การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2553
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1002 หลักกฎหมายเอกชน  


คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  การที่รัฐสภาตรากฎหมายขึ้นมาย่อมมีผลใช้บังคับในราชอาณาจักรไทย  ให้นักศึกษาอธิบายคำว่า  ราชอาณาจักรไทย  ว่ามีความหมายเพียงใด  มาโดยละเอียด

Advertisement

ธงคำตอบ

หลักทั่วไปมีว่า  กฎหมายของประเทศใด  ย่อมมีผลใช้บังคับในเขตแดนที่ตนเองมีอำนาจอธิปไตยเหนือเขตแดนนั้น  ดังนั้น  การที่รัฐสภาตรากฎหมายขึ้นมาย่อมมีผลใช้บังคับในราชอาณาจักรไทย  ซึ่งคำว่า  ราชอาณาจักรไทย  หมายถึง

1       พื้นแผ่นดินในประเทศไทยซึ่งรวมถึง  แม่น้ำ  ลำคลอง  ส่วนการจะกำหนดว่าบริเวณใดเป็นอาณาเขตประเทศไทยในกรณีที่มีเขตแดนติดต่อกับประเทศข้างเคียง  ก็ต้องมีการทำข้อตกลงในเรื่องการปักปันเขตแดนร่วมกัน

2       ทะเลอันเป็นอ่าวไทย  ตามพระราชบัญญัติกำหนดเขตจังหวัดในอ่าวไทยตอนใน  พ.ศ.2502  พื้นที่บริเวณอ่าวไทยมีบางส่วนที่ห่างจากทะเลอาณาเขต  ซึ่งควรจะเป็นทะเลหลวง  แต่ประเทศไทยถือว่าพื้นน้ำทะเลดังกล่าวเป็นอ่าวประวัติศาสตร์  จึงได้มีการประกาศให้เป็นเขตแดนของประเทศไทย  โดยประกาศดังกล่าวแล้ว 
3       ทะเลอันห่างจากชายฝั่งที่เป็นดินแดนของประเทศไทย  ไม่เกิน  12  ไมล์ทะเล  หรือเรียกกันว่าทะเลอาณาเขตของประเทศไทย 4       พื้นที่อากาศเหนือข้อ  1. 2 . และ 3.

หมายเหตุ
เรือไทยในทะเลหลวงไม่ใช่ดินแดนไทย  ในทำนองเดียวกันอากาศยานไทยที่จอดอยู่ที่สนามบินต่างชาติก็ไม่ใช่ดินแดนไทย  เพียงแต่ถ้ามีการกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทย  ไม่ว่าจะอยู่  ณ  ที่ใด  ให้ถือว่ากระทำในราชอาณาจักรไทย  เพื่อให้ศาลมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทยเท่านั้น

สถานทูตของต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย  เป็นการตั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทย  เพียงแต่สถานทูตของต่างประเทศเหล่านั้นได้รับเอกสิทธิ์และการคุ้มกันไม่ให้ผู้อื่นเข้าไปในสถานทูต  ขณะเดียวกันสถานทูตไทยที่ตั้งอยู่ต่างประเทศก็ไม่ถือว่าตั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทย
 
ข้อ  2  นายแสนกับนายสมเป็นเพื่อนรักกัน  ได้ชวนกันไปเที่ยวน้ำตกที่จังหวัดตรัง  เมื่อวันที่  30  พฤษภาคม  2550  ขณะที่กำลังเล่นน้ำกันอยู่นั้น  เกิดน้ำป่าไหลหลากพัดพานายแสนหายไปกับสายน้ำ  และมีผู้พบศพนายสมในวันรุ่งขึ้น  นางสมใจภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายแสน  และนางสมจิตภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสม  จะมีสิทธิไปร้องขอให้ศาลสั่งให้สามีของตนเป็นคนสาบสูญได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และหากได้จะไปเริ่มใช้สิทธิทางศาลได้เมื่อใด  และเพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  15  วรรคแรก  สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย

