การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1. เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554 นายอาทิตย์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ส่งจดหมายทางไปรษณีย์เสนอ ขายบ้านหลังหนึ่งของตนราคาสามล้านบาทแก่นายจันทร์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี หลังจากนายอาทิตย์ส่งจดหมายไปแล้วหนึ่งวัน ก่อนที่จดหมายของนายอาทิตย์ไปถึงนายจันทร์เกิดอุทกภัยที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กระแสน้ำหลากไหลมาอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้นายอาทิตย์จมน้ำตาย ดังนี้
ก. การแสดงเจตนาเสนอขายบ้านของนายอาทิตย์มีผลในกฎหมายประการใดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ข. กรณีปรากฏว่าเมื่อจดหมายของนายอาทิตย์ไปถึงนายจันทร์ นายจันทร์ได้ทราบข่าวการตายของนายอาทิตย์แล้ว แต่อยากได้บ้านหลังที่นายอาทิตย์เสนอขาย นายจันทร์จึงเขียนจดหมายตอบตกลงซื้อบ้านหลังนั้นแล้วส่งทางไปรษณีย์ไปให้นายอาทิตย์ นางสาวน้อยหน่าซึ่งเป็นลูกจ้างอยู่ในบ้านของนายอาทิตย์ได้รับจดหมายดังกล่าวไว้ ดังนี้ สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายอาทิตย์และนายจันทร์เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 169 วรรคสอง “การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย”
มาตรา 360 “บทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสองนั้น ท่านมิให้ใช่บังคับ ถ้าหากว่า…ก่อนจะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตาย”
วินิจฉัย
ก. กรณี อุทาหรณ์ การที่นายอาทิตย์ซึ่งมีเจตนาที่จะขายบ้านของตนให้แก่นายจันทร์และได้ส่งการ แสดงเจตนาเสนอขายบ้านหลังดังกล่าวโดยจดหมายทางไปรษณีย์ไปให้นายจันทร์แล้ว นั้น แม้ต่อมาภายหลังนอกอาทิตย์ผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย ดังนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง ให้ถือว่า การแสดงเจตนาเสนอขายบ้านของนายอาทิตย์ที่ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป คือให้ถือว่าการแสดงเจตนาเสนอขายบ้านของนายอาทิตย์นั้นยังคงมีผลสมบูรณ์
ข. ตาม อุทาหรณ์ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อจดหมายแสดงเจตนาขายบ้านของนายอาทิตย์ได้ไปถึงนายจันทร์นั้น นายจันทร์ได้ทราบข่าวการตายของนายอาทิตย์แล้ว แต่นายจันทร์อยากได้บ้านหลังที่นายอาทิตย์เสนอขาย นายจันทร์จึงได้เขียนจดหมายตอบตกลงซื้อบ้านหลังนั้นแล้วส่งทางไปรษณีย์ไปให้ นายอาทิตย์ กรณีดังกล่าวจึงต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า มิให้นำ ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ ถ้าหากว่าก่อนที่จะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตาย ดังนั้น กรณีตามอุทาหรณ์ดังกล่าวนี้จึงต้องถือว่า การแสดงเจตนาเสนอขายบ้านของนายอาทิตย์นั้นย่อมเสื่อมเสียไป หรือสิ้นความผูกพันไป
และเมื่อกรณีดังกล่าว ถือว่าไม่มีคำเสนอของนายอาทิตย์ มีแต่เพียงคำสนองของนายจันทร์ ดังนั้น สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายอาทิตย์และนายจันทร์จึงไม่เกิดขึ้น
สรุป
ก. การแสดงเจตนาเสนอขายบ้านของนายอาทิตย์มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
ข. สัญญาซื้อขายบ้านระหว่านายอาทิตย์และนายจันทร์ไม่เกิดขึ้น
ข้อ 2. จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 181 “โมฆียะกรรมนั้นจะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้”
ถามว่า เวลาที่ให้สัตยาบันได้ในกรณีบุคคลวิกลจริตผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามมาตรา 30 ได้แก่เวลาใด อธิบาย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 179 วรรคสอง “บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือบุคคลวิกลจริต ผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามมาตรา 30 จะให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมได้ต่อเมื่อได้รู้เห็นซึ่งโมฆียะกรรมนั้น ภายหลังจากบุคคลนั้นพ้นจากเป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถหรือในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกล แล้วแต่กรณี”
อธิบาย
