การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 สมบัติเป็นผู้เยาว์ทำสัญญาซื้อรถจักรยานยนต์คันหนึ่งจากร้านของสุเทพราคา 40,000 บาทโดยไม่ได้บอกให้สมชายซึ่งเป็นบิดาของตนทราบ หลังจากซื้อรถจักรยานยนต์มาได้ 10 วัน สมชายทราบเรื่องจึงแสดงเจตนาบอกล้างสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ดังกล่าวโดย
ก. สมชายไปที่ร้านของสุเทพและพูดบอกล้างสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ต่อสุเทพ กรณีหนึ่ง
ข. สมชายทำหนังสือบอกล้างสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ดังกล่าวแล้วมอบให้นิตยาถือไปส่งให้สุเทพที่ร้านของสุเทพ แต่ปรากฏว่าสุเทพไม่อยู่ นิตยาจึงส่งหนังสือบอกล้างสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์นั้นให้ไว้แก่ กิมแชเจ้าของร้านขายของชำซึ่งอยู่ติดกับร้านของสุเทพรับไว้แทนอีกกรณีหนึ่ง
ในแต่ละกรณีดังกล่าว การแสดงเจตนาบอกล้างสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ซึ่งสมชายกระทำต่อสุเทพมีผลในกฎหมายประการใด เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ก
มาตรา 168 การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้า ให้ถือว่ามีผลนับแต่ผู้รับการแสดงเจตนาได้ทราบการแสดงเจตนานั้น
วินิจฉัย
สมชายไปที่ร้านของสุเทพและพูดบอกล้างสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ต่อสุเทพ เป็นการแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้า และถือได้ว่าสุเทพได้ทราบการแสดงเจตนาบอกล้างของสมชายแล้ว ดังนั้นการแสดงเจตนาบอกล้างสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ซึ่งสมชายกระทำต่อสุเทพดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์แล้ว
ข
มาตรา 169 วรรคหนึ่ง การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า ให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา
วินิจฉัย
สมชายทำหนังสือบอกล้างสัญญาซี้อขายรถจักรยานยนต์ระหว่างสมบัติกับสุเทพ แล้วมอบให้นิตยาถือไปส่งให้สุเทพที่ร้านของสุเทพ เป็นการแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า กรณีปรากฏว่าสุเทพไม่อยู่ นิตยาจึงส่งหนังสือบอกล้างสัญญาซื้อขายนั้นให้ไว้แก่กิมแชเจ้าของร้านขายของชำซึ่งอยู่ติดกับร้านของสุเทพรับไว้แทน ยังถือไม่ได้ว่าการแสดงเจตนาของสมชายได้ถูกส่งไปอยู่ในเงื้อมมือของ สุเทพซึ่งตามพฤติการณ์ปกติสุเทพย่อมรู้หรือควรจะรู้ว่ามีการแสดงเจตนาส่งมา ที่ตน กรณีเช่นนี้ถือว่าการแสดงเจตนาของสมชายยังไม่ไปถึงสุเทพ ดังนั้นการแสดงเจตนาบอกล้างสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ซึ่งสมชายกระทำต่อสุเทพจึงยังไม่มีผลสมบูรณ์
ข้อ 2 ก. เป็นพนักงานการเงินของบริษัท ข. ถูกผู้จัดการบริษัทฯ เรียกเข้าพบ เพื่อว่ากล่าวกรณีตรวจพบการทุจริตเกี่ยวกับการเงินของ ก. พร้อมแจ้งให้ ก. ลาออกจากบริษัทฯ มิเช่นนั้นจะแจ้งความดำเนินคดีกับ ก. ด้วยความกลัว ก. ได้ลาออกจากบริษัทฯ หลังจากนั้น ก. ได้กลับมาเรียกร้องเงินชดเชยจำนวน 6 เดือนจากบริษัทฯ บริษัทฯปฏิเสธโยอ้างว่า ก. ลาออกเอง ก. ต่อสู้ว่าถูกขู่ให้ออกมิได้สมัครใจลาออกแต่อย่างใด ก. จึงมีสิทธิได้รับเงินชดเชยดังกล่าว
ดังนี้ข้อต่อสู้ของ ก. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 165 วรรคหนึ่ง การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่
วินิจฉัย
เมื่อผู้จัดการบริษัท ตรวจพบการทุจริตเกี่ยวกับการเงินของ ก พร้อมแจ้งให้ ก ลาออกจากบริษัท มิฉะนั้นจะแจ้งความดำเนินคดีกับ ก กรณีเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยมของผู้จัดการบริษัท แม้ต่อมา ก จะลาออกด้วยความกลัว ก็ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่
ดังนั้น ข้อต่อสู้ของ ก ว่าถูกขู่ให้ลาออกจึงมิชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด เพราะการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมของผู้จัดการบริษัท ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่
