การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2552

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1003 (LA 103) (LW 203)

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)ข้อ 1.   

ก.  ในกรณีแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่ต่อหน้า เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว หลังจากนั้นผู้แสดงเจตนาตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ตามหลักทั่วไป การแสดงเจตนานั้นมีผลในกฎหมายประการใดให้อธิบายโดยสังเขป

ข. นายพิชิตป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เข้ารับรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ ส่งจดหมายโดยทางไปรษณีย์เสนอขายรถยนต์คันหนึ่งคันหนึ่งของตนให้แก่นายพิชิตซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมาในราคาสามแสนบาท โดยนายพิชิตได้ระบุไปในจดหมายคำเสนอนั้นด้วยว่า  ข้อเสนอมีผลในระหว่างที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่เท่านั้น” หลังจากที่นายพิชิตส่งจดหมายฉบับนั้นไปได้ 7 วัน นายพิชิตถึงแก่ความตาย เช่นนี้ การแสดงเจตนาเสนอขายรถยนต์ของนายพิชิตมีผลในกฎหมายประการใด เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก.      หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 169 วรรคสอง การแสดงเจตนาออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อเสียไปแม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้น ผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

อธิบาย

หลักกฎหมายดังกล่าวนี้เป็นหลักทั่วไปของผลในทางกำหมาย ในกรณีแสดงเจตนาต่อกฎหมายซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว หลังจากนั้นผู้แสดงเจตนา

1.       ตายหรือ

2.       ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือ

3.       ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ

กฎหมายบัญญัติไวเป็นหลักทั่วไปว่าการแสดงเจตนานั้นไม่เสื่อมเสียไป เมื่อการแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับ ก็มีผลตามมาตรา 169 วรรคแรก     

ข.      หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 360 บทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสองนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหากว่าขัดกันเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายพิชิตซึ่งเป็นผู้เสนอได้แสดงเจตนาไว้ในคำเสนอขายรถยนต์ด้วยว่าคำเสนอของเขามีผลผูกพันในระหว่างที่เขามีชีวิตอยู่เท่านั้น ดังนั้นเมื่อนายพิชิตถึงแก่ความตายหลังจากได้ส่งจดหมายเสนอขายรถยนต์ไปแล้ว จึงมีผลทำให้คำเสนอขายรถยนต์ของนายพิชิตเสื่อมเสียหรือสิ้นผลไป ไม่มีผลผูกพันนายพิชิตอีกต่อไปแม้ภายหลังการแสดงเจตนาผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตายมาใช้บังคับไม่ได้ เพราะขัดกับเจตนาของผู้เสนอตามมาตรา 360สรุป การแสดงเจตนาของนายพิชิตเสื่อมเสียหรือสิ้นผลไป ไม่มีผลผูกพันนายพิชิต

 


ข้อ 
2.  ผู้ขายฝากพร้อมที่จะไถ่ภายในกำหนด แต่ผู้ซื้อฝากขู่ให้สละสิทธิในการไถ่ถอน มิฉะนั้นจะแจ้งให้ตำรวจจับฐานออกเช็คโดยไม่มีเงิน

ดังนี้ ถ้าผู้ขายฝากสละสิทธิการไถ่ถอน การสละสิทธินั้นมีผลตามกฎหมายอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

มาตรา 164 การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะเกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้การข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น

มาตรา 165 วรรคแรก การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่าโดยหลักแล้ว การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่ หมายความว่าเป็นการใช้อำนาจบังคับจิตใจของบุคคล เพื่อให้เขาเกิดความกลัวแล้วแสดงเจตนาทำนิติกรรมออกมาตามที่ผู้ข่มขู่ต้องการ การแสดงเจตนานั้นย่อมตกเป็นโมฆียะ แต่ก็มีข้อยกเว้น ถ้าเป็นการข่มขู่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วย่อมทำได้ ไม่ตกเป็นโมฆียะ เช่น การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกติตามมาตรา 165 วรรคแรก ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้สิทธิซึ่งตนมีอยู่อย่างปกติคนทั่วไปเขาใช้กัน เช่น การใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ใช้หนี้ตน เป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ผู้ขายฝากพร้อมที่จะไถ่ถอนทรัพย์ที่ขายฝากภายในกำหนดเวลาไถ่แต่ผู้ซื้อฝากขู่ให้สละสิทธิในการไถ่ถอน มิฉะนั้นจะแจ้งให้ตำรวจออกเช็คโดยไม่มีเงิน เช่นนี้นิติกรรมสละสิทธิการไถ่ถอนเป็นโมฆียะตามมาตรา 164 วรรคแรก เพราะเป็นการเอาเรื่องเช็คมาขู่บีบบังคับให้ผู้ถูกขู่แสดงเจตนาทำนิติกรรมที่ไม่เกี่ยวกับเช็คนั้น ซึ่งลักษณะเป็นการบีบบังคับที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัวตามมาตรา 164 วรรคสอง

