การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1003
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (ข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1.
ก . การแสดงเจตนาซึ่งกระทำต่อผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถมีผลในกฎหมายอย่างไร ให้อธิบายโดยสังเขป
ข . นายสุเทพซึ่งมีอายุ 18 ปี ทำสัญญาเช่าบ้านของนายสุธรรมซึ่งมีอายุ 45 ปี มีกำหนดเวลา 2 ปี ค่าเช่าเดือนละ 5, 000 บาท โดยนายสุทินบิดาของนายสุเทพได้รู้เห็นยินยอมด้วย หลังจากเช่าได้ 6 เดือนนายสุเทพไม่ชำระค่าเช่า นายสุธรรมได้บอกกล่าวตักเตือนให้นายสุเทพชำระค่าเช่า แต่นายสุเทพก็ยังไม่นำค่าเช่ามาชำระให้แก่นายสุธรรม นายสุธรรมจึงบอกเลิกสัญญาเช่าไปยังนายสุเทพ
หากปรากฏว่าในขณะที่นายสุธรรมบอกเลิกสัญญาเช่านั้น นายสุทินบิดาของนายสุเทพเดินทางไปต่างจังหวัดไม่รู้ถึงการที่นายสุธรรมบอกเลิกสัญญาเช่าดังกล่าว เช่นนี้ การบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านที่นายสุธรรมกระทำต่อนายสุเทพมีผลในกฎหมายอย่างไรหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 170 การแสดงเจตนาซึ่งมีต่อผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาไม่ได้ เว้นแต่ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณีของผู้รับการแสดงเจตนานั้นได้รู้ด้วย หรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับ ถ้าการแสดงเจตนานั้นเกี่ยวกับการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์หรือคนเสมือนไร้ความสามารถกระทำได้เองโดยลำพัง
ก . อธิบาย
กรณีการแสดงเจตนาต่อผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
เป็นกรณีที่บุคคลภายนอกมาแสดงเจตนาต่อผู้บกพร่องในความสามารถ หาใช่เป็นเรื่องที่ผู้บกพร่องในความสามารถได้แสดงเจตนาต่อบุคคลภายนอกไม่ ผู้บกพร่องในความสามารถในที่นี้ได้แก่ ผู้เยาว์ซึ่งมีผู้แทนโดยชอบธรรมคุ้มครองดูแล คนไร้ความสามารถซึ่งมีผู้อนุบาลคุ้มครองดูแล และคนเสือนไร้ความสามารถซึ่งมีผู้พิทักษ์คุ้มครองดูแล
หลักทั่วไป ผู้แสดงเจตนาจะยกเอาการแสดงเจตนานั้น ขึ้นเพื่อเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาซึ่งเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถนั้นไม่ได้
ข้อยกเว้น ผู้แสดงเจตนาสามารถยกเอาการแสดงเจตนาขึ้นมาต่อสู้กับผู้รับการแสดงเจตนาได้ถ้าเป็นกรณีต่อไปนี้
1. ผู้คุ้มครองดูแลผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (ได้แก่ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์) แล้วแต่กรณี ได้รู้ถึงการแสดงเจตนานั้นด้วยหรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว (มาตรา 170 วรรคแรก) หรือ
2. การแสดงเจตนานั้น กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์ คนเสมือนไร้ความสามารถกระทำได้เองโดยลำพัง ตามมาตรา 170 วรรคสอง (สังเกตว่า กรณีนี้กฎหมายไม่ได้บัญญัติรวมถึงคนไร้ความสามารถ เพราะคนไร้ความสามารถไม่อาจทำนิติกรรมได้เองโดยลำพัง)
ข . วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นวินิจฉัยมีว่า การบอกเลิกสัญญาเช่าที่นายสุธรรมบอกล่าวไปยังนายสุเทพผู้เยาว์มีผลในทางกฎหมายหรือไม่อย่างไร เห็นว่า ในขณะที่นายสุธรรมแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านไปยังนายสุเทพซึ่งเป็นผู้ เยาว์ โดยนายสุทินผู้แทนโดยชอบธรรมของนายสุเทพมิได้รู้ด้วยหรือให้ความยินยอมไว้ ก่อนแต่อย่างใด และเรื่องมิใช่กิจการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์กระทำได้เองโดยลำพัง กรณีจึงต้องตามหลักทั่วไปของการแสดงเจตนาต่อผู้บกพร่องในความสามารถที่ผู้ แสดงเจตนาจะยกเอาการแสดงเจตนานั้นขึ้นมาต่อสู้กับผู้รับการแสดงเจตนาไม่ได้ ตามมาตรา 170 วรรคแรก