มาตรา  61      ถ้าบุคคลใดไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่  และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา  5  ปี     เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ  2  ปี

(1)  นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง   ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม  และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2)  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง  อับปาง  ถูกทำลาย  หรือสูญหายไป

(3)  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน  (1)  หรือ (2)  ได้ผ่านพ้นไป  ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น

วินิจฉัย

ตามมาตรา  61  กรณีที่บุคคลจะไปใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญนั้น  ต้องปรากฏว่าบุคคลนั้นได้หายไปโดยไม่มีผู้ใดทราบว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  และได้หายไปจนครบกำหนด  5  ปีหรือ  2  ปี  แล้วแต่กรณี  และผู้ที่มีสิทธิไปร้องขอต่อศาลได้นั้นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียด้วย

ตามอุทาหรณ์  การที่นายแสนได้สูญหายไปเนื่องจากน้ำป่าไหลหลาก  ซึ่งเป็นเหตุอันตรายถึงแก่ชีวิตนั้น  ถือเป็นการสูญหายในกรณีพิเศษตามมาตรา  61  วรรคสอง  (3)  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านางสมใจเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายแสน  จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย  และมีสิทธิไปร้องขอให้ศาลสั่งให้สามีของตนเป็นคนสาบสูญได้

และเมื่อเป็นการสูญหายไปในกรณีพิเศษ  จึงมีผลทำให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องขอต่อศาลได้เมื่อครบ  2  ปี  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตได้ผ่านพ้นไป  จากข้อเท็จจริงดังกล่าวได้เกิดน้ำป่าไหลหลากและนายแสนได้สูญหายไปในวันที่  30  พฤษภาคม  2550  จึงครบกำหนด  2  ปี  ในวันที่  30  พฤษภาคม  2552  ดังนั้น  นางสมใจจะเริ่มไปใช้สิทธิร้องขอต่อศาลได้ในวันที่  31  พฤษภาคม  2552  ตามมาตรา  61  วรรคสอง  (3)

ส่วนกรณีของนางสมจิตภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมนั้น  ไม่สามารถจะไปร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งให้สามีของตนเป็นคนสาบสูญได้  เพราะเมื่อมีการพบศพนายสมย่อมถือว่านายสมได้เสียชีวิตแล้ว  ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดสภาพบุคคลโดยการตายธรรมดา  ตามมาตรา  15  วรรคแรก 

สรุป  นางสมใจมีสิทธิไปร้องขอให้ศาลสั่งให้สามีของตนเป็นคนสาบสูญได้  โดยจะเริ่มไปใช้สิทธิทางศาลได้ในวันที่  31  พฤษภาคม  2552  ส่วนนางสมจิตไม่มีสิทธิไปร้องขอให้ศาลสั่งให้สามีของตนเป็นคนสาบสูญ

 

 ข้อ  3  จงอธิบายโดยยกหลักกฎหมายประกอบคำอธิบายมาโดยชัดเจนว่า  บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ทำนิติกรรมได้หรือไม่  และมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

1)    ไก่อายุ  18  ปีบริบูรณ์  ซื้อรถยนต์ด้วยเงินของตนเอง  ซึ่งมีมูลค่า  5  ล้านบาทจากนายดำคนสะสมรถหรูใช้แล้ว

2)    ไข่คนไร้ความสามารถ  ได้รับอนุญาตจากนางแดงผู้อนุบาล  ให้ไปซื้อรถจักรยานยนต์จากร้านนายขวดในราคา  7  หมื่นบาท  และอนุญาตให้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวปลา  ซึ่งมีอายุ  20  ปีบริบูรณ์เท่ากัน

3)    เป็ดคนวิกลจริตไปซื้อโทรทัศน์จากร้านนายห่าน  ในราคา  5  หมื่นบาท  ในขณะกำลังวิกลจริต  แต่นายห่านไม่ทราบว่านายเป็ดเป็นคนวิกลจริต

