมื่อมีการส่งมอบเงินที่ยืมให้ผู้กู้ยืมแล้ว สัญญากู้ยืมเงินย่อมสมบูรณ์ตามกฎหมาย แม้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือก็ตาม และทั้งนี้หลังจากรับมอบเงินแล้ว คู่สัญญาจะทำสัญญากู้ยืมเงินกันในภายหลังเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องก็ได้
อย่างไรก็ดีข้อแตกต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ นิติกรรมที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ต้องมีลายมือชื่อของฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญเท่านั้น แม้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะมิได้ลงลายมือชื่อ ก็ไม่ทำให้หลักฐานเป็นหนังสือนั้นเป็นโมฆะ ตามมาตรา 152 เพราะนิติกรรมที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมิใช่แบบของนิติกรรมที่กฎหมายบังคับไว้ให้ต้องทำเป็นหนังสือนั่นเอง
ข้อ 2 นายทำใจเจ้าของที่ดินตกลงทำนิติกรรมจะซื้อขายที่ดินชายทะเล จำนวน 120 ไร่ ให้แก่นายทำดี ต่อมาปรากฏว่า ทางราชการได้ประกาศว่าจะมีโครงการตัดถนนผ่านที่ดินดังกล่าวซึ่งจะทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้น นายทำใจรู้สึกเสียดายที่ดินของตน นายทำใจจึงไปทวงที่ดินคืนจากนายทำดี โดยอ้างว่า “นิติกรรมจะซื้อขายที่ดินที่ตนทำกับนายทำดีเป็นโมฆียะ
เพราะนายทำดีนิ่งเสียไม่ไขข้อความจริงเกี่ยวกับโครงการจะตัดถนนผ่านที่ดินดังกล่าว ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของนายทำดีที่จะต้องบอกให้ตนทราบ ตนจึงขอบอกล้างนิติกรรมดังกล่าว” ดังนี้อยากทราบว่าการแสดงเจตนาทำนิติกรรมจะซื้อขาย ที่ดินระหว่างนายทำใจกับนายทำดีมีผลทางกฎหมายเป็นอย่างไร และข้ออ้างของนายทำใจฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายธงคำตอบ
มาตรา 162 ในนิติกรรมสองฝ่าย การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงหรือคุณสมบัติอันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้ การนั้นจะเป็นฉ้อฉล หากพิสูจน์ได้ว่าถ้ามิได้นิ่งเสียเช่นนั้น นิติกรรมนั้นก็คงมิได้กระทำขึ้น
วินิจฉัย
การแสดงเจตนาเนื่องจากถูกกลฉ้อฉลโดยการนิ่ง ตามมาตรา 162 มีหลักเกณฑ์อันจะทำให้นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆียะ ประกอบด้วย
1 เป็นนิติกรรมสองฝ่าย
2 จงใจนิ่งเสีย ไม่แจ้งข้อความจริงหรือคุณสมบัติอันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้ โดย
(ก) คู่กรณีฝ่านั้นมีหน้าที่ๆจะต้องบอกความจริง หรือ
(ข) มีพฤติการณ์อันแสดงออกทำให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจผิด
3 ถึงขนาดว่าถ้ามิได้นิ่งเสียเช่นนั้น นิติกรรมนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้นกรณีตามอุทาหรณ์ การแสดงเจตนาของนายทำใจเจ้าของที่ดินที่ตกลงทำนิติกรรมจะซื้อขายที่ดินกับนายทำดีดังกล่าว มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ และข้ออ้างของนายทำใจผู้จะขายฟังไม่ขึ้น เพราะแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นนิติกรรมสองฝ่าย และนายทำดีผู้จะซื้อจงใจนิ่งเสียไม่ไขข้อความจริงเกี่ยวกับโครงการจะตัดถนนผ่านที่ดินดังกล่าวก็ตาม ซึ่งนายทำใจผู้จะขายมิได้รู้มาก่อนและถ้าฝ่ายนายทำดีผู้จะซื้อมิได้นิ่งเสียเช่นนั้น สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินก็มิได้ทำขึ้น แต่การที่นายทำดีผู้จะซื้อนิ่งเสียไม่ไขข้อความจริงเกี่ยวกับโครงการจะตัดถนนผ่านที่ดินดังกล่าวหรือไม่ มิใช่หน้าที่ของนายทำดีผู้จะซื้อที่จะต้องบอกกล่าวข้อความจริงดังกล่าว หากแต่เป็นหน้าที่ของนายทำใจผู้จะขายที่ดินที่จะต้องขวนขวายแสวงหาความจริงเอาเอง ดังนั้นการกระทำของนายทำดีผู้จะซื้อจึงไม่เป็นกลฉ้อฉลโดยการนิ่ง ตามมาตรา 162 เพราะนายทำดีไม่มีหน้าที่บอกกล่าวความจริง สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ (ฎ. 1131/2532)
