การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LW  203  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  ชเยน  ตกลงจ้าง  พิมพ์มณี  มาเป็นนักแสดงละครทีวีโดยเข้าใจว่าพิมพ์มณีเป็นหลานสาวของคุณหญิงพิมพ์แข  ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียง  เพราะจะทำให้ละครของตนโด่งดัง  มีผู้ติดตามดูมากและหาผู้สนับสนุนละครได้ง่าย  แต่ความจริงพิมพ์มณีมีชื่อจริงว่า  เหมียว  เป็นบุตรสาวของแม่ค้าขายขนม  

หลังจากตกลงจ้างแล้ว  เมื่อเริ่มการถ่ายทำละคร  ปรากฏว่าพิมพ์มณีก็แสดงได้ดีสมบทบาทของการเป็นนักแสดงทุกอย่าง  หลังจากถ่ายละครไปได้สองครั้ง  ชเยนทราบความจริงว่าพิมพ์มณีนั้นแท้จริงมิใช่หลานสาวของคุณหญิงพิมพ์แข  จึงไม่ประสงค์จะจ้างให้ถ่ายละครต่อไป  หากชเยนมาปรึกษาท่านว่า  จะทำประการใดได้บ้างหรือไม่  ท่านจะแนะนำชเยนอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  157  การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สิน  เป็นโมฆียะ

ความสำคัญผิดตามวรรคหนึ่ง  ต้องเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ  ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าว  การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น

วินิจฉัย

การที่ชเยนตัดสินใจจ้างพิมพ์มณีมาเป็นนักแสดงโยสำคัญผิดว่าเป็นหลานคุณหญิงพิมพ์แข  แต่ความจริงไม่ใช่นั้น  กรณีนี้ถือได้ว่าชเยนได้แสดงเจตนาโยความสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลคือพิมพ์มณี  ซึ่งแต่เนื่องจากว่าคุณสมบัติของพิมพ์มณีดังกล่าวหาเป็นผลให้สัญญาจ้างดังกล่าวตกเป็นโมฆียะไม่  

เพราะจากข้อเท็จจริงได้ความว่า  ถึงแม้พิมพ์มณีจะมิได้เป็นคนๆเดียวกันตามที่ชเยนเข้าใจ  แต่พิมพ์มณีก็ยังสามารถแสดงละครทีวีได้เป็นอย่างดีสมความต้องการของชเยน  ดังนี้ถือได้ว่าความสำคัญผิดของชเยนหาใช่สาระสำคัญสำหรับสัญญาจ้างนักแสดงรายนี้แต่อย่างใดไม่  สัญญาดังกล่าวจึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้

สรุป  หากชเยนมาปรึกษาข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าจะแนะนำว่า  สัญญานี้สมบูรณ์  ชเยนจึงไม่จำต้องทำประการใดเลย  สัญญาหรือนิติกรรมรายนี้หาตกเป็นโมฆียะ  อันจะทำให้ชเยนมีสิทธิบอกล้างได้แต่อย่างใด

 


ข้อ  2  นาย  ก.  คนไร้ความสามารถ  มีนาย  ข.  บิดาเป็นผู้อนุบาล    เมื่อนาย  ก.  อายุ  18  ปี  ได้ทำสัญญาขายสร้อยคอทองคำหนัก  2  บาท  ให้นาย  ค.  ในราคา  
5,000  บาท  โดยที่นาย  ข.  มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยแต่ประการใด  ในขณะที่นาย  ก.  อายุ  21  ปี  หายจากอาการวิกลจริต  นาย  ข.  ได้ร้องขอต่อศาลและศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้นาย  ก.  เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว  ต่อมานาย  ก.  อายุ  25  ปี  ได้รู้ว่าในขณะที่ตนเป็นคนไร้ความสามารถนั้น  ได้ทำสัญญาขายสร้อยคอทองคำให้นาย  ค.  ไปในราคาถูก  จึงมีความประสงค์จะบอกเลิกสัญญาซื้อขายนี้  แต่เห็นว่าสัญญาซื้อขายนี้ทิ้งระยะเวลาไว้นานถึง  7  ปีแล้ว  จึงมาปรึกษาท่าน

ให้ท่านแนะนำนาย  ก.  ว่า  นาย ก.เป็นผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมรายนี้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  175  โมฆียะกรรมนั้น  บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้

(2) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว

มาตรา  179  การให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรมนั้น  จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้กระทำภายหลังเวลาที่มูลเหตุให้เป็นโมฆียะกรรมนั้นหมดสิ้นไปแล้ว