ในกรณีที่บุคคลวิกลจริตเป็นผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะมาตรา 30 จะให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 179 วรรคสอง ได้กำหนดเวลาให้สัตยาบันได้สำหรับบุคคลวิกลจริตไว้ดังนี้ คือ
1. เมื่อบุคคลวิกลจริตนั้นได้รู้เห็นหรือจำได้ว่าตนได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะไว้ และ
2. ในขณะนั้นจริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว กล่าวคือ บุคคลนั้นได้หายจากอาการวิกลจริตแล้วนั่นเอง
ดังนั้นเมื่อครบหลักเกณฑ์ทั้ง 2 ประการดังกล่าวข้างต้น ถ้าบุคคลวิกลจริตผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามมาตรา 30 จะบอกล้างโมฆียะที่ตนได้กระทำ ก็จะต้องบอกล้างภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่ได้รู้เห็นโมฆียะกรรมนั้น และจริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ตามที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 181
ข้อ 3. นายนิติรัฐต้องการจะฟ้องขับไล่นายนิติกรออกจากที่ดินสวนผลไม้ จำนวน 50 ไร่ โดยนายนิติรัฐกล่าวอ้างว่า “บิดาของตนขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่นายนิติกร ซึ่งได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันเองที่บ้านและมิได้นำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดิน ตกเป็นโมฆะ”
ในขณะที่นายนิติกรกล่าวอ้างว่า “บิดาของนายนิติรัฐมอบที่ดินนั้นให้แก่ตน และตนก็ชำระค่าที่ดิน จำนวน 500,000 บาท ให้แก่บิดาของนายนิติรัฐเรียบร้อยแล้ว ตนเป็นเจ้าของที่ดิน สัญญามีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้” ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่า 6 เดือนหลังจากทำการซื้อขายที่ดินบิดาของนายนิติรัฐได้ถึงแก่กรรมลง ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อกล่าวอ้างของฝ่ายใดฟังขึ้น นายนิติรัฐมีสิทธิฟ้องขับไล่นายนิติกรหรือไม่ จะต้องดำเนินการอย่างไร จงอธิบาย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 152 “การใดมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ การนั้นเป็นโมฆะ”
มาตรา 172 “โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกเอาความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้
ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ”
มาตรา 456 วรรคแรก “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ”
วินิจฉัย
ตามอุทาหรณ์ การที่บิดาของนายนิติรัฐขายที่ดินให้แก่นายนิติกร โดยได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันองที่บ้าน และมิได้นำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดิน ย่อมตกเป็นโมฆะ เพราะเป็นการที่มิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ (มาตรา 152) ตามแบบของการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ (มาตรา 456 วรรคแรก) ดังนั้นข้อกล่าวอ้างของนายนิติรัฐจึงฟังขึ้น ส่วนข้อกล่าวอ้างของนายนิติกรที่ว่าสัญญาซื้อขายมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้นั้นฟังไม่ขึ้น
และ เมื่อสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวตกเป็นโมฆะใช้บังคับกันไม่ได้ ดังนั้นนายนิติรัฐย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่นายนิติกร แต่นายนิติรัฐจะต้องกล่าวอ้างความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมของสัญญาซื้อขาย ที่ดินนั้นเสียก่อนจึงทำการฟ้องคดีได้ และกรณีตามอุทาหรณ์ถือว่านายนิติรัฐเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เพราะนายนิติรัฐเป็นทายาทของบิดาผู้ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงเป็นผู้มีสิทธิกล่าวอ้างความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมตามมาตรา 172 วรรคแรก และถ้านายนิติรัฐจะฟ้องเรียกคืนที่ดินแปลงดังกล่าวอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับตามมาตรา 172 วรรคสอง
สรุป ข้อกล่าวอ้างนายนิติรัฐฟังขึ้น และนายนิติรัฐมีสิทธิฟ้องขับไล่นายนิติกรได้ แต่จะต้องกล่าวอ้างความเสียเปล่าแห่งโมฆะของสัญญาซื้อขายที่ดินนั้นเสียก่อน จึงจะทำการฟ้องคดีได้
