การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 (ก) การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง มีผลในกฎหมายประการใด ให้อธิบายโดยสังเขป
(ข) นายอาทิตย์กับนางจันทราตกลงทำสัญญากันหลอกๆว่านายอาทิตย์ขายรถยนต์คันหนึ่งของตนให้แก่นางจันทราในราคา 400,000 บาท นายอาทิตย์ได้ส่งมอบรถยนต์ให้แก่นางจันทรา แต่ไม่มีการชำระราคากันจริง ต่อมาอีก 7 วัน นางจันทราเอารถยนต์คันนั้นไปขายให้แก่นายอังคารในราคา 380,000 บาท หลังจากนั้นอีก 1 เดือน นายอาทิตย์ทราบเรื่องจึงบอกกล่าวเรียกร้องให้นายอังคารเอารถยนต์มาส่งคืนให้แก่ตนโดยอ้างว่ารถยนต์เป็นของตน
ตนมิได้ขายรถยนต์คันนั้นให้แก่นางจันทราจริงๆ นายอังคารไม่ยอมคืนรถยนต์ให้แก่นายอาทิตย์และบอกแก่นายอาทิตย์ว่า ตนจะคืนรถยนต์ให้ต่อเมื่อได้รับเงินคืน 380,000 บาท ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ความว่าในขณะที่นายอังคารซื้อรถยนต์จากนางจันทรานั้น นายอังคารรู้ว่านายอาทิตย์ไม่ได้ขายรถยนต์คันนั้นให้แก่นางจันทราจริงๆ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายอังคารต้องส่งคืนรถยนต์ให้แก่นายอาทิตย์หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 155 วรรคแรก การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก ผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้
วินิจฉัย
(ก) การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง คือ การที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายสมรู้หรือตกลงกันกระทำหรือแสดงกิริยาอาการ อย่างใดยอย่างหนึ่งออกให้ดูเหมือนเป็นการแสดงเจตนาแต่แท้จริงแล้วเป็นการลวง เจตนาอันแท้จริงของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่สมรู้กันนั้นมิได้ต้องการให้เกิดผลในทางกฎหมายซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในสิทธิแต่อย่างใด
การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง มีผลในกฎหมายตามาตรา 155วรรคแรก คือ ตกเป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ถ้ามีบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กฎหมายคุ้มครองบุคคลภายนอกโดยบัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดๆยกความเป็นโมฆะของการแสดงเจตนาลวงขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก ซึ่งเป็นผู้ (1) กระทำการโดยสุจริต และ (2) ต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น
“กระทำโดยสุจริต” หมายความว่า กระทำโดยไม่รู้และไม่มีเหตุอันควรรู้ถึงการที่ไม่มีสิทธิหรือความบกพร่องแห่งสิทธิที่มีมาในอดีต (ฎ. 540/2490)
“ต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น” หมายความว่า บุคคลภายนอกที่เข้ามาเกี่ยวข้องนั้นได้รับความเสียหาย เนื่องจากได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปเพราะหลงเชื่อการแสดงเจตนาลวงนั้น
ดังนั้นหากบุคคลภายนอกกระทำการโดยไม่สุจริตแต่เกิดความเสียหายกับตน หรือบุคคลภายนอกกระทำการโดยสุจริต แต่ไม่ได้รับความเสียหายแล้ว กฎหมายก็จะไม่คุ้มครองบุคคลภายนอกบุคคลใดๆสามารถยกเอาความเป็นโมฆะดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกได้
(ข) กรณีตามอุทาหรณ์ นายอาทิตย์กับนางสาวจันทราสมรู้กันแสดงเจตนาลวงว่านายอาทิตย์ขายรถยนต์ให้แก่นางจันทรา สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนายอาทิตย์กับนางจันทราจึงตกเป็นโมฆะ ตามาตรา 155 วรรคแรกตอนต้น ต่อมานางจันทราขายรถยนต์คันนั้นให้แก่นายอังคาร โดยในขณะที่นายอังคารซื้อรถยนต์จากนางจันทรานั้น นายอังคารก็รู้ว่านายอาทิตย์ไม่ได้ขายรถยนต์คันนั้นให้แก่นางจันทราจริงๆ กรณีจึงถือได้ว่า นายอังคารซึ่งเป็นบุคคลภายนอกกระทำโดยไม่สุจริต (ฎ . 1020/2504) นายอังคารจึงไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย ตามาตรา 155 วรรคแรก ตอนท้าย ดังนั้น เมื่อนายอาทิตย์เรียกร้องให้นายอังคารส่งรถยนต์แก่ตนนายอังคารจึงต้องส่งคืนรถยนต์ให้นายอาทิตย์
สรุป นายอังคารต้องส่งคืนรถยนต์ให้แก่นายอาทิตย์
ข้อ 2 จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้วให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆียะนับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ”
ให้นักศึกษาตอบคำถามดังต่อไปนี้
(ก) บุคคลใดได้แก่บุคคลใดบ้าง