สรุป การแสดงเจตนาทำนิติกรรมดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย และข้ออ้างของนายทำใจฟังไม่ขึ้น
ข้อ 3 นางสาวเก่งเรียน นักศึกษาปี 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ตกลงทำสัญญาเช่าบ้านกับนายสาคร 1 หลัง เพื่อเรียนหนังสือ โดยทำสัญญาเช่ากันในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 มีกำหนดระยะเวลาการเช่ากัน 1 ปี ดังนี้อยากทราบว่า
ก. สัญญาเช่าบ้านของนางสาวเก่งเรียนจะสิ้นสุดลงเมื่อใด
ข. เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง ปรากฏว่านางสาวเก่งเรียนจบการศึกษาพอดี แต่นางสาวเก่งเรียนต้องการอยู่ต่อเพื่อรอรับพระราชทานปริญญาบัตร นางสาวเก่งเรียนจึงขอเช่าบ้านนายสาครต่อออกไปอีก 1 เดือนครึ่ง โดยนายสาครยินยอมและมิได้มีการกำหนดวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลาที่ขยายออกไป ระยะเวลาเช่าที่ขยายออกไปจะสิ้นสุดลงเมื่อใดหมายเหตุ เดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2551 มี 29 วัน
ธงคำตอบ
มาตรา 193/3 ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นหน่วยเวลาที่สั้นกว่าวัน ให้เริ่มต้นนับในขณะที่เริ่มการนั้น
ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานตามประเพณี
มาตรา 193/5 ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นสัปดาห์ เดือน หรือปี ให้คำนวณตามปีปฏิทิน
ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์ วันต้นแห่งเดือนหรือปี ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์ เดือน หรือปีสุดท้าย อันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ถ้าระยะเวลานับเป็นเดือนหรือปีนั้น ไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้น เป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา
มาตรา 193/6 ถ้าระยะเวลากำหนดเป็นเดือนและวัน หรือกำหนดเป็นเดือนและส่วนของเดือนให้นับจำนวนเดือนเต็มก่อน แล้วจึงนับจำนวนวันหรือส่วนของเดือนเป็นวัน
ถ้าระยะเวลากำหนดเป็นส่วนของปี ให้คำนวณส่วนของปีเป็นเดือนก่อนหากมีส่วนของเดือนให้นับส่วนของเดือนเป็นวัน
การคำนวณส่วนของเดือนตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ถือว่าเดือนหนึ่งมีสามสิบวัน
มาตรา 193/7 ถ้ามีการขยายระยะเวลาออกไปโดยมิได้มีการกำหนดวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลาที่ขยายออกไป ให้นับวันที่ต่อจากวันสุดท้ายของระยะเวลาเดิมเป็นวันเริ่มต้น
วินิจฉัย
