การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2546
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 ก. ในกรณีแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว หลังจากนั้นผู้แสดงเจตนาตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ตามหลักทั่วไป การแสดงเจตนานั้นมีผลในกฎหมายประการใด ให้อธิบายโดยสังเขป
ข. นายสีป่วยด้วยโรคไข้หวัดนก เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่จังหวัดนครสวรรค์ ส่งจดหมายโดยทางไปรษณีย์เสนอขายที่ดินของตนแปลงหนึ่งให้แก่นายแสงซึ่งอยู่ที่จังหวัดอ่างทอง ในราคา สามล้านบาท โดยนายสีได้ระบุไปในคำเสนอนั้นด้วยว่า “ข้อเสนอนี้มีผลในระหว่างที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่เท่านั้น” หลังจากที่นายสีส่งจดหมายฉบับนั้นไปได้ 5 วัน นายสีถึงแก่ความตาย เช่นนี้ การแสดงเจตนาเสนอขายที่ดินของนายสีมีผลในกฎหมายประการใด เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ก
มาตรา 169 วรรคสอง การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไปแม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้น ผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
อธิบาย หลักกฎหมายดังกล่าวเป็นหลักทั่วไปของผลในกฎหมายในกรณีแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว หลังจากนั้นผู้แสดงเจตนา
1 ตายหรือ
2 ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือ
3 ถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถกฎหมายบัญญัติไว้เป็นหลักทั่วไปว่าการแสดงเจตนานั้นไม่เสื่อมเสียไป ยังคงมีผลสมบูรณ์
ข
มาตรา 360 บทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสองนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง…
วินิจฉัย
มาตรา 169 วรรคสอง ซึ่งได้อธิบายในข้อ ก นั้น มีข้อยกเว้น 2 กรณี ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 360 ซึ่งกรณีหนึ่ง คือ ในการแสดงเจตนาทำคำเสนอ ถ้าผู้เสนอได้แสดงเจตนาไว้ว่าหากภายหลังจากที่ได้แสดงเจตนาทำคำเสนอไปแล้ว ผู้เสนอตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ให้คำเสนอของเขาเสื่อมเสียหรือสิ้นผลไป ก็ให้เป็นไปตามเจตนาที่ผู้เสนอได้แสดง
นายสีซึ่งเป็นผู้เสนอได้แสดงเจตนาไว้ในคำเสนอขายที่ดินด้วยว่า คำเสนอของเขามีผลผูกพันในระหว่างที่เขายังมีชีวิตอยู่เท่านั้น ดังนั้นเมื่อนายสีถึงแก่ความตายหลังจากได้ส่งจดหมายเสนอขายที่ดินไปแล้ว จึงมีผลให้คำเสนอขายที่ดินของนายสีเสื่อมเสียหรือสิ้นผลไป ไม่มีผลผูกพันนายสีอีกต่อไป
ข้อ 2 คนไร้ความสามารถเป็นบุคคลหนึ่งซึ่งมีสิทธิบอกล้างโมฆียกรรมได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 175
ถามว่า คนไร้ความสามารถนั้นจะใช้สิทธิบอกล้างได้เมื่อใด และจะต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในระยะเวลาใด อย่างไร จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 175 โมฆียะกรรมนั้น บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้
(2) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว…มาตรา 179 การให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรมนั้น จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้กระทำภายหลังเวลาที่มูลเหตุให้เป็นโมฆียะกรรมนั้นหมดสิ้นไปแล้ว
บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ… จะให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรมได้ต่อเมื่อได้รู้เห็นซึ่งโมฆียกรรมนั้นภายหลังที่บุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถ
มาตรา 181 โมฆียะกรรมนั้นจะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น
จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น คนไร้ความสามารถจะใช้สิทธิบอกล้างได้ เมื่อพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถ ตามมาตรา 175(2) กล่าวคือ เมื่อศาลได้มีคำสั่งยกเลิกการเป็นคนไร้ความสามารถ และจะต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 181 กล่าวคือ จะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลา 1 ปี นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ ส่วนเวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ของคนไร้ความสามารถนอกจากกรณีต้องพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถ อันเป็นเวลาที่มูลเหตุให้เป็นโมฆียกรรมนั้นหมดสิ้นไปแล้ว ตามมาตรา 179 วรรคหนึ่ง คนไร้ความสามารถนั้นยังต้องได้รู้เห็นซึ่งโมฆียกรรมที่ตนเองทำขึ้นด้วย ตามมาตรา 179 วรรคสอง กำหนดระยะเวลา 1 ปี จึงเริ่มนับเมื่อนั้น
แต่อย่างไรก็ตาม คนไร้ความสามารถจะบอกล้างโมฆียกรรมมิได้ เมื่อพ้นเวลา 10 ปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น
ข้อ 3 ก. การนับอายุความสำหรับสิทธิเรียกร้องทั่วไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ให้เริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด จงอธิบาย
ข. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 นายแดงได้ทำสัญญากู้เงินจากนายดำจำนวน 50,000 บาท ดังนี้ อยากทรายว่าอายุความสำหรับสิทธิเรียกร้องทั่วไปของหนี้รายนี้จะเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด ในกรณีดังต่อไปนี้
1) นายดำได้กำหนดให้นายแดงชำระหนี้คืนภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา
2) นายดำไม่ได้กำหนดให้นายแดงชำระหนี้คืนแต่ตกลงกันว่า ถ้านายแดงมีเงินเมื่อใดก็ให้นำมาชำระคืนได้เมื่อนั้น
ธงคำตอบ
มาตรา 193/12 อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใดให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น
มาตรา 193/3 วรรคสอง ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็น…ปี… มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน…
วินิจฉัย
ก
การเริ่มนับอายุความสำหรับสิทธิเรียกร้องทั่วไปตามมาตรา 193/12 แยกออกได้เป็น 2 กรณีคือ
1 กรณีเป็นสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง
กฎหมายให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งหมายความว่าเจ้าหนี้สามารถบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่เมื่อใดอายุความก็เริ่มนับตั้งแต่เมื่อนั้น กล่าวคือ
1) สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากนิติกรรมซึ่งมีกำหนดเวลาชำระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามนิติกรรมนั้นได้ตั้งแต่เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันถึงกำหนดชำระหนี้ (โดยนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น ตาม ป.พ.พ. 193/3 วรรคสอง)
2) สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากนิติกรรมซึ่งไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ ลูกหนี้ชำระหนี้ตามนิติกรรมนั้นได้โดยพลัน ในกรณีเช่นนี้อายุความให้เริ่มนับตั้งแต่วันทำนิติกรรม (โดยนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น ตาม ป.พ.พ. 193/3 วรรคสอง)
2 กรณีเป็นสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้งดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง
กฎหมายให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น ในกรณีที่นิติกรรมกำหนดให้ลูกหนี้งดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หากลูกหนี้ฝ่าฝืนข้อกำหนดในนิติกรรมอายุความเริ่มนับตั้งแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น
ข
อายุความสำหรับสิทธิเรียกร้องทั่วไปของหนี้รายนี้จะเริ่มนับดังนี้
1 นายดำได้กำหนดให้นายแดงชำระหนี้คืนภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา การทำสัญญากู้รายนี้มีกำหนดเวลาชำระหนี้ นายดำเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้นายแดงลูกหนี้ชำระหนี้ตามสัญญาได้ตั้งแต่วันที่หนี้ถึงกำหนด 1 ปี คือวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2548 อายุความจึงเริ่มนับ (ตามมาตรา 193/12) ตั้งแต่วันรุ่งขึ้น คือวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 (ตามมาตรา 193/3 วรรคสอง)
2 นายดำไม่ได้กำหนดให้นายแดงชำระหนี้คืนแต่ตกลงกันว่า ถ้านายแดงมีเงินเมื่อใดก็ให้นำมาชำระ การตกลงเช่นนี้เป็นการทำสัญญากู้โดยไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ นายดำเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้นายแดงลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลัน อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันทำนิติกรรมคือวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 (ตามมาตรา 193/12) และให้เริ่มนับอายุความในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547 (ตาม มาตรา 193/3 วรรคสอง)
ข้อ 4 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2547 นายพิชิตได้ไปที่สำนักงานบริษัท สินแร่ไทย จำกัด และได้บอกกล่าวแก่พนักงานฝ่ายขายของบริษัทว่า “ข้าพเจ้าต้องการซื้อแร่ดีบุกจากบริษัทของท่านประมาณ 80 ตัน แต่จะขอซื้อในงวดแรกก่อน 20 ตัน ส่วนที่เหลือจะมาซื้อเป็นคราวๆไปจนกว่าจะครบ” ต่อมาอีกสามวัน นายพิชัยซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท สินแร่ไทย จำกัด ได้ทำหนังสือตอบไปยังนายพิชิตว่า “บริษัทตกลงขายแร่ดีบุกให้แก่ท่านจำนวนตามที่ท่านเสนอ ราคาตันละ 80,000 บาท ทั้งนี้ท่านต้องชำระราคาเป็นเงินสดและโดยด่วน” ดังนี้ สัญญาซื้อขายแร่ดีบุกระหว่างนายพิชิตกับบริษัท สินแร่ไทย จำกัด เกิดขึ้นอย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
การแสดงเจตนาซึ่งจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะ 2 ประการคือ
1 เป็นข้อความชัดเจนและแน่นอน
2 มีความมุ่งหมายว่า ถ้ามีคำสนอง สัญญาเกิดขึ้นทันที
วินิจฉัย
นายพิชิตได้แสดงเจตนาโดยอกกล่าวแก่พนักงานฝ่ายขายของบริษัท สินแร่ไทยจำกัดว่า “ข้าพเจ้าต้องการซื้อแร่ดีบุกจากบริษัทของท่านประมาณ 80 ตัน แต่จะขอซื้อในงวดแรกก่อน 20 ตัน ส่วนที่เหลือจะมาซื้อเป็นคราวๆไปจนกว่าจะครบ” การแสดงเจตนาในส่วนแรกที่ว่าข้าพเจ้าต้องการซื้อแร่ดีบุกจากบริษัทของท่านประมาณ 80 ตัน เป็นข้อความที่ไม่แน่นอน จึงไม่เป็นคำเสนอ แต่ข้อความในส่วนต่อไปที่ว่า แต่จะซื้อในงวดแรกก่อน 20 ตัน เป็นข้อความที่ชัดเจนและแน่นอน และมีความมุ่งหมายว่าถ้าอีกฝ่ายหนึ่งสนองตอบตกลง สัญญาเกิดขึ้นทันที ข้อความในส่วนหลังนี้จึงเป็นคำเสนอของนายพิชิตซึ่งเสนอซื้อแร่ดีบุกจาก บริษัท สินแร่ไทย จำกัด จำนวน 20 ตัน เมื่อนายพิชัยเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท สินแร่ไทย จำกัด ได้ทำหนังสือตอบตกลงขายแร่ดีบุกให้แก่นายพิชิตเต็มจำนวนตามที่นายพิชิตเสนอ จึงเกิดสัญญาซื้อขายแร่ดีบุกระหว่างนายพิชิตกับบริษัท สินแร่ไทย จำกัด จำนวน 20 ตัน