(ข) มาตรา 176 วรรคสอง ดังกล่าวนั้นใช้เป็นหลักในการพิจารณากรณีใด อธิบายให้เข้าใจ
ธงคำตอบ
(ก) คำว่า “บุคคลใด” ในมาตรา 176 วรรคสองนี้ นอกจากหมายความถึงคู่กรณีแห่งนิติกรรมฝ่ายที่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทนแล้ว ยังหมายความรวมถึงบุคคลภายนอกซึ่งมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่นิติกรรมตกเป็นโมฆียะด้วย
(ข) ใช้เป็นหลักในการพิจารณาว่า บุคคลใดกระทำการโดยไม่สุจริตเมื่อใด เพื่อผลการบอกล้างโมฆียกรรมนั้น ในกรณีให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม หากปรากฏว่าทรัพย์ที่จะต้องคืนเกิดดอกผลมา ดอกผลนั้นจะตกเป็นของฝ่ายใด ตามหลักเกณฑ์เรื่องการได้กรรมสิทธิ์ในดอกผล
มาตรา 415 “บุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริต ย่อมจะได้ดอกผลอันเกิดแต่ทรัพย์สินนั้นตลอดเวลาที่ยังคงสุจริตอยู่…”
ดังนั้นถ้าบุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้ตามโมฆียกรรมโดยไม่รู้และไม่ควรจะได้รู้ว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ บุคคลนั้นย่อมอยู่ในฐานะ “สุจริต” เมื่อมีการบอกล้างโมฆียะกรรม บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิได้ดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินที่ได้รับไว้นั้น
แต่ถ้าบุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้ตามโมฆียะกรรมโดยรู้ว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ บุคคลนั้นย่อมอยู่ในฐานะ “ไม่สุจริต” เมื่อมีการบอกล้างโมฆียะกรรม บุคคลนั้นย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินที่ได้รับไว้นั้น
ข้อ 3 อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 หมายความว่าอย่างไร แยกออกเป็นกี่กรณี อะไรบ้าง จงอธิบาย พร้อมยกตัวอย่างประกอบ
ธงคำตอบ
มาตรา 193/3 ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นหน่วยเวลาที่สั้นกว่าวัน ให้เริ่มต้นนับในขณะที่เริ่มการนั้น
ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี
มาตรา 193/12 อายุความเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใดเริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น
อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 หมายความว่า เจ้าหนี้สามารถบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่เมื่อใด อายุความก็เริ่มนับแต่เมื่อนั้น ซึ่งแยกออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
1 สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากนิติกรรมซึ่งกำหนดเวลาชำระหนี้ ในกรณีที่นิติกรรมมีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอน เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ลุกนี้ชำระหนี้ตามนิติกรรมนั้นได้ตั้งแต่เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันถึงกำหนดชำระหนี้ โดยเริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น ตามหลักเกณฑ์การคำนวณนับระยะเวลา ตามมาตรา 193/3 วรรคสอง
ตัวอย่าง ก. กู้เงิน ข. ไป 100,000 บาท เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2548 มีกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ ใน 1 ปี นับตั้งแต่วันทำสัญญา ระยะเวลา 1 ปี จะครบกำหนดในวันที่ 12 มกราคม 2549 อายุความฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องของ ข. ในกรณีนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ครบกำหนด 1 ปี นับตั้งแต่วันทำสัญญาโดยเริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น
2 สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากนิติกรรมซึ่งไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ ในกรณีที่นิติกรรมไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอน เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามนิติกรรมนั้นได้โดยพลัน ตามมาตรา 203 ในกรณีเช่นนี้อายุความเริ่มต้นนับตั้งแต่วันทำนิติกรรม โดยเริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น ตามหลักเกณฑ์การคำนวณนับระยะเวลาตามมาตรา 193/3 วรรคสอง