(ก) นางสาวเก่งเรียนนักศึกษาปี 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ตกลงทำสัญญาเช่าบ้านกับนายสาคร โดยทำสัญญาเช่ากันในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 มีกำหนดระยะเวลาการเช่า 1 ปี การเริ่มต้นนับระยะเวลามิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน ให้เริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 1 มีนาคม 2551 ตามมาตรา 193/3 วรรคสองซึ่งวันที่ 1 มีนาคม 2551 เป็นวันเริ่มนับมิใช่วันต้นแห่งปี คือ วันที่ 1 มกราคม 2551 เพราะฉะนั้นกำหนดระยะเวลา 1 ปี น่าจะสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น คือ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2552 ตามมาตรา 193/5 วรรคสอง แต่เนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ในปี พ.ศ. 2552 มีเพียง 28 วันเท่านั้น ดังนั้นวันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์คือ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 จึงเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาเช่าบ้านของนางสาวเก่งเรียน ตามาตรา 193/5 วรรคสองตอนท้าย
(ข) เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง แต่นางสาวเก่งเรียนได้ขอเช่าบ้านนายสาครต่อออกไปอีก 1 เดือนครึ่ง โดยนายสาครยินยอมและมิได้มีการกำหนดวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลาที่ขยายออกไป ระยะเวลาที่ขยายจึงต้องเริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2552 อันเป็นวันต่อจากวันสุดท้ายของระยะเวลาเดิมเป็นวันเริ่มต้น ตามมาตรา 193/7แต่เนื่องจากระยะเวลาการเช่าบ้านที่ขยายออกไปอีกเดือนครึ่งดังกล่าว ถือว่าการขยายระยะเวลากรณีนี้เป็นระยะเวลาที่กำหนดเป็นเดือนและส่วนของเดือน ดังนั้นการคำนวณระยะเวลาในกรณีนี้จึงต้องนับจำนวนเดือนเต็มก่อน แล้วจึงนับส่วนของเดือนเป็นวันในภายหลัง กล่าวคือ ให้คำนวณระยะเวลาขยายออกไปอีก 1 เดือนเต็มก่อน เมื่อวันที่เริ่มต้นนับคือวันที่ 1 มีนาคม 2552 ตามาตรา 193/7 ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงตรงกับวันที่ 31 มีนาคม 2552 ตามาตรา 193/5 วรรคแรก หลังจากนั้นจึงจะนับส่วนของเดือน คือ ครึ่งเดือนซึ่งเท่ากับ 15 วัน เพราะ 1 เดือนมี 30 วันเท่ากันหมด ตามมาตรา 193/6 วรรคแรกและวรรคสาม จึงต้องนับระยะเวลาต่อออกไปอีก 15 วัน ระยะเวลาของสัญญาเช่าที่ขยายออกไปย่อมสิ้นสุดลงในวันที่ 15 เมษายน 2552
ดังนั้นระยะเวลาการเช่าที่ขยายออกไปอีกเดือนครึ่งจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 15 เมษายน 2552
สรุป (ก) สัญญาเช่าบ้านของนางสาวเก่งเรียนจะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552
(ข) ระยะเวลาการเช่าที่ขยายออกไปอีกเดือนครึ่งสิ้นสุดลงในวันที่ 15 เมษายน 2552
ข้อ 4 นายอิ่มอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ได้โทรศัพท์ไปหานายอดเพื่อนสนิท และนายอิ่มได้พูดเสนอขายรถยนต์ 1 คัน ให้นายอดในราคา 400,000 บาท ในระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์ แต่นายอดไม่ได้ตอบกลับมาทันทีว่าจะซื้อหรือไม่อย่างไร นายอิ่มเห็นนายอดไม่สนใจรถยนต์ของตน เมื่อกลับถึงบ้านนายอิ่มได้ส่งจดหมายเสนอขายรถยนต์คันดังกล่าว ให้นายอี๊ดซึ่งอยู่จังหวัดสมุทรสาครในราคาเท่ากัน กับที่เสนอขายนายอด โดยนายอิ่มได้กำหนดไปในจดหมายด้วยว่า ถ้านายอี๊ดต้องการซื้อรถยนต์ของตน ต้องสนองตอบกลับมาภายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 ปรากฏว่าเมื่อถึงวันที่กำหนดคือ วันที่ 20 พฤษภาคม 2551 แล้วนายอี๊ดก็มิได้สนองตอบกลับมาแต่อย่างใด จะมีก็แต่จดหมายคำสนองของนายอดที่ตอบกลับมายังนายอิ่มว่าตนตกลงซื้อรถยนต์ของนายอิ่มที่เสนอขาย ดังนี้อยากทราบว่า ถ้านายอิ่มเปลี่ยนใจไม่ต้องการขายรถยนต์ของตนให้กับนายอดและนายอี๊ด นายอิ่มจะทำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 354 คำเสนอจะทำสัญญาอันบ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองนั้น ท่านว่าไม่อาจจะถอนได้ภายในระยะเวลาที่บ่งไว้