วรรคสอง  บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  จะให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรมต่อเมื่อได้รู้เห็นซึ่งโมฆียกรรมนั้น  ภายหลังที่บุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว

มาตรา  181  โมฆียะกรรมนั้น  จะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น

วินิจฉัย

ข้าพเจ้าให้คำแนะนำแก่นาย  ก.  ดังนี้  นาย  ก.  เป็นผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียกรรม  เพราะนาย  ก.  พ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว  เมื่อนาย  ก.  อายุ  21  ปี  (มาตรา  175 (2))

นาย  ก.  ยังมีสิทธิบอกล้างแม้ระยะเวลาของสัญญาซื้อขายจะนานถึง  7  ปีแล้วก็ตาม  เพราะระยะเวลานั้นยังไม่พ้นเวลา  10  ปี  นับแต่ได้ทำสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะแต่อย่างไร  (มาตรา  181)

แต่นาย  ก.  จะต้องล้างภายในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้  กล่าวคือ  จะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลา  1  ปี  นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้  (มาตรา  181)  ซึ่งได้แก่เวลาที่มูลเหตุให้เป็นโมฆียกรรมนั้นหมดสิ้นไปแล้ว  (มาตรา  179  วรรคหนึ่ง)  สำหรับกรณีนาย  ก.  คนไร้ความสามารถได้แก่เวลาเมื่อ  นาย  ก.  ได้รู้เห็นซึ่งโมฆียกรรมนั้นตอนอายุ  25  ปี  และภายหลังที่พ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถ  (ตามมาตรา  179  วรรคสอง)  นั่นคือ  นาย  ก.  ต้องบอกล้างภายในกำหนดอายุของนาย  ก.  ไม่เกิน  26  ปี

สรุป  นาย  ก.  เป็นผู้มีสิทธิบอกล้าง  และต้องบอกล้างภายในอายุ  26  ปี

 

ข้อ  3  เมื่อวันที่  5  มีนาคม  2547  นางสาวลัดดาได้ทำสัญญาจ้างนางสมจิตซึ่งเป็นเจ้าของร้านขายเพชรทำแหวนเพชร  1  วง  ราคา  1  แสนบาท  โดยตกลงจะมารับแหวนเพชรในวันที่  25  มีนาคม  2547  พร้อมทั้งชำระเงินค่าแหวนทั้งหมด  เมื่อถึงวันครบกำหนดมารับแหวน  นางสาวลัดดาจ่ายเงินให้นางสมจิตรเพียง  2  หมื่นบาท  ส่วนที่เหลืออีก  8  หมื่นบาท  นางสมจิตยินยอมให้นางสาวลัดดานำมาชำระให้ในวันที่  1  เมษายน  2547  เมื่อหนี้ถึงกำหนดนางสาวลัดดาไม่นำเงินมาชำระ  นางสมจิตได้ติดตามทวงถามตลอดมาจนกระทั่งวันที่  16  มีนาคม  2549

ซึ่งเหลือเวลาอีก  15  วันจะครบกำหนดอายุความ  2  ปี  นางสมจิตได้ส่งจดหมายทวงหนี้ไปถึงนางสาวลัดดาให้นำเงินมาชำระภายในวันที่  22  มีนาคม  2549  มิฉะนั้นจะนำคดีไปฟ้องศาลต่อไป  จดหมายไปถึงบ้านนางสาวลัดดาในวันที่  19  มีนาคม  2549  แต่ปรากฏว่านางสาวลัดดาไม่อยู่บ้าน

นางลินดาซึ่งเป็นมารดาของนางสาวลัดดาเป็นคนรับจดหมายจึงได้เปิดออกอ่าน  เมื่อทราบข้อความแล้วเกรงว่าบุตรของตนจะถูกฟ้องศาล  ในวันที่  20  มีนาคม  2549  นางลินดาจึงได้เขียนจดหมายรับสภาพหนี้ต่อนางสมจิต  มีใจความว่า  นางลินดายินยอมจะชำระหนี้แทนนางสาวลัดดาทั้งหมด  และจะนำเงินไปชำระให้ที่บ้านของนางสมจิตในวันที่  25  มีนาคม  2549

ครั้นถึงกำหนดนางลินดาหาเงินจำนวนดังกล่าวไม่ได้จึงไม่ได้นำเงินไปชำระ  นางสมจิตจึงฟ้องนางสาวลัดดาต่อศาลในวันที่  13  กันยายน  2549  นางสาวลัดดาต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว  นางสมจิตอ้างว่ายังไม่ขาดอายุความ  เพราะอายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่  20  มีนาคม  2549  ดังนี้  อยากทราบว่าข้ออ้างของนางสมจิตฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  มาตรา  193/34  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี

(1) ผู้ประกอบการค้า… เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ…

ธงคำตอบ

มาตรา  193/14  อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1)  ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง  โดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้

วินิจฉัย

นางสาวลัดดาได้ค้างจ่ายเงินค่าจ้างทำแหวนเพชรแก่นางสมจิตรเป็นเงินจำนวน  8  หมื่นบาท  โดยกำหนดจะนำมาชำระให้ในวันที่  1  เมษายน  2547  เมื่อหนี้ถึงกำหนด  นางสาวลัดดาไม่นำเงินมาชำระ  ต่อมาเมื่อวันที่  20  มีนาคม  2549  นางลินดาซึ่งเป็นมารดาของนางสาวลัดดาได้เขียนหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่นางสมจิตร  และพร้อมที่จะนำเงินไปชำระให้ในวันที่  25  มีนาคม  2549  การที่นางลินดาเขียนหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่นางสมจิตไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง  เนื่องจากลินดามิใช่ลูกหนี้  และนางสาวลัดดาก็มิได้มอบให้เป็นตัวแทน  จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม  มาตรา  193/14 (1)  การจ้างทำของมีกำหนดอายุความ  2  ปี  ตาม  มาตรา  193/34  (1)  เพราะฉะนั้นนางสมจิตจะต้องนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลภายในวันที่  1  เมษายน  2549  แต่ปรากฏว่านางสมจิตนำคดีมาฟ้องศาลในวันที่  13  กันยายน  2549  คดีจึงขาดอายุความแล้ว

ดังนั้น  ข้ออ้างของนางสมจิตจึงฟังไม่ขึ้น

 


ข้อ  4  นายสมบัติซึ่งอยู่ที่จังหวัดลพบุรีส่งจดหมายเสนอขายรถยนต์คันหนึ่งของตนให้แก่นายสุเทพซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร  ในราคา  400,000  บาท  โดยระบุไปในจดหมายเสนอขายนั้นด้วยว่า  ถ้าท่านต้องการซื้อรถยนต์คันนี้  ขอให้ตอบไปยังข้าพเจ้าภายในวันที่  10  พฤศจิกายน  พ.ศ.2548  นายสุเทพส่งจดหมายตอบตกลงซื้อรถยนต์คันนั้นตามราคาที่นายสมบัติเสนอ  แต่จดหมายของนายสุเทพไปถึงนายสมบัติเมื่อวันที่  15  พฤศจิกายน  พ.ศ.2548  อย่างไรก็ตาม  เป็นที่เห็นได้ชัดเจนจากตราไปรษณีย์ซึ่งประทับบนซองจดหมายว่านายสุเทพส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่  2  พฤศจิกายน  พ.ศ.2548  เช่นนี้  จดหมายตอบตกลงซื้อรถยนต์ที่นายสุเทพส่งถึงนายสมบัติมีผลในกฎหมายประการใด

ธงคำตอบ

มาตรา  358  ถ้าคำบอกกล่าวสนองมาถึงล่วงเวลา  แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งตามปกติควรจะมาถึงภายในเวลากำหนดนั้นไซร้  ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า  เว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว

ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดังว่ามาในวรรคต้น  ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลา

วินิจฉัย

คำสนองของนายสุเทพ  ไปถึงนายสมบัติล่าช้ากว่าเวลาที่นายสมบัติกำหนดไว้  แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนจากตราไปรษณีย์ซึ่งประทับตราบนซองจดหมายว่านายสุเทพส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่  2  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2548  ซึ่งตามกปกติจดหมายฉบับนั้นควรจะไปถึงนายสมบัติก่อนวันที่  10  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2548  อันเป็นเวลาที่นายสมบัติกำหนดไว้  ในกรณีเช่นนี้  คำสนองของนายสุเทพจะเป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่  ก็ขึ้นอยู่กับว่านายสมบัติซึ่งเป็นผู้เสนอได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่  ซึ่งในเรื่องนี้กฎหมายกำหนดหน้าที่ของผู้เสนอไว้ว่า  ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่ผู้สนองโยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า  เว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นไว้ก่อนแล้ว ดังนั้น 

(1) ถ้านายสมบัติปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว  กฎหมายจึงจะถือว่าจดหมายคำสนองของนายสุเทพเป็นคำสนองล่วงเวลา

(2) แต่ถ้านายสมบัติละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว  กฎหมายให้ถือว่าจดหมายคำสนองของนายสุเทพเป็นคำสนองที่มิได้ล่วงเวลา  (ซึ่งมีผลให้สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนายสมบัติกับนายสุเทพเกิดขึ้น)

Advertisement