ข้อ 3 นายเอกได้ทำสัญญาซื้อเชื่อเครื่องคอมพิวเตอร์จากร้านของนายโท 1 เครื่อง ราคา 80,000 บาท เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2546 มีกำหนดชำระหนี้ภายในวันที่ 15 มีนาคม 2546 ในวันทำสัญญาขายเชื่อ นายเอกได้เขียนหนังสือให้นายโทไว้ 1 ฉบับ มีใจความว่า “ข้าพเจ้านายเอกขอสละประโยชน์แห่งอายุความ หนี้รายนี้ถ้าถึงกำหนดแล้วนายเอกไม่นำเงินมาชำระ นายโทจะทวงถามหรือนำคดีไปฟ้องร้องต่อศาลในเวลาใดก็ได้ แม้จะเกินกำหนดอายุความแล้วก็ตาม” หลังจากหนี้ครบกำหนดนายเอกไม่นำเงินมาชำระให้แก่นายโทเลย นายโทได้ทวงถามตลอดมาแต่ก็ไม่ได้รับชำระหนี้ จนกระทั่งวันที่ 10 กันยายน 2548 นายโทจึงได้นำคดีมาฟ้องร้องต่อศาล นายเอกต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว นายโทอ้างว่ายังไม่ขาดอายุความเพราะนายเอกได้สละประโยชน์แห่งอายุความแล้ว ข้ออ้างของนายโทฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
หมายเหตุ มาตรา 193/34 “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี
(1) ผู้ประกอบการค้า… เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ…”
ธงคำตอบ
มาตรา 193/24 เมื่ออายุความครบกำหนดแล้วลูกหนี้จะสละประโยชน์แห่งอายุความนั่นเสียก็ได้
วินิจฉัย
นายเอกได้ทำสัญญาซื้อเชื่อเครื่องคอมพิวเตอร์จากร้านของนายโทไป 1 เครื่อง ราคา 80,000 บาท เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2546 มีกำหนดชำระหนี้ภายในวันที่ 15 มีนาคม 2546 เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายเอกไม่นำเงินมาชำระ หนี้รายนี้มีกำหนดอายุความ 2 ปี ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 15 มีนาคม 2548 การที่นายโทนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลในวันที่ 10 กันยายน 2548 ซึ่งครบกำหนดอายุความ 2 ปีไปแล้ว คดีจึงขาดอายุความ แม้นายเอกจะเขียนหนังสือขอสละประโยชน์แห่งอายุความให้ไว้แก่นายโทก็ตาม ก็ไม่มีผลตามกฎหมาย เพราะการสละประโยชน์แห่งอายุความจะต้องสละเมื่ออายุความครบกำหนดแล้ว แต่กรณีนี้นายเอกได้สละประโยชน์ในวันทำสัญญาซื้อขายเชื่อ การสละประโยชน์จึงไม่มีผลเพราะขัดต่อมาตรา 193/24
ดังนั้น ข้ออ้างของนายโทจึงฟังไม่ขึ้น
ข้อ 4 ก. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดหลักเกณฑ์การชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนไว้อย่างไร ให้อธิบายพอสังเขป
ธงคำตอบ
ก
มาตรา 369 ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ได้ แต่ข้อความนี้ท่านมิให้ใช้บังคับถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด
อธิบาย จากหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ป.พ.พ. กำหนดหลักเกณฑ์การชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนไว้ดังนี้
หลักทั่วไป คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องชำระหนี้ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นการตอบแทนซึ่งกันและกันในเวลาเดียวกัน ถ้าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้หรือไม่ขอปฏิบัติการชำระหนี้ คู่สัญญาฝ่ายแรกมีสิทธิที่จะยังไม่ชำระหนี้ก็ได้
ข้อยกเว้น หลักทั่วไปดังกล่าวมิให้ใช้บังคับ ถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด
ข
มาตรา 370 วรรคหนึ่ง ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพย์ สิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งและทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่าง หนึ่ง อันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้ ท่านว่า การสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้
วินิจฉัย
การทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนายพิชิตกับนายพิชัยเป็นการทำสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุประสงค์เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์เฉพาะสิ่ง เมื่อปรากฏว่ารถยนต์ที่นายพิชิตเตรียมส่งมอบให้แก่นายพิชัยถูกไฟไหม้เสียหายหมด โดยไฟนั้นลุกลามมาจากอาคารในบริเวณใกล้เคียงกับบ้านของนายพิชิต จึงเป็นกรณีที่ทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วย เหตุอันจะโทษนายพิชิต (ลูกหนี้ในอันที่จะต้องส่งมอบรถยนต์) มิได้ การสูญหรือเสียหายนั้นจึงตกเป็นพับแก่นายพิชัย (เจ้าหนี้ในอันที่จะได้รับมอบรถยนต์)
ดังนั้น ถึงแม้นายพิชิตไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ให้แก่นายพิชัยได้ นายพิชัยก็ยังต้องชำระราคารถยนต์ให้แก่นายพิชิตเต็มจำนวน คือ สองแสนบาท