ดังนั้น การที่นายสุธรรมบอกเลิกสัญญาเช่าโดยบอกกล่าวไปยังนายสุเทพโดยผู้แทนชอบธรรมของนายสุเทพมิได้รู้ด้วยหรือให้ความยินยอมไว้ก่อน มีผลในทางกฎหมาย คือ นายสุธรรมจะยกเอาการบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านขึ้นต่อสู้หรือเรียกร้องสิทธิใด ๆ จากนายสุเทพไม่ได้
สรุป ผลทางกฎหมาย คือ นายสุธรรมจะยกเอาการบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านขึ้นต่อสู้นายสุเทพผู้เยาว์ไม่ได้
ข้อ 2. นายวิชิตเดินหาซื้อแจกันลายครามในร้านของนายวิชัย เห็นแจกันลายครามโบราณใบหนึ่งในร้าน นายวิชิตต้องการซื้อแจกันใบนั้น จึงถามนายวิชัยว่า “แจกันใบนี้ราคาเท่าไร มีตำหนิหรือไม่” นายวิชัยตอบว่า “แจกันใบนี้ไม่มีตำหนิเลย สวยงาม ราคา 10,000 บาท” นายวิชิตหลงเชื่อตามคำตอบของนายวิชัยว่าแจกันใบนั้นไม่มีตำหนิ จึงต่อรองราคา ในที่สุดได้ตกลงซื้อแจกันใบนั้นราคา 8,000 บาท เมื่อนายวิชิตกลับถึงบ้าน ได้ตรวจดูแจกันใบนั้นอย่างละเอียด
จึงพบว่าแจกันใบนั้นมีรอยร้าวเล็กน้อยซึ่งมองเห็นด้วยตาเปล่าเกือบไม่เห็น ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ความว่า ถึงแม้ว่านายวิชิตรู้ว่าแจกันใบนี้มีรอยร้าวเล็กน้อยเช่นนั้น นายวิชิตก็ซื้อ แต่จะซื้อในราคาเพียง 5,000 บาท ซึ่งเป็นราคาในท้องตลาดทั่วไปสำหรับแจกันที่มีรอยร้าวเล็กน้อยเช่นนั้น ในกรณีดังกล่าวนี้ นายวิชิตจะบอกล้างนิติกรรมซื้อขายแจกันนั้น หรือเรียกร้องอะไรจากนายวิชัยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามมาตราประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 161 ถ้ากลฉ้อฉลเป็นแต่เพียงเหตุจูงใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่คู่กรณีฝ่ายนั้นจะยอมรับโดยปกติ คู่กรณีฝ่ายนั้นจะบอกล้างการนั้นหาได้ไม่ แต่ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายวิชิตได้สอบถามนายวิชัยผู้ขายว่าแจกันใบนี้มีตำหนิหรือไม่ นายวิชัยตอบว่าไม่มีตำหนิ นายวิชิตหลงเชื่อคำตอบของนายวิชัยว่าแจกันใบนี้ไม่มีตำหนิ จึงได้ตกลงซื้อแจกันใบนั้น ในราคา 8,000 บาท กรณีเช่นนี้ ถือว่านายวิชัยผู้ขายแจกันทำกลฉ้อฉลลวงนายวิชิตผู้ซื้อแจกัน
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายวิชิตกลับถึงบ้านได้ตรวจดูแจกันใบนั้นอย่างละเอียด และพบว่าแจกันใบนั้นมีรอยร้าวเล็กน้อยซึ่งมองด้วยตาเปล่าเกือบไม่เห็น แต่อย่างไรก็ตาม แม้นายวิชิตรู้ว่าแจกันใบนั้นมีรอยร้าว นายวิชิตก็ยังคงซื้อแจกันใบนั้นอยู่ดี แต่จะซื้อในราคาท้องตลาดทั่วไปสำหรับแจกันชนิดนั้นที่มีรอยร้าวเช่นนั้น คือ 5,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาที่นายวิชิตได้ตกลงซื้อไปเนื่องจากถูกกลฉ้อฉล คือ 8,000 บาท กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่นายวิชิตแสดงเจตนาทำนิติกรรมเนื่องจากถูกกลฉ้อฉล แต่กลฉ้อฉลของวิชัยมิได้ถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลเช่นนั้น นายวิชัยจะไม่ซื้อแจกันจากนายวิชัย เป็นแต่เพียงเหตุจูงใจให้ยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่นายวิชิตจะยอมรับโดยปกติเท่านั้น ดังนั้น นายวิชิตจะบอกล้างสัญญาซื้อขายแจกันนั้นเสียทีเดียวหาได้ไม่ แต่นายวิชิตชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อแลนั้นได้ ซึ่งได้แก่จำนวนเงินที่นายวิชิตต้องจ่ายเกินไปกว่าราคาอันแท้จริงในขณะนั้นคือ 3,000 บาท ทั้งนี้มาตรา 161 (ฎ. 1559/2524)