ทั้งกรณีนี้ก็ถือไม่ได้ว่าผู้ซื้อฝากซึ่งเป็นผู้ขู่หวังผลตามปกตินิยมจากการขู่ว่าจะดำเนินคดีอาญาทางเช็ค อันจะถือว่าเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยมและไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่ตามมาตรา 165 วรรคแรก แต่อย่างใด (ฎ. 707 -708/2505)

สรุป  การสละสิทธิไถ่ถอนมีผลเป็นโมฆียะ เพราะแสดงเจตนาไปเพราะถูกข่มขู่

 


ข้อ 
3.   เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2551 นายสมพงษ์ได้ขับรถยนต์ด้วยประมาทเลินเล่อชนนายสาโรจน์ได้รับบาดเจ็บสาหัส นายสาโรจน์ถูกนำตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลและได้พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลา 1 เดือน นายสาโรจน์ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวน 4 แสนบาท ต่อมานายสาโรจน์จึงได้ไปทวงเงินค่ารักษาพยาบาลจากนายสมพงษ์เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2551 แต่นายสมพงษ์ผัดผ่อนเรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551

นายสมพงษ์ได้นำเงินไปชำระให้แก่นายสาโรจน์เพื่อช่วยค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท หลังจากนั้นมิได้นำเงินไปชำระอีกเลย นายสาโรจน์จึงนำคดีไปฟ้องศาลเพื่อเรียกค่ารักษาพยาบาลที่ตนได้ออกไปก่อนวันที่ 22 กันยายน 2552 นายสมพงษ์ได้ต่อสู้ว่าคดีอายุขาดความแล้ว แต่นายสาโรจน์อ้างว่ายังไม่ขาดอายุความ เพราะอายุความได้สะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้ออ้างของนายสาโรจน์ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

หมายเหตุ ป.พ.พ. มาตรา 448 บัญญัติว่า สิทธิ เรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้นท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้น หนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ ค่าสินไหมทดแทน…

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/14 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1)  ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อจากเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา 193/15 เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนั้นไม่นับเข้าในอายุความ

เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นเวลาใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น

วินิจฉัย

ตามกรณีอุทาหรณ์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2551 นายสมพงษ์ได้ขับรถยนต์ด้วนความประมาทเลินเล่อชนนายสาโรจน์ได้รับบาดเจ็บสาหัส การที่นายสมพงษ์ขับรถชนนายสาโรจน์เป็นการกระทำละเมิดอายุความฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมีข้อกำหนดอายุความ 1 ปีตามมาตรา 448 ซึ่งสิทธิเรียกร้องจะครบกำหนดอายุความในวันที่ 10 สิงหาคม 2552

เมื่อนายสาโรจน์ถูกรถชนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและได้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวน 4 แสนบาท จึงได้มาทวงถามค่ารักษาพยาบาลจากนายสมพงษ์ แต่นายสมพงษ์ได้ผัดผ่อนเรื่อยมาจนกระทั่งในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 นายสมพงษ์ได้นำเงินไปชำระให้แก่นายสาโรจน์จำนวน 5, 000 บาท เป็นการชำระหนี้ให้แก่นายสาโรจน์บางส่วน จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14(1) วรรคแรก และให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 และอายุความใหม่จะครบกำหนดในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2552 ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง นายสาโรจน์นำคดมาฟ้องศาลในวันที่ 22 กันยายน 2552 คดีจึงยังไม่ขาดอายุความข้ออ้างของนายสาโรจน์จึงฟังขึ้น

สรุป   ข้ออ้างของนายสาโรจน์ฟังขึ้น

 


ข้อ 
4.

