การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 นายโฉดทราบว่านายธรรมต้องการเช่าพระสมเด็จวัดกระดิ่งองค์หนึ่ง จึงบอกกับนายธรรมว่า นายเฉยมีพระองค์ที่นายธรรมต้องการเช่า และตนสามารถนัดหมายให้นายเฉยมาพบกับนายธรรมเพื่อทำสัญญาเช่าพระดังกล่าวได้ แต่แท้จริงแล้วนายโฉดทราบว่าพระที่นายเฉยเป็นเจ้าของเป็นพระที่ทำขึ้นเลียนแบบพระสมเด็จวัดกระดิ่งเท่านั้น
นายธรรมได้ไปติดต่อขอดูพระของนายเฉยแล้วเห็นว่าเป็นพระที่สวยงาม เชื่อว่าเป็นพระสมเด็จวัดกระดิ่งที่แท้จริง จึงเช่ามาในราคา 1 ล้านบาท โดยนายเฉยไม่ทราบว่านายโฉดบอกกับนายธรรมว่าพระของตนเป็นพระสมเด็จวัดกระดิ่งที่แท้จริง ต่อมา นายธรรมทราบว่าพระที่ตนเช่ามาไม่ใช่พระสมเด็จวัดกระดิ่ง แต่เป็นพระเลียนแบบ ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าสัญญาเช่าพระดังกล่าวมีผลอย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 157 การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สิน เป็นโมฆียะ
ความสำคัญผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น
มาตรา 159 การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ
การที่กลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าวการอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น
ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก การแสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้น
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายธรรมได้ทำนิติกรรมโดยการทำสัญญาเช่าพระกับนายเฉย เพราะหลงเชื่อข้อเท็จจริงตามที่นายโฉดกล่าวอ้างว่าพระของนายเฉยเป็นพระสมเด็จวัดกระดิ่งที่แท้จริง จึงถือว่านายธรรมได้ทำนิติกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉล และเป็นกลฉ้อฉลที่ถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว นายธรรมก็คงจะมิได้ทำสัญญาเช่าพระองค์นั้น ตามมาตรา 159 วรรคแรกและวรรคสอง
และตามอุทาหรณ์เมื่อกลฉ้อฉลนั้น เป็นกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก ซึ่งตามกฎหมายนิติกรรมจะตกเป็นโมฆียะ ก็ต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้นด้วย ตามมาตรา 159 วรรคสาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายเฉยไม่ทราบถึงกลฉ้อฉลดังกล่าว ดังนั้นสัญญาเช่าพระระหว่างนายธรรมกับนายเฉยจึงไม่ตกเป็นโมฆียะเพราะถูกกลฉ้อฉล
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อต่อมานายธรรมทราบว่า พระที่ตนเช่ามาไม่ใช่พระสมเด็จวัดกระดิ่ง แต่เป็นพระเลียนแบบ ซึ่งถ้าตนได้ทราบตั้งแต่แรกก็คงจะไม่ทำสัญญาเช่าพระองค์นี้แน่นอน ดังนั้นนายธรรมสามารถอ้างได้ว่านิติกรรมดังกล่าวได้เกิดขึ้นเพราะตนได้สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สิน ซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม นิติกรรมในรูปของสัญญาเช่าพระดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 157
สรุป สัญญาเช่าพระดังกล่าวมีผลเป็นโมฆียะ เพราะเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดตามมาตรา 157
ข้อ 2 จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคสาม บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้วให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะนับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ” ถามว่า ท่านเข้าใจว่าอย่างไร อธิบาย
ธงคำตอบ
ตามบทบัญญัติมาตรา 176 วรรคสองดังกล่าว แยกพิจารณาได้ดังนี้
(ก) คำว่า “บุคคลใด” ในมาตรา 176 วรรคสองนี้ นอกจากหมายความถึงคู่กรณีแห่งนิติกรรมฝ่ายที่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทนแล้ว ยังหมายความรวมถึงบุคคลภายนอกซึ่งมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่นิติกรรมตกเป็นโมฆียะด้วย
