การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1003
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นายเอกและนายโทสมรู้กันแสดงเจตนาหลอก ๆ ว่านายเอกซื้อรถยนต์คันหนึ่งจากนายโทราคา 800,00 บาท โดยนายโทได้ส่งมอบรถยนต์นั้นให้แก่นายเอก แต่มิได้ชำระราคากันจริง ต่อมาอีกหนึ่งเดือนนายเอกได้ให้รถยนต์คันนั้นแก่นางสาวตรีโดยเสน่หา โดยนางสาวตรีไม่ทราบและไม่มีเหตุอันควรทราบว่านายเอกมิได้ซื้อรถยนต์คันนั้นจากนายโทจริง ๆ
เมื่อ รับมอบรถยนต์มาแล้วนางสาวตรีได้นำรถยนต์คันนั้นไปแข่งขันกับเพื่อนบน ถนนหลวงด้วยความประมาทเลินเล่อจึงประสบอุบัติเหตุรถยนต์เสียหายยับเยิน แม้ว่านางสาวตรีจะปลอดภัย แต่ก็ต้องเสียเงินค่าซ่อมรถยนต์ไปจำนวน 400,000 บาท อีก 15 วัน ต่อมานายโททราบว่านายเอกเอารถยนต์ไปให้แก่นางสาวตรี
นายโทจึงบอกกล่าวให้นางสาวตรีส่งรถยนต์คืนแก่ตนโดยอ้างว่าตนมิได้ขายรถยนต์คันนั้นให้แก่นายเอกจริง ๆ รถยนต์คันนั้นยังเป็นของตน นางสาวตรีไม่ยอมส่งรถยนต์คืนแก่นายโทโดยอ้างว่าตนได้รับรถยนต์มาโดยสุจริตและต้องเสียค่าซ่อมรถยนต์คันดังกล่าวไปจำนวนมาก ให้ท่านวินิจฉัยว่านางสาวตรีจะต้องส่งรถยนต์คืนแก่นายโทหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแงและพาณิช
มาตรา 155 วรรคแรก “การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำโดยสุจริต และต้องเสียหายจาการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้”
วินิจฉัย
โดยหลัก การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง มีผลในกฎหมายตามมาตรา 155 วรรคแรก คือ ตกเป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ถ้าบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กฎหมายคุ้มครองบุคคลภายนอกโดยบัญญัติห้ามมิให้บุคคลใด ๆ ยกความเป็นโมฆะของการแสดงเจตนาลวงขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก ซึ่งเป็นผู้ (1) กระทำการโดยสุจริต และ(2)ต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกและนายโทได้สมรู้กันแสดงเจตนาลวงว่า นายเอกซื้อรถยนต์คันหนึ่งจากนายโท การแสดงเจตนาลวงระหว่างนายเอกนายโทจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรคแรกตอนต้น ดังนั้นย่อมมีผลทำให้รถยนต์คันดังกล่าวยังคงเป็นของนายโท
การที่นายเอกได้ให้รถยนต์คันนั้นแก่นางสาวตรีโดยเสน่หา และนางสาวตรีได้รับมอบรถยนต์ไว้โดยไม่ทราบและไม่มีเหตุอันควรทราบว่านายเอกมิได้ซื้อรถยนต์คันนั้นจากนายโทจริง ๆ ดังนี้ย่อมถือว่านางสาวตรีซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริต
แต่อย่างไรก็ตาม กรณีที่บุคคลภายนอกจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนั้น บุคคลภายนอกจะต้องได้กระทำโดยสุจริต และต้องได้รับความเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น(มาตรา 155 วรรคแรกตอนท้าย) แต่กรณีตามอุทาหรณ์ แม้ว่านางสาวตรีจะได้กระทำการโดยสุจริต คือได้รับมอบรถยนต์คันนั้นจากนายเอกโดยไม่ทราบถึงการแสดงเจตนาลวงระหว่างนาย เอกและนายโทก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นางสาวตรีได้รับรถยนต์มาโดยเสน่หา และความเสียหายที่เกิดกับนางสาวตรีที่ต้องจ่ายเงินค่าซ่อมรถยนต์ไปจำนวนมาก นั้นเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อของนางสาวตรี เอง ไม่ถือว่าเป็นความเสียหายอันเกิดจากการแสดงเจตนาลวงแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อนางสาวตรีไม่ได้รับความเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงจึงไม่ได้รับ ความคุ้มครองตามกฎหมายมาตรา 155 วรรคแรกตอนท้าย เมื่อนายโทบอกกล่าวให้นางสาวตรีส่งรถยนต์คืนแก่ตน นางสาวตรีจึงต้องส่งรถยนต์ให้แก่นายโท
