การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LW  203  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นางมะโรงซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร  ได้ตกลงให้นางมะเส็งเช่าบ้านของตนที่ซื้อทิ้งไว้ที่จังหวัดเชียงใหม่โดยไม่ได้กำหนดเวลาการเช่ากันไว้  ต่อมาอีกสองปีนางมะโรงต้องการไปใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่  นางมะโรงจึงต้องการบอกเลิกสัญญาเช่าดังกล่าว  นางมะโรงจึงได้ส่งหนังสือบอกเลิกการเช่าถึงนางมะเส็งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ  โดยจ่าหน้าซองถึงนางมะเส็งตามที่อยู่บ้านที่เช่า

เมื่อเจ้าพนักงานไปรษณีย์นำหนังสือบอกเลิกการเช่าไปส่งให้นางมะเส็งถึงสามครั้ง  แต่ไม่มีผู้รับเนื่องจากนางมะเส็งปิดประตูหน้าต่างแอบเงียบอยู่ในบ้าน  สุดท้ายเจ้าพนักงานไปรษณีย์จำต้องส่งหนังสือ ฉบับดังกล่าวกลับคืนมายังบ้านของนางมะโรงที่กรุงเทพมหานคร  โดยทำหมายเหตุลงไว้ด้วยว่า  

ส่งแล้วแต่ผู้รับไม่ยอมรับ  หลังจากที่นางมะโรงได้รับคืนหนังสือดังกล่าว  นางมะโรงมีความรู้สึกโกรธนางมะเส็งเป็นอันมาก  จึงโทรศัพท์ไปหานางมะเส็งแต่นางมะเส็งไม่รับโทรศัพท์  ด้วยความโกรธจัดนางมะโรงจึงตัดสินใจเดินทางไปบอกเลิกสัญญาเช่ากับนางมะเส็งที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วยตนเอง  

ขณะที่นางมะโรงอยู่ที่ท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่  นางมะโรงได้พบนางมะเส็งโดยบังเอิญ  นางมะโรงจึงพูดบอกเลิกสัญญาเช่ากับนางมะเส็งในขณะนั้นทันที  แต่นางมะเส็งได้เอามืออุดหูไว้  ไม่ยอมให้ตนได้ยิน  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  การแสดงเจตนาบอกเลิกการเช่าของนางมะโรงในพฤติการณ์ต่างๆ  ข้างต้นถือได้ว่ามีผลเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านหลังดังกล่าวแล้วหรือไม่  อย่างไร  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  168  การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่ผู้รับการแสดงเจตนาได้ทราบการแสดงเจตนานั้น  ความข้อนี้ให้ใช้ตลอดถึงการที่บุคคลหนึ่งแสดงเจตนาไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งโดยทางโทรศัพท์

มาตรา  169  การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา

วินิจฉัย

นาง มะโรงซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานครต้องการบอกเลิกสัญญาเช่าโดยได้ส่งหนังสือบอก เลิกการเช่าถึงนางมะเส็งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับดังกล่าว  ถือได้ว่าเป็นการที่นางมะโรงได้แสดงเจตนาบอกเลิกการเช่าต่อนางมะเส็งซึ่งเป็นบุคคลผู้มิได้อยู่เฉพาะหน้า  เพราะทั้งสองไม่สามารถที่จะติดต่อทำความเข้าใจกันได้ในทันทีทันใด  ดังนี้  การบอกเลิกสัญญาเช่าจะมีผลก็ต่อเมื่อการแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา  ตามมาตรา  169

การที่นางมะโรงได้ส่งหนังสือบอกเลิกการเช่าถึงนางมะเส็งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ  โดยเจ้าพนักงานไปรษณีย์นำหนังสือบอกเลิกการเช่าไปส่งให้นางมะเส็ง  แต่นางมะเส็งพยายามหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับการแสดงเจตนาทั้งที่ตนรู้อยู่ว่าเป็นหนังสือบอกเลิกการเช่าแต่ก็ยังไม่ยอมรับไว้  ดังนี้ถือว่าการบอกเลิกการเช่า  มีผลนับแต่เวลาที่เจ้าพนักงานไปรษณีย์นำจดหมายไปส่งยังบ้านที่เช่าแล้ว  เนื่องจากการแสดงเจตนานั้นไปถึง  ผู้รับการแสดงเจตนาแล้ว  ตามมาตรา  169  ส่วนพฤติการณ์ของนางมะโรงต่อๆมา