ข้อ 4. นายกลมตกลงซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่งจากนายอ้วนซึ่งเป็นพ่อค้าขายโทรศัพท์มือถือในราคา 2,000 บาท โดยทั้งสองฝ่ายตกลงให้นายกลมชำระเงินในวันที่ 12 ตุลาคม 2554 และให้หนี้ดังกล่าวมีอายุความ 3 ปี ต่อมาเมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ปรากฏว่านายกลมก็ไม่ได้ชำระเงินตามที่ตกลงแต่อย่างใด จนถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2555 นายอ้วนได้ทวงถามให้นายกลมชำระเงิน จำนวน 2,000 บาท นายกลมชำระเงินให้กับนายอ้วนจำนวน 1,000 บาท โดยบอกว่าส่วนที่เหลือจะชำระให้ในภายหลัง แต่นายกลมก็ไม่เคยชำระหนี้ให้กับนายอ้วนอีกเลย วันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 นายอ้วนทวงถามให้นายกลมชำระหนี้ นายกลมอ้างว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวขาดอายุความแล้ว จงวินิจฉัยว่าข้ออ้างของนายกลมฟังขึ้นหรือไม่ อย่างไร
หมายเหตุ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี
(1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตกรรม ผู้ประกอบศิลปะอุสาหกรรมหรือช่างฝีมือเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”
มาตรา 193/3 วรรคสอง “ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในการวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี”
มาตรา 193/5 วรรคสอง “ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์ วันต้นแห่งเดือนหรือปี ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์ เดือน หรือปีสุดท้าย อันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ถ้าในระยะเวลานับเป็นเดือนหรือปีนั้นไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้นเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา”
มาตรา 193/11 “อายุความที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น คู่กรณีจะตกลงให้งดใช้หรือขยายออกหรือย่นเข้าไม่ได้”
มาตรา 193/12 “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใด ให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น”
มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง”
มาตรา 193/15 “เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ
เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องนำมาวินิจฉัยอยู่ 2 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นที่ 1 หนี้ระหว่างนายกลมกับนายอ้วนนั้นมีอายุความเท่าใด
การที่นายอ้วนซึ่งเป็นพ่อค้าขายโทรศัพท์มือถือ ได้เรียกเอาค่าสินค้าที่ได้ส่งมอบให้แกนายกลมผู้ซื้อแล้วนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) กำหนดให้มีอายุความ 2 ปี การที่นายอ้วนและนายกลมได้ตกลงกันให้มีกำหนดอายุความ 3 ปีนั้น เป็นการขยายอายุความออกไปซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 193/11 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 ดังนั้นจึงต้องใช้อายุความตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้คือ 2 ปี
ประเด็นที่ 2 ข้ออ้างของนายกลมที่ว่าหนี้นั้นขาดอายุความฟังขึ้นหรือไม่
เมื่อหนี้ระหว่างนายอ้วนกับนายกลมมีอายุความ 2 ปี และซึ่งอายุความนั้นตามมาตรา 193/12 ให้เริ่มนับตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งตามอุทาหรณ์เวลาที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คือวันที่ 12 ตุลาคม 2554 นั่นเอง ดังนั้นอายุความ 2 ปี ย่อมครบกำหนดในวันที่ 12 ตุลาคม 2556 (มาตรา 193/3 วรรคสอง และมาตรา 193/5 วรรคสอง)
การที่นายกลมได้ชำระหนี้ให้กับนายอ้วนบางส่วนในวันที่ 12 ธันวาคม 2556 นั้น ย่อมให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) และระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ (ตามมาตรา 193/15 วรรคแรก) และเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดลง จึงต้องเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ (ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง) ดังนั้นหนี้ระหว่างนายอ้วนกับนายกลมจึงครบกำหนดอายุความ 2 ปี ในวันที่ 12 ธันวาคม 2557
และตามอุทาหรณ์เมื่อนายอ้วนได้ทวงถามให้นายกลมชำระหนี้ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 หนี้ดังกล่าวจึงยังไม่ขาดอายุความ ดังนั้น การที่นายกลมอ้างสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวขาดอายุความแล้วจึงฟังไม่ขึ้น
สรุป ข้ออ้างของนายกลมที่ว่าหนี้นั้นขาดอายุความฟังไม่ขึ้น