สรุป นายวิชิตจะบอกล้างสัญญาซื้อขายแจกันไม่ได้ แต่นายวิชิตชอบที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อแลนั้นได้ เป็นจำนวนเงิน 3,000 บาท
ข้อ 3. นายสมบูรณ์ซื้อสินค้าหลายอย่างไปจากร้านของนายกิมแช รวมทั้งหมดเป็นเงิน 45,000 บาท กำหนดชำระเงินราคาสินค้าดังกล่าวภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ซื้อ เมื่อถึงกำหนดชำระเงิน นายสมบูรณ์ไม่ชำระเงินให้แก่นายกิมแช ต่อมาอีก 3 เดือน นายสมบูรณ์ก็ยังคงเพิกเฉย ไม่นำเงินไปชำระให้แก่นายกิมแช นายกิมแชจึงมอบอำนาจให้นายพิทักษ์ซึ่งเป็นทนายความติดตามทวงถามให้นายสมบูรณ์ชำระหนี้
นายพิทักษ์ได้ทำหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้นายสมบูรณ์ชำระหนี้ เมื่อนายสมบูรณ์ได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามจากทนายความของนายกิมแช นายสมบูรณ์จึงไปพบนายกิมแช และพูดรับรองว่าตนเป็นลูกหนี้ค่าซื้อสินค้าไปจากนายกิมแชเป็นเงิน 45,000 บาทจริงแต่ในขณะนี้ยังไม่มีเงินที่จะนำมาชำระ ขอผัดผ่อนการชำระหนี้ออกไปอีก 6 เดือน เช่นนี้การกระทำของนายสมบูรณ์เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 193/14 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อจากเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือ รับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียก ร้อง
(5) เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับฟ้องคดี
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพิทักษ์ทนายความของนายกิมแชได้ทำหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้นายสมบูรณ์ชำระหนี้ กรณีเช่นนี้ ไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง เพราะมิใช่เป็นการกระทำอันมีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดี ตามาตรา 193/14(5)
แต่เมื่อนายสมบูรณ์ได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามจากทนายความของนายกิมแชแล้ว นายสมบูรณ์จึงไปพบนายกิมแชแล้วพูดรับรองว่า “ตนเป็นลูกหนี้ค่าซื้อสินค้าไปจากนายกิมแชเป็นเงิน 45,000 บาทจริง แต่ในขณะนี้ยังไม่มีเงินที่จะนำมาชำระ ขอผัดผ่อนการชำระออกไปอีก 6 เดือน ” ดังนี้ปัญหาจึงมีว่า การกระทำของนายสมบูรณ์เช่นนี้ถือเป็นการรับสภาพอันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงหรือไม่ เห็นว่า หากถือว่าการรับสภาพหนี้อาจทำได้ด้วยวาจา ย่อมไม่มีประโยชน์อันใดที่มาตรา 193/14(1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะบัญญัติในข้อความตอนต้นว่า ลูกหนี้อาจรับสภาพหนี้ด้วยการทำเป็นหนังสือ ดังนั้น การที่นายสมบูรณ์ได้ขอผัดชำระหนี้ด้วยวาจาหรือยอมรับด้วยวาจาว่าจะชำระหนี้ ให้แก่นายกิมแชนั้น ยังไม่ถือว่านายสมบูรณ์ได้รับสภาพหนี้ต่อนายกิมแชเจ้าหนี้อันจะทำให้อายุ ความสะดุดหยุดลงแต่อย่างใด เนื่องจากนายสมบูรณ์มิได้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นหนังสือและถือไม่ได้ เป็นการกระทำอันปราศจากข้อสงสัยให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิ เรียกร้องตามมาตรา 193/14(1) (ฎ. 1006/2525 ฎ.539/2526)