(ข) มาตรา 176 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาเกี่ยวกับ “ดอกผล” เมื่อมีการบอกล้างโมฆียะกรรมซึ่งมีผลทำให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม หากปรากฏว่าทรัพย์ที่จะต้องคืนเกิดดอกผลมา ดอกผลนั้นจะตกเป็นของฝ่ายใด ตามหลักเกณฑ์เรื่องการได้กรรมสิทธิ์ในดอกผล ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 415 บัญญัติว่า
“บุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริต ย่อมจะได้ดอกผลอันเกิดแต่ทรัพย์สินนั้นตลอดเวลาที่ยังคงสุจริตอยู่”
ดังนั้นถ้าบุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้ตามโมฆียะกรรมโดยไม่รู้และไม่ควรจะได้รู้ว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ บุคคลนั้นย่อมอยู่ในฐานะ “สุจริต” เมื่อมีการบอกล้างโมฆียะกรรม บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิได้ดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินที่ได้รับไว้นั้น
แต่ถ้าบุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้ตามโมฆียะกรรมโดยรู้ว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ บุคคลนั้นย่อมอยู่ในฐานะ “ไม่สุจริต” เมื่อมีการบอกล้างโมฆียะกรรม บุคคลนั้นย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินที่ได้รับไว้นั้น
สำหรับบุคคลภายนอกนั้น กฎหมายได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิของบุคคลภายนอกไว้ในมาตรา 1329 กล่าวคือ ถ้าบุคคลภายนอกเป็นผู้ได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมมิเสียไป ถึงแม้ว่าผู้โอนทรัพย์สินให้จะได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ และนิติกรรมนั้นได้ถูกบอกล้างภายหลัง
ข้อ 3 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2543 นายอาทิตย์ได้ทำสัญญากู้เงินจากนายจันทร์เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท มีกำหนดชำระคืนภายในวันที่ 10 มีนาคม 2544 เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายอาทิตย์ไม่นำเงินมาชำระ นายจันทร์ได้ติดตามทวงถามด้วยวาจาตลอดมาจนกระทั่งวันที่ 5 มกราคม 2554 นายจันทร์ได้เขียนหนังสือไปทวงเงินดังกล่าวจากนายอาทิตย์ ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554
นายอาทิตย์ได้นำเงินไปชำระให้แก่นายจันทร์เป็นเงินจำนวน 5,000 บาท แต่หลังจากนั้นนายอาทิตย์ก็ไม่นำเงินมาชำระให้อีกเลย นายจันทร์จึงได้นำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 6 มีนาคม 2555 นายอาทิตย์ต่อสู้ว่า คดีขาดอายุความตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2554 แต่นายจันทร์อ้างว่ายังไม่ขาดอายุความ เพราะอายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายอาทิตย์ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 193/14 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง
มาตรา 193/15 เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ
เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น
มาตรา 193/30 อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี
วินิจฉัย
ตามอุทาหรณ์ การที่นายอาทิตย์ได้ทำสัญญากู้เงินจากนายจันทร์เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท โดยมีกำหนดชำระคืนภายในวันที่ 10 มีนาคม 2544 เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายอาทิตย์ไม่นำเงินมาชำระ อายุความจึงเริ่มต้นนับตั้งแต่วันรุ่งขึ้นคือวันที่ 11 มีนาคม 2544 และเนื่องจากการกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 คืออายุความ 10 ปีมาใช้บังคับ ดังนั้นกรณีนี้อายุความ 10 ปี จะครบกำหนดในวันที่ 10 มีนาคม 2544
แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 นายอาทิตย์ได้นำเงินไปชำระให้แก่นายจันทร์เป็นจำนวน 5,000 บาท การกระทำของนายอาทิตย์ถือว่าเป็นการชำระหนี้บางส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14(1) ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 และให้เริ่มต้นนับอายุความใหม่อีก 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 ดังนั้นอายุความ 10 ปี จะครบกำหนดในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เมื่อนายจันทร์นำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 6 มีนาคม 2555 คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ ข้อต่อสู้ของนายอาทิตย์ที่ว่า คดีขาดอายุความตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2554 จึงฟังไม่ขึ้น