สรุป นางสาวตรีต้องส่งรถยนต์คันนั้นคืนให้แก่นายโท
ข้อ 2. ที่ดินของนายเหลืองเป็นที่ดินที่ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ นายเหลืองจึงขอซื้อที่ดินของนายแดงซึ่งติดกับที่ดินของตน เพื่อเป็นทางออกสู่สาธารณะ นายแดงตกลงขายที่ดินจำนวน 3 ไร่ ให้แก่นายเหลือง ซึ่งปกติที่ดินราคาเพียงไร่ละ 1 ล้านบาท แต่เนื่องจากนายแดงให้คำรับรองว่าที่ดินของตนนั้นติดกับทางสาธารณะ
นายเหลืองเชื่อตามนั้น จึงยอมจ่ายเงินซื้อที่ดินจากนายแดงในราคาไร่ละ 2 ล้านบาท ซึ่งแพงกว่าปกติของที่ดินในบริเวณเดียวกับที่ไม่ติดทางสาธารณะ ต่อมานายเหลืองมาทราบภายหลังว่า นายแดงโกหกตน ที่ดินของนายแดงไม่ติดทางสาธารณะตามที่นายแดงให้คำรับรองดังกล่าว ดังนี้ ถ้าท่านเป็นทนายความของนายเหลือง ท่านจะให้คำแนะนำที่ดีที่สุดแก่นายเหลืองว่าอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 161 “ถ้ากลฉ้อฉลเป็นแต่เพียงเหตุจูใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่คู่อีกฝ่ายนั้นจะยอมรับโดยปกติ คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างการนั้นหาได้ไม่ แต่ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการกลฉ้อฉลนั้นได้”
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว การแสดงเจตนาทำนิติกรรมที่เกิดจากการที่ผู้ทำนิติกรรมถูกกลฉ้อฉลนั้นกฎหมายได้บัญญัติให้นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆียะ คู่กรณีฝ่ายที่แสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลมีสิทธิบอกล้างได้ ( ป.พ.พ. มาตรา 159 )
แต่อย่างไรก็ตาม มาตรา 161 ได้บัญญัติว่า ถ้ากลฉ้อฉลนั้นเป็นเพียงเหตุจูงใจทำให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งต้องการแสดง เจตนาทำนิติกรรมอยู่แล้วแม้จะไม่มีการทำกลฉ้อฉล ต้องยอมรับข้อกำหนดตามนิติกรรมอันหนักยิ่งกว่าที่เขาจะยอมรับโดยปกติ ซึ่งถ้าไม่มีการทำกลฉ้อฉล คู่กรณีฝ่ายนั้นจะไม่ยอมรับข้อตกลงหรือข้อกำหนดดังกล่าว ผลของกการทำนิติกรรมเนื่องจากถูกกลฉ้อฉลในกรณีเช่นนี้ ไม่ทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะ แต่คู่กรณีฝ่ายที่ถูกกลฉ้อฉลมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหาย อันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้
ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงให้คำรับรองว่าที่ดินของตนที่จะขายให้แก่นายเหลืองเป็นที่ดินติดกับทางสาธารณะ แต่เมื่อปรากฏว่าที่ดินของนายแดงนั้นไม่ติดทางสาธารณะตามที่นายแดงให้คำรับรอง ถือได้ว่านายแดงได้ขายที่ดินให้แก่นายเหลืองโดยทำการฉ้อฉลแล้ว
แต่ เมื่อนายเหลืองมีเจตนาที่จะซื้อที่ดินของนายแดงเพื่อเป็นทางออกสู่ทาง สาธารณะอยู่แล้วเพียงแต่ได้ซื้อที่ดินจากนายแดงในราคาที่แพงกว่าปกติของราคา ที่ดินในบริเวณเดียวกับที่ดินที่ไม่ติดทางสาธารณะจึงถือว่าการทำการฉ้อฉลของ นายแดงนั้น เป็นเหตุที่ทำให้นายเหลืองต้องรับเอาข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่นายเหลืองจะ ยอมรับโดยปกติ คือทำให้นายเหลืองต้องชำระราคาสูงกว่าราคาซื้อขายปกติ จึงเป็นกลฉ้อฉลแต่เพียงเหตุจูงใจทำให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งต้องยอมรับข้อกำหนด อันหนักยิ่งกว่าที่เขาจะยอมรับโดยปกติตาม ป.พ.พ. มาตรา 161
