การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2547
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 นายอาทิตย์ทำสัญญาให้นายจันทร์ผู้เยาว์เช่าบ้านหลังหนึ่ง กำหนดเวลาเช่า 1 ปี อัตราเช่าเดือนละ 7,000 บาท โดยนายจอมบิดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของนายจันทร์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย หลังจากเช่าได้ 6 เดือน นายจันทร์ไม่ชำระค่าเช่า นายอาทิตย์ได้บอกกล่าวทวงถามแล้วนายจันทร์ก็ยังไม่นำค่าเช่ามาชำระ
นายอาทิตย์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าไปยังนายจันทร์และแจ้งให้นายจันทร์ย้ายออกจากบ้านเช่าภายใน 7 วัน นับแต่วันเลิกสัญญา ปรากฏว่าในขณะที่นายอาทิตย์บอกเลิกสัญญาเช่นนั้น นายจอมบิดาของนายจันทร์เดินทางไปต่างจังหวัด ไม่ทราบเรื่องนี้แต่ประการใด
นายจันทร์ไม่ยอมย้ายออกจากบ้านเช่าโดยอ้างว่าสัญญาเช่ายังไม่ครบกำหนด เช่นนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่าที่นายอาทิตย์กระทำต่อนายจันทร์มีผลในกฎหมายประการใด เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 170 วรรคหนึ่ง การแสดงเจตนาซึ่งกระทำต่อผู้เยาว์…จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาไม่ได้ เว้นแต่ผู้แทนโดยชอบธรรม ของผู้รับการแสดงได้รู้ด้วยหรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว
วินิจฉัย
นายอาทิตย์แสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่าไปยังนายจันทร์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ ในขณะที่นายอาทิตย์แสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่าไปยังนายจันทร์นั้น นายจอมบิดาซึ่งเป็นผู้แทนโยชอบธรรมของนายจันทร์เดินทางไปต่างจังหวัด ไม่ทราบเรื่องการเลิกสัญญาเช่านี้แต่อย่างใด ดังนั้น นายอาทิตย์จะยกเอาการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่าขึ้นเป็นข้อต่อสู้นายจันทร์ผู้เยาว์ไม่ได้
ข้อ 2 นาย ก. ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้นาย ข. โยสำคัญผิดคิดว่านาย ข. เป็นคนดี ขยันทำการงานให้นาย ก. แต่ความจริงนาย ข. เป็นนักเลงอันธพาล มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหลายประการ ซึ่งนาย ข. ปกปิดไม่บอกให้นาย ก. รู้ ต่อมาเมื่อนาย ก. ตายลงไป
ดังนี้ ทายาทนาย ก. จะบอกล้างพฤติกรรม โดยอ้างว่าพินัยกรรมเป็นโมฆียะ เพราะเกิดจากนาย ข. ใช้กลฉ้อฉลโยการนิ่งได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 162 ในนิติกรรมสองฝ่าย การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจงใจนิ่งเสีย ไม่แจ้งข้อความจริงหรือคุณสมบัติอันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้ การนั้นจะเป็นกลฉ้อฉล หากพิสูจน์ได้ว่า ถ้ามิได้นิ่งเสียเช่นนั้น นิติกรรมนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น
วินิจฉัย
ทายาทของนาย ก จะบอกล้างพินัยกรรมโดยอ้างว่า นาย ข ใช้กลฉ้อฉลโดยการนิ่งไม่ได้ เพราะพินัยกรรมเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว ไม่ใช่พินัยกรรมสองฝ่าย จึงขาดองค์ประกอบที่จะเป็นกลฉ้อฉลโดยการนิ่ง ตามมาตรา 162 กรณีจึงไม่ต้องพิจารณาว่านาย ข จงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริง หรือคุณสมบัติอันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้แต่อย่างใด
ข้อ 3 นายแดงได้ทำสัญญากู้เงินจากนายดำ จำนวนสองแสนบาท เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2535 มีกำหนดชำระคืนภายในวันที่ 5 มกราคม 2536 โดยนายแดงได้นำที่ดิน 1 แปลง ราคาห้าแสนบาทไปจดทะเบียนจำนองที่สำนักงานที่ดิน เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ นายแดงไม่นำเงินไปชำระ นายดำได้ทวงถามตลอดมา จนกระทั่งวันที่ 4 ตุลาคม 2547 นายดำได้นำคดีไปฟ้องศาลบังคับจำนองโยให้นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปขายทอดตลาด แล้วนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่ตน นายแดงต่อสู้ว่าหนี้เงินกู้ขาดอายุความแล้ว นายดำจะนำคดีมาฟ้องศาลบังคับจำนองไม่ได้ ดังนี้อยากทราบว่าข้อต่อสู้ของนายแดงฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 193/27 ผู้รับจำนอง… ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง…แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม
วินิจฉัย
นายแดงได้ทำสัญญากู้เงินจากนายดำ จำนวนสองแสนบาท มีกำหนดชำระคืนภายในวันที่ 5 มกราคม 2536 โดยนายแดงได้นำที่ดิน 1 แปลง มาจำนองไว้กับนายดำ เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายแดงไม่นำเงินไปชำระ จนกระทั่งวันที่ 4 ตุลาคม 2547 นายดำได้นำคดีไปฟ้องศาลบังคับจำนอง กรณีนี้แม้ว่าสิทธิเรียกร้องหนี้เงินกู้ส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม นายดำเจ้าหนี้ผู้รับจำนองก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องบังคับจำนองได้ เพราะนายดำไม่ได้ฟ้องให้นายแดงชำระหนี้เงินกู้ แต่ฟ้องบังคับจำนอง แม้อายุความจะขาดแล้วก็ฟ้องได้
สรุป ข้อต่อสู้ของนายแดงฟังไม่ขึ้น
ข้อ 4 คดีแพ่งเรื่องหนึ่ง ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายแดงทำสัญญาจ้างบริษัท บางกะปิก่อสร้าง จำกัด ก่อสร้างบ้านหลังหนึ่ง โดยกำหนดให้ผู้ว่าจ้างจัดหาสัมภาระและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ (ยกเว้นเครื่องมือสำหรับทำการก่อสร้าง) ให้แก่ผู้รับจ้าง ตกลงค่าจ้างกันเป็นเงิน 500,000 บาท กำหนดก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยภายใน 8 เดือน นับแต่วันทำสัญญา
เมื่อถึงกำหนด 8 เดือน นับแต่วันทำสัญญา บริษัท บางกะปิก่อสร้าง จำกัด ก่อสร้างบ้านเสร็จจึงแจ้งให้นายแดงรับมอบบ้าน แต่นายแดงผิดนัดไม่รับมอบบ้านจากบริษัท บางกะปิก่อสร้าง จำกัด ในระหว่างนั้นปรากกว่าฟ้าผ่า เป็นเหตุให้ไฟไหม้บ้านที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จนั้นเสียหายหมด ให้ท่านวินิจฉัยว่าบริษัท บางกะปิก่อสร้าง จำกัด มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างจากนายแดงเพียงใดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 372 วรรคสอง ถ้าการชำระหนี้ (ตามสัญญาต่างตอบแทน) ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษเจ้าหนี้ได้ ลูกหนี้ก็หาเสียสิทธิที่จะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่ แต่ว่าลูกหนี้ได้อะไรไว้เพราะการปลดหนี้ก็ดี หรือใช้คุณวุฒิความสามารถของตนเป็นประการอื่นเป็นเหตุให้ได้อะไรมา หรือแกล้งละเลยเสียไม่ขวนขวายเอาอะไรที่สามารถจะทำได้ก็ดี มากน้อยเท่าไร จะต้องเอามาหักกับจำนวนอันตนจะได้รับชำระหนี้ตอบแทน วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่การชำระหนี้อันฝ่ายหนึ่งยัง ค้างชำระอยู่นั้นตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นมิ ต้องรับผิดชอบ ในเวลาเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งผิดนัดไม่รับชำระหนี้
วินิจฉัย
สัญญาระหว่างนายแดงกับบริษัท บางกะปิ ก่อสร้าง จำกัด เป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการกระทำ (การก่อสร้างอาคารและการชำระเงินค่าจ้าง) เมื่อบริษัทบางกะปิก่อสร้าง จำกัด (ลูกหนี้ในอันที่จะต้องก่อสร้างบ้าน) ทำการก่อสร้างบ้านเสร็จตามกำหนด จึงแจ้งให้นายแดง (เจ้าหนี้ในอันที่จะได้รับผลงานการก่อสร้างบ้าน) แต่ปรากฏว่านายแดง (เจ้าหนี้ในอันที่จะได้รับผลงานการก่อสร้างบ้าน) ผิดนัดไม่รับชำระหนี้ (ไม่รับมอบผลงานการก่อสร้างบ้าน) จากบริษัท บางกะปิ ก่อสร้าง จำกัด ในระหว่างนั้นปรากฏว่าฟ้าผ่าเป็นเหตุให้ไฟไหม้บ้านที่บริษัท บางกะปิก่อสร้าง จำกัด เพิ่งก่อสร้างเสร็จนั้นเสียหายหมด กรณีจึงต้องตามหลักกฎหมายดังอ้างข้างต้น ซึ่งมีผลว่าลูกหนี้หาเสียสิทธิที่จะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่ ดังนั้นบริษัท บางกะปิก่อสร้าง จำกัด จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างจากนายแดงตามสัญญา คือ 500,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ถ้าปรากฏว่าบริษัทบางกะปิก่อสร้าง จำกัด (ลูกหนี้ในอันที่จะต้องก่อสร้างบ้าน)
(1) ได้อะไรไว้หรือไม่ต้องเสียอะไรไปเพราะการที่ตนหลุดพ้นจากการชำระหนี้ (ไม่ต้องส่งมอบผลงานการก่อสร้างบ้านให้แก่นายแดง) หรือ
(2) ใช้คุณวุฒิความสามารถของตนเป็นประการอื่นเป็นเหตุให้ได้อะไรมา หรือ
(3) แกล้งละเลยเสียไม่ขวนขวายเอาอะไรที่สามารถจะทำได้
มาน้อยเท่าไร ต้องเอามาหักกับจำนวนค่าจ้างที่บริษัท บางกะปิก่อสร้าง จำกัด มีสิทธิได้รับชำระจากนายแดง กล่าวคือ ค่าจ้าง 500,000 บาท ที่บริษัท บางกะปิก่อสร้าง จำกัด จะได้รับชำระจากนายแดง ย่อมลดลงตามจำนวนมากน้อยดังกล่าว