ไม่ว่าจะเป็นการที่โทรศัพท์ไปหานางมะเส็งแต่นางมะเส็งไม่รับโทรศัพท์  หรือที่นางมะโรงได้พูดบอกเลิกสัญญาเช่ากับนางมะเส็งในขณะที่พบนางมะเส็งที่สนามบินแต่นางมะเส็งได้เอามืออุดหูไว้ไม่ยอมให้ตนได้ยิน  หาจำเป็นต้องพิจารณาไม่  เนื่องจากว่าการแสดงเจตนาได้มีผลนับแต่เวลาที่เจ้าพนักงานไปรษณีย์นำจดหมายไปส่งยังบ้านเช่าแล้ว  จึงไม่ต้องพิจารณามาตรา  168  อีก

สรุป  การแสดงเจตนาบอกเลิกการเช่าของนางมะโรงถือว่ามีผลเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านหลังดังกล่าวแล้ว  นับแต่เวลาที่เจ้าพนักงานไปรษณีย์นำจดหมายไปส่งยังบ้านที่เช่าแล้ว  ตามมาตรา  169

 


ข้อ  2  นาย  ก.  ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงหนึ่งของนาย  ข.  โดยที่นาย  ข. ไม่รู้ว่าที่ดินของตนจะถูกเวนคืนเพื่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วงของ  รฟม.  อยู่  ทั้งนี้  นาย  ข.  ได้นำโฉนดที่ดินมาให้นาย  ก.  ดู  และพูดรับรองว่าที่ดินไม่มีภาระผูกพันใดๆทั้งสิ้น  ต่อมาปรากฏว่าที่ดินของนาย  ข.  แปลงดังกล่าวถูกเวนคืน

นาย  ก.  จึงบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับนาย  ข.  โดยอ้างว่าถูกนาย  ข.  ใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงตน  ข้ออ้างของนาย  ก.  ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  159  การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ

การที่กลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง  จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าวการอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น

วินิจฉัย

ในขณะที่นาย  ก.  และนาย  ข.  ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกันนั้น  นาย  ข.  ไม่รู้ว่าที่ดินจะถูกเวนคืนกรณีดังกล่าว  นาย  ข.  ได้นำโฉนดที่ดินมาให้  นาย  ก.  ดู  และพูดรับรองว่าที่ดินไม่มีภาระผูกพันใดๆเท่านั้น  นาย  ข.  มิได้หลอกลวงหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับที่ดินซึ่งตกอยู่ในเขตที่ต้องถูกทางราชการเวนคืนแต่อย่างใด

สรุป  ดังนั้น  ข้ออ้างของนาย  ก.  ฟังไม่ขึ้น  กรณีไม่เป็นกลฉ้อฉลแต่อย่างใด  (เทียบเคียงคำพิพากษา  ฎีกาที่  151-152/2537)

 


ข้อ  3  ในเดือนตุลาคม  2547  นายเด่นได้ใช้บัตรเครดิตของธนาคารสยามจำกัด  ซื้อสินค้าตามหางสรรพสินค้าและกดเงินสดจากตู้  
ATM  ของธนาคารเป็นเงินจำนวน  50,000  บาท  ซึ่งนายเด่นจะต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้ธนาคารฯ  ภายในวันที่  10  พฤศจิกายน  2547  แต่เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  นายเด่นมิได้นำเงินไปชำระ  ธนาคารจึงได้มีหนังสือทวงถามให้นายเด่นนำเงินที่ค้างไปชำระพร้อมดอกเบี้ย  แต่นายเด่นไม่สามารถชำระหนี้ได้  จนกระทั่งวันที่  3  พฤศจิกายน  2549  ซึ่งเหลือเวลาอีก  7  วัน  จะครบกำหนดอายุความ  ธนาคารได้นำคดีไปฟ้องศาล  หลังจากศาลรับฟ้องคดีแล้ว   ทนายความของบริษัทมิได้ติดตามเรื่องจนศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ  ต่อมาธนาคารฯ  ได้ให้ทนายความคนใหม่นำคดีมาฟ้องศาลอีกครั้งหนึ่งในวันที่  20  กุมภาพันธ์  2550  นายเด่นต่อสู้คดีว่าคดีขาดอายุความแล้ว  ดังนี้  อยากทราบว่าข้อต่อสู้ของนายเด่นฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  ป.พ.พ.  มาตรา  193/34  บัญญัติว่า  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี

(7) บุคคลซึ่งมิได้เข้าอยู่ในประเภทที่ระบุไว้ใน  (1)  แต่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำการงานต่างๆ  เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้นรวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป

ธงคำตอบ

มาตรา  193/14  อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(2) เจ้าหนี้ได้ฟ้องคดี  หรือเพื่อให้ชำระหนี้

มาตรา  193/17  วรรคแรก  ในกรณีที่อายุความสะดุดหยุดลงเพราะเหตุตามมาตรา  193/14(2)  หากคดีนั้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกคำฟ้อง  หรือคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง  ให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง

วินิจฉัย

นายเด่นได้เป็นหนี้ค่าบัตรเครดิตธนาคารสยามจำกัด เป็นเงินจำนวน  50,000  บาท  ซึ่งนายเด่นจะต้องนำเงินไปชำระภายในวันที่  10  พฤศจิกายน  2547  แต่ปรากฏว่านายเด่นไม่สามารถนำเงินไปชำระได้จนกระทั่งธนาคารได้นำคดีไปฟ้องศาลในวันที่  3  พฤศจิกายน  2549  จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง  ตาม ป.พ.พ.  มาตรา  193/14(2)  หลังจากฟ้องคดีแล้ว  ทนายความของบริษัทได้ทิ้งฟ้องศาลจึงจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ  ให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง  ตาม ป.พ.พ.  มาตรา  193/17  วรรคแรก  การที่ธนาคารฯได้ให้ทนายความคนใหม่นำคดีมาฟ้องศาลอีกครั้งในวันที่  20  กุมภาพันธ์  2550  คดีจึงขาดอายุความแล้วตั้งแต่วันที่  10  พฤศจิกายน  2549

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายเด่นจึงฟังขึ้น

 

ข้อ  4  ก.  การชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนมีหลักเกณฑ์อย่างไร  ให้อธิบายโดยสังเขป

ข.      เมื่อวันที่  20  ตุลาคม  2549  บริษัท  ธัญญกิจพอเพียง  จำกัด  ตกลงซื้อข้าวเปลือกกองหนึ่งทั้งกองจำนวน  20  เกวียนจากนายสมบูรณ์ราคา  200,000  บาท  โดยข้าวเลือกกองนี้กองอยู่บนลานข้างบ้านของนายสมบูรณ์นั้นเอง  กำหนดชำระเงินค่าข้าวเปลือกและส่งมอบข้าวเปลือกกันในวันที่  30  ตุลาคม  2549  แต่เมื่อถึงวันที่  28  ตุลาคม  2549  ปรากฏว่าเกิดอุทกภัย  น้ำท่วมพัดพาเอาข้าวเปลือกกองนั้นสูญหายไปทั้งหมด  นายสมบูรณ์จึงไม่สามารถส่งมอบข้าวเปลือกให้แก่บริษัท  ธัญญกิจพอเพียง  จำกัด  ได้ตามสัญญา  เช่นนี้  บริษัท  ธัญญกิจพอเพียง  จำกัด  ต้องชำระเงินราคาข้าวเปลือกให้แก่นายสมบูรณ์หรือไม่เพียงใด  เพราะเหตุใดธงคำตอบ

ก.      หลักกฎหมาย  มาตรา  369  ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น  คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้  แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนดจากหลักกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนมีหลักเกณฑ์ดังนี้

หลักทั่วไป  คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้  ซึ่งหมายความว่าคู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องชำระหนี้ให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการตอบแทนซึ่งกันและกันในขณะเดียวกันนั่นเอง

ข้อยกเว้น  หลักทั่วไปดังกล่าวนี้  มิให้ใช้บังคับ  ถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด

ข.    หลักกฎหมาย  มาตรา  370  วรรคแรก  ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพย์ สิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งและทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่าง หนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้  ท่านว่า  การสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้

วินิจฉัย

การทำสัญญาซื้อขายข้าวเปลือกกองหนึ่งทั้งกองระหว่างบริษัท  ธัญญกิจพอเพียงจำกัด  กับนายสมบูรณ์เป็นการทำสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งเมื่อปรากฏว่าเกิดอุทกภัย  น้ำท่วมพัดพาเอาข้าวเปลือกซึ่งเป็นทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาสูญหายไปทั้งหมด  จึงเป็นกรณีที่ทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอันจะโทษนายสมบูรณ์  (ลูกหนี้ในอันที่จะต้องส่งมอบข้าวเปลือก) มิได้  การสูญหรือเสียหายนั้นจึงตกเป็นพับแก่บริษัท  ธัญญกิจพอเพียง  จำกัด (เจ้าหนี้ในอันที่จะได้รับมอบข้าวเปลือก)

ดังนั้น  ถึงแม้นายสมบูรณ์ไม่สามารถส่งมอบข้าวเปลือกให้แก่บริษัท  ธัญญกิจพอเพียง  จำกัดได้  บริษัท  ธัญญกิจพอเพียง  จำกัด  ก็ยังต้องชำระเงินราคาข้าวเปลือกให้แก่นายสมบูรณ์เต็มจำนวนตามสัญญา คือ  200,000  บาท

Advertisement