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  21  ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  การใดๆที่ผู้เยาว์ได้ทำลงไปโดยปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ  เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  29  การใดๆอันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นเป็นโมฆียะ

มาตรา  30  การใดๆอันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่  และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งรู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต

มาตรา  1449  การสมรสจะกระทำมิได้ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริต  หรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

มาตรา  1495  การสมรสที่ฝ่าฝืน  มาตรา  1449  มาตรา  1450  มาตรา  1452  และมาตรา  1458  เป็นโมฆะ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  วินิจฉัยได้ดังนี้  คือ

1)    โดยหลัก  ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ  จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  มิฉะนั้นนิติกรรมที่ผู้เยาว์ทำขึ้นจะตกเป็นโมฆียะตามมาตรา  21  เว้นแต่นิติกรรมบางประเภทที่กฎหมายกำหนดให้ผู้เยาว์สามารถทำเองได้โดยลำพังตนเองและมีผลสมบูรณ์  เช่น  นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว  นิติกรรมที่จำเป็นในการดำรงชีพของผู้เยาว์  หรือนิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งหรือหลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง  เป็นต้น ตามปัญหา  การที่นายไก่อายุ  18  ปีบริบูรณ์  ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์  นำเงินส่วนตัวไปซื้อรถยนต์นั้น  ไม่ถือเป็นนิติกรรมที่จำเป็นในการดำรงชีพของผู้เยาว์  หรือนิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว  หรือนิติกรรมที่ผู้เยาว์จะได้ไปซึ่งสิทธิหรือเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง  ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่ผู้เยาว์สามารถทำได้เองโดยลำพังแต่อย่างใด  ดังนั้นเมื่อปรากฏว่านายไก่ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม  สัญญาซื้อขายรถยนต์ดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆียะ  ตามมาตรา  21

 2)    ตามมาตรา  29  กฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆ  ทั้งสิ้น  ถ้าคนไร้ความสามารถฝ่าฝืนไปทำนิติกรรม  ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลหรือไม่ก็ตาม  นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา  การที่นายไข่คนไร้ความสามารถได้ทำนิติกรรมโดยการไปซื้อรถจักรยานยนต์จากร้านของนายขวดนั้น  ถึงแม้การทำนิติกรรมดังกล่าวของนายไข่จะได้รับอนุญาต  คือได้รับความยินยอมจากนางแดงผู้อนุบาลก็ตาม 

นิติกรรมดังกล่าวก็ย่อมตกเป็นโมฆียะ  ตามมาตรา  29

ส่วนการสมรสของนายไข่นั้นเป็นโมฆะ  เพราะบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้น  กฎหมายห้ามมิให้ทำการสมรส  (มาตรา  1449)  เมื่อมีการฝ่าฝืนจึงตกเป็นโมฆะ  (มาตรา  1495)

 3)    โดยหลักของมาตรา  30  คนวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใดๆ  นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์  เว้นแต่จะตกเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อได้ทำนิติกรรมนั้นในขณะจริตวิกล  และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้ทำนิติกรรมเป็นคนวิกลจริต

ตามปัญหา  การที่นายเป็ดคนวิกลจริตไปซื้อโทรทัศน์จากร้านของนายห่านในขณะกำลังวิกลจริต  แต่เมื่อนายห่านไม่ทราบว่านายเป็ดเป็นคนวิกลจริต  ดังนั้นนิติกรรมการซื้อขายโทรทัศน์ระหว่างนายเป็ดกับนายห่านจึงมีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆียะ

สรุป

1)    สัญญาซื้อขายรถยนต์มีผลเป็นโมฆียะ

2)    สัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์มีผลเป็นโมฆียะ  ส่วนการสมรสมีผลเป็นโมฆะ

3)    สัญญาซื้อขายโทรทัศน์มีผลสมบูรณ์

Advertisement