ดังนั้น ถ้าข้าพเจ้าเป็นทนายความของนายเหลือง ข้าพเจ้าแนะนำนายเหลืองมิให้บอกล้างนิติกรรมซื้อขายดังกล่าว เพราะนิติกรรมไม่ตกเป็นโมฆียะ แต่จะแนะนำให้นายเหลืองฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายตามมาตรา 161 และสามารถฟ้องได้ภายในอายุความ 10 ปี เพราะกรณีดังกล่าวกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้ จึงต้องถือหลักอายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
สรุป ข้าพเจ้าจะแนะนำมิให้นายเหลืองบอกล้างนิติกรรมซื้อขายดังกล่าว แต่ให้นายเหลืองฟ้องร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่ถูกนายแดงทำการฉ้อฉลนั้น
ข้อ 3. วันที่ 31 มีนาคม 2543 นายผอมทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายอ้วน 300, 000 บาท โดยไม่ได้ตกลงระยะเวลาในการใช้คืน นายอ้วนได้ทวงถามอยู่หลายครั้ง แต่นายผอมก็ปฏิเสธการชำระเงิน ข้อเท็จจริงต่อมาปรากฏว่า ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2553 นายผอมได้ทำหนังสือรับสภาพความผิดในหนี้ดังกล่าวให้กับนายอ้วน
นายอ้วนจึงมาปรึกษาท่านว่า นายอ้วนจะใช้สิทธิทางศาลให้นายผอมชำระเงินดังกล่าวได้หรือไม่อย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 193/3 “ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นหน่วยเวลาที่สั้นกว่าวัน ให้เริ่มนับในขณะที่เริ่มการนั้น
ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริมต้นทำการงานกันตามประเพณี”
มาตรา 193/5 ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นสัปดาห์ เดือน หรือปี ให้คำนวณตามปีปฏิทิน
ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์ วันต้นแห่งเดือนหรือปี ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์ เดือน หรือปีสุดท้าย อันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ถ้าระยะเวลานับเป็นเดือนหรือปีนั้น ไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้น เป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา
มาตรา 193/12 “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใดให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น”
มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่าย่อมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง”
มาตรา 193/28 “การชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความนั้นแล้ว ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม
บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ…”
มาตรา 193/30 “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี”
มาตรา 193/35 “ภายใต้มาตรา 193/27 สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดหรือให้ประกัน”
มาตรา 203 วรรคแรก “ถ้าเวลาจะพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติกรรมทั้งปวงก็มิได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน”
วินิจฉัย
ตามอุทาหรณ์ เมื่อสัญญากู้ยืมเงินระหว่างนายผอมและนายอ้วนไม่ได้ตกลงระยะเวลาในการชำระหนี้ นายอ้วนเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้นายผอมลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลันตามมาตรา 203 วรรคแรก ซึ่งเป็นเวลาที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ดังนั้นอายุความจึงเริ่มนับแต่วันนั้น (มาตรา 193/12) และเมื่อสัญญาว่าด้วยยืมใช้สิ้นเปลืองไม่ได้กำหนดอายุความไว้ กรณีนี้จึงใช้อายุความ 10 ปี (มาตรา 193/30)