สรุป ข้อต่อสู้ของนายอาทิตย์ที่ต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้วฟังไม่ขึ้น
ข้อ 4
(ก) คำเสนอคืออะไร การแสดงเจตนาซึ่งจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะอย่างไร ให้อธิบายโดยสังเขป
(ข) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2555 นายอาทิตย์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี ส่งจดหมายโดยทางไปรษณีย์เสนอขายม้าแข่งตัวหนึ่งของตนแก่นายจันทร์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ราคา 500,000 บาท โดยมิได้รู้ว่าถ้านายจันทร์ต้องการซื้อม้าแข่งดังกล่าว นายจันทร์ต้องตอบให้นายอาทิตย์ทราบภายในเมื่อใด ต่อมาอีกสามวันนายอาทิตย์เปลี่ยนใจไม่ต้องการขายม้าแข่งตัวนั้น นายอาทิตย์จะถอนคำเสนอขายม้าแข่งดังกล่าวได้หรือไม่ เมื่อใด เพราะเหตุใดธงคำตอบ
(ก) คำเสนอ คือ นิติกรรมฝ่ายเดียวชนิดที่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา เกิดขึ้นโดยบุคคลฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาต่อบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งแจ้งให้ทราบว่าตนมีความประสงค์จะผูกพันตนทำสัญญาด้วยในประการใด และขอให้บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งนั้นร่วมทำสัญญาด้วยตามที่เสนอไปนั้นการแสดงเจตนาอันจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะดังนี้
(1) เป็นข้อความชัดเจนและแน่นอน
(2) มีความมุ่งหมายว่า ถ้ามีคำสนอง สัญญาเกิดขึ้นทันที
(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 355 บุคคลทำคำเสนอไปยังผู้อื่นซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางและมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง จะถอนคำเสนอของตนเสียภายในเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองนั้น ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอาทิตย์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดชลบุรีส่งจดหมายเสนอขายม้าแข่งตัวหนึ่งของตนแก่นายจันทร์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยมิได้บ่งระยะเวลาสำหรับทำคำสนอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 355 นายอาทิตย์จะถอนคำเสนอของตนเสียภายในเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองหาได้ไม่
ซึ่ง “เวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนอง” นั้น จะเป็นเวลานานเท่าใดพิจารณาได้จากระยะเวลาในการติดต่อสื่อสารกันระหว่างนายอาทิตย์กับนายจันทร์ กล่าวคือ ตามปกติการส่งจดหมายทางไปรษณีย์เสนอขายม้าแข่งจากจังหวัดชลบุรีไปยังผู้รับซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมานั้นจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน ให้เวลานายจันทร์คิดตรึกตรองตัดสินใจ 1 วัน หากนายจันทร์ตัดสินใจซื้อม้าแข่งก็จะส่งจดหมายทางไปรษณีย์ตอบตกลงซื้อม้าแข่งนั้นไปยังนายอาทิตย์จะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3 วัน รวมเป็นเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำสนองในกรณีนี้ คือ ประมาณ 7 วัน นับแต่วันที่นายอาทิตย์เสนอขายม้าไปยังนายจันทร์
ดังนั้น ในกรณีนี้นายอาทิตย์จะถอนคำเสนอขายม้าแข่งดังกล่าวได้ต่อเมื่อพ้นระยะเวลาประมาณ 7 วัน นับแต่วันที่นายอาทิตย์ส่งจดหมายเสนอขายม้าแข่งไปยังนายจันทร์ นายอาทิตย์จะถอนคำเสนอนายม้าแข่งดังกล่าวเมื่อส่งจดหมายเสนอขายม้าไปยังนายจันทร์เพียง 3 วันไม่ได้
สรุป นายอาทิตย์จะถอนคำเสนอขายม้าแข่งดังกล่าว เมื่อส่งจดหมายเสนอขายม้าไปยังนายจันทร์เพียง 3 วันไม่ได้