สรุป การกระทำของนายสมบูรณ์ไม่ถือว่าเป็นการรับสภาพหนี้อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง
ข้อ 4. เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2552 นายอาทิตย์ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้ส่งจดหมายเสนอขายบ้านหลังหนึ่งของตนไปยังนางจันทราซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ในราคา 3 ล้านบาท โดยนายอาทิตย์ได้กำหนดไปในจดหมายด้วยว่าถ้านางจันทราต้องการซื้อบ้านหลังนี้ ให้ตอบไปยังนายอาทิตย์ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2552 นางจันทราส่งจดหมายตอบตกลงซื้อบ้านหลังนั้นตามราคาที่นายอาทิตย์เสนอ แต่จดหมายของนางจันทราไปถึงนายอาทิตย์ในวันที่ 5 เมษายน 2552
อย่างไรก็ตามเมื่อดูตราไปรษณีย์ซึ่งประทับบนซองจดหมายของนางจันทราแล้ว เป็นที่เห็นได้ชัดแจ้งว่านางจันทราได้ส่งจดหมายตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2552 ซึ่งตามปกติจดหมายฉบับนั้นควรไปถึงนายอาทิตย์ก่อนหรือภายในวันที่ 21 มีนาคม 2552 ตามที่นายอาทิตย์กำหนด
เช่นนี้ จดหมายตอบตกลงซื้อบ้านที่นางจันทราส่งไปยังนายอาทิตย์เป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 358 ถ้าคำบอกกล่าวสนองมาถึงล่วงเวลา แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งตามปกติ ควรจะมาถึงภายในเวลาที่กำหนดไซร้ ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า เว้นแต่จะบอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว
ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดั่งว่ามาในวรรคต้น ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลา
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ คำสนองของนางจันทราไปถึงนายอาทิตย์ล่าช้ากว่าเวลาที่นายอาทิตย์กำหนดไว้ แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนจากตราไปรษณีย์ซึ่งประทับบนซองจดหมายว่านางจันทราส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งตามปกติจดหมายฉบับนั้นควรจะไปถึงนายอาทิตย์ก่อนหรือภายหลังในวันที่ 31 มีนาคม 2552 อันเป็นเวลาที่นายอาทิตย์กำหนดไว้ ในกรณีเช่นนี้ คำสนองของนางจันทราจะเป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่านายอาทิตย์ซึ่งเป็นผู้เสนอได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้กฎหมายกำหนดหน้าที่ของผู้เสนอไว้ว่าผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่ผู้สนองโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้าเว้นแต่ จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นไว้ก่อนแล้ว ดังนั้น
1. ถ้านายอาทิตย์ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว กฎหมายจึงจะถือว่าจดหมายคำสนองของนางจันทราเป็นคำสนองล่วงเวลา
2. แต่นายอาทิตย์ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว กฎหมายให้ถือว่าจดหมายคำสนองของนางจันทร์เป็นคำสนองที่มิได้ล่วงเวลา ซึ่งมีผลให้สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายอาทิตย์กับนางจันทราเกิดขึ้น
สรุป จดหมายตอบตกลงซื้อบ้านของนางจันทราที่ส่งไปยังนายอาทิตย์เป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า นายอาทิตย์ซึ่งเป็นผู้เสนอได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ตามมาตรา 358