และด้วยเหตุที่อายุความเป็นระยะเวลาอย่างหนึ่ง การนับระยะเวลาจึงต้องนำบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องการกำหนดนับระยะเวลาตามมาตรา 193/3 และมาตรา 193/5 วรรคสอง มาใช้บังคับ เมื่อกรณีดังกล่าวไม่ได้กำหนดนับแต่วันต้นปี ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งปีสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ดังนั้นอายุความจึงครบกำหนดในวันที่ 31 มีนาคม 2553
การที่นายผอมได้ทำหนังสือรับสภาพความผิดดังกล่าวในวันที่ 7 กรกฎาคม 2553 ซึ่งเป็นเวลาที่หนี้เงินกู้ขาดอายุความแล้ว การทำหนังสือรับสภาพหนี้จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 แต่ให้ถือว่าหนังสือรับสภาพหนี้นั้น ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องแก่เจ้าหนี้โดยมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความผิดตามมาตรา 193/28 และมาตรา 193/35 ดังนั้นนายอ้วนเจ้าหนี้จึงสามารถใช้สิทธิทางศาลเรียกให้นายผอมลูกหนี้ชำระหนี้ดังกล่าวได้
สรุป นายอ้วนสามารถใช้สิทธิทางศาลเรียกให้นายผอมชำระหนี้ดังกล่าวได้
ข้อ 4. จงอธิบายถึงสิทธิของเจ้าหนี้ตามสัญญาที่มีการกำหนดเบี้ยปรับไว้ ในกรณีที่
ก. ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้
ข. ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร
ธงคำตอบ
อธิบาย
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติสิทธิของเจ้าหนี้ตามสัญญาที่มีการกำหนดเบี้ยปรับไว้ดังนี้ คือ
ก. กรณีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้
มาตรา 380 “ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นแทนการชำระหนี้ก็ได้ แต่ถ้าเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับฉะนั้นแล้ว ก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องชำระหนี้อีกต่อไป
ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ การพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้น ท่านก็อนุญาตให้พิสูจน์ได้”
จากบทบัญญัติมาตรา 380 จะเห็นได้ว่า ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ตามสัญญาย่อมมีสิทธิดังนี้ คือ
1. เจ้าหนี้มีสิทธิเลือกที่จะริบหรือเรียกเอาเบี้ยปรับ หรือเรียกร้องลูกหนี้ชำระหนี้ตามสัญญานั้นได้อย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ
ในกรณีที่เจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะริบหรือเรียกเอาเบี้ยปรับแทนการชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้อีกไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 380 วรรคแรก
ถ้าเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้และได้ผลแล้ว คือลูกหนี้ชำระหนี้และชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แล้ว เจ้าหนี้ก็หมดสิทธิที่จะริบเบี้ยปรับหรือเรียกเอาเบี้ยปรับได้อีก
แต่ถ้าเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน แต่ไม่ได้ผล และเจ้าหนี้ไม่ต้องการเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้อีกต่อไป เจ้าหนี้จึงริบเบี้ยปรับ หรือเรียกเบี้ยปรับอันจะพึงริบแทนการชำระหนี้ ย่อมสามารถทำได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 380 วรรคแรก แต่อย่างใด
2. ในกรณีที่เจ้าหนี้เลือกเอาเบี้ยปรับ แต่เบี้ยปรับไม่เพียงพอสำหรับชดใช้ค่าเสียหายเจ้าหนี้ยังมีสิทธิเรียกเอาค่าเสียหายที่มากกว่าเบี้ยปรับได้อีกด้วย