ก. สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกเป็นสัญญาที่มีลักษณะอย่างใด ให้อธิบายโดยสังเขป

ข . นายสมชายและนายสมบัติมีคดีพิพาทกันเกี่ยวกับการแบ่งมรดกซึ่งตกทอดมาจากบิดาของคนทั้งสอง ในระหว่างสืบพยาน นายสมชายและนายสมบัติทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างกัน โดยมีข้อตกลงข้อหนึ่ง ให้ยกที่ดินมรดกแปลงหนึ่งให้แก่นางสาวสมบุญน้องของทั้งสองคน นางสาวสมบุญทราบเรื่องนี้จึงมีจดหมายขอบคุณนายสมชายและนายสมบัติและแจ้งว่า ตนพร้อมที่จะไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวกรณีปรากฏว่าภายหลังจากที่ จะไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวเปลี่ยนใจไม่ต้องการยกที่ดินมรดกให้ แก่นางสาวสมบุญ นายสมชายและนายสมบัติจึงตกลงทำสัญญากันใหม่โดยยกเลิกสัญญากันใหม่โดยยกเลิก สัญญาประนีประนอมยอมความเดิมในส่วนที่ยกที่มรดกให้แก่นางสาวสมบุญ เช่นนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าสัญญาที่นายสมชายและนายสมบัติทำขึ้นใหม่นี้ใช้บังคับได้ หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก . หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 374 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่าบุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้

ในกรณีดังกล่าวในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น

อธิบาย

จากหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกเป็นสัญญาที่มีลักษณะดังนี้

1.       เป็นสัญญาที่มีข้อตกลงว่าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอก

2.       สิทธิของบุคคลภายนอกเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่เขาแสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น

บุคคลภายนอก” หมายถึง บุคคลซึ่งไม่ใช่คู่สัญญาหรือผู้สืบสิทธิจากคู่สัญญาภริยาหรือสามีของคู่สัญญาไม่ใช่บุคคลภายนอก  (ฎ. 1/2474) 

ทายาทของคู่สัญญาไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมย่อมเป็นผู้สืบสิทธิจากคู่สัญญา  ดังนั้น  ทายาทของคู่สัญญาจึงไม่ใช่บุคคลภายนอก

ข . หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 374 วรรคสอง ในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือประโยชน์จากสัญญานั้น

มาตรา 375 เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดขึ้นตามบทบัญญัติแห่งมาตราก่อนแล้ว  คู่สัญญาหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่

วินิจฉัย

กรณี ตามอุทาหรณ์ สัญญาประนีประนอมยอมความที่นายสมชายและนายสมบัติทำไว้นั้นเป็นสัญญาเพื่อ ประโยชน์ของบุคคลภายนอก คือ นางสาวสมบุญ เมื่อนางสาวสมบุญซึ่งเป็นบุคคลภายนอกทราบเรื่องจึงมีจดหมายขอบคุณนายสมชาย และนายสมบัติและแจ้งว่าตนพร้อมที่จะไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวถือ ว่านางสาวสมบุญได้แจ้งเจตนาแก่นายสมชายและนายสมบัติซึ่งเป็นลูกหนี้ว่าจะถือ เอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้วตามมาตรา 374 วรรคสอง เมื่อสิทธิของนางสาวสมบุญบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นโดยแสดงเจตนารับเอาซึ่งทรัพย์ดังกล่าวแล้ว คู่สัญญาจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินี้ของนางสาวสมบุญบุคคลภายนอกไม่ได้ตามมาตรา 375  ดังนั้น  สัญญาที่นายสมชายและนายสมบัติทำขึ้นใหม่เพื่อยกเลิกสัญญาประนีประนอม ยอมความเดิมในส่วนที่ยกที่ดินมรดกให้แก่นางสาวสมบุญจึงใช้บังคับไมได้ (ฏ. 1156/2521)

สรุป  สัญญาที่นายสมชายและนายสมบัติทำขึ้นใหม่ใช้บังคับไม่ได้

Advertisement