ข้อสอบกระบวนวิชา LW 203 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 พิชิตสมรู้กับพิชัยทำสัญญากันหลอกๆ ว่าพิชิตขายรถจักรยานยนต์คันหนึ่งของตนให้แก่พิชัยในราคา 30,000 บาท พิชิตได้ส่งมอบรถจักรยานยนต์ให้แก่พิชัย แต่ไม่มีการชำระราคากันจริง
ต่อมาอีก 7 วัน พิชัยเอารถจักรยานยนต์คันนั้นไปขายแก่ไพรัชในราคา 29,000 บาท โดยไพรัชไม่รู้และไม่มีเหตุอันควรรู้ว่าพิชิตมิได้ขายรถจักรยานยนต์คันนั้นแก่พิชัยจริงๆ เช่นนี้ ถ้าพิชิตเรียกร้องให้ไพรัชนำเอารถจักรยานยนต์คันนั้นมาส่งคืนให้แก่ตน ไพรัชต้องส่งคืนรถจักรยานยนต์ให้แก่พิชิตหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 155 วรรคหนึ่ง การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้
วินิจฉัย
พิชิตกับพิชัยสมรู้กันแสดงเจตนาลวงว่าพิชิตขายรถจักรยานยนต์คันหนึ่งให้แก่พิชัย สัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ระหว่างพิชิตกับพิชัยจึงเป็นโมฆะ ตามมาตรา 155 วรรคหนึ่งตอนต้น ต่อมาอีก 7 วัน พิชัยเอารถจักรยานยนต์คันนั้นไปขายแก่ไพรัช
โดยไพรัชไม่รู้และไม่มีเหตุอันควรรู้ว่าพิชิตมิได้ขายรถจักรยานยนต์คันนั้นแก่พิชัยจริงๆ กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าไพรัชเป็นบุคคลภายนอกซึ่งกระทำการโยสุจริต และถ้าไพรัชต้องคืนรถจักรยานยนต์ให้แก่พิชิต ไพรัชต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงของพิชิตกับพิชัย เพราะไพรัชได้หลงซื้อรถจักรยานยนต์คันนั้นต่อจากพิชัยไว้ในราคา 29,000 บาท ไพรัชจึงเป็นบุคคลภายนอกซึ่งได้รับความคุ้มครองตาม มาตรา 155 วรรคหนึ่งตอนท้าย
ดังนั้น ถ้าพิชิตเรียกร้องให้ไพรัชนำเอารถจักรยานยนต์คันนั้นส่งคืนให้แก่ตน ไพรัชจึงไม่ต้องส่งคืนรถจักรยานยนต์ให้แก่พิชิต
ข้อ 2 ก. ต้องการซื้อแหวนเพชร จึงไปที่ร้านขายแหวนเพชรแห่งหนึ่งซึ่งเป็นของ ข. ก. เลือกแหวนเพชรที่ ข. นำมาเสนอขาย ก. ชอบแหวนเพชรวงหนึ่งจึงถาม ข. ว่า แหวนวงนี้ราคาเท่าไร ข. ตอบว่าราคา 100,000 บาท ก. ถามว่า แหวนวงนี้เพชรมีตำหนิหรือไม่ ข. ตอบว่าไม่มีตำหนิ ก. จึงตกลงซื้อ ต่อมา อีก 10 วัน ก. เอาแหวนเพชรวงนั้นให้ ค. ดู ค. ใช้เลนส์ขยายส่องดูพบว่าเพชรของแหวนวงนั้นมีรอยขีดข่วนเล็กน้อยซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น อย่างไรก็ตามถึงแม้ ก. ทราบว่าเพชรของแหวนวงนั้นมีรอนขีดข่วนเล็กน้อยเช่นนั้น ก. ก็ซื้อ แต่จะซื้อในราคาเพียง 80,000 บาทเท่านั้น เช่นนี้ ก. จะบอกล้างสัญญาซื้อขายแหวนเพชรวงนั้นได้หรือไม่ หรือมีสิทธิเรียกร้องอย่างใด เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 161 ถ้ากลฉ้อฉลเป็นแต่เพียงเหตุจูงใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่คู่กรณีฝ่ายนั้นจะยอมรับโดยปกติ คู่กรณีฝ่ายนั้นจะบอกล้างการนั้นหาได้ไม่ แต่ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้
วินิจฉัย
ข ขายแหวนเพชรวงหนึ่งแก่ ก ในราคา 100,000 บาท โดยหลอกลวง ก ว่าแหวนเพชรวงนั้นไม่มีตำหนิ แต่ความจริงเพชรของแหวนวงนั้นมีตำหนิเป็นรอยขีดข่วนเล็กน้อย อย่างไรก็ตามถึงแม้ ก ทราบว่าเพชรของแหวนวงนั้นมีตำหนิเล็กน้อยเช่นนั้น ก ก็ซื้อ แต่จะซื้อในราคาเพียง 80,000 บาท กรณีเช่นนี้เป็นกรณีที่ ข ทำกลฉ้อฉลจูงใจให้ ก ยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่ ก จะยอมรับโดยปกติคือ ซื้อแพงกว่าที่จะซื้อโดยปกติไป 20,000 บาท
ดังนั้น ก จะบอกล้างสัญญาซื้อขายแหวนวงนั้นไม่ได้ แต่ ก มีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจาก ข ได้ 20,000 บาท
ข้อ 3 เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2537 นายแดงกดเงินจากนายเขียวจำนวน 200,000 บาท ตกลงกำหนดดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี กำหนดชำระคืนภายในวันที่ 5 เมษายน 2537 เมื่อถึงกำหนดชำระนายแดงไม่นำเงินมาชำระให้แก่นายเขียวเลยทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย นายเขียวได้ทวงถามตลอดมา นายแดงก็ยังไม่นำเงินมาชำระให้แก่นายเขียว จนกระทั่งวันที่ 20 มีนาคม 2547 นายแดงได้นำเงินมาชำระให้แก่นายเขียว 10,000 บาท และกล่าวแก่นายเขียวว่าเงินส่วนที่ยังค้างอยู่จะนำมาชำระให้ในภายหลัง แต่หลังจากนั้นนายแดงก็ไม่นำเงินมาชำระอีกเลย นายเขียวจึงนำคดีมาฟ้องศาลเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2547 นายแดงต่อสู้ว่าตนไม่ต้องชำระหนี้เพราะคดีขาดอายุความแล้ว นายเขียวอ้างว่าคดียังไม่ขาดอายุความเพราะอายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2547 อยากทราบว่าข้อต่อสู้ของนายแดงฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