ตัวอย่าง ก. กู้เงิน ข. ไป 100,000 บาท เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2548 โดยมิได้กำหนดระยะเวลาในการใช้คืน และไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดที่จะพึงอนุมานกำหนดเวลาใช้เงินคืนได้ ในกรณีเช่นนี้ ข. เจ้าหนี้ย่อมเรียกให้ ก. ลูกหนี้ใช้เงินคืนได้ตั้งแต่วันทำนิติกรรม ตามมาตรา 203 อายุความฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องของ ข. ในกรณีนี้จึงเริ่มนับแต่วันทำนิติกรรม โดยเริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น
ข้อ 4 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2551 ก. อยู่กรุงเทพฯ ได้ไปเที่ยวบ้าน ข. ที่จังหวัดเชียงใหม่แล้วเห็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนองค์หนึ่งของ ข. ก็ชอบใจอยากได้ เมื่อกลับกรุงเทพฯ ก. ได้ส่งจดหมายทางไปรษณีย์เสนอซื้อพระพุทธรูปองค์นั้นจาก ข. ราคา 1 ล้านบาท โดยได้แจ้งไปในคำเสนอนั้นด้วยว่า ถ้า ข. ตกลงจะขายต้องตอบตกลงมาภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 เมื่อ ข. ได้รับจดหมายของ ก. ข. ได้เขียนจดหมายตอบและส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนมายัง ก. แต่ปรากฏว่าเกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมจังหวัดเชียงใหม่ จดหมายของ ข. จึงมาถึง ก. ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งล่าช้ากว่าเวลาที่ ก. กำหนด อย่างไรก็ตามเมื่อดูที่ซองจดหมายของ ข. เป็นที่เห็นได้ว่า ข. ได้ส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งตามปกติจดหมายฉบับนั้นควรมาถึง ก. ภายในเวลาที่ ก. กำหนด
ถ้า ก. ไม่ต้องการซื้อพระพุทธรูปองค์นั้นและมาปรึกษาท่าน ท่านจะให้คำแนะนำแก่ ก. ว่า ก. ต้องดำเนินการอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 358 ถ้าคำบอกกล่าวสนองถึงล่วงเวลา แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งตามปกติควรจะมาถึงภายในเวลากำหนดนั้นไซร้ ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า เว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว
ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดังว่ามาในวรรคต้น ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลา
วินิจฉัย ตามอุทาหรณ์ คำสนองขายพระพุทธรูปของ ข. ไปถึง ก. ล่าช้ากว่าเวลาที่ ก. กำหนดไว้ แต่เป็นที่เห็นได้ชัดจากตราไปรษณีย์ซึ่งประทับบนซองจดหมายคำสนองนั้นว่า ข. ส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ซึ่งตามปกติจดหมายฉบับนั้นควรจะมาถึง ก. ก่อน วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 อันเป็นเวลาที่ ก. กำหนดไว้ มนกรณีดังกล่าวนี้คำสนองของ ข. จะเป็นคำสนองล่วงเวลารึไม่ ขึ้นอยู่กับว่า ก. (ผู้เสนอ) ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ตามาตรา 358 หรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ กฎหมายกำหนดหน้าที่ของผู้เสนอไว้ว่า ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่ผู้สนองโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า เว้นแต่ได้บอกกล่าวเช่นนั้นไว้ก่อนแล้ว ดังนั้น ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำสำหรับกรณีเช่นนี้แก่ ก. ว่า ถ้า ก. ไม่ต้องการซื้อพระพุทธรูปองค์นั้น ก. จำต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว โดยการที่ ก. ผู้เสนอ ต้องบอกกล่าวแก่ ข. ผู้สนองโดยพลัน ว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า คือวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 เว้นแต่ ก. จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นแก่ ข. ไว้ก่อนแล้ว กฎหมายจึงจะถือว่า จดหมายคำสนองของ ข. เป็นคำสนองล่วงเวลา หามีผลให้สัญญาซื้อขายพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนระหว่าง ก. กับ ข. เกิดขึ้นไม่ แต่ถ้า ก. ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว กฎหมายให้ถือว่าจดหมายคำสนองของ ข เป็นคำสนองที่มิได้ล่วงเวลา ซึ่งมีผลให้สัญญาซื้อขายพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนระหว่าง ก. กับ ข. เกิดขึ้น
สรุป ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำ แก่ ก. ว่า ก. ต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดย ก. ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่ ข. ผู้สนองโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า จึงจะถือว่า จดหมายคำสนองของ ข. เป็นคำสนองล่วงเวลา สัญญาซื้อขายระหว่าง ก. กับ ข. ไม่เกิดขึ้น