หมายความว่า ถ้าเจ้าหนี้เลือกที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับ สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ย่อมหมดไป แต่การเรียกเอาเบี้ยปรับนั้น ไม่ตัดสิทธิเจ้าหนี้ที่เรียกค่าเสียหายตามความจริง ดังนั้นหากเจ้าหนี้เสียหายมากกว่าเบี้ยปรับ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกเอาค่าเสียหายที่มากกว่าเบี้ยปรับได้อีก
หรือในกรณีที่เจ้าหนี้เรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ (มาตรา 380 วรรคสอง) และถ้าหากเจ้าหนี้ต้องเสียหายมากกว่าจำนวนเบี้ยปรับที่เรียกเอานั้น เจ้าหนี้ก็ยังมีสิทธิพิสูจน์ความเสียหายที่มากว่าเบี้ยปรับนั้นและเรียกร้องให้ลูกหนี้ชดใช้ได้อีกด้วย
ข. กรณีที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร
มาตรา 381 “ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรเช่นว่าไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้เป็นต้น นอกจากเรียกให้ชำระหนี้เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นอีกด้วยก็ได้
ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในมูลชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร ท่านให้บังคับตามบัญญัติแห่งมาตรา 380 วรรคสอง
ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้ เช่นนั้นเวลารับชำระหนี้”
จากบทบัญญัติมาตรา 381 จะเห็นได้ว่า การริบเบี้ยปรับเพื่อการไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรเจ้าหนี้ตามสัญญามีสิทธิดังนี้ คือ
1. เจ้าหนี้มีสิทธิจะริบหรือเรียกเอาเบี้ยปรับ และเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามสัญญานั้นให้ถูกต้องสมควรได้ด้วย
ใน กรณีที่สัญญาใดกำหนดเบี้ยปรับไว้ว่า ลูกหนี้จะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ถ้าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เช่น ไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และมีสิทธิรับเบี้ยปรับหรือเรียกเอาเบี้ยปรับอันพึงริบนั้นได้อีกด้วย ไม่มีข้อจำกัดห้ามไว้ดังเช่นในกรณีริบเบี้ยปรับเพื่อการไม่ชำระหนี้เลยตาม มาตรา 380 วรรคแรก
2. ถ้าเบี้ยปรับไม่เพียงพอสำหรับชดใช้ค่าเสียหาย เจ้าหนี้ยังมีสิทธิเรียกเอาค่าเสียหายที่มากกว่าเบี้ยปรับได้อีกด้วย
การที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรนั้น เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องขอให้ศาลสั่งบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ และสิทธิฟ้องเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรได้โดยเจ้าหนี้จะริบเบี้ยปรับ หรือเรียกเอาเบี้ยปรับอันพึงจะริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายได้ และถ้าหากเจ้าหนี้ต้องเสียหายก็ได้ และถ้าหากเจ้าหนี้ต้องเสียหายมากกว่าจำนวนเบี้ยปรับที่ริบหรือเรียกเอานั้น เจ้าหนี้ก็ยังมีสิทธิพิสูจน์ความเสียหายที่มากกว่าเบี้ยปรับนั้น และเรียกร้องให้ลูกหนี้ชดใช้ได้อีกด้วย
3. ถ้าลูกหนี้ยอมรับชำระหนี้อันไม่ถูกต้องสมควรนั้นแล้ว เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลารับชำระหนี้
การที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เช่น ชำระหนี้ล่าช้า หรือชำระหนี้ไม่เต็มจำนวนเป็นต้น ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็จะเรียกเบี้ยปรับไม่ได้ เว้นแต่เจ้าหนี้จะได้บอกกล่าวไว้ในขณะรับชำระหนี้ว่า ตนยังสงวนสิทธิที่เรียกเอาเบี้ยปรับเพื่อการไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรอีกด้วย