มาตรา 356 คำเสนอทำแก่บุคคลผู้อยู่เฉพาะหน้า โดยมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองนั้นเสนอ ณ ที่ใดเวลาใดก็ย่อมจะสนองรับได้แต่ ณ ที่นั้นเวลานั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงการที่บุคคลคนหนึ่งทำคำเสนอไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งทางโทรศัพท์ด้วย
มาตรา 357 คำเสนอใดเขาบอกปัดไปยังผู้เสนอแล้วก็ดี หรือมิได้สนองรับภายในเวลากำหนดดังกล่าวมาในมาตราทั้งสามก่อนนี้ก็ดี คำเสนอนั้นท่านว่าเป็นอันสิ้นความผูกพันแต่นั้นไป
มาตรา 360 บทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสองนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง หรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ
วินิจฉัย
กรณีแรก การที่นายอิ่มซึ่งอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ได้โทรศัพท์ไปหานายอดเพื่อนสนิทและนายอิ่มได้พูดเสนอขายรถยนต์ให้นายอดระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์ ถือได้ว่านายอิ่มได้ทำคำเสนอต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้าโดยมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง ตามาตรา 356 ซึ่งสัญญาซื้อขายรถยนต์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเป็นสัญญาขึ้นได้ก็ต่อเมื่อนายอดได้ทำคำสนองกลับมาทันที ณ ที่นั้นเวลานั้น แต่เนื่องจากว่านายอดผู้รับคำสนองมิได้ทำคำสนองกลับมาเป็นจดหมายในภายหลังนั้นก็ตาม ก็หาทำให้คำเสนอที่สิ้นผลผูกพันไปแล้วกลับมามีผลอีกไม่ สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนายอิ่มและนายอดก็หาอาจเป็นสัญญาได้ไม่ ดังนั้นนายอิ่มสามารถเปลี่ยนใจไม่ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้นายอดได้
กรณีที่สอง การที่นายอิ่มส่งจดหมายเสนอขายรถยนต์คันดังกล่าว ให้นายอี๊ดซึ่งอยู่จังหวัดสมุทรสาคร โดยนายอิ่มได้กำหนดไปในจดหมายด้วยว่า ถ้านายอี๊ดต้องการซื้อรถยนต์ของตน ต้องสนองตอบกลับมาภายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 ถือได้ว่านายอิ่มได้ทำคำเสนอต่อบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง โดยได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง ตามาตรา 354 ถ้านายอิ่มเปลี่ยนใจไม่ขายรถยนต์ของตน นายอิ่มก็สามารถทำได้อยู่แล้วโดยผลทางกฎหมาย กล่าวคือ สัญญาซื้อขายรถยนต์ดังกล่าวจะเกิดเป็นสัญญาขึ้นได้ก็ต่อเมื่อนายอี๊ดได้ทำคำสนองกลับไปถึงนายอิ่มผู้ทำคำเสนอภายในระยะเวลาที่บ่งไว้คือ ภายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 ตามมาตรา 360 แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันที่กำหนด คือ วันที่ 20 พฤษภาคม 2551 แล้ว นายอี๊ดก็มิได้ทำคำสนองกลับมาแต่อย่างใด ดังนี้ถือได้ว่าคำเสนอของนายอิ่มเป็นอันสิ้นผลผูกพันนับแต่เวลาที่ นายอี๊ดผู้รับคำเสนอมิได้ทำคำสนองรับมาภายในระยะเวลาที่บ่งไว้ดังกล่าวข้าง ต้น ตามาตรา 357 สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนายอิ่มและนายอี๊ดก็หาอาจเกิดเป็นสัญญาได้ไม่ ดังนั้น นายอิ่มสามรถเปลี่ยนใจไม่ขายรถยนต์ของตนให้แก่นายอี๊ดได้ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2551
สรุป นายอิ่มสามารถเปลี่ยนใจไม่ขายรถยนต์ของตนให้กับนายอดและนายอี๊ดได้