การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2553
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นายหนึ่งจ้างนายสองให้ไปทำร้ายร่างกายนายสาม โดยตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้กับนายสอง จำนวน 50, 000 บาท นายสองเกรงว่าเมื่อตนทำตามข้อตกลงดังกล่าวแล้ว นายหนึ่งจะไม่ชำระเงินให้จึงให้นายหนึ่งทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับหนึ่งขึ้น โดยระบุในสัญญาว่า “นายหนึ่งกู้ยืมเงินนายสองจำนวน 50,000 บาท” เมื่อนายสองทำร้ายร่างกายนายสามตามที่ตกลงกับนายหนึ่งแล้ว จึงมาขอรับเงินจากนายหนึ่ง แต่นายหนึ่งไม่ยอมชำระให้ นายสองจึงมาปรึกษาท่านว่าตนจะฟ้องศาลขอให้บังคับนายหนึ่งชำระเงินได้หรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”
มาตรา 155 วรรคแรก “การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กกระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้”
วินิจฉัย
คำว่า “การแสดงเจตนาลวง” นั้น หมายถึง การที่คู่กรณีสองฝ่ายได้สมรู้ร่วมคิดกันทำนิติกรรมขึ้นมา แต่ไม่ต้องการให้มีผลผูกพันบังคับกันตามกฎหมาย ดังนั้นนิติกรรมซึ่งเกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาลวงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรคแรก และจะไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์หรือความผูกพันในทางกฎหมายขึ้นระหว่างคู่กรณีแต่อย่างใด
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกับนายสองนั้น สัญญา กู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่นายหนึ่งและนายสองได้ทำกันขึ้นมาโดยที่ ทั้งสองไม่ต้องการให้มีผลผูกพันบังคับกันแต่อย่างใดดังนั้นจึงถือว่าสัญญา กู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวง จึงตกเป็นโมฆะ นายสองจะนำสัญญาที่ตกเป็นโมฆะนั้น ขึ้นมาฟ้องร้องบังคับให้นายหนึ่งชำระเงินให้แก่ตนไม่ได้
ส่วนการที่นายหนึ่งได้ทำสัญญาจ้างให้นายสองไปทำร้ายร่างกายนายสาม โดยตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้นายสอง จำนวน 50, 000 บาท นั้น จะเห็นได้ว่าสัญญาจ้างระหว่างนายหนึ่งกับนายสองซึ่งเป็นสัญญาจ้างทำของนั้น มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 ดังนั้นนายสองจะนำสัญญาจ้างทำของที่ตกเป็นโมฆะนั้นขึ้นมาฟ้องร้องบังคับให้นายหนึ่งชำระเงินให้แก่ตนไม่ได้เช่นเดียวกัน
สรุป เมื่อนายสองมาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะแนะนำแก่นายสองว่า นายสองไม่สามารถฟ้องศาลเพื่อบังคับให้นายหนึ่งชำระเงินแก่นายสองได้ ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 2. ผลของการบอกล้างโมฆียะกรรมมีอยู่อย่างไร อธิบายยกตัวอย่างประกอบ
ธงคำตอบ
ผลของการบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 176 วรรคแรกและวรรคสอง ดังนี้ คือ
“โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน
ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้วให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะ นับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ”
จากหลักกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า โมฆียะกรรมเมื่อมีการบอกล้างแล้วจะมีผลดังนี้
1. ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก คือ ให้ถือว่าเสียเปล่ามาตั้งแต่วันที่ทำนิติกรรมนั้น
2. ให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม เช่น หากมีการส่งมอบทรัพย์สินกันก็ต้องมีการส่งคืน เป็นต้น
3. ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ก็ให้ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายแทน
4. ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะนับตั้งแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ
ตัวอย่าง เช่น ดำอายุ 19 ปี ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันหนึ่งราคา 500, 000 บาท จากขาวโดยมิได้รับความยินยอมจากแดงซึ่งเป็นผู้แทนโดยธรรม สัญญาซื้อขายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆียะ ดังนี้ เมื่อแดงผู้แทนโดยชอบธรรมบอกล้างนิติกรรมซื้อขายรถยนต์ดังกล่าว นิติกรรมนั้นก็จะตกเป็นโมฆะ มาตั้งแต่เริ่มแรก ทั้งดำและขาวจะต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กล่าวคือ ดำจะต้องส่งมอบรถยนต์คืนให้ขาว และขาวก็ต้องส่งมอบเงินค่าซื้อรถยนต์คืนให้ดำ ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะกลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้มีการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กันแทน เป็นต้น
ข้อ 3. นายแดงได้ตกลงจ้างนายดำซึ่งเป็นทนายความฟ้องคดีต่อศาลเรียกเงินจากนายเขียว จำนวน 10 ล้านบาท และได้ตกลงจะจ่ายเงินค่าจ้างว่าความให้แก่นายดำ จำนวน 1 ล้านบาท เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้นายแดงชนะคดีในวันที่ 15 มีนาคม 2550 นายดำจึงได้มาทวงค่าจ้างว่าความจากนายแดง แต่นายแดงปฏิเสธเรื่อยมา
จนกระทั่งวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งเหลือเวลาอีกเดือนเศษคดีจะขาดอายุความ 2 ปี นายแดงได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินค่าจ้างว่าความให้แก่นายดำ จำนวน 1 แสนบาท และนายดำได้รับชำระเงิน จำนวน 1 แสนบาทจากธนาคารแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 9 แสนบาท นายดำได้ติดตามทวงถามตลอดมา