หมายเหตุ ป.พ.พ. มาตรา 193/30 บัญญัติว่า “อายุความนั้นถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี”
ธงคำตอบ
มาตรา 193/30 อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี
มาตรา 193/14 อายุความสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใดๆอันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง
วินิจฉัย
นายแดงกู้เงินนายเขียวจำนวน 200,000 บาท กำหนดชำระคืนภายในวันที่ 5 เมษายน 2537 แต่นายแดงไม่นำเงินมาชำระแก่นายเขียวเลย อายุความฟ้องเรียกเงินกู้คืนกฎหมายมิได้บัญญัติไว้โยเฉพาะ จึงถือว่ามีกำหนดสิบปีนับแต่วันถึงกำหนดชำระ ซึ่งจะขาดอายุความเมื่อพ้นวันที่ 5 เมษายน 2547
แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2547 ซึ่งเหลือเวลาอีก 15 วัน จึงจะครบกำหนดสิบปีนายแดงได้นำเงินมาชำระให้แก่นายเขียว 10,000 บาท การกระทำของนายแดงเช่นนี้เป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้โดยชำระหนี้ให้บางส่วน เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2547 และเริ่มนับอายุความให้ตั้งแต่เวลานั้น นายเขียวฟ้องคดีต่อศาลเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2547 ซึ่งเป็นเวลาเพียง 1 เดือนนับแต่เริ่มนับอายุความใหม่ คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ
ดังนั้น ข้อต่อสู้ของนายแดงที่ว่าตนไม่ต้องชำระหนี้ เพราะคดีขาดอายุความแล้ว จึงฟังไม่ขึ้น
ข้อ 4 ก. หลักเกณฑ์การชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนมีอย่างไรบ้าง อธิบายโดยสังเขป
ข. ก. ตกลงซื้อรถยนต์คันหนึ่งจาก ข. ราคา 400,000 บาท เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2547 กำหนดส่งมอบ รถยนต์และชำระเงินราคารถยนต์กันในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547 ก่อนถึงวันกำหนดนัดปรากฏว่าเกิดอุทกภัย น้ำท่วมพัดเอารถยนต์คันนั้นสูญหายไป ข. จึงไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ให้แก่ ก. ได้ ดังนี้ ก. ต้องชำระราคารถยนต์ให้แก่ ข. เพียงใด หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ก
มาตรา 369 ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด
อธิบาย จากหลักกฎหมายข้างต้น จะเห็นได้ว่าหลักเกณฑ์การชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนมีดังนี้
หลักทั่วไป คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องชำระหนี้ตอบแทนแก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในทันที ในการนี้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้
ข้อยกเว้น หลักทั่วไปดังกล่าวมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด
ข
มาตรา 370 วรรคหนึ่ง ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพย์สิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่ง และทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้ ท่านว่า การสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้
วินิจฉัย
การทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันหนึ่งระหว่าง ก กับ ข เป็นการทำสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุประสงค์เป็นการโอนทรัพย์สิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่ง หลังจากตกลงทำสัญญากันแล้วปรากฏว่าเกิดอุทกภัย น้ำท่วมพัดเอารถยนต์คันนั้นสูญหายไป จึงเป็นกรณีที่ทรัพย์เฉพาะสิ่งนั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอันจะโทษ ข ซึ่งเป็นลูกหนี้ (ในอันที่จะส่งมอบรถยนต์) มิได้ การสูญหรือเสียหายนั้นจึงตกเป็นพับแก่ ก ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ (ในอันที่จะได้รับมอบรถยนต์)
ดังนั้น ถึงแม้ ข ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ให้แก่ ก ได้ ก ก็ยังต้องชำระราคารถยนต์ให้แก่ ข เต็มจำนวนตามสัญญาคือ 400,000 บาท