การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LW 203 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 (ก) เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว ผู้แสดงเจตนาตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ตามหลักทั่วไปแล้ว การแสดงเจตนานั้นมีผลในกฎหมายประการใด ให้อธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 169 วรรคสอง การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อเสียไป แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
จากหลักการข้างต้นจะเห็นได้ว่า ในกรณีที่ผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาออกไปแล้ว หลังจากนั้นผู้แสดงเจตนาถึงแก่ความตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ตามหลักทั่วไปในมาตรา 169 วรรคสอง การแสดงเจตนานั้นไม่เสื่อมเสียไปตามตัวบุคคลผู้แสดงเจตนา เมื่อการแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนาแล้ว การแสดงเจตนานั้นก็มีผลในทางกฎหมายได้
(ข) มาตรา 360 บทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสองนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดงหรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่า ผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถวินิจฉัย กรณีตามอุทาหรณ์ ไม่ปรากฏว่านายแดงผู้เสนอขายบ้านได้แสดงเจตนาไว้ขัดกับบทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสอง และเมื่อนายเขียวเขียนจดหมายสนองตอบตกลงซื้อบ้าน นายเขียวก็ไม่รู้ว่านายแดงถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ กรณีไม่ต้องตามาตรา 360 จึงต้องบังคับตามหลักทั่วไปใน มาตรา 169 วรรคสอง ซึ่งได้อ้างไว้แล้วในข้อ (ก) ดังนั้นการแสดงเจตนาเป็นคำเสนอขายบ้านของนายแดงจึงไม่เสื่อมเสียไปยังคงมีผลสมบูรณ์ เมื่อนายเขียวตอบตกลงซื้อ สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายแดงและนายเขียวจึงเกิดขึ้น
สรุป คำเสนอขายบ้านของนายแดงมีผลสมบูรณ์ ไม่เสื่อมเสียไป
ข้อ 2 นาย ก. เป็นลูกหนี้บัตรเครดิตธนาคารแห่งหนึ่ง แล้วไม่เคยผ่อนชำระหนี้เลย ธนาคารจึงว่าจ้างบริษัทติดตามหนี้ ดำเนินการทวงถามให้นาย ก. ชำระหนี้ โดยบริษัทฯใช้วิธีโทรศัพท์ถึงที่ทำงานขู่ว่าจะฟ้องหัวหน้างาน ถ้านาย ก. ไม่ชำระหนี้ นาย ก. ก็ยังคงไม่ชำระ บริษัทฯจึงทำหนังสือถึง นาย ก. ให้ชำระหนี้ มิฉะนั้นจะดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล
ดังนี้ถามว่า การติดตามทวงถามของบริษัทฯ ที่มีต่อนาย ก. กระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 164 วรรคแรก “การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ”
มาตรา 165 วรรคแรก “การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่”
วินิจฉัย จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่าโดยหลักแล้ว การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่หมายความว่า เป็นการใช้อำนาจบังคับจิตใจของผู้คน เพื่อให้เขาเกิดความกลัวแล้วแสดงเจตนาทำนิติกรรมออกมาตามที่ผู้ข่มขู่ต้องการ การแสดงเจตนานั้นย่อมตกเป็นโมฆียะ แต่มีข้อยกเว้นว่า ถ้าเป็นการข่มขู่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วย่อมทำได้ ไม่ตกเป็นโมฆียะ เช่น การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ตามาตรา 165 วรรคแรก ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้สิทธิซึ่งตนมีอยู่อย่างที่ปกติคนทั่วไปเขาใช้กัน เช่น การใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ใช้หนี้ตน เป็นต้น
ดังนั้นการทวงถามหนี้ของบริษัท จึงกระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมที่กฎหมายให้สิทธิเจ้าหนี้ติดตามทวงถามลูกหนี้ให้ชำระหนี้ได้ แม้การข่มขู่ไม่ว่าโดยทางโทรศัพท์หรือการทำเป็นหนังสือนั้น จะทำให้นาย ก. เกิดความกลัวก็ตาม กรณีจึงไม่เป็นการข่มขู่ที่มีผลเป็นโมฆียะแต่อย่างใด
สรุป การติดตามทวงถามของบริษัทฯ ที่มีต่อนาย ก. กระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
หมายเหตุ กรณีตามอุทาหรณ์นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีหน้าที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่างๆ กำลังเตรียมจัดทำแนวนโยบายในการติดตามทวงถามหนี้ เพื่อดูแลไม่ให้ประชาชนถูกใช้ความรุนแรง ซึ่งแนวปฏิบัตินี้เป็นเพียงการขอความร่วมมือ ไม่ได้บังคับใช้เป็นกฎหมายแต่อย่างใด
ข้อ 3 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538 นายวิทยาได้ทำสัญญากู้เงินจากนายวุฒิชัย จำนวนสามแสนบาทตกลงดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี กำหนดชำระหนี้คืนภายในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2539 เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ นายวิทยาไม่นำเงินมาชำระให้แก่นายวุฒิชัย จนกระทั่งวันที่ 10 มกราคม 2549 ซึ่งเหลือเวลาอีก 1 เดือนจะครบกำหนดอายุความ นายวิทยาได้เขียนหนังสือไปถึงนายวุฒิชัยว่า “เพราะฉะนั้นเพื่อความสะดวกและถูกต้องในการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยคืนคุณ
ซึ่งบัดนี้ผมได้เตรียมไว้แล้วตามสมควร ผมขอเชิญคุณไปพบเพื่อคิดบัญชีเงินกู้ดังกล่าวให้ทราบจำนวนแน่นอน” และต่อมานายวิทยาได้เขียนจดหมายไปยังนายวุฒิชัยอีกฉบับหนึ่งว่า “ขอให้คุณคิดดอกเบี้ยเสียใหม่เป็นร้อยละ 12 ต่อปีตามข้อตกลงที่แล้วมา ทั้งนี้เพื่อผมจะได้จัดการชำระหนี้ของคุณให้เสร็จสิ้นไป โดยเร็วที่สุด” หลังจากนั้นทั้งสองก็ยังมีข้อโต้เถียงกันในเรื่องจำนวนเงินดอกเบี้ยที่คิดไม่ตรงกัน
นายวิทยาจึงยังไม่นำเงินไปชำระ นายวุฒิชัยจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2550 นายวิทยาต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว นายวุฒิชัยอ้างว่าคดียังไม่ขาดอายุความเพราะอายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2549 ดังนี้อยากทราบว่าข้ออ้างของนายวุฒิชัย ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
หมายเหตุ ป.พ.พ. มาตรา 193/30 บัญญัติว่า “อายุความนั้นถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี”
ธงคำตอบ
มาตรา 193/30 อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี
มาตรา 193/14 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้
วินิจฉัย กรณีตามอุทาหรณ์ นายวิทยาได้ทำสัญญากู้เงินจากนายวุฒิชัยจำนวนสามแสนบาทกำหนดชำระคืน ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2539 แต่นายวิทยาไม่นำเงินมาชำระให้แก่นายวุฒิชัยเลย อายุความฟ้องเรียกเงินกู้คืน กฎหมายมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงถือว่ามีกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันถึงกำหนดชำระตามมาตรา 193/30 ซึ่งอายุความจะครบกำหนดสิบปีในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549
แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2549 ซึ่งเหลือเวลาอีก 1 เดือนจะครบกำหนดอายุความ 10 ปี นายวิทยาได้เขียนหนังสือยอมรับต่อนายวุฒิชัยว่าตนเป็นหนี้อยู่จริง และจะได้จัดการชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วแม้จะมีข้อโต้เถียงในเรื่องจำนวนเงินไม่ตรงกัน แต่การเขียนหนังสือดังกล่าวเป็นการที่ลูกหนี้ได้รับสภาพหนี้ต่อเจ้า หนี้ตามสิทธิเรียกร้องแล้วจึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2549 ตามาตรา 193/14 (1) จึงเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 10 มกราคม 2559 เมื่อนายวุฒิชัยได้นำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 4 กันยายน 2550 ซึ่งยังไม่เกินวันที่ 10 มกราคม 2559 คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ
สรุป ข้ออ้างของนายวุฒิชัยที่ว่าคดียังไม่ขาดอายุความจึงฟังขึ้น
ข้อ 4 (ก) คำเสนอคืออะไร การแสดงเจตนาอันจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะอย่างไร ให้อธิบายโดยสังเขป
(ข) นายแดงซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชส่งจดหมายทางไปรษณีย์เสนอขายรถยนต์คันหนึ่งของตนแก่นายดำซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครพนม ราคา 350,000 บาท โดยมิได้กำหนดว่าถ้านายดำต้องการซื้อจะต้องตอบภายในเวลาใด เช่นนี้ นายแดงจะถอนคำเสนอขายรถยนต์ดังกล่าวได้หรือไม่ เมื่อใดธงคำตอบ
(ก) คำเสนอ คือ นิติกรรมฝ่ายเดียวชนิดที่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา เกิดขึ้นโดยบุคคลฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาต่อบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งแจ้งให้ทราบว่าตนมีความประสงค์จะผูกพันตนทำสัญญาด้วยในประการใด และขอให้บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งนั้นร่วมทำสัญญาด้วยตามที่เสนอไปนั้นการแสดงเจตนาอันจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะดังนี้
(1) เป็นข้อความชัดเจนและแน่นอน
(2) มีความมุ่งหมายว่า ถ้ามีคำสนอง สัญญาเกิดขึ้นทันที
(ข) มาตรา 355 บุคคลทำคำเสนอไปยังผู้อื่นซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางและมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง จะถอนคำเสนอของตนเสียภายในเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองนั้น ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่วินิจฉัย “เวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนอง” พิจารณาได้จากระยะเวลาในการติดต่อสื่อสารกันระหว่างนายแดงกับนายดำ กล่าวคือ นายแดงส่งจดหมายทางไปรษณีย์เสนอขายรถยนต์จากจังหวัดนครศรีธรรมราชไปยังนายดำซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครพนม ตามปกติใช้เวลาประมาณ 3 วัน ให้เวลานายดำคิดตรึกตรองตัดสินใจ 1 วัน เมื่อนายดำตัดสินใจซื้อรถยนต์คันนั้นจะส่งจดหมายทางไปรษณีย์ตอบตกลงซื้อรถยนต์คันนั้นไปยังนายแดงจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3 วัน รวมเป็นเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองในกรณีนี้ คือประมาณ 7 วันนับแต่วันที่นายแดงส่งจดหมายเสนอขายรถยนต์แก่นายดำ
ดังนั้น ในกรณีนี้นายแดงจะถอนคำเสนอขานรถยนต์ดังกล่าวได้ต่อเมื่อพ้นเวลา 7 วัน นับแต่วันที่นายแดงส่งจดหมายเสนอขายรถยนต์แก่นายดำ
สรุป นายแดงจะถอนคำเสนอขายรถยนต์คันดังกล่าวได้ต่อมเอพ้นเวลา 7 วันนับแต่วันที่นายแดงส่งจดหมายเสนอขายรถยนต์แก่นายดำ