แต่นายแดงก็ไม่นำมาชำระ นายดำจึงนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลในวันที่ 18 มีนาคม 2554 นายแดงต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของนายแดงฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
หมายเหตุ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี (16) ทนายความหรือผู้ประกอบอาชีพทางกฎหมาย…เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้…”
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อจากเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง”
มาตรา 193/15 “เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ นายแดงต้องชำระค่าว่าความให้แก่นายดำ 1 ล้านบาท ในวันที่ 15 มีนาคม 2550 ซึ่งอายุความฟ้องเรียกค่าทนายความนั้นมีกำหนด 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34(16) ซึ่งอายุความ 2 ปี จะครบกำหนดในวันที่ 15 มีนาคม 2552
เมื่อปรากฏข้อเท็จว่า ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งเหลือเวลาอีกเดือนเศษคดีจะขาดอายุความ นายแดงได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินค่าจ้างว่าความให้แก่นายดำจำนวน 1 แสนบาท และนายดำได้รับชำระเงินดังกล่าวจากธนาคารเรียบร้อยแล้วจึงถือว่าเป็นการชำระเงินบางส่วน และเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14(1) และเมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้วระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นย่อมไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคแรก และให้เริ่มนับอายุใหม่ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง ซึ่งอายุความใหม่จะครบกำหนดในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 ดังนั้น การที่นายดำนำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 18 มีนาคม 2554 คดีจึงขาดอายุความแล้ว ข้อต่อสู้ของนายแดงที่ว่าคดีขาดอายุความแล้วจึงฟังขึ้น
สรุป ข้อต่อสู้ของนายแดงฟังขึ้น
ข้อ 4. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 นายสมพงศ์ซึ่งอยู่จังหวัดชลบุรีได้ส่งจดหมายเสนอขายม้าแข่งตัวหนึ่งของตนให้นายสมบูรณ์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ราคา 1, 000,000 บาท โดยกำหนดไปในจดหมายด้วยว่าถ้าหากนายสมบูรณ์จะซื้อจะต้องส่งจดหมายตอบตกลงซื้อมาถึงนายสมพงษ์ภายในวันที่ 25 กรกฎาคม 2553 นายสมบูรณ์ส่งจดหมายตอบตกลงซื้อม้าแข่งตัวนั้นตามราคาที่นายสมพงศ์เสนอแต่จดหมายมาถึงนายสมพงศ์ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 หากเป็นที่เห็นได้ชัดเจนจากตราไปรษณีย์ซึ่งประทับบนซองจดหมายว่านายสมบูรณ์ส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2553 เช่นนี้ จะมีผลในกฎหมายอย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 358 “ถ้าคำบอกกล่าวเสนอมาถึงล่วงเวลา แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งตามปกติควรจะมาถึงภายในเวลากำหนดไซร้ ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีฝ่ายหนึ่งโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้าเว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว
ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดังว่าในวรรคต้น ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลา”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ จดหมายคำสนองตอบตกลงซื้อม้าแข่งของนายสมบูรณ์ไปถึงนายสมพงศ์ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 ซึ่งล่าช้ากว่าเวลาที่นายสมพงศ์กำหนดไว้ 6 วัน แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนจากตราไปรษณีย์ซึงประทับตราบนซองจดหมายของนายสมบูรณ์ว่านายสมบูรณ์ส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2553 ซึ่งตามปกติจดหมายฉบับนั้นควรจะมาถึงนายสมพงศ์ภายใน 3 วัน หรือ 5 วันเป็นอย่างช้า คือ มาถึงทันภายในวันที่ 25 กรกฎคม 2553 ซึ่งนายสมพงศ์กำหนดไปในคำเสนอ
ดังนั้นคำสนองของนายสมบูรณ์จึงเป็นคำสนองที่มาถึงผู้เสนอเนิ่นช้า แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำสนองนั้นได้ถูกส่งโดยทางการซึ่งตามปกติควรจะมาถึงผู้เสนอภายในเวลากำหนด ซึ่งจะมีผลในกฎหมายตามมาตรา 358 ดังนี้
1. นายสมพงศ์ผู้เสนอมีหน้าที่ต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่าย (คือ นายสมบูรณ์ผู้สนอง) โดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า เว้นแต่นายสมพงศ์ผู้เสนอจะได้บอกกล่าวเช่นนั้นไว้ก่อนแล้ว
2. ถ้านายสมพงศ์ผู้เสนอปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าว กฎหมายจึงจะถือว่าคำบอกกล่าวสนองของนายสมบูรณ์เป็นคำสนองล่วงเวลา
3. แต่ถ้านายสมพงศ์ผู้เสนอละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าว กฎหมายถือว่าคำบอกกล่าวสนองของนายสมบูรณ์เป็นคำสนองที่มิได้ล่วงเวลา ซึ่งจะมีผลทำให้สัญญาซื้อขายม้าแข่งระหว่างนายสมพงศ์กับนายสมบูรณ์เกิดขึ้น
สรุป จดหมายตอบตกลงซื้อม้าแข่งของนายสมบูรณ์จะมีผลในกฎหมายเป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า นายสมพงศ์ซึ่งเป็นผู้เสนอได้ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ตามมาตรา 358 หรือไม่